RiFF Studio “ความฝันเหนือชีวิต” กับภารกิจพาแอนิเมชันไทยประกาศศักดาบนเวทีโลก - Forbes Thailand

RiFF Studio “ความฝันเหนือชีวิต” กับภารกิจพาแอนิเมชันไทยประกาศศักดาบนเวทีโลก

บนเวทีงานกาล่าพรีเมียร์ภาพยนตร์แอนิเมชัน นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ ที่ความรัก ความหลงใหล และความฝันของสองประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมแห่ง RiFF Studio ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน และพีท-สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี เปล่งประกาย ตัวอย่างภาพยนตร์ฉายชัดบนจอเรียกเสียงฮือฮาจากบรรดาแฟนคลับ แขกรับเชิญ ทีมงาน และสื่อได้เป็นอย่างดี


    วีรภัทรเผยว่าเขาตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ แต่ในดวงตากลับสะท้อนความสุขใจออกมาชัดเจน เมื่อผลงานของพวกเขาและทีมงานอีกกว่า 200 ชีวิตที่ทุ่มเทมาตลอดหลายปีกำลังจะเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ชมมากมาย

    บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ถูกจัดให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการนักรบมนตรา เพื่อแนะนำแต่ละตัวละครที่มีคาแรคเตอร์โดดเด่น พร้อมนำเสนอเรื่องราวการทำงานเบื้องหลัง ตลอดจนภาพความประทับใจของเหล่าทีมงาน ซึ่งไฮไลต์ภายในนิทรรศการนั้นคือโมเดลตัวละครในชุดเกราะสีขาวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนุมาน สามารถดึงดูดให้ผู้คนเวียนมาชื่นชมและถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันแบบไม่ขาดสาย

    นอกเหนือจากนี้ ยังมีบูธจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เสื้อผ้า ตุ๊กตา และอื่นๆ โดยแต่ละชิ้นล้วนออกแบบมาจากตัวละครของภาพยนตร์นักรบมนตราทั้งสิ้น หากใครที่คลุกคลีกับวงการแอนิเมชันหรือเกมอาจจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมเช่นนี้ดี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของโปรเจ็กต์ภาพยนตร์แอนิเมชันนักรบมนตราอีกด้วย

    นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ คือการนำเอาเรื่องราววรรณคดีชั้นครูของไทยอย่างรามเกียรติ์ซึ่งมีที่มาจากรามายณะของอินเดียมาตีความใหม่ บรรจงแต่งเติมความล้ำสมัยในธีมสงครามอวกาศผนวกเข้ากับการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ อย่างพิถีพิถัน เดินหน้าพา Soft Power ไทยประกาศศักดาไปทั่วโลก


แอนิเมชัน อุตสาหกรรมมาแรงในยุคแห่งคอนเทนต์

    หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชันในประเทศไทยอาจเป็นเรื่องยาก แต่ ณ ปัจจุบันการทำงานด้านแอนิเมชันของไทยสามารถยึดเป็นอาชีพหลักที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาล ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ นำมาซึ่งเทรนด์ใหม่ๆ ที่ต้องพึ่งพางานด้านกราฟิกทั่วโลก ทั้งภาพยนตร์ เกม และแอปพลิเคชัน

    เพราะการผลิตคอนเทนต์สมัยใหม่มีการพึ่งพาวิชวลเอฟเฟค เทคนิคพิเศษ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชันมากมายทีเดียว ที่ขาดไม่ได้เลยคือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ เช่น HBO GO, Netflix, Amazon Prime ฯลฯ ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกระจายงานแก่สายอาชีพแอนิเมชั่น

    RiFF Studio เองก็เติบโตมากับงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ทางสตูดิโอเป็น Outsource ให้กับลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ อยู่เบื้องหลังผลงานคุณภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชันพิเศษจากภาพยนตร์เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ, ซีรีส์แอนิเมชัน Bloody Bunny จำนวน 15 ตอนบน YouTube, พญานาคจากภาพยนตร์นาคี 2 กระทั่งภาพยนตร์แอนิเมชันฟอร์มยักษ์ของญี่ปุ่น Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ตัวอย่างผลงานในอดีตบางส่วนของ RiFF Studio


    นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ผู้คนอยู่บ้านและหันมาเล่นเกมเพื่อความบันเทิง เอื้องานด้านเกมเติบโต การรับชมคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยังได้รับความนิยมมากขึ้น จึงต้องมีการผลิตงานป้อนเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ทว่ามาตรการกักตัวและรักษาระยะห่างทางสังคมเป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพยนตร์คนแสดง ทำให้ไม่สามารถเปิดกล้องได้ตามปกติ กระทบต่องานด้านวิชวลเอฟเฟค แต่เป็นโอกาสทองให้ภาพยนตร์แอนิเมชันเฉิดฉาย เพราะการผลิตสามารถทำได้จากระยะไกล หาลูกค้าได้ทั่วโลก อาชีพด้านแอนิเมชันจึงกลายเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงอาชีพหนึ่ง

    สอดคล้องกับผลวิจัยของ Precedence Research ซึ่งประเมินมูลค่าตลาดแอนิเมชันทั่วโลกปี 2023 อยู่ที่ราว 4.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และทำนายแนวโน้มว่าจะไปถึง 7.79 แสนล้านเหรียญภายในปี 2032


    ในประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เผยอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยประจำปี 2565 มีมูลค่าราว 4 หมื่นล้านบาท เกมมีสัดส่วนสูงสุดที่ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือแอนิเมชันที่ 3.93 พันล้านบาท คาแรคเตอร์ที่ 2 พันล้านบาท และหมวดหมู่ใหม่อย่างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่ 3.7 พันล้านบาท

    สำหรับกลุ่มแอนิเมชันยังจำแนกลงไปเป็น 4 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์กราฟิกและวิชวลเอฟเฟค (CG และ VFX), แอนิเมชัน 3D, แอนิเมชัน 2D และกราฟิกเคลื่อนไหว (Motion Graphic) โดยมีผู้ว่าจ้างหลักจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป อเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม และแคนาดา ซึ่งล้วนแล้วแต่ไว้วางใจศักยภาพของแอนิเมเตอร์ชาวไทย ทำให้อุตสาหรรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง


    แต่แม้โอกาสทอประกาย ใช่ว่าสตูดิโอแอนิเมชันจะไม่ต้องปรับตัวเลยในสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา RiFF Studio เคยมีการดำเนินงานแบบสตูดิโอทั่วไป คือทุกคนมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่เพราะโควิด-19 พวกเขาจึงเปลี่ยนสู่โหมด Work Hybrid โดยมีการทำงานแบบออฟไลน์ที่สตูดิโอ และ Work from home ผ่านออนไลน์ ซึ่งการทำงานแบบนี้มีข้อดีหลายอย่าง

    ประการแรกคือมีบันทึก เช่น โน้ต หรือแชท สามารถทบทวนการประชุมได้ง่าย ประการที่สองคือความสะดวก พนักงานไม่ต้องมาประจำที่ออฟฟิศในกรุงเทพฯ สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวที่ต่างจังหวัด หรือจะไปเที่ยวก็ได้ ขอแค่รับผิดชอบหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย ตัวชี้วัดหรือ KPI คือผลงาน จำนวนชั่วโมงการทำงานสอดคล้องกับหน้าที่ที่แต่ละคนได้รับ

    ส่วนข้อเสียก็อาจมีบ้าง เช่น ทีมงานต้องห่างหายจากการพูดคุยเจอหน้ากันก่อให้เกิดความเหงา ซึ่งทาง RiFF Studio ก็พยายามชดเชยโดยการจัดปาร์ตี้เดือนละครั้งให้พนักงานได้มาพบปะสังสรรค์กัน และมี Working Space สำหรับคนที่อยากมาทำงานที่ออฟฟิศ โดยที่สตูดิโอจะมีห้องทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงลานกีฬาและยิมอย่างครบครัน

    สองผู้บริหารหนุ่มเผยว่าแนวทางการทำงานทั้งหมดนี้ เอื้อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พวกเขายังชี้ว่าทีมคือสิ่งสำคัญสำหรับแอนิเมชัน โดยวีรภัทรก็ได้นำประสบการณ์การทำงานที่สหรัฐอเมริการ่วมกับ Blue Sky Studios และ Sony ผู้ผลิตแอนิเมชันแก่ Hollywood มาบริหารเสริมแกร่งทีมงาน RiFF Studio อีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีงาน Outsource เข้ามาไม่ขาดสายสร้างรายได้แก่ทางสตูดิโอเรื่อยมา แต่ทั้งสองก็ยืนยันมุ่งสู่ความฝันที่ยากกว่า นั่นคือการผลิตงานทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง (Intellectual Property หรือ IP) กำเนิดเป็น นักรบมนตรา: ตำนานแปดดวงจันทร์ ที่กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศอยู่ ณ ขณะนี้


สร้าง IP ไทยผลักดัน Soft Power สู่ระดับโลก

    เรื่องราวเริ่มต้นในวันที่เพื่อนวัยมัธยมต้นสองคนซึ่งต่างก็ชื่นชอบอ่านการ์ตูน เล่นเกม และแอนิเมชัน แบ่งปันความฝันว่าสักวันจะสร้างสรรค์แอนิเมชันของไทยขึ้นมาบ้าง แม้แยกย้ายกันไปตามครรลองชีวิตของแต่ละคน เส้นทางกลับหวนมาบรรจบกันอีกครั้ง

    “ก่อนที่จะทำสตูดิโอ เราแค่อยากทำภาพยนตร์” วีรภัทรรำลึกความหลัง พวกเขาเคยมีโอกาสนำโปรเจ็กต์หนึ่งไปพิทช์กับทาง GTH (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น GDH) และถูกถามมาว่า หากได้รับทุนจะทำอย่างไร ทั้งสองที่ตอนนั้นยังไม่มีทีมจึงเริ่มก่อตั้ง บริษัท เอ เอส เอ พี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขึ้นในปี 2007 ส่วน RiFF Studio ถือกำเนิดตามมาในปี 2010 เป็นดั่งจุดเริ่มต้นเส้นทางสู่ฝันที่จับต้องได้

    RiFF Studio เก็บสะสมทุนจากการรับงาน Outsource ค่อยๆ เติบโตจากจำนวนคนเพียง 3-5 คน บนพื้นที่เล็กๆ มีทีมงานเพียงฝ่ายเดียว ขยับขยายเรื่อยมาจนปัจจุบันมีพนักงานเกือบ 200 ชีวิต แบ่งเป็นแผนกต่างๆ อย่างครอบคลุมและครบครัน เช่น ฝ่ายสตอรีบอร์ด ฝ่ายจัดแสง ฝ่ายโมเดล ฝ่ายลิขสิทธิ์ เป็นต้น

    แต่พวกเขาไม่เคยลืมความตั้งใจดั้งเดิม เมื่อเข้าสู่ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดที่งานนอกบางส่วนลดลง กอปรกับเล็งเห็นโอกาสในยุคที่ตลาดสตรีมมิ่งเฟื่องฟู การเข้าถึงสื่อต่างๆ เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น จึงอาศัยจังหวะเดินหน้าโปรเจ็กต์ IP ของตัวเองแบบเต็มกำลังตลอด 3 ปี สัดส่วนการทำงานของสตูดิโอในช่วงเวลานี้จะเป็นงาน Outsource ราว 20% ส่วนอีก 80% ที่เหลือทุ่มเทสร้างนักรบมนตรา และเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ผลิตผ่านการทำงานแบบ Work from home ถึง 90% เลยทีเดียว

    การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันของตัวเองถือเป็นคนละเรื่องกับการรับจ้างทำงานให้ลูกค้า เพราะต้องทำเองทั้งหมดตั้งแต่เริ่มวางไอเดีย เป็นโจทย์แสนท้าทายสำหรับสองหนุ่มและทีมงาน แต่ในเมื่อมันคือความฝัน เหตุใดจึงต้องถอย?

ตุลย์-วีรภัทร ชินะนาวิน


    พวกเขาเริ่มต้นจากคำถามว่าอยากทำหนังเกี่ยวกับอะไร โดยต้องเป็นเรื่องที่พวกเขาต่างสนใจ และมีความถนัด เพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกจึงอยากนำจุดแข็งของตัวเองมานำเสนอ

    “ผมได้ฝึกเรียนโขนตั้งแต่สมัยประถม คือเรามีความรู้ และเรามี passion ในส่วนของรามเกียรติ์ แล้วเราสองคนก็ยังชอบเหมือนๆ กันในการเล่นเกม ดูการ์ตูน ซึ่งการ์ตูนที่ชอบก็จะเป็นพวกการต่อสู้และการ์ตูนแนวไซไฟ” สรพีเรศบรรยายถึงความหลงใหลที่พวกเขามีร่วมกัน และยังเป็นตัวจุดประกายให้เลือกเรื่องรามเกียรติ์มาเป็นแรงบันดาลใจ ตีความใหม่ ย้ายเซ็ตติ้งไปไว้ในห้วงอวกาศ กำเนิดเป็นนักรบมนตราที่มีความทันสมัย พร้อมมีเรื่องราวที่ผูกปมหรือซ่อนดีเทลเล็กๆ เอาไว้ให้เหล่าผู้ชมได้นำไปถกเถียงพูดคุยกันต่อ

    รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีไทยอันมีที่มาจากมหากาพย์รามายณะของอินเดีย ซึ่งเผยแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนถูกดัดแปลงเป็นฉบับของแต่ละประเทศ สองหนุ่มมองว่ารามเกียรติ์เป็นจุดร่วมของอาเซียน ผู้คนในแถบนี้รู้จัก สเกลใหญ่พอจะขายได้ เนื้อเรื่องมีความซับซ้อน รายละเอียดเยอะ มีความดราม่าและเนื้อหาด้านการเมืองที่เข้มข้น หาใช่แค่ทศกัณฐ์ลักพาตัวนางสีดาอย่างที่หลายคนเข้าใจ

    “เรื่องแรกก็อยากให้เป็นเรื่องที่เรามั่นใจมากที่สุดก่อนเพื่อปูทางไปในอนาคต อย่างน้อยคนที่เขารู้เรื่องรามเกียรติ์ทั่วโลกก็จะรู้เวลาเขาดู ว่าเรารู้จริงนะ เรามีความรู้นะ ไม่ใช่ว่าเราไปหยิบมาง่ายๆ” สรพีเรศกล่าว

    เคยมีการตั้งคำถามเช่นกันว่า สมมติถ้าไม่ทำเรื่องรามเกียรติ์ จะอยากทำเรื่องอะไร ต่างคนก็เสนอไอเดียต่างๆ มา ทว่าแต่ละอย่างมักเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งพวกเขาก็ได้นำทั้งหมดนั้นมาใช้อยู่แล้วเพื่อเสริมองค์ประกอบของภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กล่าวคือ รามเกียรติ์เป็น Big Idea ส่วน Soft Power อื่นๆ เป็นลูกเล่นสร้างความมีมิติแก่จักรวาลนักรบมนตรานั่นเอง

    โดยตัวอย่าง Soft Power ที่ทั้งคู่บรรจงเลือกใส่ลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้มีทั้งฉากยุคอนาคตที่ชวนให้นึกถึงประเทศไทย รถสองแถว ยาดม รวมถึงอาหารต่างๆ เช่น ไก่ย่าง กะเพราหมูกรอบ และเหล้ายาดอง

    วีรภัทรชี้ว่าโจทย์ยากของแอนิเมชันไทยคือบท ช่วงห้าปีให้หลังมานี้งานภาพของไทยไม่มีปัญหา อันจะเห็นได้จากการที่สตูดิโอบ้านเรารับงาน Outsource จากต่างประเทศมากมาย ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นบทและเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้เขียนบทนักรบมนตราก็คือสรพีเรศ ที่ได้ หมู-ชยนพ บุญประกอบ จาก GDH ผู้เขียน บทเมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ และ กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้เขียนบท Ghost Lab มาเป็นที่ปรึกษาบท (Script Doctor) คอยช่วยเรื่องการสื่อสารกับผู้ชมและเกลาความเป็นตัวตนในงานของเขาออกมา

พีท-สรพีเรศ ทรัพย์เสริมศรี


    เพราะผู้ผลิตผลงานมักชื่นชอบงานของตัวเองเป็นธรรมดา การมีคนวงนอกมาช่วยดูและวิจารณ์งานเปรียบดังการส่องกระจกสะท้อนเสียงตอบรับ ย้ำความมั่นใจว่าคนอื่นก็จะสนุกไปกับเรื่องราวที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยเช่นกัน อันเป็นระบบการทำงานแบบเดียวกับที่ใช้ใน Hollywood เพื่อให้งานมีมาตรฐานระดับโลก และสามารถนำคุณภาพตรงนี้ไปต่อยอดหางานให้สตูดิโอได้กว้างขวางขึ้น

    แน่นอนว่าอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำภาพยนตร์คือทุน โดยนักรบมนตราใช้ทุนสร้างกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะเลยเมื่อเทียบกับภาพยนตร์แอนิเมชันต่างชาติที่มีทุนสร้างหลักพันล้าน สาเหตุหนึ่งเพราะ RiFF Studio ไม่ได้มีนายทุนใหญ่หนุนหลัง เป็นเงินที่ทางสตูดิโอเก็บหอมรอมริบมาด้วยตัวเอง แต่ก็นำมาซึ่งข้อดีคืออิสระ ไม่ถูกใครควบคุมเนื้อหา เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตและจิตวิญญาณของคนที่รักภาพยนตร์และการ์ตูนแอนิเมชัน

    ทั้งสองเคยถูกถามเกี่ยวกับนักรบมนตราว่า “พวกพี่จะเอาอย่างนี้จริงๆ ใช่ไหม? ถ้าเป็นที่อื่นเขาไม่ให้ทำแล้วนะ”

    เมื่อไร้พันธนาการ จึงมีโอกาสไล่ตามเสียงของหัวใจ

    “นั่นคือสาเหตุที่เราอยากลงทุนทำเองหมดทุกอย่าง เพราะเราไม่ต้องการให้ใครมาแทรกแซงเรา” วีรภัทรย้ำจุดยืนหนักแน่น

    สรพีเรศก็เห็นพ้อง “เราไม่ใช่นักลงทุนที่มีเงินแล้วมาลงในภาพยนตร์แล้วหวังกำไร แต่นี่มันคือชีวิตของเรา มันคือการต่อยอดในอาชีพธุรกิจของเรา”

    อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักรบมนตราจะไม่มีผู้สนับสนุนเลย สปอนเซอร์หลักของพวกเขาคือยาดมหงส์ไทยและนมตรามะลิ ซึ่งชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างมาก ล่าสุดก็ได้มีการออกสินค้าร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

    ส่วนพันธมิตรด้านการโปรโมตจะเป็น JAM ภายใต้ บริษัท ไฟว์สตาร์ เอเจนซี่ จำกัด คอยโฆษณาประชาสัมพันธ์ ด้านลิขสิทธิ์ได้ TIGA ช่วยดูแล และ GDH ดำเนินการเรื่องการนำภาพยนตร์ไปเผยแพร่ยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะนอกจากไทยแล้ว นักรบมนตราก็มีกำหนดการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของประเทศอื่นๆ ทั่วอาเซียนในเวลาใกล้เคียงกันอีกด้วย

    สรพีเรศอธิบายว่า “เรามองว่าการทำหนังเป็นการสร้าง IP แล้วก็เป็นการอัปเกรดสตูดิโอให้เราได้ก้าวไปสู่ระดับโลกแล้วก็รับงานอื่นๆ ได้มากขึ้น” เสมือนกับการนำงบโปรโมตมาทำภาพยนตร์ ถือเป็นงานโปรโมตชิ้นใหญ่ พร้อมเสริมว่าทุน 200 ล้านที่ทุ่มไปกับเรื่องนี้ถือเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่แค่ทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งแล้วจบ แต่ละคาแรคเตอร์ออกแบบมาให้ขายได้ มีแฟนคลับ ซึ่งก็มีผลตอบรับที่ดี โดยพวกเขาวางแผนเอาไว้ที่ระยะเวลา 5-10 ปี นอกจากตัวภาพยนตร์แล้วก็จะมีการขายลิขสิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเกม ขนม เสื้อผ้า และสินค้าที่หลากหลาย


จุดบรรจบ ธุรกิจและแพสชัน

    ความฝันคือจุดเริ่มต้น ความรักคือกำลังใจให้มุ่งไปข้างหน้า แต่สองผู้บริหารหนุ่มก็มิได้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขากำลังทำธุรกิจ และในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ลำพังแพสชันอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องมีทั้งดวง ทักษะการทำบัญชี ความรู้ด้านกฎหมาย วิธีบริการลูกค้า กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ รับความเสี่ยงได้ และหากมีหุ้นส่วนก็ต้องรู้วิธีบริหารจัดการหุ้นส่วนด้วย

    โชคดีที่พวกเขามีสิ่งเหล่านี้กันคนละครึ่ง เสมือนตัวต่อที่มีความเชื่อใจเป็นกาวเชื่อมประสานอย่างลงตัว

    สิ่งสำคัญซึ่งวีรภัทรเน้นย้ำคือการปรับตัว

    “คำเดียวที่จะพูดเลยคือการปรับตัว ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ ถ้าปรับตัวเก่งก็จะอยู่รอดได้”

    ซึ่งทั้งหมดนี้หมายถึงการเรียนรู้ที่จะปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับปัจจัยภายนอกตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง และยังต้องเรียนรู้การปรับตัวในการทำงานร่วมกับทีมงานจำนวนมากภายในองค์กร

    การปรับตัวยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจร่วมกับเพื่อน โดยจะต้องพูดคุยสื่อสารกันด้วยหลักเหตุและผลอยู่เสมอ พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย อันนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างดีที่สุดและบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้


ภาพ: เอกพงศ์ ตันติผลประเสริฐ และ RiFF Studio


อ่านเพิ่มเติม : มัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์ "HER" ปลดล็อคพลังเยาวชนสู่สากล

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine