ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์สร้างตลาด “แผ่นไม้ MDF” ไกลทั่วโลก - Forbes Thailand

ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์สร้างตลาด “แผ่นไม้ MDF” ไกลทั่วโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Sep 2017 | 02:19 PM
READ 8141

ยักษ์เล็กแห่งเมืองระยองมุ่งมั่นนำของดีในบ้านอย่างต้นยางพาราแปรรูปเป็นแผ่นไม้ MDF พร้อมก้าวสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ปักธงธุรกิจใน 30 ประเทศ ผลักรายได้ทะยานสู่พันล้าน

ไม้ยางพาราที่วางซ้อนกันเป็นกองใหญ่สูงหลายเมตรบนลานกว้างภายใน บริษัท ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด (มหาชน) หรือ SKN ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ ใน อ. แกลง จ. ระยอง คือทรัพยากรอันล้ำค่าที่ วิชัย แสงวงศ์กิจ วัย 57 ปี ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ SKN มองเห็นและนำมาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดคุณค่ามากที่สุดสู่การอัดขึ้นรูปเป็นแผ่นไม้ MDF (medium density fiber board) หรือแผ่นไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นปานกลาง กว่าจะมาเป็นบริษัทมหาชนอย่างทุกวันนี้ วิชัยผ่านการลองผิดลองถูกและล้มลุกคลุกคลานในธุรกิจไม้มาไม่น้อย กระทั่งประสบการณ์ที่สั่งสมมาร่วม 30 ปี สอนให้จับจุดธุรกิจว่าแผ่นไม้ MDF คืออนาคตอันสดใส และเขาก็คิดไม่ผิด เพราะในปี 2559 แผ่นไม้ MDF สามารถนำรายได้มาสู่บริษัทเกือบ 1.5 พันล้านบาท มีตลาดต่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลักด้วยสัดส่วนการส่งออกมากถึง 95% ทรัพย์อยู่ในดิน สินอยู่ในต้นยางพารา วิชัยเป็นคนแกลงโดยกำเนิด ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรทำสวนทุเรียน หลังจบชั้นประถมศึกษาที่บ้านเกิด วิชัยก็มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนชั้นมัธยมศึกษาจนถึงชั้น ม.ศ.3 แล้วกลับระยองเพื่อช่วยครอบครัวทำงาน วิชัยคิดทำธุรกิจที่เกี่ยวกับยางพาราด้วยการรับซื้อขี้ยางและซื้อยางแผ่นเอามาแขวน แต่ทำได้ราว 1-2 ปีก็ต้องยอมยกธงขาว “สมมติเราซื้อยางแผ่นมา 11 บาท กว่าจะแขวนแห้งอีกสัปดาห์หนึ่งราคาก็ลง เป็นวัฏจักรแบบนี้ตลอด เงินเราก็น้อยเพราะเป็นรายเล็ก ทำแล้วเริ่มไม่ไหว ลุ่มๆ ดอนๆ เลยเลิกดีกว่า” วิชัยปรึกษาพ่อแม่และพี่ๆ ถึงการทำธุรกิจโรงเลื่อย เมื่อทุกคนเห็นด้วยแล้วจึงเกิดเป็น บริษัท ส.กิจชัย พาราวู๊ด จำกัด ขึ้นในปี 2524 ซื้อที่ดิน 1-2 ไร่เพื่อสร้างเป็นโรงเลื่อย นำไม้เบญจพรรณก่อนเปลี่ยนไปรับซื้อไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจมาทดแทน ต่อมาก็ขยายไปสร้างโรงอบไม้ เพื่อป้อนไม้ยางพาราส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกา หลังจากส่งไม้ให้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ได้สักระยะหนึ่ง วิชัยก็คิดว่าน่าจะเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีในโรงเลื่อยให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงนำเศษไม้ที่ขายไม่ออกมาทำเป็นสินค้าชิ้นเล็กๆ ไว้สำหรับใช้งานหรือประดับตกแต่งบ้าน ดังนั้นในปี 2534 วิชัยจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก ส.กิจชัยพาราวู๊ด เป็น บริษัท ส.กิจชัย จำกัดเตรียมเดินหน้าธุรกิจใหม่เต็มที่เพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ ช่วงปี 2540 เวลานั้นไม้แปรรูปที่เป็นไม้จริงมีราคาสูงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้ความต้องการแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติ (wood-based panel) เพิ่มสูงขึ้น วิชัยไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย เขาก่อตั้งบริษัท ส.กิจชัย วู้ด แพนเนล จำกัด ผลิตและจำหน่ายแผ่นไม้ปาร์ติเกิล (particle board) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุที่ใช้ทดแทนไม้ธรรมชาติเน้นลูกค้าในตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง หลายประเทศในเอเชีย เป็นต้น บริษัทลงทุนหลักร้อยล้านบาทซื้อเครื่องจักรมือสองจากยุโรปมาผลิตแผ่นไม้ปาร์ติเกิลแต่ก็ต้องได้รับบทเรียนแสนแพงในช่วงแรกเมื่อเครื่องจักรไม่ได้มีเทคโนโลยีทันสมัยเท่าที่ต้องการ ทำให้เมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วเกิดความเสียหายอย่างมาก ต้องเสียเงินซ้ำสองไปกับการซ่อมแซมและปรับการตั้งค่าอีกไม่น้อยกว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตสินค้าล็อตใหม่ให้มีคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ “ถึงจะมีรายได้เกือบพันล้านบาทหลังจากนั้น แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเครื่องจักรทำให้ผมได้บทเรียนธุรกิจเยอะมาก และสอนว่าต่อไปจะทำอะไรต้องอุดจุดอ่อนให้มากที่สุด” วิชัยย้อนเหตุการณ์ ปักหลักธุรกิจแผ่นไม้ MDF นอกจากแผ่นไม้ปาร์ติเกิล อุตสาหกรรมการผลิตแผ่นไม้ทดแทนไม้ธรรมชาติยังมี “แผ่นไม้ MDF” ผนวกกับความต้องการใช้งานแผ่นไม้ MDF เพิ่มขึ้น และขณะนั้นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจดังกล่าวในภาคตะวันออกมีเพียง 2 ราย คือ บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ระยอง เอ็มดีเอฟ จำกัด จึงยังมีโอกาสให้วิชัยได้โลดแล่นในธุรกิจนี้อีกมาก เดือนกันยายน ปี 2553 วิชัยในนามของกลุ่มครอบครัว ส.กิจชัย และกลุ่มครอบครัวสหกิจก่อตั้งบริษัท ส.กิจชัย เอ็ม ดี เอฟ จำกัดมีทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแผ่นไม้ MDF เพียงอย่างเดียว วางตำแหน่งเป็นผู้ผลิตแผ่นไม้ MDF ในสเกลขนาดกลางที่เน้นตลาดต่างประเทศ จากนั้นในเดือนกันยายน ปี 2559 ส.กิจชัย เอ็ม ดี เอฟ ก็แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SKN และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 800 ล้านบาท “ถ้ามองข้างนอก แผ่นไม้ MDF ก็เหมือนกันหมด แต่พอซื้อไปใช้งานเมื่อไหร่จะรู้ทันทีว่าคุณภาพดีหรือไม่ดี เราจึงเน้นผลิตสินค้าคุณภาพดีทั้งข้างนอกและข้างในเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ เพื่อที่เขาจะได้นำไปผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่อไปได้” หลังจากเดินกำลังการผลิตเต็มปีในปี 2557 รายได้รวมของบริษัทก็แตะหลักพันล้านบาทโดยรายได้รวมปี 2557-2559 อยู่ที่ราว 1.55 พันล้านบาท 1.66 พันล้านบาท และ 1.49 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิที่ราว 40.6 ล้านบาท 354.13 ล้านบาท และ 262.6 ล้านบาทตามลำดับ “รุ่น 2” เสริมทัพความแกร่ง “ผมอยู่ในวงการไม้มาหลายสิบปี สมัยก่อนความคิดก็ไม่ค่อยต่างจากคนรุ่นเดียวกันเท่าไหร่ พอมาทำตรงนี้ได้เห็นแนวทางความคิดใหม่ๆ ของคนอีกรุ่นก็เป็นเรื่องดี ผมเองก็ได้เรียนรู้มากขึ้น และหลายอย่างก็ต้องปรับตัวเข้าหาเขาเพื่อให้เกิดการทำงานที่ราบรื่นไปในเป้าหมายเดียวกัน” วิชัยเอ่ยพลางหันไปมองลูกคนโตและคนกลาง คือ อรวรรณ วัย 29 ปี และ หาญศิริ วัย 26 ปี ที่เข้ามาช่วยเสริมข้อมูลระหว่างที่วิชัยสนทนา กับ Forbes Thailand ทั้งคู่เข้ามาช่วยงานของ SKN ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายไอที ตามลำดับ “การหาความรู้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถทำงานและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้า นอกจากนี้อีกสิ่งที่จำเป็นคือการสื่อสาร จะพูดอย่างไรให้ผู้บริหารซึ่งก็คือคุณพ่อเข้าใจการทำงานของเรา ดังนั้นจะทำอะไรต้องพูดและอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนตรงกันทั้งสองฝ่าย และค่อยๆ เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันในเรื่องการทำงาน” อรวรรณเล่า ส่วนหาญศิริ เข้าไปเรียนรู้งานในตำแหน่งผู้จัดการดูแลเรื่องการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ ส.กิจชัย ก่อนเป็นที่แรก จากนั้นย้ายมาดูแลระบบไอทีที่ SKN ราวปลายปี 2556 เขาเล่าว่าสมัยเด็กๆ บ้านกับโรงงานอยู่ไม่ไกลกันมาก ดังนั้นปู่จึงบอกเสมอว่าอย่างน้อยวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต้องเดินไปดูว่าภายในโรงงานทำอะไรกันบ้าง แม้จะรู้สึกว่าถูกบังคับ แต่เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นก็เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะเรียนรู้ธุรกิจของครอบครัว “พนักงานหลายคนเห็นเรามาตั้งแต่เด็กเป็นเหมือนลุงป้าน้าอาที่เอ็นดูลูกหลานเดิมเขาทำมาดีอยู่แล้วแต่เราแค่ปรับให้ดีขึ้นตอนแรกเขาก็ไม่ชินกับวิธีการทำงานแบบใหม่แต่หลังๆ ก็ทำได้และยินดีที่จะทำเพราะรู้ว่าเป็นการช่วยบริษัท” หาญศิริถ่ายทอดวิธีการทำงานระหว่างรุ่นเขากับพนักงานรุ่นก่อน อรวรรณและหาญศิริต้องการแข่งขันกับตัวเองมากกว่าจะแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่น ดังนั้น SKN จึงต้องมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ดี พร้อมกับผสมผสานประสบการณ์ของคนรุ่นพ่อที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ เข้ากับวิสัยทัศน์และมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นแรงเสริมผลักให้ SKN ก้าวไปข้างหน้าและสามารถเติบโตได้อย่างมั่น   เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ ส.กิจชัย เอ็นเตอร์ไพรส์