พลังแห่งความฝันและความรักในสิ่งแวดล้อมนั้นมีอานุภาพมากเหลือเกิน มากพอที่จะทำให้หนุ่มนักการเงินผู้มีรายได้งามตัดสินใจเดินออกจากงานที่มั่นคง มาผนึกกำลังกับเพื่อนสาวผู้บริหารโรงงานผลิตผ้าของครอบครัว ช่วยกันปลุกปั้นสตาร์ทอัพรักษ์โลก moreloop บนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เรื่องใหม่ในเมืองไทยที่ไม่มีเป็นต้นแบบให้เดินตาม
อมรพล หุวะนันทน์ วัย 40 ปี และ
ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ วัย 35 ปี คือสองผู้ก่อตั้งที่เรากำลังพูดถึง พวกเขาก่อตั้ง moreloop ในปี 2561 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผสมผสานโมเดลธุรกิจจำหน่ายผ้าเหลือ (surplus fabric) จากการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน บนแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน ฟังแนวคิดดูแล้วน่าท้าทาย ทว่า ความเป็นจริงในการทำงานนั้นไม่ง่ายเหมือนที่คิด สองนักสู้หัวใจสีเขียวยอมรับว่า “เหนื่อย” สุดๆ เพราะทุกอย่างนั้นเริ่มจากศูนย์
แต่กระนั้นกว่าสองปีที่ผ่านมา พวกเขาก็แอบรู้สึกปลื้มใจเล็กๆ เมื่อธุรกิจเริ่มมีพัฒนาการ เห็นได้จากระบบทำงานที่เริ่มลงตัว ปริมาณผ้าที่ขายได้ และผลกำไรที่ได้รับ หรือแม้กระทั่งด้านการยอมรับก็หลั่งไหลเข้ามาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะรางวัลจากเวทีประกวดในระดับนานาชาติ
“ผ่านมาสองปีกว่า มันมีอะไรที่เกิดขึ้นมาก เกินที่ผมจินตนาการ” อมรพล บอกกับ
Forbes Thailand ผ่านวิดีโอคอล พร้อมๆ กับ ธมลวรรณ ที่เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับการพูดคุยในครั้งนี้
คู่หูที่ลงตัว
อมรพลจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเงินจากคณะบริหารธุรกิจ เอกการเงินมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ปริญญาโท M.Sc. Banking and International Finance ที่ Cass Business School สหราชอาณาจักร ส่วนธมลวรรณ จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ และปริญญาโท บริหารการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งคู่รู้จักกันมากว่า 10 ปีเพราะเป็นคนรักในดนตรีและสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน วันหนึ่งเหมือนโชคชะตาลิขิตให้ทั้งคู่รวมพลังเข้าบุกเบิก moreloop

ธมลวรรณเป็นทายาทรุ่นสองของโรงงานผลิตผ้าส่งออกของครอบครัว ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กที่มีพนักงานราว 250 คน เธอเห็นผ้าเหลือจากโรงงานผลิตจำนวนมากที่มีคุณภาพดี แต่ต้องมามีจุดจบด้วยการชั่งกิโลขายหรือถูกทำลาย ทั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ครั้งหนึ่งเธอเคยคิดที่จะทำคลังสินค้าเพื่อจำหน่าย แต่เมื่อคิดคำนวณต้นทุนการทำงานก็พบว่าไม่คุ้มทุน ความคิดนี้จึงถูกพับไป เธอตระหนักดีว่า นี่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เพราะการผลิตผ้าแต่ละชิ้นมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงมาก ตั้งแต่กระบวนการปั่นทอย้อมจนถึงเย็บ ทุกๆขั้นตอนก่อเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงเสี่ยงจากมีสารเคมีหลุดรอดเข้าสู่ระบบสิ่งแวดล้อม
ขณะที่อมรพลทำงานประจำ พร้อมๆ กับทำสตาร์ทอัพ marketplace ควบคู่กันไป ในใจลึกๆ ของเขาสนใจเรื่องขยะและคิดอยู่เสมอว่า อยากทำงานที่มีผลกระทบในเชิงสังคม อีกทั้งเมืองไทยกำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ 4.0 ซึ่งมันเกิดขึ้นจริงจากการขยายตัวของอินเตอร์เน็ตและคิดว่า หากทำสตาร์ทอัพน่าจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้เพราะอินเตอร์เน็ตช่วยเชื่อมต่อสิ่งทั้งหลายเข้าด้วยกันและไหลบ่าไปมาเป็นโลกใบใหม่ เมื่อคิดได้เช่นนั้น จึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะนั่งเก้าอี้ตัวเดิมกับใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไปแบบนี้อย่างนั้นหรือ ในที่สุดก็แพ้ใจตัวเอง บวกกับได้รับไฟเขียวจากทางบ้าน จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาลุยทำสตาร์ทอัพของตัวเองอย่างเต็มตัว เพื่อพิสูจน์ตนเอง
ในเวลาเดียวกัน ธมลวรรณสนใจแนวคิดด้านสตาร์ทอัพของอมรพล จึงได้ติดต่อเขาเพื่อขอความรู้ แต่คุยไปคุยมาก็รู้ว่า อมรพลลาออกจากงานประจำแล้ว และยังพบว่า สิ่งที่อมรพลอยากจะทำนั้นอยู่ใน “โรงงาน” ของครอบครัวเธอ จากนั้นการพูดคุยก็เริ่มขึ้น จนพัฒนาความคิดมาเป็น moreloop ในปี 2561 สตาร์ทอัพที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างโรงงานผลิตผ้าและลูกค้า จำหน่ายผ้าส่วนเกินจากโรงงานผลิต โดยบริษัทมีรายได้จากค่าส่วนต่างจากการขาย
“ตอนนั้นในสามัญสำนึก คิดว่าเป็นเศษผ้าตัดเล็กๆ แต่จริงๆ ไปดูโรงงานมันเป็นผ้าม้วนๆ สำหรับผมมันน่าจะเป็นสวรรค์สำหรับใครบางคนได้ จึงเริ่มต้นด้วยไอเดียง่ายๆ ขึ้นมาไว้บนออนไลน์ ให้เกิดหมุนเวียนทรัพยากรและต้องมี business model ในการครอบธุรกิจนี้ได้ มองว่ามันน่าจะทำกำไรได้ น่าจะขยายได้” อมรพล ย้อนความให้ฟัง และย้ำว่า
“คำว่าขยะมันเป็นแค่มุมมอง ของเหลือมันจะเหลือหรือไม่ มันอยู่ที่ opinion เรามีหลายไอเดียที่จะแก้ปัญหาขยะผ่านการทำสตาร์ทอัพ”

เนื่องจากยังใหม่กับธุรกิจ บวกกับข้อจำกัดทางเงินทุน ทำให้ทั้งคู่ต้องนำศักยภาพของตนเองออกมาใช้ให้มากที่สุด โดยอมรพลรับผิดชอบด้านการเงินเพราะเรียนและมีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง ขณะที่ธมลวรรณรับผิดชอบด้านผ้าเพราะเธอคลุกคลีกับสิ่งนี้มาทั้งชีวิต รู้เรื่องกระบวนการผลิตและเทรนด์ของแฟชั่น ทั้งปัจจุบันยังนั่งตำแหน่งอุปนายกสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย ทำให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายโรงงานทั่วประเทศที่มีจำนวนเป็นร้อยแห่ง
“พาพี่พล (ชื่อเล่นอมรพล) ไปรู้จักพี่ๆ จาก 20-30 โรงงาน ยังพูดคุยกับแบรนด์ต่างๆ ว่า ถ้ามีแพลตฟอร์มแบบนี้อยากลองมาซื้อในแพลตฟอร์มเราไหม ช่วงปี 2561 เราทำ research และ survey คิด business model ให้มันรัดกุมที่สุดถึง launch platform” ธมลวรรณ อธิบายเพิ่ม
บริษัทเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2561 ด้วยเงินตั้งต้น 50,000 บาทที่ได้มารางวัลจากการประกวด เงินนี้ใช้ลงทุนไปอุปกรณ์สำนักงานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่โรงงานผลิตผ้าเครือข่ายเข้าร่วมมีทั้งหมด 5 แห่งและในไตรมาสที่ 4 ก็สามารถขายผ้าได้ 600 กิโลกรัม สำหรับธมลวรรณมองว่า นี่มันเป็นความสำเร็จแล้ว แต่สำหรับสายตานักการเงินอย่างอมรพลบอกว่า “น้อยมาก” และคำถามตามมาคือว่า “จะรอดไหม” ในระยะยาว
ค่อยๆ พิสูจน์ตนเอง
ก่อนเป็น moreloop อย่างเป็นรูปธรรม อมรพลและธมลวรรณ ทำทุกอย่างเพื่อให้สตาร์ทอัพแห่งนี้สมบูรณ์ที่สุด หนึ่งในแนวทางของพวกเขาคือ นำแนวคิดสตาร์ทอัพเข้าสู่เวทีประกวดต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่า สิ่งที่พวกเขาคิดนั้น ในมุมมองคนอื่นคิดอย่างไร และในเชิงธุรกิจแล้ว มันเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน และหนึ่งในเวทีที่ไปร่วมก็คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พวกเขาได้รางวัลที่ 2 และได้เงินรางวัลมา 50,000 บาท (กลายเงินตั้งต้น) จากนั้นก็เข้าร่วมโครงการ incubation ของบมจ.บ้านปู ก็ติดท็อป 10 แม้จะไม่ได้รางวัลสูงสุด แต่สิ่งที่คู่ได้คือ ความมั่นใจที่มากขึ้นและเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม

จากแนวคิดที่ต้องการช่วยแก้ปัญหาขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยการนำผ้าค้างสต็อกมาใช้ประโยชน์ที่มีความโดดเด่นนี่เอง ทำให้ธุรกิจได้รับความสนใจจากเวทีประกวดต่างชาติ เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้รับรางวัล SEED Low Carbon Awards (SEED Awards) โดย SEED เป็นองค์กรซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก ซึ่งประกอบด้วย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดย moreloop ได้รางวัลเป็นทุนจำนวนหนึ่ง พร้อมกับได้คำปรึกษาจาก SEED ทั้งพัฒนางานหลังบ้านและการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพของพวกเขาให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งในเชิงธุรกิจและสร้างผลลัพท์ให้กับสิ่งแวดล้อม
ลำดับถัดไปที่เป็นโจทย์ยากและใหญ่คือ ทำธุรกิจอย่างไรให้ธุรกิจได้ผล “กำไร” หล่อเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน โชคดีที่อมรพลมีพื้นฐานทางการเงิน อดีตนักการเงินที่เคยวิเคราะห์บริษัทมาหลายหมื่นแห่ง จึงนำประสบการณ์เข้ามาช่วยวางระบบ และกติกาของการเงินตั้งแต่วันแรกของเขาคือ
“ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า สิ่งที่ทำไปมันเป็นกำไรจริงๆ” ดังนั้น เขาจึงใส่ใจรายละเอียดในทุกค่าใช้จ่าย
ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหาแหล่งเงินทุนที่ต้นทุน “ถูก” เพื่อขยายงาน อมรพลบอกว่า นี่เป็นเหตุผลที่เขาให้ความสำคัญกับการเงินเป็ยอย่างมาก การมีผลกำไรจะทำให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น ที่ผ่านมาได้เงินกู้ส่วนหนึ่งจากธนาคารออมสินที่สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมจากการร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Social Enterprise Thailand: SE) ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า บริษัทแห่งนั้นต้องมีกำไร 1 ปี
“กำไรที่ยั่งยืน ผม focus มากๆ เลย เรามองว่า เราทำธุรกิจ sustainable ในเชิงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราก็ต้อง sustainable financially เหมือนกัน” อมรพล กล่าว

จะกำไรได้หรือไม่ยังต้องขึ้นกับ “สินค้า” ที่มีคุณภาพเช่นกัน หน้าที่นี้จึงตกเป็นของธมลวรรณ หากเธอต้องการเปิด “ตลาดผ้าส่วนเกิน” ก็ต้องควบคุมคุณภาพผ้าได้ภายใต้ราคาที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้า ดังนั้น เธอเองจึงทำหน้าที่เหมือน QC และรับประกันสินค้าทุกชิ้น พยายามลบความนึกคิดคำว่า “ผ้าเหลือ” ที่หลายคนมองว่าเป็นผ้าไม่ดีและไม่มีคุณภาพออกจากในใจพวกเขาให้ได้ ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องเดินหน้าขยายโรงงานเครือข่าย เพื่อเพิ่มความหลากหลายสินค้าผ้า โดยยึดหลักว่า โรงงานเหล่านั้นต้องมีมาตรฐานทั้งในประเทศและการส่งออก ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม อย่างเช่น ไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่บังคับใช้แรงงาน และจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน เป็นต้น
ปัจจุบัน moreloop มีรายได้มาจาก 3 ทางหลักคือ ทางแรกขายผ้าให้กับลูกค้าเช่น ดีไซเนอร์ แบรนด์ต่างๆ และบรรดาเอสเอ็มอี โดยตรง รายได้ทางที่สองผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปให้ลูกค้า ในลักษณะ B2B และเส้นทางรายได้แหล่งสุดท้ายคือ ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง โดยรายได้ในรูปแบบที่สองมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งลูกค้าก็มีทั้งองค์กรชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานทูตจากประเทศยุโรปที่ให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะที่เครือข่ายโรงงานเพื่อจำหน่ายผ้ากับ moreloop ก็เพิ่มเป็น 70 แห่งจาก 5 แห่งในช่วงเริ่มต้น ทำให้ในปี 2564 ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 317,001 กิโลกรัม จากการแปลงสภาพผ้า 60,000 หลาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 180,000 ชิ้น
ขณะที่แผนธุรกิจในอนาคต ในอีก 3 ปีข้างหน้า อมรพลและธมลวรรณ ตั้งใจว่าจะนำพาธุรกิจเติบโตขึ้น ทั้งในเชิงธุรกิจและเชิงสิ่งแวดล้อม อมรพลบอกว่า ภายในปี 2567 ตั้งเป้าว่าจะช่วยลด carbon footprint ให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านกิโลคาร์บอน ปัจจุบัน moreloop ดำเนินกิจการมากว่า 2 ปี ช่วยลดได้แล้วกว่า 400,000 กิโลคาร์บอน หรือคิดเป็นการขับรถรอบโลก 100 รอบโลกสำหรับคนสองคน ปัจจุบัน บริษัทสามารถทำได้กว่าร้อยละ 40 จากเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับในเชิงธุรกิจ บริษัทหวังว่าจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก 5-6 เท่า พร้อมๆ ไปกับพยายามสร้าง moreloop ให้เป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศมากขึ้น มุ่งเป้าให้เป็น top of mind ในด้านการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยอมรพลเชื่อว่า ตลาดผ้าส่วนเกินนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะทุกคนต้องใส่เสื้อผ้าและตลาดแฟชั่นมีขนาดใหญ่ และเมื่อบวกกับเทรนด์เรื่องความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมยังช่วยขับเคลื่อนความต้องการการใช้ผ้าในรูปแบบนี้
“ปีๆ ทั้งโลกมีผ้าเหลือ 4 หมื่นล้านหลาต่อปี มันเป็น resource ที่เยอะมาก สิ่งที่ moreloop ทำ เราน่าจะระบายไปได้ 30 ตัน คิดเป็น 1 แสนหลาเท่านั้นเอง แน่นอนว่า มันมีอะไรให้ทำอีกเยอะมาก ยิ่งทำไป ยิ่งต่อภาพของเราต่อไปได้เรื่อยๆ” อมรพล กล่าวเสริม
ถ้าเป็นไปได้ตามแผนธุรกิจก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีผลกำไรมากขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการโดยรวมเป็นที่ประจักษ์ได้ ซึ่งนั่นจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับบรรดา VC เข้ามาร่วมลงทุน อมรพลบอกว่า ถึงเวลานั้นน่าจะเป็นเวลาที่ “ใช่” ที่สุด การได้เงินทุนมาเร็วในขณะที่บริษัทยังไม่พร้อม ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี มันอาจจะเป็นการสร้างผลลัพท์ที่เป็นลบมากกว่าบวก
เมื่อตลาดเมืองไทยแข็งแรงมากพอ พวกเขาตั้งใจว่า จะขยายเครือข่ายโรงงานผ้าไปสู่ตลาดเพื่อนบ้านเพราะมีโรงงานผลิตผ้ามาก เพื่อให้ความหลากหลายของผ้าใน database ของบริษัทให้มากขึ้น ยิ่งสินค้ามีให้เลือก ตลาดก็ยิ่งเติบโตเท่านั้น ทั้งยังจุดประกายความคิดให้กับคนในภูมิภาคในการทำธุรกิจในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลด carbon footprint ในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
“ผ้าในโลกมันเยอะมาก ถูกผลิตตลอดเวลา moreloop คนเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาของโลกได้ แต่ถ้าเราสามารถ motivated คนอื่นทำได้ แล้วเรายังดำเนินธุรกิจของเราไปได้ สำหรับเรามันก็ดีอยู่ดี” อมลวรรณกล่าวทิ้งท้าย
ภาพ: moreloop
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine