สุวัชชัย-ภูวสิษฏ์ 2 พี่น้องตระกูลวงษ์เจริญสิน ได้เข้ามารับช่วงสืบทอดธุรกิจของครอบครัวที่มีอายุกว่า 7 ทศวรรษ อย่างเข้มแข็ง
เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: พรพรหม สาตราภัย ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลวงษ์เจริญสิน เข้ามาช่วยงานในกลุ่มบริษัท “เจริญสิน” รวม 11 คน แต่มี 7 คนที่มีบทบาทสำคัญนั่งในตำแหน่งระดับบริหารในบริษัทต่างๆ ราว 18 บริษัท ที่แยกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจหลักคือ อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และอสังหาริมทรัพย์ “พวกเราพยายามที่จะทำอย่างไรให้ดีกว่าอย่างรุ่นพ่อก็มีปัญหาของเขาอย่างเช่นวิธีการหาเงินที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ แต่ปัญหาของเราหนักกว่าสองเท่าคือจะใช้เงินที่พวกเขาหามาและดูแลธุรกิจได้อย่างไร ในมุมมองและทิศทางที่จะต้องไปในอนาคตมันจะต้องโตขึ้น ยุคก่อนไม่คิดว่าจะโตเท่าไรคิดเพียงให้อยู่ได้ เราต้องแข่งกับความเร็วและเทรนด์” สุวัชชัย เริ่มเกริ่นกับพวกเรา ธุรกิจเริ่มแรกของตระกูลวงษ์เจริญสิน เป็นโรงฟอกหนัง “เจริญสิน” ที่บางปู เปิดอย่างเป็นทางการในปี 2488 ภายใต้การดูแลของอากงของสุวัชชัยและภูวสิษฏ์ แต่อากงบริหารได้ไม่นานก็เสียชีวิต พร้อมกับทิ้งหนี้ไว้จำนวนหนึ่งให้กับลูกชายทั้ง 7 คน เหตุการณ์นี้ทำให้ธุรกิจโรงฟอกหนังเข้าสู่ยุคที่ 2 โดยมีธวัชชัยลูกชายคนที่ 3 ของครอบครัว ขณะนั้นอายุเพียง 25 ปี ได้เข้ามาบริหารโรงงานแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังเงินที่มี ขณะที่ รัตนชัย ฝาแฝดผู้พี่ของธวัชชัย เข้ามาจับด้านการขาย โดยริเริ่มขยายตลาดธุรกิจฟอกหนังไปต่างประเทศ เพื่อหนีปัญหาการถูกกดราคาจากลูกค้าภายในประเทศ การบุกเบิกตลาดต่างประเทศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจอย่างมาก ก่อเกิดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจใหม่ๆ ปี 2532 กลุ่มเจริญสินเกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญในโครงการร่วมทุนกับนักลงทุนไต้หวันที่มีแนวคิดย้ายฐานโรงงานผลิตเข้ามาในเมืองไทยเพื่อผลิตหนังวัวฟอกสำเร็จรูปให้กับกลุ่มโรงงานทำรองเท้า แต่การร่วมทุนครั้งนั้นมีเงื่อนไขว่ากิจการที่จัดตั้งขึ้นต้องมีธรรมาภิบาล การบริหารแบบโปร่งใส จึงได้จัดตั้ง บมจ.ซี.พี.แอล กรุ๊พ (CPL) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การร่วมทุนครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะของทั้ง 2 ฝ่าย โดยนอกเหนือจากโนว์ฮาวที่ได้รับ กลุ่มเจริญสินยังสามารถขยายฐานลูกค้าไปต่างประเทศได้ทันที เจริญสินยุคที่ 3 จากยุคธวัชชัย-รัตนชัย ก็มาถึงทายาทรุ่นที่ 3 เข้าสืบต่อธุรกิจ ได้แก่สุวัชชัยที่เป็นลูกของธวัชชัยและภูวสิษฏ์ ที่เป็นลูกของรัตนชัย “คุณพ่อ คุณลุง ให้ความสำคัญการศึกษา...พ่ออยู่กับโรงงานเยอะ พวกเราเป็นรุ่นแรก ที่ถูกพาไปต่างประเทศตอนอายุ 14-15 ปี ไปมาเลย์ สิงคโปร์ ตอนปิดเทอม เป็น business trip ที่ต้องไปดูโรงงาน ไปเจอเพื่อนของพวกเขา...พวกเราค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ ตอนม.1 ม.2 ไม่เคยดูการ์ตูนเสาร์อาทิตย์ ต้องตามไปโรงงาน บางทีไปนั่งฟัง ลูกน้องพ่อถูกด่า พวกเราก็ฟังรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง บางทีหลับไปก็มี” สุวัชชัย กล่าว สุวัชชัย เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจของ CPL ในราวปี 2540 เริ่มต้นเป็นพนักงานธรรมดาในฝ่ายวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) จากนั้นย้ายมาอยู่ในสายงานผลิต ซึ่งพ่อของเขาคอยเป็นพี่เลี้ยง ให้ค่อยๆ เรียนรู้งานอย่างเป็นระบบ จนกระทั่ง 4 ปีที่แล้ว จึงปล่อยให้สุวัชชัยรับภาระนี้อย่างเต็มตัว หลังจากที่สุวัชชัยเข้ามาบริหาร บริษัทก็เติบโตขึ้นตามลำดับ จากปี 2540 มีพนักงานราว 300 คน เพิ่มขึ้นเป็นราว 650 คนในปัจจุบัน ส่วนยอดขายเพิ่มจาก 1.2 พันล้านบาท เป็น 2.3 พันล้านบาทในปี 2558 โดยยอดขาย 90% มาจากการส่งออก ไปจีน อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และสิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือ แบรนด์รองเท้าระดับโลกอย่าง Timberland, Adidas และสินค้าบางกลุ่มของ Lacoste ไว้วางใจใช้ผลิตภัณฑ์หนังของ CPL อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภูวสิษฏ์ เข้ามาทำงานกับครอบครัวในราวปี 2540 เช่นกันหลังเรียนจบ โดยรับผิดชอบดูแลธุรกิจเสื้อผ้าและผลิตรองเท้าเซฟตี้ ช่วงแรกภารกิจหลักคือแก้ปัญหาหนี้ เจรจากับธนาคารเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจรับผลิตเสื้อสูทสตรีเพื่อส่งออกจากนั้น ก็เข้าดูรับผิดชอบดูแลการผลิตรองเท้าเซฟตี้ ภายใต้แบรนด์ “แพงโกลิน” (Pangolin) ทั้งยังนำเข้าผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น จนขยายตัวเป็นศูนย์อุปกรณ์นิรภัยครบวงจรที่มีแนวโน้มสดใส โดยมีลูกค้าองค์กรเป็นลูกค้าหลัก ในปี 2558 บริษัทมียอดขายรวม 590 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายอีก 3 ปีข้างหน้า เขาหวังว่ายอดขายจะแตะ 1 พันล้านบาท และยังต้องการที่จะขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่งของผู้จัดจำหน่าย safety products ในตลาดอินโดจีน และติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของบริษัทใหญ่ในตลาดอาเซียนอีกด้วย ธรรมนูญครอบครัว ครอบครัววงษ์เจริญสินเป็นครอบครัวใหญ่ จึงได้มีการกำหนดกติกาอยู่ร่วมกัน โดยเรียกกันว่า “ธรรมนูญครอบครัว” เพื่อจัดสรรในครอบครัวอย่างเป็นธรรม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสมาชิก “harmony ในครอบครัวสำคัญมาก เราเห็นหลายตัวอย่างที่ธุรกิจดีมาก แต่พี่น้องตีกัน ทะเลาะกัน อย่างนี้พวกเราไม่ชอบ และพ่อก็ไม่ชอบด้วย เราเอา harmony เป็นหลัก เราพยายามรักษา harmony ของครอบครัว แม้ไม่ต้องรวยสูงสุดก็ตามที” สุวัชชัยกล่าวทิ้งท้ายคลิ๊กอ่าน "สุวัชชัย-ภูวสิษฏ์ วงษ์เจริญสิน รุ่น 3 ต่อยอด 70 ปีกลุ่ม “เจริญสิน”" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine