อุดม ศรีสงคราม V.Cargo ขนส่งอัจฉริยะ - Forbes Thailand

อุดม ศรีสงคราม V.Cargo ขนส่งอัจฉริยะ

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาแต่กลับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยเปลี่ยนไปหันมาช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์มากขึ้น และเป็นโอกาสของกลุ่มบริษัท วี.คาร์โก ขนส่งอัจฉริยะสัญชาติไทยที่นำโดย อุดม ศรีสงคราม

หลังทำงานกับสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 6 ปี โดยรับผิดชอบงานด้านการจราจรผู้โดยสาร อุดม ศรีสงคราม กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท วี.คาร์โก จำกัด มองว่าไม่มีโอกาสก้าวหน้าจึงลาออกมาทำงานกับ บริษัท ทรานส์โปร จำกัด ให้บริการด้านชิปปิ้งและพิธีการศุลกากร เก็บเกี่ยวประสบการณ์ 6 ปี ก่อนจะมาตั้ง บริษัท วี.คาร์โก จำกัด ในปี 2531 ด้วยทุน 200,000 บาท ผ่านมา 32 ปี ขยายออกเป็น 4 บริษัท ปี 2562 มีรายได้รวม 899.32 ล้านบาท และคาดว่าแตะหลักพันล้านในปี 2563 ในช่วงแรกบริษัทดำเนินธุรกิจด้านชิปปิ้งและพิธีการศุลกากร ปี 2538 นำระบบการให้บริการศุลกากรแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ รวมทั้งเริ่มให้บริการขนส่งสินค้าทางบกให้กับกลุ่มเซ็นทรัลเป็นครั้งแรก และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเป็นที่พอใจของลูกค้า ต่อมาได้ขยายการให้บริการไปยังลูกค้ากลุ่มอื่นๆ อาทิ Power Buy, Supersport, Office Depot, Central Group, HomePro, Tesco Lotus และร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven 2 ปีก่อนเซ็นสัญญาจ้างให้ขนส่งสินค้าจากฮับ 13 แห่งในพื้นที่นครปฐม บางปะอิน ปราจีนบุรี พัทยา เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุดรธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา สรุาษฎร์ธานี กระบี่ และสงขลา โดยขนส่งสินค้าไปยังสาขาทั่วประเทศ 166 แห่ง รวมทั้งให้บริการติดตั้งสินค้า (last mile service) เช่น เครื่องซักผ้า ทีวี/แอลซีดี ตู้เย็น โดยขนส่งสินค้าไปยังสาขา และขนส่งสินค้าจากสาขาไปยังบ้านลูกค้าอีกทอดหนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มบริษัท วี.คาร์โก จำกัด ประกอบด้วย 4 บริษัทคือ บจ. วี.คาร์โก, บจ. วี.คาร์โก้ แอนด์ ซัพพลาย, บจ. ไทยรุ่งพัฒนาขนส่ง และบจ. ยูพีเอสอาร์ โลจิสติกส์ แอนด์ เซอร์วิส มีพนักงานประจำรวม 400 คน มีรถให้บริการมากกว่า 1,000 คัน ในส่วนของรถบรรทุกแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย รถของบริษัท รถในโครงการเถ้าแก่น้อย และรถร่วม มีสถานีจ่ายน้ำมัน (smart station) ที่บริษัทพัฒนาขึ้น มาเองและใช้แอปพลิเคชัน TMS ดำเนินงาน ทำให้ไม่ต้องมีพนักงานประจำจุดจ่ายน้ำมันประหยัดแรงงาน ควบคุมการทำงานได้มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนลงร้อยละ 4 จากการพัฒนาองค์กรมาอย่างต่อเนื่องทำให้ปี 2563 บริษัทได้รับรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (PM Award 2020) สาขาโลจิสติกส์การค้า จากนายกรัฐมนตรีและรางวัลผู้ประกอบการดีเด่นทางด้านโลจิสติกส์ (Excellent Logistics Management Award: ELMA) สาขาผู้ให้บริการขนส่งสินค้า เป็นครั้งที่ 2 จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในวัย 70 ปี อุดมยังสนุกกับการทำงานขณะเดียวกันได้เตรียมส่งมอบและถ่ายทอดงานให้กับทายาททั้ง 3 คน ซึ่งปัจจุบันเข้ามารับผิดชอบงานบริษัทแล้ว ประกอบด้วย อัศรี ศรีสงคราม บุตรสาวคนโต ดูแล บจ. ยูพีเอสอาร์ โลจิสติกส์ แอนด์ เซอร์วิส, สิริพักตร์ ศรีสงคราม บุตรสาวคนกลาง ดูแลการตลาดของ บจ. วี.คาร์โก และ ชัยยศ ศรีสงครามทายาทคนสุดท้องดูแล บจ. ไทยรุ่งพัฒนาขนส่ง  

- จากชิปปิ้งสู่ธุรกิจขนส่ง -

วี.คาร์โก เป็นบริษัทให้บริการด้านโลจิสติกส์ ดำเนินธุรกิจ 4 ประเภท ประกอบด้วย transportation, คลังสินค้า, ศุลกากร ขนส่งทั้งทางอากาศและทางทะเล ให้บริการงานด้านพิธีการออกของจากศุลกากร (customs clearance) การขนส่งทางอากาศ (air freight) การขนส่งทางทะเล (sea freight) ทั้งขาเข้าและขาออก โดยมีเป้าหมายคือ การพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมทุกด้านของการบริการผ่านระบบ EDI (electronic data interchange) อุดมพร้อมบุตรทั้ง 3 คน และที่ปรึกษาอีก 1 ราย ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ภายในร้านอาหารของโรงแรมเซ็นทารา ลาดพร้าว เขาย้อนถึงความหลังคราวที่เริ่มตั้งอาณาจักรของตนเองถึงจุดเปลี่ยนครั้งที่หนึ่งว่า “ผมชอบความท้าทาย มีโอกาสก็เลยออกมาตั้งบริษัทเอง พอดีเซ็นทรัลต้องการบริษัทรับขนส่งสินค้าในส่วนของห้างโรบินสัน โดยรับของจากคลังพระประแดงส่งสาขาทั่วประเทศ ช่วงเริ่มต้นมีรถ 4 คัน ปรากฏว่ามีปัญหาด้านพนักงาน บางวันพนักงานป่วยเราต้องทำแทนอีก ตอนนั้นแถวพระประแดงมีรถพิกอัปเยอะมาก ก็คิดว่าควรชวนกลุ่มนี้มาร่วมทำงานแต่ต้องมีกฎระเบียบเพื่อให้ได้งานคุณภาพตามมาตรฐาน เราประกาศปากต่อปาก แล้ว screen คุณสมบัติ พอคัดสรรได้แล้วก็ปฐมนิเทศ ฝึกงาน ประมาณ 1-2 อาทิตย์ก็ทำงานได้ เราบอกว่าถ้าทำตามขั้นตอนนี้จะมีรายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร และบริหารให้ด้วย” อุดมเรียกพาร์ตเนอร์กลุ่มนี้ว่า “รถร่วม” หมายถึง เจ้าของรถพิกอัปที่นำรถมารับส่งสินค้าให้กับบริษัท ประหนึ่งว่าเป็นพนักงาน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทได้มาก เนื่องจากไม่ต้องลงทุนซื้อรถบรรทุกเอง และยังใช้โมเดลนี้มากระทั่งปัจจุบัน เมื่อลูกค้าโมเดิร์นเทรดมีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ หรือต้องการขยายงาน อุดมจึงสามารถตอบรับได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อมาซื้อรถ ส่งผลให้การบริการด้านนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2538 เมื่อได้สัญญาจ้างงานขนส่งน้ำยาล้างไตขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งรับผ่าน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ทำให้ปีนั้นมีรายได้เพิ่ม 200 ล้านบาท และได้รับความไว้วางใจให้ทำงานนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 โดยโปรเจ็กต์นี้อุดมให้ “อัศรี” บุตรสาวคนโตดูแลตั้งแต่เริ่มต้น เล่าถึงตอนนี้อัศรีเสริมว่า ช่วงนั้นเดินทางเกือบทุกจังหวัด เมื่อรับจากองค์การเภสัชกรรมต้องมาคัดแยกตามรายชื่อผู้ป่วย เรียนรู้ตัวประเภทน้ำยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายต้องคัดแยกให้ถูกต้อง และไปดูหน้างาน ต้องอบรมให้ความรู้พนักงานเรื่องน้ำยาล้างไต เวลาจัดส่งน้ำยาถึงบ้าน ต้องจัดเรียงให้ด้วยแล้วถ่ายรูปส่งงานผู้ว่าจ้าง อุดมเห็นว่าวิธีการติดตามงานขององค์การเภสัชฯ น่าสนใจจึงจ้างทีมพัฒนาระบบ TMS เพื่อนำมาใช้กับการขนส่งของบริษัท “เราเห็นผู้บริหารเปิดไอโฟน ไอแพดเห็นว่ายากระจายส่งให้ผู้ป่วยกี่ราย เสร็จแล้ว ผิดพลาดกี่ราย เขาวิเคราะห์ได้ว่างานเป็นอย่างไร ผิดพลาดตรงไหน เราเห็นว่ามีประโยชน์ ก็เชิญบริษัทมาคุยว่าอยากได้แบบนี้ ให้ modify มากขึ้น จุดนี้ทำให้เรา transform จาก analog เป็น digital ทำให้เราพัฒนามาตั้งแต่ช่วงนั้น 7 ปีแล้ว ตอนนี้เป็นเวอร์ชัน 2 มี feature ต่างๆ ครบถ้วนหลังจากนั้น 2 ปีเราทำงานขนส่งสินค้าให้ลาซาด้า เป็น last mile เหมือนกัน”  

- Mr. Yes -

จุดเด่นของผู้บริหาร วี.คาร์โก คือ ไม่เคยปฏิเสธ และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วผ่านตัวช่วยคือ เทคโนโลยีและพาร์ตเนอร์ผู้เป็นเจ้าของรถสำหรับใช้ในการขนส่ง ทำให้สามารถจัดหารถจำนวนมากได้ทันทีภายในเวลาจำกัด ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและไว้วางใจ “ลูกค้าเรียกผมว่า Mr. Yes เพราะไม่เคยปฏิเสธงาน หมายถึงดูแล้วว่าทำได้ ถ้ายังไม่แน่ใจก็ขอมาดูก่อน แต่ส่วนใหญ่ทำได้หมด ถ้าลูกค้าต้องการคำตอบด่วน ภายใน 2 วันก็ให้คำตอบได้แล้ว” เมื่อถามว่า กว่าจะถึงวันนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ลูกๆ 3 คนหัวเราะพร้อมกัน ขณะที่อุดมยิ้มกว้างก่อนตอบว่า ทำงานด้วยใจรักและมีความขยัน ส่วนเคสที่ยากๆ ก็มี เช่น งานขององค์การเภสัชกรรม เนื่องจากต้องใช้รถบรรทุกควบคุมอุณหภูมิ หารถร่วมไม่ได้ บริษัทต้องซื้อรถเอง 100 คัน ใช้ทุนเกือบ 100 ล้านบาท หรือลาซาด้าขอให้ออกแบบระบบ GMS ตามที่ต้องการ ซึ่งอุดมบอกว่ายากมาก ต้องจ้างบริษัทไอทีทำโปรแกรมแต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ผู้ก่อตั้ง วี.คาร์โก แก้ปัญหาโดยตั้งบริษัทใหม่ ให้ลูกเข้ามาบริหารจัดการ ส่วนเจ้าตัวยังให้บริการลูกค้ารายเดิม พูดง่ายๆ คือ ทั้ง 4 บริษัททำธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเหมือนกัน แต่แยกกันดูแลลูกค้า ส่วนรถที่ใช้ขนส่งมี 3 แบบคือ รถบริษัท รถร่วม และรถเถ้าแก่น้อย “เถ้าแก่น้อย” เป็นชื่อโครงการที่บริษัทจัดหารถให้กับพนักงานที่ต้องการเป็นเจ้าของรถบรรทุกเอง รถกลุ่มนี้ใช้ขนสินค้าให้กับร้านสะดวกซื้อ วิธีการคือ บริษัทออกรถให้ก่อน และพนักงานจ่ายงวดรถ โดยบริษัทมีงานให้ ดูว่าต้องวิ่งวันละกี่รอบจัดการเรื่องน้ำมัน ทำประกัน รวมทั้งจัดหาลีสซิ่ง พอครบ 7 ปี พนักงานได้เป็นเจ้าของรถปัจจุบันมีรถในโครงการนี้ 300 คัน “เราทำให้ทุกคนมีอนาคต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมดูว่าเถ้าแก่น้อยมีประโยชน์ทุกส่วน เซเว่น เรา และเถ้าแก่น้อย”   ผู้ก่อตั้ง วี.คาร์โก มีความตั้งใจว่า อีกไม่เกิน 5 ปีจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แผนงานต่อจากนี้คือลดงานชิปปิ้ง และมุ่งการให้บริการขนส่งแบบครบวงจร เพราะรายได้จากด้านขนส่งอยู่ที่ 500 ล้านบาทคงที่มาหลายปี โดยจะขยายบริการให้ครอบคลุมทุกขั้นตอน เช่น การขนส่งสินค้า การจองระวางบรรทุกจองเรือ งานพิธีการศุลกากรเมื่อนำสินค้าออกจากท่าเรือแล้ว นอกจากจะให้บริการขนส่ง ยังมีการบริหารสต็อก บริหารคลังสินค้าให้ลูกค้า เรียกว่า เพียงแค่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อ บริษัทสามารถบริหารจัดการให้ตั้งแต่ต้นจนจบ รวมทั้งดูแลสต็อกสินค้าให้ด้วย “เรามีฐานลูกค้าด้านการขนส่ง ลูกค้ารายใหญ่ และวางแผนกับลูกว่าจะทำอะไรต่อไป เราจะต่อยอดไปต่างประเทศ ไป CLMV สำรวจเส้นทางแล้ว เราอาจไปลงทุนที่ Kunming, Nanning เรื่องขนส่ง เป็นตัวแทนจำหน่าย หรือนำของเข้ามาจากจีนเป็น cross border เรามี license อยู่ ผมมองเรื่องรถไฟจาก Kunming ที่มาถึง Vientiane ส่วน Nanning มาจากเวียดนามผ่านลาวแล้วเข้าไทย ก็ฝากลูกว่าต้องต่อยอดให้ได้ การลงทุนในจีน จะทำให้บริษัทมั่นคงขึ้น และคนที่อยู่กับเรามั่นคงด้วย” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม “อุดม ศรีสงคราม V.Cargo ขนส่งอัจฉริยะ” และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine