เจษฎา รักษ์ศรีทอง ขึ้นรูปธุรกิจถุงมือให้ถึง Top 3 - Forbes Thailand

เจษฎา รักษ์ศรีทอง ขึ้นรูปธุรกิจถุงมือให้ถึง Top 3

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ความท้าทายผลักดันให้ลูกชายทั้งสี่แห่งตระกูล “รักษ์ศรีทอง” ไม่หยุดอยู่เพียงกิจการเทรดดิ้งที่พ่อแม่สร้างไว้ แต่ขยายอาณาจักรครอบคลุมธุรกิจเกี่ยวเนื่องหวังให้สินค้าเกษตรอย่างยางพาราและปาล์มสูงค่าขึ้นจนทำรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท กระทั่งล่าสุดคิดการใหญ่หมายนำธุรกิจผลิตถุงมือยางขึ้นสู่ Top 3 ของผู้ผลิตโลก ชิงยอดขายกว่า 2 หมื่นล้านชิ้นภายในปี 2562 เมล็ดพันธุ์ที่งอกเงยจากเงินทุน 40 ล้านบาทของมารดาและเงินกู้อีก 40 ล้านบาทจากธนาคาร ผ่านการบ่มเพาะเป็นเวลา 10 ปี ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของสี่พี่น้องตระกูล “รักษ์ศรีทอง” โดยน้องชายคนที่สองวัย 39 ปี เจษฎา รักษ์ศรีทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มศรีทอง เป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อยอดและขยายธุรกิจ จากเพียงการซื้อขายสินค้าเกษตรของ บริษัท ศรีทองเทรดดิ้ง จำกัด ที่ก่อตั้งโดยพ่อแม่ มาเป็นอาณาจักรแผ่ขยายครอบคลุมไปยังธุรกิจผลิตน้ำยางข้น ธุรกิจน้ำมันปาล์ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดคือธุรกิจผลิตถุงมือยาง จนเป็นกลุ่มบริษัทศรีทองที่มีรายได้รวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน และจะทะยานขึ้นแตะ 2 หมื่นล้านบาทในปีหน้า “จำได้ว่าพ่อแม่แทบจะจับผมมัดใส่รถกลับมาช่วยงานที่กระบี่เลย จึงไม่เคยไปทำงานที่อื่นมาก่อน แต่ทำได้สักพักก็เบื่อและอยากทำอะไรที่ท้าทายเลยขอเงินทุนจากแม่มาเริ่มสร้างโรงงานผลิตน้ำยางข้น แล้วต่อยอดเรื่อยมาจนเป็นกลุ่มบริษัทศรีทองในทุกวันนี้” จุดเปลี่ยนของการริเริ่มสร้างธุรกิจเมื่อวัย 24 ปีของเจษฎา ทุกวันนี้ เจษฎา มีหน้าที่ดูแลภาพรวมของบริษัทในเครือทั้งหมด โดยมีพี่น้องที่รับบทบาทในแต่ละภาคธุรกิจ ปัจจุบันจากทั้ง 7 บริษัทในเครือ กลุ่มธุรกิจผลิตน้ำยางข้น สามารถสร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งถึง 4.5 พันล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มน้ำมันปาล์มที่ 3.5 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือได้แก่การผลิตไฟฟ้า ซึ่งสร้างรายได้ราว 200 ล้านบาท และอื่นๆ อีก 500 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจใหม่ถุงมือยาง บริษัท เฮลตี้ โกล์ฟ จำกัด กิจการผลิตถุงมือยางที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2557 อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท และเป็นธุรกิจมาแรงให้ขณะนี้ การเข้าสู่ธุรกิจผลิตถุงมือยางเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เจษฎา วิ่งเข้าหา เพราะก่อนหน้านี้เคยมีบริษัทไทยบางแห่งเคยบาดเจ็บจากธุรกิจนี้มาก่อน เพราะต้องเผชิญวิกฤตต้นทุนสูงจากราคาน้ำยางที่ผันผวน “จริงๆ แล้วตลาดไม่ได้เดือดร้อนกันมาก และยังมีช่องว่างให้ขยายอีกมหาศาล” เจษฎา เปิดเผยถึงการแข่งขันในตลาดผู้ผลิตถุงมือยางและโอกาสเติบโตของธุรกิจผลิตถุงมือยางในอนาคต โดยมีตัวเลขคาดการณ์ของสมาคมถุงมือยางในประเทศมาเลเซียระบุว่า ภายในปีนี้น่าจะมีความต้องการใช้ถุงมือที่ราว 1.93 แสนล้านชิ้นทั่วโลก ขณะที่กำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 1.2 แสนล้านชิ้น โดยการเติบโตของเศรษฐกิจและการขยายตัวของชนชั้นกลางจะเป็นปัจจัยที่เอื้อให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นเป็น 2.08 แสนล้านถุงในปีหน้า สำหรับธุรกิจการผลิตถุงมือยางอันรุ่งโรจน์ของ เฮลตี้ โกล์ฟ นั้น คาดการณ์ว่าจะมียอดขาย 3 พันล้านชิ้นในสิ้นปีนี้ และจะพุ่งขึ้นเป็น 7 พันล้านชิ้นในสิ้นปี 2559 ซึ่งจะทำให้บริษัทติดอันดับ Top 10 ของผู้ผลิตถุงมือยางโลก ก่อนจะเร่งเพิ่มยอดขายอย่างต่อเนื่องเป็น 1.5 หมื่นล้านชิ้นในปี 2560 ซึ่งจะทำให้บริษัทติดทำเนียบ Top 5 ของโลก และจะทะยานขึ้นไปแตะหนึ่ง Top 3 เมื่อยอดขายทะลุ 2 หมื่นล้านชิ้นภายในสิ้นปี 2562 พร้อมวางแผนเพิ่มอัตราการผลิตถุงมือยางประเภทพิเศษหรือถุงมือที่โรงงานทั่วไปผลิตไม่ได้ให้มีปริมาณมากขึ้น หากมองภาพจุดเด่นของกลุ่มศรีทอง ที่มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งทำให้ปัจจุบัน เฮลตี้ โกล์ฟ มีต้นทุนผลิตถุงมือยางต่ำกว่าผู้เล่นอันดับหนึ่งอย่าง Top Glove จากมาเลเซียถึง 10% แล้ว เจษฎา ย้ำว่าอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จคือความร่วมมือของทีมงานที่มีใจรักและพร้อมทุ่มเทให้บริษัท ซึ่งมีแนวทางการบริหารงานในแบบที่เจษฎาย้ำว่า “กลุ่มศรีทองทำงานกับแบบเป็นมืออาชีพแต่อยู่ร่วมกันเหมือนครอบครัว เมื่อทุกคนรู้สึกเหมือนตัวเขาเป็นเจ้าของด้วย ก็จะทุ่มเทอย่างเต็มที่” ในปัจจุบัน กลุ่มบริษัทศรีทองมีพนักงานทั้งหมดราว 3,000 คน โดยปีหน้าจำนวนจะขยายเป็น 5,000 คน ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะโรงงานที่หาดใหญ่จะเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด โดยมีกลยุทธ์สำคัญที่เกื้อหนุนให้กลุ่มศรีทองผ่านร้อนหนาวมานับ 10 ปีอย่างราบรื่นนั้น เจษฎาเปิดเผยว่า คือการวางแผนธุรกิจล่วงหน้าถึง 10 ปีก่อนจะมีการเริ่มเดินเครื่องธุรกิจใดๆ พร้อมๆ กับการค้นหาความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและวางแผนป้องกันความเสี่ยงนั้นให้ดีที่สุด และจะหลีกเลี่ยงโดยไม่นำพาองค์กรให้เข้าใกล้ความเสี่ยงนั้น เช่นเดียวกับการแผนซึ่งวางไว้กับเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Singapore Exchange : SGX) และ ตลาดหลักทรัพย์ไทย (Stock Exchange of Thailand : SET) ที่คาดว่าบริษัทจะระดมทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ก่อน แม้ปัจจุบันจะยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องการเม็ดเงินทุนเท่าไร เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับธุรกิจของกลุ่มศรีทองได้ดีกว่านักลงทุนไทย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2560
คลิ๊กเพื่ออ่าน "เจษฎา รักษ์ศรีทอง ขึ้นรูปธุรกิจถุงมือให้ถึง Top 3" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailandฉบับ NOVEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine