วิกฤตไข้หวัดนกในปี 2546 ทำให้สุรพลผู้ปลุกปั้นธุรกิจขายไข่สดให้กับตลาดสดและโมเดิร์นเทรด ต้องปรับทิศทางไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่โดยอาศัยการวิจัยและพัฒนา พร้อมปูทางเจาะตลาดผู้บริโภคทั่วไป ผลักรายได้บริษัทแตะพันล้าน
ไม่เพียงแต่จำหน่ายไข่สด “สุรพล เค้าภูไทย” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค จำกัด ยังก้าวข้ามความท้าทายธุรกิจ เสริมแกร่งให้บริษัทด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กลุ่ม raw material อย่างไข่ขาว-ไข่แดงแยก และไข่เหลวพาสเจอร์ไรส์ ฯลฯ จำหน่ายให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารอื่นๆ เช่น เบเกอรี่ และร้านอาหารกลุ่มโฮเรก้า
นอกจากนี้ยังผลิตไข่ต้มปอกเปลือก ไข่ต้มเคลือบผิว จำหน่ายให้กับโมเดิร์นเทรดอย่างบิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส, จิ๊ฟฟี่, แม็กซ์ แวลู และท็อปส์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใครอย่าง “โยเกิร์ตผสมไข่แดง” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา วางขายทั้งโฮมเฟรชมาร์ท, กูร์เมต์มาร์เก็ต, ท็อปส์ มาร์เก็ต, มินิบิ๊กซี, วิลลา มาร์เก็ต, แฟมิลี่มาร์ท, ฟู้ดแลนด์ และร้านโกลเด้นเพลซ
“แม้ตอนนั้นตลาดเมืองไทยยังไม่เกิด แต่เราชอบสร้างมากกว่ารอ แค่ต้องใช้เวลา” ผู้บริหารวัย 57 ปีผู้ก่อตั้ง เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่ผลักดันให้เขามุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่ โดยอาศัยการวิจัยและพัฒนา เพื่อดึงคุณค่าจากทุกส่วนของไข่ออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
วิจัยเชิงลึกสู่ผลิตภัณฑ์ไข่ทรงคุณค่า
งานพัฒนาโปรดักต์จากไข่ภายใต้เครือของ เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค นั้นเรียกได้ว่าครอบคลุมทุกส่วนของไข่ แต่ชิ้นที่เป็นไฮไลท์เพราะยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนเห็นจะเป็น “โยเกิร์ตผสมไข่แดง” ซึ่งสุรพลเล่าถึงที่มาที่ไปของผลงานชิ้นนี้ว่าเกิดจากโครงการทดลองทำผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ โดยใช้คุณประโยชน์จากนมมาผสมกับไข่ให้มีคุณค่าทางอาหารเท่ากับนมแม่
“เนื่องจากช่วงนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) พยายามรณรงค์ให้แม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเอง เราจึงเห็นโอกาสที่จะพัฒนาจึงหยิบโจทย์นั้นมาแก้ ซึ่งผลการทดลองเมื่อเทียบกับนมวัว พบว่าทารกที่กินอาหารทดแทนสูตรของเรามีน้ำหนักและแข็งแรงมากกว่า และพัฒนาการทางสมองดีกว่า”
แต่ด้วยความที่ไม่ได้อยู่ในวงการธุรกิจอาหารเสริมเด็ก ทำให้สุรพลมองว่าการจะนำงานวิจัยมาต่อยอดในทางธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจึงหาแนวทางพัฒนาสินค้าต่อมาเป็น breast milk นมพร้อมดื่มจากไข่แดง และด้วยความไม่ถนัดในการทำการตลาดในอุตสาหกรรมนม ทำให้เขาปรับเปลี่ยนพัฒนามาสู่โยเกิร์ตอย่างที่เห็น โดยเริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปลายปี 2561
งานวิจัยที่ทำอย่างต่อเนื่องยังทำให้ เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค เตรียมส่งผลิตภัณฑ์แช่แข็ง ready-to-eat มาตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุคใหม่ต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย อย่างออมเล็ตกะเพรากุ้ง ออมเล็ตครีมเห็ด ไข่หวานแท่ง และไข่ดาวลาบ ที่เตรียมกรุยทางเข้าตลาดในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
“นอกจากนี้เรายังพัฒนาไส้กรอกไข่ที่ได้นำไปทดลองขายในงาน THAIFEX 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจดีมาก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนและกำลังการผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการในตลาด คาดว่าอีก 3 เดือน เราจะจำหน่ายในระดับ commercial scale ได้”
พร้อมกับการพัฒนาสินค้ากลุ่มพร้อมทาน เขายังรับฟังปัญหาลูกค้าในกลุ่มสินค้า raw material เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาสินค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ดีที่สุด
“เราไม่ใช่แค่ตอกไข่ แยกไข่ ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วขาย แต่เรายังศึกษาเรียนรู้ในเชิงลึกว่าถ้าจะทำเบเกอรี่ให้ดีเบเกอรี่ต้องการอะไร พอศึกษาแล้วก็ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ไม่สูญเสียบทบาทเชิงหน้าที่ เช่น ถ้าจะพาสเจอไรส์ ต้องทำที่อุณหภูมิเท่าไหร่ที่จะทำให้ไม่มีผลกระทบกับบทบาทของมัน”
ฟูมฟักนวัตกรรมถึงโมเลกุล
ไม่เพียงแต่สินค้าแปรรูป แต่สุรพลระบุอีกว่า ในปีนี้จะได้เห็นการวางจำหน่ายโปรดักต์ที่บริษัทเคยพัฒนาเมื่อ 10 ปีก่อนอย่าง Columbus Egg ไข่ไก่สดที่มีการทดสอบแล้วว่ากินแล้วช่วยลดปริมาณกรดไขมันหลายชนิด โดยจะเริ่มวางขายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะทยอยปล่อยอีก 2 โปรดักต์ในกลุ่มนี้ตามมา ได้แก่ ไข่ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตา และไข่ที่มีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนไขมันให้เป็นกล้ามเนื้อ
“ตอนนั้นเราเลี้ยงไก่ในโครงการนี้ประมาณ 20,000 ตัว แต่มีลูกค้าบริโภคอยู่ 3,000 ฟอง ทำให้เราไม่สามารถคงการผลิตไว้ได้ แต่ตอนนี้เราคิดว่าถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ด้วยปัจจัยจากผู้บริโภครุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น”
ขณะเดียวกันได้พัฒนานวัตกรรมต่างๆ อีกมาก แต่ยังไม่ได้วางจำหน่าย ทั้งไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟไข่แดง การนำเปลือกไข่ที่เป็นขยะน้ำหนักกว่า 1,000 ตัน/ปีของบริษัทมาสกัดเอาแคลเซียมคาร์บอเนตออกมา ซึ่งมนุษย์สามารถดูดซึมได้ถึง 95% และมีความสนใจนำเยื่อหุ้มไข่ (membrane) มาใช้เป็นอาหารเสริม เนื่องจากพบว่ามีคุณสมบัติเป็นเพพไทด์ (peptide) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของคอลลาเจน 10 ชนิด
รวมถึงวิจัยนำไข่ขาวพัฒนาเป็น e-Lysosime ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค 200 ชนิด และนำไปใช้รักษาสัตว์เศรษฐกิจของประเทศอย่างกุ้ง ซึ่งมีการนำไปทดลองใช้ในฟาร์มและให้ประสิทธิภาพ 100% ทั้งนี้เชื่อว่าถ้านำเปลือกไข่ ไข่ขาว และไข่แดง มาใช้ให้เกิดประโยชน์ มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า
ปัดฝุ่นช็อปฟาร์มแม่สะอาด
นอกจากนี้ อีกหนึ่งแผนงานในอนาคตของ เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค คือการปัดฝุ่นช่องทางการจัดจำหน่ายที่เป็นของเขาเองอย่าง “ฟาร์มแม่สะอาด” (egg shop) ที่ดำเนินงานมาแล้วกว่า 10 ปี รูปแบบเป็นช็อปขนาดเล็กในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยปัจจุบันเหลือราว 30 สาขา จากเดิมที่เคยขยายได้มากถึง 70 สาขา
โดยตั้งเป้าอีก 3 ปี egg shop จะเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนสัดส่วนยอดขายไข่แปรรูปให้ขึ้นมาอยู่ที่อย่างน้อย 50% จากปัจจุบันสัดส่วนยอดขายมาจากไข่สด 70% อีก 30% คือไข่แปรรูป
สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานในปีหน้า ที่บริษัทตั้งเป้าวางขายสินค้าในกลุ่ม ready-to-eat เพิ่มเติม โดยมีโปรดักต์ที่พัฒนาเสร็จแล้วมากกว่า 10 ชิ้น แต่จะวางจำหน่ายได้กี่ชิ้นนั้นต้องดูกระแสตอบรับในปีนี้และโอกาสความเป็นไปได้
เป้ารายได้โต 20%-เล็งเข้า mai ปี’66
สำหรับผลประกอบการของ เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค ที่ทำหน้าที่ขายไข่สด รวมถึงไข่แปรรูปกลุ่มไข่ต้ม ไข่ลวก ไข่แช่แข็ง และโยเกิร์ตไข่ ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 745,508,317 บาท กำไร 1,063,531 บาท ส่วนสินค้ากลุ่ม raw material ภายใต้บริษัท โอโว่ ฟู้ดเทค ปีที่ผ่านมามีรายได้ 263,579,084 บาท กำไร 1,630,398 บาท
“แม้ตัวเลขอาจดูยังไม่สวยงาม แต่เราไม่ฝืนธรรมชาติ การเติบโตส่วนหนึ่งต้องมาจากอุตสาหกรรมอาหารโต ซึ่งเราไม่สามารถสร้างได้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากความต้องการของลูกค้าด้วย แต่ก็เห็นแนวโน้มกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มโตขึ้น โดยตั้งเป้าปีนี้ทั้งเครือมีรายได้เติบโต 20% มาอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท มาจาก เอส.ดับบลิว.ราว 800-1,000 ล้านบาท และโอโว่ 300-400 ล้านบาท”
สุรพลยังเปิดเผยถึงเป้าหมายของเขาที่วางแผนพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า “ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้ง group company เป็นบริษัทแม่ แล้วให้เข้าไปถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทลูก พร้อมเคลียร์สถานะทางการเงิน โดยคาดหวังว่าน่าจะเข้าตลาดได้ในปี 2566 หรืออย่างช้าน่าจะประมาณปี 2568”
อนึ่ง ปัจจุบัน เอส.ดับบลิว.มีบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค จำกัด จำหน่ายไข่สด ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ไข่ต้ม ไข่ลวก และโยเกิร์ตผสมไข่แดง, บริษัท โอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด จำหน่ายไข่ขาวแยก ไข่แดงแยก ไข่เหลว, บริษัท ดีเอฟ ประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟาร์มแม่สะอาด ทำหน้าที่เป็นช่องทางจำหน่ายในรูปแบบช็อป
“ธุรกิจไข่” ต้องเข้าใจธรรมชาติ และกล้าล้มเหลว
หากย้อนไปจุดเริ่มต้นจากนักศึกษาหนุ่มคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หวังแก้ปัญหาไข่ล้นตลาด จึงดำเนินธุรกิจขายไข่สดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเรื่อยมา จนกลายเป็นธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว และสามารถขยายตลาดสู่ภูมิภาคต่างๆ ได้ ประจวบเหมาะกับเทรนด์การบริโภคไข่ไก่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ “สุรพล” แยกออกมาตั้งบริษัทเองในปี 2539
ราวหนึ่งปีต่อมาภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แทรกซึมหลายธุรกิจกระทบเป็นลูกโซ่ แต่สำหรับสุรพล โชคดีในความโชคร้ายที่ขณะนั้นธุรกิจรีเทลเติบโตขึ้นในเมืองไทย เขาเริ่มทำงานร่วมกับโมเดิร์นเทรดอย่างจริงจัง ทั้งบิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และท็อปส์
แต่ไม่นานความขมุกขมัวเริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งด้วยวิกฤตไข้หวัดนกในปี 2546 หนักหนาสาหัสขนาดทำลายโครงสร้างระบบการเลี้ยงออกไปมากกว่าครึ่ง ลามไปถึงการที่ผู้บริโภคปฏิเสธการกินไข่ หลายฟาร์มที่ทำเกษตรพันธสัญญากับเขาต้องทำลายไก่แม้จะไม่มีเชื้อก็ตาม การนำไข่ไปลดแลกแจกแถมนับเป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้น
กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย อุตสาหกรรมการเลี้ยงได้เปลี่ยนเป็นขนาดใหญ่ โรงเรือนแบบปิดทำให้ความจุเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว แต่มาพร้อมความวิตกถึงปริมาณไข่ที่เพิ่มขึ้นมหาศาล แน่นอนทางออกของเขานั้นต้องมุ่งไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างไข่ต้มและไข่เหลวพาสเจอร์ไรส์ในปี 2553
“หลังผ่านวิกฤตมาได้ตอนนั้นเราก็สองจิตสองใจแล้วว่าจะไปต่อหรือเลิก เพราะปัญหาเรื่องไข้หวัดนกเป็นปัญหาระดับภูมิภาค แล้วถ้ายังหาวิธีป้องกันไม่ได้เราไม่น่าเสี่ยง แต่ในเมื่อเรามีทีมก็เคารพการตัดสินใจของทีมด้วย เมื่อทีมบอกว่าถ้าเราเลิก ทุกคนก็เลิกตาม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรากลับมาตระหนักและตัดสินใจยอมเสี่ยงทำธุรกิจต่อ แต่จะทำเหมือนกับที่ผ่านมาไม่ได้”พร้อมๆ กับการแปรรูป เขายังเดินเครื่องทุ่มเงินทุนต่อยอดด้วยการตั้งบริษัทวิจัยเพื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาดึงคุณค่าไข่ออกมาใช้ เพราะการมองภาพยาวออกไปในอนาคต จะช่วยสร้างรากฐานความอยู่รอดให้กับบริษัทของเขาได้อย่างยั่งยืน
“มีคนในวงการเคยพูดว่า ไข่ไม่ได้กลมเหมือนลูกฟุตบอล ลูกฟุตบอลยังสั่งได้ว่าจะส่งไปให้ใคร แต่ไข่ไม่ได้ กลิ้งไปก็ไม่รู้ออกซ้ายหรือขวา ในธุรกิจไม่มีคำว่าพอดี ไม่ขาดก็เกิน คนที่จะทำงานแล้วประสบความสำเร็จได้ต้องเข้าใจธรรมชาติของมันจริงๆ ต้องเรียนรู้ กล้าล้มเหลว และหยิบเอาข้อจำกัดหรือปัญหามาหาทางออกให้ได้ ถึงจะสำเร็จจริงๆ”
อ่านเพิ่มเติม
เรื่อง: กนกวรรณ มากเมฆ, ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine