อภิสฤษฏิ์ นิรุชทรัพย์รดา เสริมพลัง Data Power - Forbes Thailand

อภิสฤษฏิ์ นิรุชทรัพย์รดา เสริมพลัง Data Power

ทายาทรุ่น 2 ที่มาผนึกความแข็งแกร่งให้กิจการผลิตและจำหน่ายปลั๊กต่อพ่วงของครอบครัวให้ยืนด้วยลำแข้ง จนพร้อมท้าชนสินค้าราคาถูกจากแดนมังกรได้ ยกระดับสินค้าตอบรับเทคโนโลยี IoT ที่เน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ควบคู่ขยายตลาดต่างประเทศให้ครองรายได้ถึง 50% เพื่อมุ่งเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน เล็งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น mai ภายในไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า

กว่า 35 ปีที่แล้ว ในวันที่อดีตช่างซ่อมโทรทัศน์อย่าง อภิเศรษฐ์ นิรุชทรัพย์รดา ตัดสินใจริเริ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าสารพัดประเภท กระทั่งวันหนึ่งที่ตัวเขาพบว่าผู้บริโภคชาวไทยเริ่มมีเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงย่อมต้องการแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าอย่างปลั๊กไฟที่มีเต้าเสียบจำนวนหลายหัว หรือที่เรียกว่าชุดปลั๊กพ่วง ซึ่งในยุคนั้นยังใช้วัสดุหลักที่ทำจากเหล็ก และยังมีคู่แข่งไม่มากนัก จึงก่อตั้งบริษัท ดาต้า เพาเวอร์ จำกัด เมื่อปี 2535 ในปี 2540 ที่ประเทศไทยต้องรับมือกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้กำลังซื้อของคนไทยถดถอยลงอย่างมาก ทางบริษัท ดาต้า เพาเวอร์ที่อภิเศรษฐ์ยังบริหารเองแบบเต็มตัว ย่อมต้องหาทางออกที่จะทำาให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังพอซื้อชุดปลั๊กพ่วงของบริษัทมาใช้ได้ไหว จึงนำไปสู่การปรับวัสดุรางปลั๊กจากเหล็กในรูปแบบเดิมเป็นพลาสติก จึงเท่ากับ ดาต้า เพาเวอร์กลายเป็นผู้ประดิษฐ์ชุดรางปลั๊กพ่วงพลาสติกขึ้นมาเป็นเจ้าแรกของประเทศไทย กระนั้นจากราคาสินค้าที่ลดลงจาก 1,900บาท เหลือ 500-600 บาทต่อชุด ก็ยังไม่ได้ช่วยพยุงยอดขายให้อู้ฟู่ดังเก่า เพราะมีคู่แข่งหน้าใหม่จากเมืองจีนเริ่มเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งจากจุดนี้ทำให้ราคาของชุดปลั๊กพ่วงทยอยปรับลดลงมาเรื่อยจนถึงปัจจุบันที่ราคาขายเฉลี่ยไม่ถึง 100 บาท อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้รับโอกาสที่ดี จนเริ่มมีรายได้ที่แข็งแกร่งมากขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2545 ด้วยสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายยังห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Makro ในฐานะลูกชายคนเดียว “อภิสฤษฏิ์ นิรุชทรัพย์รดา” จึงเริ่มมารับช่วงบริหารกิจการในหน้าที่กรรมการผู้จัดการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อปี 2557 ทว่าทายาทรุ่น 2 ผู้นี้ก็ได้รับการปลูกฝังให้เริ่มทำางานในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่อยู่ในวัยประมาณ 7 ขวบแล้ว โรงงานเราเล็ก มีอะไรก็ต้องช่วยกันทำที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องการปลูกฝังเรื่องการทำงานควบคู่ไปกับการเรียน แม้จะกังวลเรื่องความปลอดภัยที่ต้องทำงานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ถ้าไม่สอนก็คงไม่เก่ง หากนับตั้งแต่หลังเรียนจบปริญญาตรีแล้ว อภิสฤษฏิ์เริ่มปรับปรุงและพัฒนาในหลายๆ ด้านจนทำให้บริษัทมีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถยืนหยัดในธุรกิจได้ถึงวันนี้ จนมีรายได้กว่า 400 ล้านบาทในปัจจุบัน ด้วยแรงงานกว่า 300 คนและมีกำลังการผลิตที่ราว 10 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งมีวงจรการผลิตภายในโรงงานของบริษัทเอง ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่าย

รับมือคู่แข่งจากจีน

อีกหนึ่งความท้าทายที่ทำให้ดาต้า เพาเวอร์ต้องพลิกตำราสู้ คือการเข้ามาของผลิตภัณฑ์ชุดปลั๊กพ่วงจากประเทศจีน โดยกลยุทธ์ที่อภิสฤษฏิ์เลือกใช้คือนำเสนอสินค้าที่ราคาเหมาะสมที่สุด ด้วยคุณภาพที่ดีที่สุดที่สามารถมอบให้ได้ให้กับลูกค้า นอกจากนี้ยังเพิ่มกลยุทธ์ในแง่สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ที่มีอัตลักษณ์และการออกแบบชัดเจน รักษาระดับคุณภาพของสินค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้นและมีนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังเพิ่มเติมเรื่องบริการเสริม เช่น การรับประกันสินค้าที่เป็นระบบและชัดเจน การเคลมสินค้าที่สะดวกรวดเร็วผ่านทางออนไลน์ เป็นต้น “ผมมาคิดได้ตอนอายุ 20 ปีว่าก่อนตายอยากส่งสินค้าของไทยออกไปสู้นอกบ้านเพราะในเมื่อคู่แข่งเข้ามาได้ เราก็ต้องออกไปได้เหมือนกัน เมื่อตอนที่รากฐานเราแข็งแรงแล้ว” ในที่สุดจากความพยายามต่อสู้และออกตลาดด้วยตัวเขาเองตั้งแต่เมื่อปี 2555 จึงเริ่มส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่เมียนมาตั้งแต่ปี 2558 จนปัจจุบันมีการส่งออกผ่านตัวแทนจำาหน่ายไปแล้วมากกว่า 10 ประเทศ แต่ปัจจุบันบริษัทยังมีรายได้จากตลาดต่างแดนเพียง 10% เท่านั้น อภิสฤษฏิ์จึงตั้งเป้าหมายที่จะขยายอัตราส่วนยอดขายจากต่างประเทศขึ้นเป็น 50% ของรายได้รวมภายในปี 2569 โดยจะใช้คุณภาพ ความปลอดภัย และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีเป็นตัวนำ ควบคู่กับการส่งสินค้าไปขายยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยมองว่าหากเข้าไปทำตลาดในประเทศดังกล่าวได้ ก็จะเชื่อมตลาดไปยังประเทศกลุ่มตะวันออกกลางอื่นๆ ได้อีก “เลือกไปเมียนมาก่อน เพราะมองว่าตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนกล้าไป จนตอนนี้ต่อยอดไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม CLMVและประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สุดท้ายแล้วเราสามารถเป็นอันดับ 1 เรื่องชุดปลั๊กพ่วงและอุปกรณ์ต่อพ่วงในภูมิภาคอาเซียน” ล่าสุดเมื่อต้นปี 2561 บริษัทท้ารบอีกครั้งด้วยสินค้านวัตกรรมประเภท IoT (Internet of Things) โดยพัฒนาและออกแบบร่วมกับพันธมิตร ซึ่งบริษัทเริ่มนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ Data Smart Home ที่ใช้เทคโนโลยี IoT ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับ Amazon Alexa และ Google Home มีหลากหลายประเภทให้กับลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงในกลุ่มประเทศ CLMV ขณะที่อีกเป้าหมายที่ผู้บริหารธุรกิจรุ่น 2ต้องสานต่อคือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ภายใน 3 ปีข้างหน้า  ภาพ: กิติเดช เจริญพร อ่านเรื่องราวฉบับเต็มของ "อภิสฤษฏิ์ นิรุชทรัพย์รดา เสริมพลัง Data Power" ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561