อู้ฟู่แบบ “เถ้าแก่กู้” ผู้ไม่ง้อแบงก์ สร้างอาณาจักรขอนแก่นด้วยเงินสด - Forbes Thailand

อู้ฟู่แบบ “เถ้าแก่กู้” ผู้ไม่ง้อแบงก์ สร้างอาณาจักรขอนแก่นด้วยเงินสด

เด็กหนุ่มหาญกล้าขีดเส้นทางชีวิตตัวเอง ออกจากบ้านทางภาคตะวันตกสู่อนาคตใหม่ในในแดนอีสาน สร้างตัวเองจากลูกจ้างรายวัน จนกลายเป็นเจ้าของกิจการมูลค่าราว 2 พันล้านบาท ด้วยแนวคิด ผันเงินสดในมือเป็นสินทรัพย์ ลงทุนตามกำลังที่มีและโอกาสที่เห็น แบ่งปันแก่พันธมิตร ผลักดันให้ธุรกิจมุ่งถึงเป้าหมาย

ชายสูงวัยในเสื้อเชิร์ตแขนสั้นสีขาว และกางเกงขายาวสีดำ หน้าตายิ้มแย้ม หรือ “เถ้าแก่กู้” ทักทายกับทีมงาน Forbes Thailand ด้วยการปล่อยมุขตั้งแต่เริ่มบทสนทนา ความสดใสของคนวัยเกษียณทำให้เขาดูอ่อนกว่าอายุจริงที่ 77 ปี แม้เป็นที่รู้จักของคนท้องถิ่นในขอนแก่นว่า เถ้าแก่กู้ แต่ ดำรง ศิริธนชัย ประธานกรรมการ บริษัท แฟรี่วราสิริ จำกัด กลับหลีกเลี่ยงการเป็นลูกหนี้มาตลอด แต่มุ่งหน้าสร้างธุรกิจขึ้นโดยใช้เงินสดล้วนๆ จนมีเครือข่ายธุรกิจทั้งโรงสี ตลาด โรงแรม อาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรร อพาร์ตเมนต์ให้เช่า ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งในขอนแก่น จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน และกรุงเทพมหานคร มูลค่ารวม 2 พันล้านบาท กว่าจะมาเป็น “เถ้าแก่กู้” ในวันนี้ ดำรงออกจากบ้านที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ในวัย 19 ปี เพื่อหนีปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขากับพ่อ มาตั้งรกรากที่ขอนแก่น เริ่มจากเป็นลูกจ้างร้านของชำด้วยเงินเดือน 300 บาท เก็บหอมรอบริบจนได้เงินก้อนแรก 3,600 บาทมาตั้งตัว เป็นทุนไปซื้อพืชไร่ในตอนเช้าแล้วขายให้หมดในตอนเย็น เพื่อนำเงินมาหมุนทำการค้าต่อ จนผ่านไปราว 3 ปี ดำรงยอมเสี่ยงร่วมทุนกับเพื่อนเปิดโรงสีขึ้น ผ่านไป 2 ปี เขาเห็นลู่ทางที่ดีของธุรกิจนี้ จึงแยกตัวออกมาลงทุนเปิดโรงสีใหม่ ร่วมกับลูกพี่ลูกน้อง คือ มีชัย ศิริธนชัย ที่ย้ายมาสร้างตัวที่ขอนแก่นก่อน กระนั้นไม่ว่าจะด้วยโอกาสที่ไม่ยอมให้หลุดลอยไป หรือจะด้วยโชคชะตานำพาก็ตาม ทำให้ขณะนี้นอกจากโรงสีมีชัย ซึ่งบริหารภายใต้บริษัท โรงสีมีชัย จำกัด แล้ว ผู้เฒ่าทั้งสองที่เคยร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกัน ยังเป็นเจ้าของกิจการหลายแห่ง ได้แก่ ตลาดราชพัสดุชุมแพ (บริษัท สหพัฒนาชุมแพ จำกัด) รวมถึงอพาร์ตเมนต์มีชัยแมนชั่น และเอ็มดีแมนชั่นในกรุงเทพฯ "ธุรกิจที่เกิดขึ้นถ้าเรามีเงินพอแล้ว ใครมาชวนก็ลองทำ" เถ้าแก่กู้เล่าถึงที่มาของการริเริ่มกิจการ แม้จบการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถม 2 แต่แนวคิดหลักของดำรงในการสร้างกิจการ คือการบริหารความเสี่ยง ด้วยการเดินไปช้าๆ อย่างมั่นคง เมื่อมีคนเข้ามาเสนอโอกาสร่วมลงทุน ดำรงใช้เงินสดที่มีลงทุนในจำนวนที่รับได้ และไม่กู้เงิน ดังนั้นหากธุรกิจล้มเหลว อย่างน้อยมูลค่าของเงินสดที่เป็นสินทรัพย์ต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ จะสูงขึ้นในภายหลัง นอกจากนี้ ความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เขามีมิตร และคนเก่งๆ มาช่วยดูแลกิจการ

สร้างขอนแก่นเมืองใหม่รับ AEC

โครงการล่าสุดของครอบครัวที่เถ้าแก่กู้ทุ่มเทความสนใจ และเวลาให้มากที่สุดในขณะนี้ คือขอนแก่นซิตี้พาร์ค ที่ดำเนินการโดยบริษัท ธนวรา2006 จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 21 บริษัทที่ถือหุ้นโดยสมาชิกครอบครัวศิริธนชัย ด้วยเป้าหมายที่เถ้าแก่กู้เล่าว่า “อยากให้เป็นเมืองใหม่ของจังหวัดขอนแก่น เพราะเป็นทำเลที่จะมีผู้คนทั้งในอีสานและประเทศเพื่อนบ้านสัญจรมากขึ้นหลังเข้าสู่เออีซี” ขอนแก่นซิตี้พาร์คตั้งอยู่บนพื้นที่ 740 ไร่ ติดกับสถานีขนส่งแห่งที่ 3 มีผู้สัญจรหลายหมื่นคนต่อวัน จึงเริ่มต้นพัฒนาอาคารพาณิชย์จำนวน 143 ยูนิตก่อนเป็นก้าวแรก จนขณะนี้สร้างและส่งมอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องสร้างศูนย์ประชุมขนาด 15,000 ตารางเมตร ด้วยปัจจุบันภาคอีสานยังไม่มีศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานรองรับความต้องการในระดับภูมิภาค “อาจจะมีอาคารพาณิชย์ขึ้นมาอีก 100 ยูนิต” เถ้าแก่กู้เล่าถึงแผนงานที่วางไว้พร้อมยืนยันว่าโครงการที่ตั้งใจว่าจะต้องสร้างแน่ๆ คือศูนย์สินค้าเกษตร รวมถึงอาจจะมีอาคารที่พักอาศัยแนวสูงและศูนย์สรรพสินค้า Firenze ซึ่งตั้งชื่อตามการออกแบบที่คล้ายสถาปัตยกรรมและบรรยากาศเมือง Florence ในอิตาลีด้วย (Firenze คือชื่อเมืองภาษาอิตาเลียนของ Florence ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของแคว้น Tuscany)
ธนะ ศิริธนะชัย พาชมโครงการต้นตาลอเวนิวอันโดดเด่นริมถนนมิตรภาพ
 

รุ่น 2 รับสืบทอด

อย่างไรก็ตาม โครงการเมืองใหม่ไม่อาจสร้างทุกองค์ประกอบให้เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่เป็นโครงการที่ต้องค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นให้เพิ่มขึ้น จนสมกับที่จะเป็นเมืองใหม่ดังที่ฝัน เถ้าแก่กู้จึงฝากฝังโครงการไว้ที่ลูกชายคนโต ธนะ ศิริธนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟรี่วราศิริ จำกัด ให้เป็นผู้สานต่อธุรกิจครอบครัว ตั้งแต่ปี 2537 หลังจบ MBA จากสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ครอบครัวมีเงินสดในมืออยู่มาก ดังนั้นธุรกิจแรกที่ธนะตัดสินใจแจ้งเกิดจึงเป็นบริษัทให้สินเชื่อรถยนต์ เพราะมองว่าน่าจะให้ผลตอบแทนดีและมีความเสี่ยงไม่สูง จากที่มีรถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งบริหารภายใต้หลายบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท สีมานคร ลิสซิ่ง จำกัด, บริษัท ธนะชัยกลการ จำกัด, บริษัท ธนะโชติกลการ จำกัด, บริษัท ธนะภูมิกลการ จำกัด เป็นต้น โดยเชื่อว่าจะยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นตามที่ธนะมองว่า “ก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามจำนวนความต้องการใช้รถยนต์” ธนะ หรือ เสี่ยหนึ่ง เป็นกำลังสำคัญในการรับช่วงจากสินทรัพย์ที่พ่อตรากตรำสั่งสมมาให้งอกเงย และสะท้อนถึงแนวคิดในการบริหารธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งบริหารโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่ประสบผลสำเร็จไปแล้ว และที่กำลังจะตั้งไข่ เพื่อเติบใหญ่ขึ้นเป็นทรัพย์สินก้อนใหม่ของครอบครัว เช่นตลาดต้นตาล (Ton Tann Green Market) อีกทั้งเริ่มขยายกิจการไปยังจังหวัดอื่นๆ เพิ่ม คือ ศรีสุขออฟฟิศปาร์คที่อุดรธานี รวมถึงสนามกอล์ฟศรีธานี หมู่บ้านจัดสรรเชียงใหม่ คันทรีการ์เด้นท์ที่เชียงใหม่ และสีมานคร คอนโดมิเนียมที่นครราชสีมา นอกจากกิจการที่งอกงามขึ้นโดยสมาชิกรุ่น 2 ของครอบครัว มีฐานะผู้ถือหุ้นหลักแล้ว ยังมีธุรกิจในเครือที่ร่วมลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นส่วนน้อยกับพันธมิตรที่ยกให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ชัยณรงค์ พัฒนพีระเดช ผู้ช่ำชองในสังเวียนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในขอนแก่นด้วย คือ ศูนย์ค้าส่งอู้ฟู่ และโครงการต้นตาลซิตี้พลัสคอนโด อาคารชุดพักอาศัย 7ชั้น จำนวน 79 ยูนิต ตั้งอยู่ด้านหลังตลาดต้นตาล ซึ่งต่างก็ดำเนินการโดยบริษัท แฟรี่วราสิริ จำกัด สำหรับตลาดอู้ฟู่ หรือศูนย์ค้าส่งอู้ฟู่ (Wufu Trading Center) ที่นับว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ทำให้หลายคนยอมรับถึงมุมมองใหม่ในการทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ครอบครัวศิริธนชัยผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมนั้น เป็นศูนย์ค้าส่งสำหรับร้านค้าปลีก ไม่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกต่อไป  บนพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ส่วนที่ใช้คำว่า “อู้ฟู่” เพื่อสื่อว่าเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งมั่งมีแก่ผู้มาซื้อขายที่ตลาดนี้ เหตุที่ปั้นโครงการตลาดอู้ฟู่ขึ้น เริ่มจากเราต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินเปล่า อีกทั้งเห็นตัวอย่างผลสำเร็จของตลาดประตูน้ำขอนแก่น และมองว่าน่าจะมีศูนย์กลางค้าส่งขนาดใหญ่ที่ใกล้เคียงกับที่กรุงเทพฯ ได้เพิ่มเติมอีก เพื่อลดการที่ผู้ค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต้องไปพึ่งพิงแหล่งค้าขายในกรุงเทพฯ ได้มากขึ้น คงคล้ายคลึงกับที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งประตูน้ำและยังมีห้างแพลตตินั่ม ขณะที่ขอนแก่นก็มีทั้งประตูน้ำขอนแก่นและมีตลาดอู้ฟู่ “ผมว่ากลุ่มเป้าหมายของอู้ฟู่ต่างจากประตูน้ำขอนแก่นตรงของสินค้าจะมีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น” ธนะให้รายละเอียดเพิ่มเติม ความทันสมัยของตลาดอู้ฟู่สะท้อนผ่านหลายสื่อไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อ โครงสร้างอาคาร คลิปเพลงแร็ป และวิดีโอโฆษณาโครงการ โดยจุดเด่นที่เจ้าของตลาดมั่นใจว่าจะดึงดูดลูกค้า ได้แก่ ทำเลที่ติดถนนมิตรภาพ โครงสร้างอาคารซึ่งกว้างขวาง ระบบการจราจรที่เข้าออกและเชื่อมต่อกับศูนย์ค้าส่งอื่นๆ ได้ ด้านตลาดต้นตาลที่ธนะวางตำแหน่งให้เป็นแหล่งจับจ่ายและพักผ่อนแนวใหม่ เพื่อคนขอนแก่นในช่วงเวลาเย็น ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียวอันร่มรื่นและต้นไม้มากมายกว่า 40 ไร่ โดยเฉพาะต้นตาล 6 ต้นที่ธนะตั้งใจเก็บไว้สร้างความร่มรื่น แก่ผู้ค้าซึ่งมาเช่าพื้นที่และลูกค้าผู้มาเยือน หากมองในแง่มูลค่าสินทรัพย์ แม้โครงการขอนแก่นซิตี้พาร์ค ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการของครอบครัว อาจยังไม่ได้เป็นแหล่งรายได้หลัก แต่ในระยะยาวคงเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดในบรรดาทุกธุรกิจ ทว่าปัจจุบันรายได้หลักของครอบครัวมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งจากการขายและให้เช่า แม้ปัจจุบันที่มีผู้เล่นที่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.แสนสิริ, บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์, บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ต่างเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในขอนแก่น แต่ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อความแข็งแกร่งของการทำธุรกิจของผู้เล่นท้องถิ่น แต่กลับกลายเป็นโอกาสที่จะสร้างกำไรจากการขายที่ดินเปล่าแทน จากคำยืนยันของเถ้าแก่กู้ที่ว่า “เป็นคู่เสริมไม่ใช่คู่แข่ง” พร้อมย้ำว่าไม่มีธุรกิจดีๆ ที่ปราศจากคู่แข่ง เพราะการทำธุรกิจของครอบครัวศิริธนชัยคือการแข่งขันกับตัวเอง

Forbes Fact
  • เถ้าแก่กู้ขึ้นชื่อเรื่องไม่นิยมกู้เงินมาทำธุรกิจ
  • การเล่นไพ่นกกระจอกกับกลุ่มเพื่อนขาประจำคืองานอดิเรก
  • เคล็ดลับสุขภาพดีคือต้องวิ่งให้ได้วันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน
 

แนวบริหารจากพ่อสู่ลูก

“หลักการของพ่อคือ ลงทุนตามกำลังที่มีและโอกาสที่เห็น” ธนะสรุปกติกาก่อตั้งกิจการของพ่อ และให้ความเห็นในมุมมองส่วนตัวเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วคงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับการสร้างกิจการให้มั่นคงยั่งยืน ขึ้นอยู่กับแต่ละคนสะดวกใจและคุ้นเคยมากกว่าที่จะใช้แนวทางใด เช่น อาจมองว่าการไม่ใช้เงินส่วนตัวมาลงทุนจะรับความเสี่ยงน้อยกว่าก็ได้ อย่างไรก็ตาม ธนะเล่าถึงอุปสรรคในการสร้างกิจการของครอบครัวเพิ่มเติมว่า แม้ในยุคที่ตัวเขาเข้ามาบริหารจะไม่มีวิกฤติให้ต้องสะดุด เพราะด้วยประสบการณ์ที่พ่อสั่งสมมา และการพยายามคัดกรองโครงการต่างๆ อย่างถี่ถ้วน “เราจะทำการบ้านแต่กรณี worst case ว่าถ้าเจ๊งขึ้นมาจะเสียหายแค่ไหน รับได้หรือไม่ และต้องแก้ปัญหาอย่างไรมากกว่าให้น้ำหนักว่าผลสำเร็จจะอยู่ที่ระดับไหน” ธนะถ่ายทอดแนวทางทำธุรกิจแบบครอบครัวศิริธนชัย นอกจากนี้ เถ้าแก่กู้ยังนำหลักการบริหารแบบสากลมาประยุกต์ใช้จนสร้างผลสำเร็จในหลายรูปแบบ ทั้งบริหารกิจการแบบไม่เน้นลงรายละเอียด แต่เลือกที่จะปล่อยให้คนที่รับผิดชอบโดยตรงบริหารจัดการเอง แค่ดูแลอยู่ห่างๆ แต่หากถามอะไรต้องพร้อมตอบได้ทันที อีกทั้งใช้นโยบาย profit sharing หรือการแบ่งปันผลกำไร ให้หุ้นแก่ลูกจ้างมืออาชีพที่มอบหมายให้บริหารในแต่ละธุรกิจ ส่วนกลเม็ดของความสำเร็จที่อาจฉีกแนวจากเจ้าของกิจการอื่นๆ คือยอมมองข้ามข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ไปบ้าง แต่วัดผลงานที่เป้าหมายใหญ่เป็นหลัก จึงเป็นแรงผลักที่นอกจากช่วยให้กิจการดำเนินไปอย่างมั่นคงแล้ว ยังสร้างความภักดีต่อองค์กรด้วย ซึ่งมีพนักงานหลายรายที่ทำงานด้วยกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว เพราะยิ่งมีธุรกิจในเครือที่หลากหลาย บุคลากรที่มาทำงานให้ก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อผลสำเร็จ “พ่อไม่ได้ดูแลคนในแบบให้เป็นแค่ลูกจ้าง แต่ดูแลในแบบให้เป็นหุ้นส่วน โดยที่มีการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดผลงานที่ชัดเจนด้วย” ธนะกล่าว เถ้าแก่กู้ให้เหตุผลที่นิยมบริหารแบบให้อิสระแก่คนทำงาน ขณะที่จะเน้นเรื่องความโปร่งใสและสร้างความเชื่อถือแก่หุ้นส่วนเป็นสำคัญ เพื่อให้ชัดเจนว่าต่างต้องการมุ่งเรื่องความเจริญก้าวหน้าของบริษัทเป็นหลัก “เช่นเดียวกับที่อีกฝั่งก็ต้องโปร่งใส อยู่บนหลักการเดียวกัน นั่นคือต้องไม่เกรงใจกันที่จะตั้งคำถามและตรวจสอบได้” ธนะยืนยันถึงหลักการบริหารในแบบที่พ่อยึดถือ เพื่อให้สามารถทำงานและบริหารกิจการร่วมกันได้อย่างตลอดรอดฝั่ง แม้จะเริ่มจากธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ก่อน แต่ท้ายที่สุดกิจการที่ตัวเขาสนใจเป็นพิเศษคือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และจะยังคงแตกยอดธุรกิจของครอบครัวให้แผ่กิ่งก้านไปอีก “ที่ผมอยากมาทำก็เพราะชอบธุรกิจอสังหาฯ ถ้าป๊าให้ไปทำอย่างอื่นก็คงไม่ทำ” เสี่ยหนึ่งให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะที่ตัวเขาเป็นชาวขอนแก่นโดยกำเนิดก็อยากสร้างให้บ้านเมืองเติบโตอย่างเป็นสากล และเห็นเป็นรูปธรรมจากโครงการต่างๆ ที่ครอบครัวพัฒนาขึ้นมา แต่ที่สำคัญคือต้องสวยงามน่าประทับใจ เป็นที่ชื่นชมของผู้คนและตอบสนองความต้องการได้จริงด้วย

CORRECTION: เนื่องจากความผิดพลาดในคอลัมน์ Entrepreneurs ฉบับเดือนธันวาคม 2014 ทางกองบรรณาธิการ Forbes Thailand ขอแก้ไขตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินรวมของครอบครัวศิริธนชัย จาก 2 หมื่นล้านบาท เป็น 2 พันล้านบาท  พร้อมนำเสนอเนื้อหาที่แก้ไขแล้วผ่านทางเว็บไซต์ -