ธนินทร์ รัตนศิริวิไล WINDOW ปลดล็อกประตูมหาชน - Forbes Thailand

ธนินทร์ รัตนศิริวิไล WINDOW ปลดล็อกประตูมหาชน

ความมุ่งมั่นติดปีกอาณาจักรครอบครัวให้สามารถคว้าโอกาสสร้างการเติบโตรอบด้านด้วยการลบข้อจำกัดด้านเงินทุนและยกระดับความเป็นมืออาชีพ พร้อมผงาดธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประตูและหน้าต่างสำเร็จรูปรายแรกที่สามารถจดทะเบียนเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


    “ครอบครัวของผมมีกิจการและประสบการณ์ในด้านวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้น เหล็กรูปพรรณ หลังคาเมทัลชีท ชุดครัว งานไม้ งานพลาสติก งานท่อน้ำ ท่อประปา หรือแม้แต่ท่าเรือ ตั้งแต่สมัยอากงอาม่าจนถึงปัจจุบันมากกว่า 60 ปีแล้ว ผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ซึ่งมาสานต่อเรื่องผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ด้วยความตั้งใจของผมที่ต้องการให้บริษัทเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวและคนในตระกูล โดยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผมได้รับมอบหมายความไว้วางใจให้มาดูแล”

    ธนินทร์ รัตนศิริวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บริษัท วินโดว์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ WINDOW ทายาทรุ่น 3 กล่าวถึงความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจนับตั้งแต่การศึกษาปริญญาตรี วิชาเอกการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาคภาษาอังกฤษ (BBA Program) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มต้นทำงานนอกธุรกิจของครอบครัวในบริษัทต่างชาติเกี่ยวกับด้านโลจิสติกส์และธุรกิจรับย้ายบ้านระหว่างประเทศ ซึ่งได้เรียนรู้มุมมองและประสบการณ์การเป็นพนักงานบริษัทเต็มตัวก่อนจะลองใช้ชีวิตต่างแดนที่ประเทศจีน และกลับมาทำงานในธุรกิจสินค้าวัสดุก่อสร้างของครอบครัว

    ในช่วงการขยายธุรกิจผ่านการซื้อกิจการผลิตและจัดจำหน่ายประตูและหน้าต่างในปี 2557 ถือเป็นโอกาสให้ธนินทร์ได้แสดงฝีมือการบริหารงานตั้งแต่ยังมีพนักงานในบริษัทเพียง 30 คน จนพนักงานเพิ่มขึ้นหลายร้อยคน พร้อมการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วยกำลังการผลิตบานประตูและหน้าต่างในปัจจุบันที่มีจำนวนมากกว่า 600,000 ชุดต่อปี

    ทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ระดับสากล เช่น มาตรฐาน ISO 9001:2015 ระบบบริหารการจัดการด้านคุณภาพมาตรฐาน ISO 14000:2015 ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรฐาน ISO 45001:2018 ระบบการจัดการอาชีว-อนามัยและความปลอดภัย อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) จากกระทรวงอุตสาหกรรม

    “ภาพรวมธุรกิจเรามี 2 ทำเลใหญ่อยู่ที่โรงงานจังหวัดกาญจนบุรีและสำนักงานใหญ่ที่สมุทรสาคร ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตบานประตูและหน้าต่างมากกว่า 600,000 ชุดต่อปี หรือมากกว่า 800,000 ตารางเมตรต่อปี พร้อมการรับรอง ISO มาตรฐานการผลิต สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยเรามีครบถ้วน”

    ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถขยายผลิตภัณฑ์การจัดจำหน่ายตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประตูและผลิตภัณฑ์หน้าต่างซึ่งแยกย่อยตามวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตแบ่งเป็นเส้นอลูมิเนียมและเส้น UPVC เช่น ประตูบานเลื่อน ประตูบานสวิง ประตูรางแขวน ประตูห้องน้ำ หน้าต่างบานเลื่อน หน้าบานเปิด หน้าต่างบานกระทุ้ง หน้าต่างบานช่องแสง ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท ได้แก่ Window Asia, Wind Fame, FRAMEX และ Enzo รวมทั้งการรับจ้างผลิตและจัดจำหน่ายแบรนด์ของลูกค้าหรือ OEM โดยมีตราสินค้าที่คู่ค้าเป็นเจ้าของ ได้แก่ Finext, HOOMDot, UNIX และ Wellingtan


สำนักงาน WINDOW


    ธนินทร์ยังกล่าวถึงช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิมในทุกภูมิภาคของประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ของบริษัทวางจำหน่ายรวมกันกว่า 653 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปี 2566) พร้อมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายทางตรงผ่าน Window Asia Shop ซึ่งเป็นร้านค้าของตัวเองจำนวน 42 สาขาทั่วประเทศ โดยบริษัทได้ดำเนินการเช่าพื้นที่โครงการของ Dynasty ซึ่งเป็นสาขาของ บริษัท ไดนาสตี้ เซรามิค จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในร้านค้าของตนเองและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาใช้งาน

    นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เช่น เว็บไซต์บริษัท, Facebook, LINE Official Account, Lazada, Shopee และ NocNoc ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการสั่งซื้อสินค้า โดยผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของทางบริษัทและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท รวมถึงสามารถสอบถามข้อสงสัยหรือสอบถามปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และการใช้งานได้ทันที


เร่งเครื่องตอบดีมานด์ตลาด

    ก้าวสำคัญในการเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประตูและหน้าต่างสำเร็จรูปรายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสามารถสร้างความแข็งแกร่งด้านเงินทุนในการขยายศักยภาพการเติบโตรองรับออร์เดอร์และรายได้คาดการณ์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ด้วยการเดินหน้าตามแผนการลงทุนก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่และจัดซื้อเครื่องจักรและเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และพื้นที่การผลิตงานทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ประเภทอลูมิเนียมและ UPVC รวมถึงเพิ่มพื้นที่จัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป และเพิ่มพื้นที่ในการจัดเตรียมงานจัดส่งสินค้าสำหรับรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของบริษัทในอนาคต

    “WINDOW อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัย 4 ซึ่งมีความยั่งยืนและอยู่คู่กันกับคนตลอดชีวิต ถ้าประตูหน้าต่างไม่ดีอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ เช่น เสียงดังน้ำรั่วซึม แมลงเข้ามาได้ง่าย โดยผมเชื่อว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงพัฒนาระบบประตู หน้าต่างที่จะเข้าไปสู่ตลาดสากลในต่างประเทศมากขึ้น”

    ขณะที่ธนินทร์ได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจสร้างการเติบโตในอนาคตไว้อย่างครอบคลุม ได้แก่ กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สวยงาม ทันสมัย แข็งแรงคงทน และคุ้มค่าพร้อมขนาดและสีหลากหลายสามารถนำไปใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย รวมถึงกลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทุกช่องทางและกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง สะดวกในการเข้าถึงสินค้าและหาซื้อได้ง่ายทุกภูมิภาค

    นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้ากลยุทธ์การบริหารหลังการขายโดยประสานกับร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายเพื่อให้บริการ และการรับประกันอุปกรณ์ตลอดอายุการใช้งาน รับประกันสีเส้น เส้นอลูมิเนียม และ UPVC 10 ปี พร้อมทั้งกลยุทธ์ด้านตราสินค้า ด้วยการลดจำนวนตราสินค้าเพื่อให้ทำการตลาดอย่างทั่วถึง และสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่จดจำด้านคุณภาพและความคุ้มค่า ภายใต้ความมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ Window Asia ให้เป็นที่รู้จักในตลาด

    สำหรับกลยุทธ์ด้านการตลาดของบริษัทมุ่งเน้นดำเนินการตามปรัชญาการทำงานของบริษัท ได้แก่ No Stock, No Sales. No Show, No Sales. No Sales, No Sales. และ No Service, No Sales โดย No Stock, No Sales หมายถึงบริษัทต้องมีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการสั่งซื้อในทุกช่องทางจัดจำหน่ายอยู่ตลอดเวลา

    ส่วน No Show, No Sales มุ่งเน้นให้มีผลิตภัณฑ์ตัวทดลองในจุดแสดงสินค้าของร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่

    ด้าน No Sales, No Sales เป็นการเน้นย้ำการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำสินค้า (Personal Consultant: PC)

    สุดท้าย No Service, No Sales บริษัทให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขาย


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “จิม ทอมป์สัน” อาณาจักรไลฟ์สไตล์ เสน่ห์ไหมไทยสู่แบรนด์ระดับโลก

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine