3 ปีท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียโอกาสทางธุรกิจมากมาย แต่บางธุรกิจกลับพลิกฟื้นจากช่วงตกต่ำพุ่งทะยานสู่รายได้ใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ ภาวะชะงักงันของการเดินทางกลับส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมได้เกินคาด
กลางเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ค่าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทไทยตกต่ำ ดอกเบี้ยขาขึ้น และภาวะเงินเฟ้อส่อเค้ารุนแรง แต่ทว่าธุรกิจขนส่งสินค้ากลับได้รับผลกระทบไม่มาก
“6 เดือนปีนี้เทียบกับ 6 เดือนปีที่แล้วเราเติบโต 40% สำหรับ net profit ส่วน revenue โตกว่า 20%”
ทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “III” กล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand ในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังเผชิญสถานการณ์โควิดมานานเกือบ 3 ปี สายการบินหดหาย การขนส่งสินค้าทางอากาศ (air freight) หยุดชะงัก เขาต้องปรับตัวอย่างหนัก แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้พร้อมผลกำไรที่เติบโตมากขึ้น
ประสบการณ์คือเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา ซีอีโอ III เล่าว่า ในช่วงที่ผ่านมา การขนส่งทางอากาศเปลี่ยนแปลงมากจากปกติ 80-90% เป็นการจัดส่งสินค้าใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร เมื่อไม่มีการบินตามปกติ ย่อมเกิดปัญหา “ช่วงโควิดเครื่องบินโดยสารบินน้อยมากไม่ถึง 10% บางเส้นทางแทบเป็นศูนย์ เราต้องแก้สถานการณ์วุ่นเมื่อไม่มีไฟลต์บิน” ทิพย์บอกเล่าถึงปัญหาที่พบในครั้งแรกเมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 รุนแรง เขาต้องลดต้นทุนการบริหารต่างๆ พลิกวิกฤตมาเป็นโอกาสโดยการนำเครื่องบินโดยสารมาเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า (cargo) แทน
ซื้อ ANI คลุมทั่วเอเชีย
คำว่า “ขยายธุรกิจ” ของซีอีโอ III คือ การไปซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนใน บริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ ANI (ปลายปี 2564) โดยใช้เงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้า (joint venture) ของบริษัทฯ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการเข้าซื้อกิจการกลุ่ม บริษัท เอเชีย จีเอสเอ (เอ็ม) เซินดิเรียน เบอร์ฮัด หรือ ASIA GSA (M) Sdn. Bhd. ในสัดส่วน 20% ซึ่งบริษัทนี้ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
“เราต้องการทำธุรกิจทั่วเอเชียจึงได้ acquired บริษัทผู้บริหาร air freight และเปิดพาร์ตเนอร์ ซึ่งตอนนี้มีกว่า 10 กว่าประเทศในเอเชียและอินโดจีนทั้งหมด" ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายอยู่ในเอเชียประมาณ 20 สายการบิน และสายการบินเหล่านี้ก็จะส่งต่อไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ทิพย์บอกเล่าเพียงบางส่วนของการปรับตัวที่เขาทำ ในขณะที่ต้องลดต้นทุนและบริหารจัดการธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศให้ก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ เขายังคว้าจังหวะนี้ในการขยายฐานธุรกิจไปด้วย แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
“วันนี้เรายังแบกต้นทุนบางส่วนอยู่ เพราะการบินยังไม่กลับมาปกติ ยังมีปัญหาการล็อกดาวน์ของจีน วันนี้ตลาดยังไม่กลับมาเต็มที่” แต่ถึงกระนั้นผลประกอบการของ III ก็เป็นบวก ซึ่งแน่นอนทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ผลกำไรที่เกิดขึ้นได้มาเพราะการบริหารจัดการที่ดี
Filing เข้าตลาดฯ ต้นปี ’66
แต่ถึงกระนั้น III ยังคงต้องแบกต้นทุน ค่าเช่า ค่าบริหาร ค่าจ้างพนักงาน และค่าอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ทั้งหมดสำหรับงาน 5,000 ตารางเมตร ทั้งที่ปริมาณงานมีเพียง 10% เขาจึงหันมาดูรายละเอียดสำนักงานต่างๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 10 แห่ง แล้วปรับลดขนาดและพื้นที่ให้เหลือเพียงสำนักงานในพื้นที่หลักๆ เช่น กรุงเทพฯ
“ตอนนี้เหลือในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ฯ คนก็ลดลงในช่วงนั้น ตอนนั้นทั่วประเทศเฉพาะฝั่ง air freight มี 700 คน ตอนหลังเหลือไม่ถึง 200 คน” เป็นการลดขนาดองค์กรไปพร้อมกับการปรับตัว ในขณะที่ค่าบริการขนส่งสูงขึ้น แต่สินค้าที่ผ่านคลังสินค้าดอนเมืองแทบหายหมดในช่วงโควิด เนื่องจากไม่มีไฟลต์บินสำนักงานที่ดอนเมืองจึงปรับเปิด-ปิดแบบวันต่อวัน มีไฟลต์เข้ามาก็เปิด หากไม่มีไฟลต์ก็ปิดเพื่อลดต้นทุนบริหารแบบนี้มาเป็นปี
แม้จะต้องฝ่าฟันแก้ปัญหามากมาย แต่ทิพย์ก็สามารถทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา III มีการเติบโตได้ค่อนข้างมาก และยังทำ new high มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา โดยในปี 2565 เติบโตได้ดีต่อเนื่องมาตลอด 3 ไตรมาส การเข้าไป acquired บริษัทพาร์ตเนอร์ด้านบริหารการจัดส่งสินค้าทางอากาศเข้ามาทำให้เติบโตได้ในระดับภูมิภาค ส่งผลกำไรกลับมาแม้ไฟลต์จะมีน้อยลงแต่ค่าเฟรทสูงขึ้นเยอะ และบางสายการบินที่ III มีตัวแทนมีเครื่องบินขนคาร์โก้โดยเฉพาะทำให้เติบโตได้
“เราไป acquired พาร์ตเนอร์รายใหญ่สุด ตกลงกันหมดแล้วซื้อไปแล้ว 20% เราจะซื้อ 80% ที่เหลือ เฮดออฟฟิศอยู่ที่มาเลเซียและมีออฟฟิศทั่วเอเชีย” ทิพย์แจกแจงแผนลงทุนในอนาคตที่เริ่มไปแล้วบางส่วน เขาบอกว่า เมื่อการซื้อเสร็จสิ้นตามแผนงานซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2565 หลังจากนั้นก็จะทำไฟลิ่งยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทลูกอีกรายที่จะเข้าตลาดในชื่อ เอเอ็นไอ เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชันแนล “เราตั้งใจ spin-off เข้าตลาดอีกตัว คาดว่าจะยื่น filing ได้ในช่วงต้นปี 2566”
การซื้อกิจการ ANI ในครั้งนี้จะทำให้บริษัทขยายบริการได้ครอบคลุมและก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 บริษัทตัวแทนขนส่งสินค้าสายการบินใหญ่ในเอเชีย ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่ต้องการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในภูมิภาค มีสัดส่วนรายได้ 70-80% มาจากต่างประเทศ และจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเป็นบริษัทระดับภูมิภาคเติบโตอย่างมั่นคง โดยใช้ III เป็นโฮลดิ้งบริษัทแม่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
“การรุกธุรกิจเป็นตัวแทนส่งสินค้าของสายการบินถือเป็นโมเดลธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งบริษัทในตลาดเมืองไทยที่ไปต่างประเทศมีน้อยมาก สำหรับกิจการที่ทำ air freight” สำหรับการส่งสินค้าทางเรือ Sea freight ก็รับรู้ผลกำไรจากคู่ค่าด้วยราคาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่จัดส่งมีจำกัด "Sea freight 2 ปีมานี้มันดีด้วยค่าระวาง แต่ air freight กลับมีปัญหาทุกบริษัทขาดทุนเพราะไฟลต์หายไป"
อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าในปี 2566 บริการด้าน air freight จะขึ้นมาเกิน 50% แต่ด้วยเหตุผลที่ทุกคนยังหวังพึ่งจีนจึงต้องรอจีนเปิดประเทศให้มีการเดินทางเข้าออกได้เป็นปกติ
ร่วมสตาร์ทอัพทำ “Same Day”
นอกจากบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ทำอยู่เป็นปกติแล้ว ซีอีโอ III ยังขยายไปสู่บริการที่รวดเร็วขึ้น เขาเรียกมันว่า เป็นบริการขนส่งแบบพรีเมียมด้วยการจัดส่งรวดเร็วภายในวันเดียว หรือ Same Day ซึ่งทำร่วมกับสตาร์ทอัพที่ชื่อ MAKESEND Express ทำการจัดส่งวันเดียวได้ถึงระดับในเอเชีย เหมือนส่งโปรดักต์เดลิเวอรี่ เน้นเจาะตลาดอี-คอมเมิร์ซกลุ่มลูกค้าที่สั่งของออนไลน์
“เราพยายามทำคอนเซ็ปต์ Same Day ขึ้นมาในกรุงเทพฯ อนาคตก็อยากทำต่างจังหวัด ส่วนนี้เป็นธุรกิจที่ต่อยอดจากโลจิสติกส์ และเป็นบริการพรีเมียมที่ได้ราคาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการส่งของด่วนรวดเร็ว ความต้องการกลุ่มนี้มีไม่น้อยแต่ยังเป็นแบบออนดีมานด์ อาจมีบริการเหมือนสั่งอาหารต้องได้ภายใน 1 ชั่วโมง ก็จะเป็นอีกราคา"
เขายังพูดถึงอีกธุรกิจที่ขยายด้วยการได้ร่วมทุนกับ บริษัท สกาย ไอซีที ให้บริการกราวด์เซอร์วิสทั้งหมด บริหารคลังสินค้าในท่าอากาศยาน คาร์โก้ เทอร์มินอล รวมไปถึงการเช็กอินผู้โดยสาร โดยทยอยเข้าไปในดอนเมืองส่วนหนึ่งและที่ภูเก็ตได้เป็นเจ้าเดียวสัมปทาน 13 ปี เพิ่งได้มาเมื่อเดือนเมษายน ปี 2564 ยังเหลือสัญญาอีก 10 กว่าปี เป็นบริการเต็มรูปแบบที่ภูเก็ต ตั้งเคาน์เตอร์เช็กอิน รวมถึงกราวด์คาร์โก้ทุกอย่าง เป็นอีกธุรกิจที่มีโอกาสการเติบโตสูง
ส่วนงานที่ 3 คือ โลจิสติกส์ management ซึ่งลูกค้าเป็นผู้นำเข้าและส่งออก โดยรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรวมถึงในประเทศ งานบริหารคลังสินค้ารองรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เช่น ลูกค้าขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ มีบริหารโลจิสติกส์ครบวงจรให้ลูกค้าทั้งในส่วนของคลังสินค้าและการขนส่ง
งานที่ 4 เป็นตัวเคมีคัล ซึ่ง III รับขนส่งให้เป็นตลาดค่อนข้างใหญ่เติบโตปีละ 15-20% ขนส่งระหว่างประเทศเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ให้บริการสินค้าเคมีภัณฑ์สินค้าอันตราย ลูกค้าเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ข้ามชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย III ให้บริการครบวงจรด้านโลจิสติกส์ทั้งขนส่งทางเรือ ทางอากาศ และบริหารคลังสินค้าให้ลูกค้า
ส่วนงานที่ 5 เป็นธุรกิจใหม่ที่เข้าไปซื้อคือ การบริหารส่งสินค้าสนามบินต่างๆ จะเป็นบียูที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นบริษัทในภูมิภาค “ตัว AOTGA เป็นธุรกิจใหม่ ไปร่วมกับ บริษัท สิทธิโลจิสติกส์ ที่ลาวเพิ่งเริ่มให้บริการขนส่งทางรางในประเทศ JV กับลาวมีพาร์ตเนอร์จีนขนส่งผ่านแดนโดยรถไฟ” ทิพย์ย้ำว่า ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พัฒนาอยู่และจะทำต่อเนื่อง แต่เนื่องจากปัจจุบันจีนยังล็อกดาวน์อยู่จึงยังให้บริการได้ไม่ครบลูป
ซีอีโอหนุ่มวัย 56 ปีบอกว่า เขาทำงานด้านโลจิสติกส์มาตลอดชีวิต หากนับย้อนกลับไปเขาอยู่ในวงการนี้มากว่า 30 ปี ตั้งแต่การขนส่งสินค้ายังไม่ใช้คำว่า “โลจิสติกส์” เลยด้วยซ้ำ จากจุดเริ่มต้นพาณิชย์นาวี ค่อยๆ ปรับตัวและขยายธุรกิจจนกระทั่งนำกิจการทริพเพิลไอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นก็เติบโตมาเรื่อย เป้าหมายใหม่การนำบริษัทลูกเข้าตลาดฯ ในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวของการเติบโต ซึ่งรอบนี้ฝันของเขาก้าวไกลสู่ระดับภูมิภาค เป็นบริษัทโลจิสติกส์คนไทยที่ก้าวไปสร้างรายได้จากต่างประเทศอย่างจริงจัง
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
อ่านเพิ่มเติม
>> พิทยา ธนาดำรงศักดิ์ ทะยานน่านน้ำใหม่ "EV Market Place"
>> อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ "TKN" พลิกตำราสู้ศึกต่างแดน