จากอดีตพนักงานบริษัทแอร์ที่ถูกเลิกจ้างจนต้องขายสารานุกรมเลี้ยงชีพแต่ด้วยความพยายามสู้ไม่ถอยของผู้ก่อตั้ง CIG ที่กอบกู้โรงงานเก่าและปั้นจนเป็นธุรกิจผลิตคอยล์ที่สร้างรายได้กว่าพันล้านบาทในวันนี้ พร้อมหาโอกาสใหม่จากหัวจักรรถไฟ มุ่งหมายรายได้แตะ 3 พันล้านในปี 2562
“คอยล์” หนึ่งในอุปกรณ์หลักที่ช่วยให้แอร์ปล่อยไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศเพื่อบรรเทาความร้อนระอุซึ่งภายในโรงงานขนาด 11,000 ตารางเมตรที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ริมถนนสายหนองค้อ-แหลมฉบัง ณ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรีแห่งนี้ กำลังมีการผลิตคอยล์อยู่ทุกขณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของฐานการผลิตคอยล์ของ บมจ.ซี.ไอ.กรุ๊ป ที่ก่อตั้งโดย อารีย์ พุ่มเสนาะ กรรมการผู้จัดการ วัย 62 ปี
อารีย์ เล่าถึงเหตุแห่งการก้าวสู่ธุรกิจคอยล์ ภายหลังบรรจุงานบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศสัญชาติอเมริกัน กระทั่งทำงานได้ราว 7-8 ปี เมื่อองค์กรมองว่าตัวเขาไม่เป็นที่จำเป็นแล้ว อารีย์จึงตัดสินใจเดินจากมาแล้วเลือกอาชีพขายสารานุกรมหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ระยะหนึ่ง
“ผมไม่ได้คิดจะหนี แต่ในเมื่อบริษัทเห็นว่าผมไม่มีความสำคัญ แล้วต้องการให้ไปผมก็ตัดสินใจออกมา”กระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ข่าวว่ามีลูกค้าจากบริษัทเก่าผู้เป็นเจ้าของโรงงานที่มีเครื่องจักรเก่าทิ้งไว้และไม่ได้ใช้งาน เขาจึงตัดสินใจซื้อเครื่องที่สามารถฟื้นฟูเพื่อผลิตคอยล์ จึงนำไปสู่การตั้ง บริษัทซี โอ ไอ แอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2526 ด้วยเงิน 20,000 บาทที่ได้จากการขายสารานุกรมมาเป็นเมล็ดพันธุ์ตั้งต้น อารีย์และผองเพื่อนใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็สามารถชุบชีวิตเครื่องจักรเก่าเก็บราคาถูกให้ฟื้นขึ้นมาผลิตคอยล์ราคาแพงส่งขายทั่วประเทศได้
“ตอนไปติดต่อขอทำโรงงานผมไม่มีหลักประกันอะไร จึงไปขอร้องให้ข้าราชการท่านหนึ่งคือ พล.ต.อ.ปรุง บุญผดุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อมาช่วยเซ็นค้ำประกันให้ และยังซาบซึ้งในน้ำใจท่านมาจนถึงวันนี้ตอนหลังผมจึงเชิญท่านมาเป็นประธานกรรมการบริษัทผม” อารีย์ เล่าถึงความหลังจากกิจการเล็กๆ ในวันนี้ ได้กลายมาเป็น บมจ. ซี.ไอ.กรุ๊ป ที่ดำเนินธุรกิจในการผลิตคอยล์เย็น (evaporator coil) คอยล์ร้อน (condenser coil) และคอยล์น้ำเย็น (chilled water coil) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็นตู้แช่ และอุปกรณ์ถ่ายเทความร้อน/ความเย็นประเภทอื่นๆ เพื่อจำหน่ายทั้งทั่วเมืองไทยและในต่างประเทศในปัจจุบัน ที่มีรายได้เฉลี่ยกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี โดยมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 5,000 ยูนิตต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการผลิตคอยล์ขนาดใหญ่หรือตั้งแต่ขนาด 1x1 เมตรขึ้นไป โดยวางเป้าหมายระยะยาวที่จะทำรายได้แตะ 3 พันล้านบาทภายในปี 2562
ทั้งนี้จุดแข็งที่ทำให้ CIG สามารถเป็นหนึ่งในผู้นำของวงการผลิตคอยล์ได้นั้นอารีย์ยืนยันว่าเป็นเพราะบริษัทสามารถผลิตคอยล์ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย และยังสามารถส่งมอบสินค้าได้เร็วกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆ “เราสามารถทำงานได้เร็วเพราะพนักงานทุกคนสามารถทำงานทุกอย่างทดแทนกันได้และทุกคนพร้อมจะช่วยกันทุ่มเททำงานเพราะเราดูแลกันแบบครอบครัว” อารีย์กล่าวถึงที่มาของการสร้างศักยภาพในการผลิตรับมือความท้าทาย
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะที่บริษัทไม่เน้นขยายธุรกิจเกินกำลัง ทำให้ในบางครั้งไม่สามารถผลิตได้มากเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ภายหลังเริ่มมีลูกค้าในประเทศไทยที่ตัดสินใจผลิตคอยล์เอง อีกทั้งยังหันมาขายแข่งขันกับบริษัท จึงเป็นเหตุให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อราว 18 ปีก่อน ที่ทำให้ CIG ตัดสินใจบุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเมื่อปี 2548 เพื่อประโยชน์ด้านต้นทุนทางการเงิน ด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และทำให้มีภาพลักษณ์น่าเชื่อถือซึ่งจะเอื้อต่อการขยายไปยังต่างประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศราว 43% (ณ สิ้นปี 2559) จาก 36 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้อารีย์เข้าใจถึงความสำคัญของพนักงานในบริษัทอย่างลึกซึ้ง เป็นเหตุการณ์วิกฤตอุทกภัยในปี 2554 ที่มีน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตรล้อมรอบโรงงานขนาดพื้นที่ 13,500 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงเส้น 345 จ. ปทุมธานี โดยพนักงานได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างแนวป้องกันน้ำไม่ให้เข้ามาในโรงงานของ CIG จนสำเร็จ และยังให้ความช่วยเหลือต่อโรงงานอื่นๆ อีกด้วย “จากเหตุการณ์นี้ ทำให้รู้ว่าลูกน้องของเราสำคัญที่สุด”
นอกจากนี้ ด้วยเม็ดเงินที่เหลือจากการลงทุนในธุรกิจหลักแล้ว อารีย์จึงเลือกนำเงินบางส่วนไปซื้อกิจการโรงแรมสมายา บุรา (หาดละไม) และโรงแรมเดอะ รูม (หาดเฉวง) เมื่อปี 2552 ที่ปัจจุบันบริหารโดยบริษัท เดอ ละไม จำกัด แต่ด้วยความอ่อนประสบการณ์ ผนวกกับช่วงจังหวะที่มีปัญหาการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศซบเซาทำให้ขาดทุนประมาณ 5 ล้านบาทต่อปีมาโดยตลอด ในที่สุดอารีย์จึงตัดสินใจขายโรงแรมไปเมื่อต้นปี 2559
สำหรับแนวทางดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป อารีย์มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรในด้านธุรกิจผลิตและจำหน่ายคอยล์ สำหรับที่มาของธุรกิจด้าน green building หรือที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า BluSolutions ที่แตกยอดใหม่นั้น เกิดจากการสูญเสียตลาดไปรวมถึงจากประสบการณ์ที่ได้ไปติดตั้งระบบปรับอากาศตามอาคารต่างๆ จนทำให้ค้นพบว่า ตลาดมีความต้องการระบบที่จะช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งนำไปสู่ธุรกิจใหม่ที่รับออกแบบระบบปรับอากาศ ผนังฉนวนและหลังคา ประเภท polyurethane และ polyisocyanurate โดยร่วมมือกับผู้ผลิตแผ่นฉนวนสำเร็จรูปทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้บริการแบบครบวงจรสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการก่อสร้างที่รวดเร็ว ประหยัดพลังงานและคุณภาพอากาศที่ดี
ทั้งนี้ บริษัทเริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ Kingspan Insulated Panels Pty Ltd ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผ่นฉนวนสำเร็จรูป (insulation panel) จากประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่เมื่อปี 2557 และเริ่มติดตั้งไปหลายโครงการ เช่น Penguin Ice Adventure ของ SEA Life Bangkok Ocean World “ปัจจุบันธุรกิจ BluSolutions ยังครองสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 10% แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะทำรายได้ถึง 500 ล้านบาทภายในปี 2562”
เราถึงธุรกิจใหม่ในการจัดตั้ง บริษัท สยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เพื่อรองรับการทำธุรกิจศูนย์ซ่อมรถไฟมาตรฐานครบวงจรแห่งแรกของประเทศ ตั้งแต่การซ่อมบำรุงหัวรถจักร เครื่องยนต์ โบกี้ผู้โดยสารและรถขนส่งสินค้าทุกประเภท โดยคาดว่าใช้เงินลงทุนที่ราว 500 ล้านบาท บริษัทฯ จัดหาที่ดินสำหรับดำเนินการเรียบร้อยแล้วเป็นพื้นที่มีขนาดเนื้อที่ 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา ติดกับสถานีรถไฟบางน้ำเปรี้ยวซึ่งจุดนี้มีความเหมาะสมที่จะสร้างศูนย์ซ่อมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพราะอยู่ติดกับสถานีรถไฟ และเป็นเส้นทางรถไฟในสายหลัก (ตะวันออก) ที่จะได้รับการพัฒนาเป็นรางคู่ (กำลังก่อสร้าง) และอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมพิเศษระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศออกมาอย่างชัดเจนทำให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนการลงทุนจาก BOI และได้รับมาตรการพิเศษทางภาษี
“ที่เรามั่นใจว่าจะทำงานนี้ได้สำเร็จเพราะเรามีที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญงานด้านนี้อยู่และจัดเตรียมงานที่มีศักยภาพไว้แล้ว” สำหรับเป้าหมายรายได้รวมในปี 2560 มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราว 1.5 พันล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50% จากปี 2559 โดยจะมาจากธุรกิจหลักประมาณ 1 พันล้านบาท และธุรกิจใหม่อีก 500 ล้านบาท อารีย์ย้ำหลักการทำธุรกิจของ CIG ว่า “ผมไม่แข่งกับลูกค้าและรักษาความลับของลูกค้าที่สำคัญคือผมไม่โกหกและรักษาคำพูดเสมอและสามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา นี่คือสิ่งที่ทำให้เรายืนอยู่ในวงการนี้ได้” เขาปิดท้าย
คลิกอ่าน "อารีย์ พุ่มเสนาะ นักสู้ผู้ไม่ละทิ้งโอกาส" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine