พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา นำ REV RUNNR ปฏิวัติวงการกีฬา - Forbes Thailand

พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา นำ REV RUNNR ปฏิวัติวงการกีฬา

ความที่เกิดในครอบครัวนักกีฬาทำให้ชายหนุ่มซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงวัยต้องทำงานจึงเลือกทำธุรกิจเกี่ยวกับกีฬา เริ่มจากการเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา ต่อมาจึงสร้างแบรนด์ของตนเองและเปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับการวิ่ง ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันมี 37 สาขา


บริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด เป็นผู้นำเข้าจำหน่ายและบริหารธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าในกลุ่มสปอร์ต (sportswear and footwear) และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์แฟชั่น เป็นผู้เปิดแฟล็กชิปสโตร์ Nike แห่งแรกในประเทศไทย ต่อมานำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้ากีฬาชั้นนำอีกหลายแบรนด์ อาทิ Nike, Under Armour, ASICS, HOKA, Vibram, SOFSOLE, Saucony และกลุ่มไลฟ์สไตล์แฟชั่น อาทิ Champion, TEVA 

    รวมทั้งเปิดร้านจำหน่ายรองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์เกี่ยวกับการวิ่ง มัลติแบรนด์สโตร์ รองเท้าวิ่ง เสื้อผ้า อุปกรณ์การวิ่ง อุปกรณ์การป้องกันการบาดเจ็บต่างๆ ภายใต้ชื่อ REV RUNNR

    พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes ที่ร้าน REV RUNNR สาขาเมกาบางนา ระหว่างยืนอยู่หน้าร้านเพื่อรอช่างภาพเซ็ตฉากเขาชี้ให้ดูว่ายังมีช็อป Champion, Puma, HOKA อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท รวมทั้ง “โยเกิร์ตแลนด์” โยเกิร์ตนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา สินค้าตัวเดียวที่ไม่เกี่ยวกับแวดวงกีฬาแต่นำเข้ามาจำหน่ายด้วยความชอบส่วนตัว


ผู้บุกเบิกช็อป Nike

    พรศักดิ์เกิดในครอบครัวนักกีฬา มารดาเป็นนักเทนนิส บิดาเป็นนักบาสเกตบอลทีมชาติ ครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับเทเลคอมซึ่งเป็นช่วงที่กำลังบูมในขณะนั้น บิดาต้องการให้ทำงานด้านนี้ ทว่าเจ้าตัวกลับเปิดช็อปขายรองเท้ากีฬา Nike ในปี 2543 ด้วยการเช่าตึกแถว 2 ชั้นจำนวน 8 ห้อง ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม เปิดช็อป Nike ขนาดพื้นที่ 500 กว่าตารางเมตร 

    ต่อมาได้นำเข้าและเปิดช็อปอีกหลายแบรนด์ อาทิ Champion, Puma รวมทั้งแบรนด์รองเท้าวิ่งที่กำลังมาแรงในระยะไม่ 3-4 ปีมานี้คือ HOKA และ Saucony

    “คุณพ่อทำธุรกิจเทเลคอม วางโครงข่ายสายโทรคมนาคม ทั้ง AIS องค์การโทรศัพท์ ก็อยากให้ทำงานด้านนี้ หรือทำบริษัทสื่อสาร เช่น ซีเมนส์ อัลคาเทล ช่วงนั้นเป็นยุคทองของธุรกิจสื่อสารกำลังขยาย แต่เราไม่ถนัดเลยขอมาทำกีฬา คุณพ่อไม่ชอบบอกให้เลิกทำเป็นสิบกว่าปี ตอนเปิดร้านแรกมีผมกับภรรยา พนักงานขาย 6 คน แอดมิน 1 คน ผมไปร้านตั้งแต่เช้าจนปิดร้าน"

    “ตอนนั้นอายุ 26 ปี เพิ่งจบปริญญาโทจากอเมริกา ไม่เคยทำงานออฟฟิศเลย ไม่อยากทำงานบริษัทใหญ่ ตอนไปเรียนเมืองนอกวันๆ ก็ขลุกอยู่แต่ร้านกีฬา ขับรถ 3 ชั่วโมงเพื่อไปร้านนี้ กลับมาก็เห็นว่าตลาดกีฬา อุปกรณ์กีฬาบ้านเรายังไม่ทันต่างประเทศ แม้กระทั่งในห้างใหญ่ๆ ยังนำรองเท้ากีฬาห่อพลาสติก วางบนแผงไม้ มีพลาสติกใสวางหุ้มไว้ จับรองเท้าไม่ได้ เสื้อยืดแขวนบนราวสแตนเลส มีพลาสติกคลุมไว้อีกที คิดว่าไม่น่าเป็นอย่างนั้น สินค้าควรจับต้องได้ ลองได้ ใส่ได้”


    เขาใช้เวลาเจรจากับบริษัทแม่ 6 เดือนเพื่อขอเปิดช็อปในไทย พอคอนเซ็ปต์ผ่าน ด่านต่อมาผู้บริหารแบรนด์ถามว่า มีประสบการณ์อะไรบ้าง “ผมใช้เวลาอีก 6 เดือน convince บอกว่า ปีที่ผ่านมาใช้ชีวิตขลุกอยู่ในร้านกีฬาตลอดเวลา คุณพูดถึงช็อปนี้เมืองนี้ ผมนึกออกเลยว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มุมไหนเป็นอย่างไร เขาก็จะถามโน่นนี่ สุดท้ายก็ยอม แม้กระทั่ง Nike เองก็ไม่เชื่อว่าเมืองไทยจะมีคอนเซ็ปต์ช็อปได้...เปิดร้านแรกและทยอยเปิด เยอะสุดคือมี 12 ช็อป”

    หลังจากนั้นจึงทำร้าน Adidas, Puma, Converse และเปิดช็อปในห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์, เอ็มโพเรียม จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2558 ได้สิทธิ์เป็นผู้นำเข้าแบรนด์ใหญ่ เช่น ASICS, Under Armour โดยเฉพาะแบรนด์หลังเป็นการร่วมทุนกับบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา จดทะเบียนในชื่อบริษัท ยู เอ สปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด

    “ผมคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนยานพาหนะ หรือรถขนของคันหนึ่ง เรารับแบรนด์ขึ้นมาบนรถ พาแบรนด์ไปส่ง ณ จุดที่ success พอถึงแล้วแบรนด์อยากลงเราก็ยอมให้ลง แล้วถอยกลับมาหาผู้โดยสารรายใหม่ ขับไปใหม่...ถ้าแบรนด์อยากไปต่อก็พาไปส่งอีก level”


เพื่อนนักวิ่ง

    ผู้บริหารหนุ่มไล่เรียงถึงเส้นทางบนสายนี้ว่า ปี 2544-2558 เป็นช่วงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ปี 2559 เริ่มคิดโมเดลเนื่องจากมองเห็นว่าในแวดวงธุรกิจกีฬาตลาดวิ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด โดยข้อมูลจาก สสส. ปี 2564 ระบุว่า ในประเทศมีคนออกกำลังกายด้วยการวิ่งถึง 13 ล้านคน 

     แม้จะเป็นตลาดที่ใหญ่มากแต่ไม่มีใครนำเสนอร้านรีเทล เชนสโตร์ ก่อนหน้านั้นอาจมีนักวิ่งบางรายเปิดร้านขายรองเท้าสำหรับวิ่ง แต่ก็เป็นร้านเดี่ยวๆ เขาคิดว่าเป็นพื้นที่ที่น่าจะเข้ามาทำธุรกิจ จึงใช้เวลาศึกษาและพัฒนาคอนเซ็ปต์ 2 ปีหลังจากนั้น REV RUNNR จึงปรากฏตัวสร้างสีสันใหม่ให้กับวงการ

    REV RUNNR ในความหมายของเขาคือ Sport Revolution “ลูกค้า นักกีฬา นักวิ่ง รู้จักเราจาก REV RUNNR เข้าใจว่าเราเพิ่งเกิด เราตั้งบริษัทปี 2561 และสร้างแบรนด์ให้คนอื่นตลอด เพิ่งทำแบรนด์ตัวเอง ร้านตัวเองปี 2018”

    บริษัทวางตัวเองว่าเป็นร้านขายอุปกรณ์สำหรับนักวิ่งเท่านั้น มีรองเท้าสำหรับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้น นักวิ่ง กระทั่งถึงทีมชาติ พนักงานมีความรู้ด้านนี้สามารถพูดคุยให้คำแนะนำกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี บอกได้ว่ารองเท้าสำหรับวิ่งระยะทาง 5, 10 หรือ 100 กิโลเมตร ควรใช้แบบไหน ลูกค้าที่เพิ่งเริ่มวิ่งจะมีแบรนด์ในใจคือ Nike, ASICS พอวิ่งไปสักพัก คู่ที่ 2 จะเป็นแบรนด์วิ่งโดยเฉพาะอย่าง HOKA, Saucony

    ภายในช็อปที่เมกาบางนาฝั่งซ้ายมือเป็นเสื้อผ้ากีฬาและอุปกรณ์เกี่ยวกับการวิ่ง ส่วนขวามือเป็นรองเท้าสำหรับวิ่งหลายแบรนด์ เมื่อบทสนทนามาถึงเรื่องการวิ่งออกกำลังกาย พรศักดิ์บอกว่า “คุณยังไม่เคยลอง HOKA แล้วจะลืมทุกอย่าง”



    มุมซ้ายด้านในกั้นเป็นห้องกระจกเล็กๆ มีป้ายเขียนว่า REV SOLE เป็นบริการทำแผ่นรองเท้ารายบุคคล “เราเป็นร้านกีฬาร้านแรกที่สั่งเครื่องจากต่างประเทศมาไว้ในร้านกีฬา เขาก็ตกใจเหมือนกัน เครื่องที่เราใช้เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาล เครื่อง custom เฉพาะนักกีฬาแต่ละคน บุคคลทั่วไปหากมีรูปเท้าคลาดเคลื่อนใช้แผ่นรองเท้าป้องกันการคลาดเคลื่อนผิดรูปมากกว่านั้น ลูกค้ามีทั้งนักวิ่ง นักกีฬาอื่นๆ คุณหมอด้านกระดูกออโธปิดิกส์ส่งคนไข้มาก็มี

    เราใช้เครื่องสแกน เอาค่าเข้าระบบ คำนวณรูปแบบ insole ได้ 80% อีก 20% มาจากพนักงานกายอุปกรณ์ โดยดูจากรูปเท้าหรือเอาผลตรวจจากคุณหมอมาดูและปรับแบบขึ้นรูป แผ่นรองเท้านี้ช่วยรักษารูปเท้าได้ 100%...ราคามาตรฐานทั่วโลกคู่ละ 250 เหรียญสหรัฐฯ เราตั้งราคาคู่ละ 3,900 บาท และมีโปรโมชั่นเรื่อยๆ”

    อุปกรณ์อื่นๆ ภายในร้าน อาทิ แว่นตากันแดด goodr สำหรับนักวิ่ง, เสื้อผ้ารัดกล้ามเนื้อวัสดุคล้ายๆ กางเกงใส่เต้น แต่เนื้อผ้ามีความรัดมากกว่าโดยผ่านการคำนวณมาแล้วว่าต้องการรัดดึงกล้ามเนื้อมัดไหน หรือส่วนใดของร่างกาย ซึ่งจะช่วยในการเสริมสร้างสมรรถภาพรวมทั้งช่วยลดการบาดเจ็บ

    ถามถึงเกณฑ์ในการเลือกสินค้าเข้าพอร์ต ผู้บริหารหนุ่มตอบแบบไม่ต้องใช้เวลาคิดว่า “ไม่จำเป็นต้องดัง แต่ต้องมีคุณภาพดี character แบรนด์น่าสนใจ ราคาไม่ก้าวกระโดดมาก สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ performance...เราอยากให้คนไทย นักกีฬา ได้มีของดีๆ ใช้ ผมไม่เห็นด้วยเลยว่าคนไทยต้องซื้อของแพงกว่าประเทศอื่น 

    ผมเถียงกับผู้บริหารที่เมืองนอกทุกยี่ห้อเลยว่าทำไมต้องตั้งราคาขายที่ไทยแพงกว่าประเทศอื่น แพงกว่าสิงคโปร์ 15% แพงกว่าญี่ปุ่น 20% เขาบอกว่ามันเป็นแบบนี้ คุณลองเช็กราคาสินค้าในร้านเลย ผมไม่สนใจว่าสิงคโปร์ตั้งเท่าไร ถ้าเป็นแบรนด์จากอเมริการาคาขายเท่ากับที่อเมริกา...

    พ่อเป็นนักบาสบอกผมตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่า วันไหนเล่นบาสได้ดีเพราะมีรองเท้าที่ดี วันไหนหยิบรองเท้าคู่ไม่ดีไม่มีทางวิ่งได้ กระโดดได้ เป็น commitment ว่าต้องหาสินค้าที่ดี ราคาที่เหมาะสมให้ลูกค้า เป็นสิ่งที่ตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ”



    ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จเขายกความดีให้ทีมงานโดยบอกว่า โชคดีที่มีทีมงานที่ทุ่มเท เขาเพียงแค่คิดไอเดียเบื้องต้นว่าต้องการทำอะไรและให้ทีมงานไปคิดต่อ สุดท้ายคือตัวสินค้าเองที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

    “บริษัททำธุรกิจมา 16 ปี ไม่มีคนรู้จักเราเลย รู้แต่ว่านี่ร้าน Nike ร้าน Adidas ร้าน ASICS คนเริ่มรู้จักตอนทำร้าน REV RUNNR ต้องยกความดีความชอบให้ทีมมาร์เก็ตติ้ง เขาทำงานหนักมากเพื่อให้ร้านวิ่งเป็นที่ยอมรับในตลาด เพราะไม่เคยมีมาก่อน มีแต่ร้านเดี่ยวๆ...และสร้างเป็น community ของนักวิ่งทุกกลุ่ม ตั้งแต่คนหัดใหม่ เริ่มจากกิโลที่ศูนย์ เทรนตั้งแต่วิธียืดเหยียด ระยะทางเริ่มวิ่ง แชร์ความรู้ประสบการณ์กัน"

    “เราหากิจกรรมการวิ่งที่ไปได้ยากให้นักกีฬาได้ไป เราเป็นคนแรกที่ทำ เช่น Abbott World Marathon Majors ในโลกมี 6 สนามคือ New York, Chicago, Boston, London, Berlin, Tokyo เราร่วมกับ BMW ให้นักวิ่งไทยได้มีโอกาสไปวิ่งเบอร์ลินมาราธอน ปี 2561”

    ทุกวันที่เข้าออฟฟิศก็ไม่คิดว่าไปทำงาน เพราะอยู่กับอุปกรณ์กีฬา รองเท้ากีฬา ได้พบกับเพื่อนๆ นักวิ่ง นั่นคือสิ่งที่ชอบ เขาบอกว่า ไม่เคยรู้สึกว่าสิ่งนี้คืองานและต้องหาเวลาส่วนตัว “การได้หยิบรองเท้าวิ่งมาดู ผมมีความสุขมาก...ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนคนอื่น แต่มีทีมงาน มีลูกน้องที่แฮปปี้”

    เป้าหมายต่อจากนี้คือ การเปิดช็อปที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ปี 2565 ประเดิมที่มาเลเซียเป็นประเทศแรก โดยเพิ่งเปิดช็อป Saucony ในห้างใหญ่กลางกรุง Kuala Lumpur และมีลูกค้าโฮลล์เซลส์ 10 กว่าราย รวมทั้งจะเปิดร้าน REV RUNNR ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์



อ่านเพิ่มเติม : นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล MASTER โตด้วย “ว้าวเอฟเฟกต์”


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine