สุทัศน์ นันชัย ปั้นสูตร “ขนมปังทองคำ” - Forbes Thailand

สุทัศน์ นันชัย ปั้นสูตร “ขนมปังทองคำ”

ด้วยความฝันที่อยากมีโรงงานสักแห่ง เมื่ออายุ 24 ปี สุทัศน์ นันชัย จึงลาออกจากการเป็นลูกจ้างร้านขนมปังมาสร้างธุรกิจของตนเอง โดยทำขนมปังขายส่งร้านค้าในตลาดที่จังหวัดระยอง ด้วยทุนเริ่มต้นเพียง 2,000 บาท ผ่านไป 5 ปีมียอดขายแตะหลักล้านบาทต่อเดือน และเติบโตขึ้นทุกปี ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารายได้ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริษัท เอ็น.ซี.เอส.โกลด์เบรด จำกัด ผลิตขนมปังสอดไส้ ขนมปังกรอบ แบรนด์ “โกลด์เบรด” มีโรงงาน 2 แห่งที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง และถนนร่มเกล้า กรุงเทพฯ กำลังการผลิตรวม 400,000 ชิ้นต่อวัน โดยโรงงานใหญ่อยู่ที่ระยองมีศูนย์กระจายสินค้า 25 จุด รถกระจายสินค้า 200 คัน ขายผ่านร้านค้า 30,000 กว่าแห่ง ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายการขนมปังกว่า 30 SKUs แต่ผลิตเพียง 21 SKUs สินค้าที่ขายดีคือ ขนมปังหมูหยองน้ำสลัด ขนมโมจิ และขนมปังแผ่น ขนมปังสอดไส้หมูหยองน้ำสลัด ไก่หยองน้ำสลัด ขนมปังไส้ถั่วแดง ขนมปังไส้สังขยาโมจิไส้เผือก ฯลฯ บรรจุในถุงพลาสติกวางอยู่บนเชลฟ์ในร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าย่อย ด้วยสนนราคาชิ้นละ 10-15 บาท เมื่อเปรียบเทียบขนาดของสินค้ากับราคาดูแล้วไม่น่าจะมีกำไรมากนัก ชวนให้สงสัยว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกทำธุรกิจนี้

- มุ่งสู่ความฝัน -

สุทัศน์ นันชัย ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เอส.โกลด์เบรด จำกัด เป็นชาวเชียงราย ออกจากบ้านเกิดมาเผชิญโลกภายนอกตั้งแต่อายุ 16-17 ปี ผ่านงานมาหลายอย่าง อาชีพสุดท้ายที่เขาเลือกเมื่อ 25 ปีก่อนคือ “คนทำขนมปัง” เริ่มต้นกิจการในห้องแถวเช่าเล็กๆ 2 ชั้นในจังหวัดระยองโดยพักอาศัยอยู่ชั้นบน ส่วนชั้นล่างใช้ทำขนมเริ่มจากการทำถั่วตัดเพราะใช้อุปกรณ์น้อย แต่ยอดขายไม่ดีนัก เมื่อรวบรวมทุนได้ก้อน หนึ่งจึงซื้อเครื่องตีขนมปังและเตาอบ ผลิตขนมปังขายวันต่อวัน เริ่มจากไส้หมูหยอง ไส้สังขยา เผือก ถั่วแดง ปีแรกมีคนงาน 1 คน มอเตอร์ไซค์ 1 คัน ทำเสร็จก็ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนส่งหรือฝากขายตามร้านค้า ตลาดนัด ตลาดสด ร้านขายของชำ ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ทำเสร็จก็หอบใส่มอเตอร์ไซค์ 1 คัน ขี่ฝ่าแดดฝ่าฝนไปฝากขายตามร้านต่างๆ เนื่องจากไม่มีทุนทำหน้าร้านขายเป็นของตัวเอง” ปี 2536 จดทะเบียนการค้าและติดแบรนด์ “โกลด์เบรด” (GOLD BREAD) ขยายตลาดเข้าสู่ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน ด้วยยอดขายเดือนละ 500,000-600,000 บาท นับว่าน่าทึ่งมากสำหรับการขายขนมแพ็กละ 10 กว่าบาท ความที่สินค้าขายดี พ่อค้าหนุ่มจึงเร่งผลิตเพื่อขาย ไม่ทันคิดว่าควรมีแบรนด์ของตนเอง กระทั่งแม่ค้าในตลาดบอกว่า แล้วคนจะรู้จักได้อย่างไร เขาจึงตั้งชื่อว่า “GOLD BREAD” หรือ “ขนมปังทองคำ” โดยได้แนวคิดมาจากนิทานชาดกเรื่อง “หนูทองคำ” “แต่ก่อนนั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปทางโกลก ที่สถานีรถไฟมีแผงขายหนังสือ ก็ได้หนังสือมาอ่านเรื่องหนูทองคำ ถูกใจว่าเข้ากับเราๆ เป็นคนหนุ่ม ถ้ามีหนูทองคำ ก็ขนมปังทองคำจะเป็นไร...แม่ค้าบอกจะให้เจ๊เรียกยังไงโกลด์เบรด ถ้าจะให้เรียกขนมปังทองคำก็ยิ่งแข็ง” สุทัศน์เล่าพร้อมกลั้วหัวเราะน้อยๆ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 กิจการมียอดขายแตะหลักล้านบาทต่อเดือน จากห้องแถว 1 ห้อง ขยับเป็นตึกแถว 3, 5, 8 ห้อง และขยายมาเรื่อยๆ ปี 2544 จึงกู้เงินธนาคารมาสร้างโรงงานที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง หลังสร้างโรงงานเสร็จจึงเพิ่มจุดวางจำหน่ายในปั๊มน้ำมันต่างๆ ทำให้ยอดขายเติบโตอย่างรวดเร็ว  

- ช่างทำขนมปังออกแบบเครื่องจักร -

ความที่ต้องการจะผลิตขนมปังให้ถูกปากผู้บริโภคไทย ซึ่งชอบขนมปังเนื้อเหนียวนุ่มสม่ำเสมอตลอดทั้งชิ้น ข้างในไม่เป็นโพรง เขาถึงขั้นออกแบบกลไกเครื่องจักรเองเพื่อให้สามารถรีดแป้งได้ตรงตามความต้องการ “เบญจวรรณ” ผู้เป็นภรรยาบอกว่า เสียค่าเรียนมากกว่าวิศวกรอีก เพราะสุทัศน์ซื้อเครื่องจักรราคาเป็นล้านมารื้อดูชิ้นส่วนเพื่อเรียนรู้เอง บางวันก็ขลุกอยู่กับเครื่องจักรจนเนื้อตัวเปรอะเปื้อน ในที่สุดช่างทำขนมปังสามารถออกแบบเครื่องจักรได้ตรงกับสูตรและเปิด บริษัท เอ็นซี เบเกอรี อีควิปเมนท์ จำกัด ในปี 2549 ซึ่งผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ เบเกอรี่ รวมถึงออกแบบเครื่องจักรทำเบเกอรี่ เช่น เครื่องสอดไส้ขนมปัง เครื่องผสมแป้ง เตาอบ โดยเครื่องจักรที่บริษัทผลิตใช้ชื่อแบรนด์ว่า NC MACHINE “ตอนแรกซื้อเครื่องจักรมาใช้ แต่โรงงานเราอยู่ระยอง เวลาเครื่องจักรมีปัญหากว่าช่างจะมาให้บริการ 2-3 วัน บางที 1 อาทิตย์ แต่การผลิตหยุดไม่ได้ ค่า service ต่อครั้งแพงมาก ก็เลยหาทีมช่างมาทำเครื่องจักรดีกว่า เพราะต้องการผลิตเครื่องจักรให้ใช้กับแป้งของเราได้ ออกแบบมาต้องใช้กับของคนไทย ถ้าซื้อเครื่องเมืองนอกต้องปรับสูตรเข้าหาเครื่อง เรางมเข็มตรงนี้หลายปีว่า ทำอย่างไรให้เครื่องเข้ากับสูตรแป้งคนไทยดีที่สุด บ้านเราต่างจากเมืองนอก (ผู้บริโภคชอบ) แป้งเหนียวนุ่มหวานมัน”  

- บททดสอบ -

กว่าจะมาถึงวันนี้สุทัศน์ต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักและผ่านอุปสรรคมาหลายครั้ง ช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มกิจการเขาและภรรยาทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ตื่นตั้งแต่เช้ามืดกว่าจะได้พักผ่อนก็หลังเที่ยงคืนไปแล้ว ทำงานโดยไม่มีวันหยุด “ขนมปังไม่เหมือนอย่างอื่น ทำแล้วหยุดกลางคันไม่ได้ถ้าหยุดคือเสีย ตั้งแต่ลงแป้ง พักแป้งขึ้นรูป พักแป้ง อบ แพ็ก ถ้าอบแล้วทิ้งไว้ขนมปังโดนลมจะกระด้าง ต้องทำให้เสร็จใน loop ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ถ้าทำเยอะใช้เวลานานกว่านั้น ทำเสร็จตี 1 นอนตี 1 เสร็จตี 2 นอนตี 2 แต่ต้องตื่นมาส่งของตอนตี 5 เพราะถ้าไปส่งช้าแม่ค้าบอกมาช้าตลาดวายแล้ว” แม้รายได้จะแตะหลักร้อยล้าน แต่ครั้งหนึ่งเขาเป็นหนี้คู่ค้า 3,000 บาท และไม่มีเงินจ่ายคืน เหตุผลคือ นำเงินสดทั้งหมดไปใช้หนี้แบงก์เพื่อรักษาเครดิตให้กับผู้บริหารฝ่ายสินเชื่อ ซึ่งเคยรู้จักกันตั้งแต่เขาเป็นลูกจ้างร้านขนมปังที่จันทบุรี มาเจอกันอีกครั้ง เมื่อธนาคารมาเปิดสาขาที่ระยอง และแนะนำให้ขอสินเชื่อเพื่อขยายกิจการ ปี 2539 จึงกู้เงินแบงก์เพื่อซื้อตึกและเครื่องจักรเพิ่ม “ปี 2540 มีข่าวธนาคารจะล้ม ผมกลัวว่าเขาจะเสียชื่อ จึงรวบรวมเงินสดทั้งหมดไปจ่ายหนี้ 3.5 ล้านบาท ผมไม่จ่ายค่าวัตถุดิบเลย มารู้ทีหลังว่าไม่เกี่ยวกัน ทำให้สภาพคล่องไม่มี ก็ค่อยๆ ทำขนมขาย เจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ เป็นบริษัทขายแป้ง (สาลี) เดิมให้เครดิต 1 เดือน บอกว่าขอให้ส่งแป้งอีกรอบจะทยอยจ่ายที่เหลือให้ เดิมเราซื้อแป้งจาก 2 ราย รายหนึ่งช่วยแต่อีกรายไม่ช่วย ก็เลยใช้แป้งรายนี้มาถึงปัจจุบันคิด เป็น 90% ของแป้งทั้งหมดที่ใช้” เหตุการณ์ครั้งนั้นเขาใช้เวลาเพียง 6 เดือนก็สามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ แนวทางคือ ขายของให้มากขึ้น เร็วขึ้น และไม่ลงทุนเพิ่ม วิกฤตรอบใหม่เกิดขึ้นในปี 2542-2543 สาเหตุจากกู้เงินมาขยายโรงงาน แต่เพราะขาดความรู้และการวางแผน ประกอบกับนำเงินมาใช้ทำตลาดด้วย ทำให้วงเงินกู้รอบแรก 10 ล้านบาทไม่พอจึงต้องกู้เพิ่ม เบ็ดเสร็จมีหนี้สินสะสม 27 ล้านบาท
สุทัศน์ นันชัย ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เอส.โกลด์เบรด จำกัด
“เราคิดว่าเงิน 10 ล้านทำอะไรได้เยอะมากแล้ว ปรากฏว่า 10 ล้านแรกสร้างโรงงานไม่พอ อีกอย่างขยายตลาดเร็ว สภาพคล่องสะดุด บางส่วนขายสด บางส่วนขายเชื่อ อย่าง convenience stores ส่งแล้วยังไม่ได้เงินทันที ต้องวางบิล 2 เดือนถึงได้เงิน บางครั้งบิลเขียนผิดไปตัวหนึ่งต้อง hold อีก 1 เดือนทำให้สภาพคล่องไม่ดี ตลาดขยาย โรงงานยังไม่ทันสร้างรั้วเงินหมดแล้ว คุยกับธนาคารๆ ถามต้องการเท่าไร ผมบอกไม่รู้เหมือนกัน แต่ขายของในตลาดเงินจมด้วย...บางทีเราส่งบิลละ 100-200 บาท ตกหล่นบ้าง ขาดทุนไม่รู้ตัวเพราะระบบบัญชีไม่ดี พอมีประสบการณ์ก็ค่อยๆ run งานให้เข้าระบบมากขึ้น” หลังโรงงานแล้วเสร็จในปี 2544 ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่ม จากที่วางจำหน่ายสินค้าในระยอง จันทบุรี ตราด ก็ขยายตลาดมายังชานเมืองกรุงเทพฯ กบินทร์บุรี และโคราช ตอนหลังเมื่อเห็นว่าคนกรุงเทพฯ ตอบรับจึงนำเข้ามาวางจำหน่ายด้วย “ตอนนั้นเราเข้ามากับ (ร้านสะดวกซื้อ) ampm เซ็นทรัลมินิมาร์ท ปั๊มบีพี ปั๊มเจ็ท และปั๊มบางจาก ตอนนี้มีแค่ใน 7-Eleven, Lotus Express, FamilyMart” ปัจจุบันขนมปังโกลด์เบรดวางจำหน่ายในกรุงเทพฯ ภาคตะวันออก และอีสาน ภาคเหนือบางจังหวัด และกำลังก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่จังหวัดปทุมธานี คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2566 ถึงตอนนั้นจะมีกำลังการผลิต 1 ล้านชิ้นต่อเดือน  

- วางแผนเพื่ออนาคต -

แม้ธุรกิจเติบโตทุกปีมากบ้างน้อยบ้าง แต่สุทัศน์ไม่เคยตั้งเป้าหมายว่า ต้องมียอดขายหรือเติบโตเท่าไรในแต่ละปี เขาบอกว่า “ขายได้เท่าไรก็ตามนั้น ทำงานแบบไม่มีเป้าหมาย” แต่ปี 2561 ผลประกอบการลดลงทั้งที่ปีนั้นเศรษฐกิจดี คิดว่ามาผิดทางหรือเปล่า จึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและธนาคารได้คำตอบว่า หากปล่อยไว้แบบนี้จะควบคุมไม่ได้” โดยปี 2560 บริษัทมีรายได้ 613 ล้านบาท และลดลงเป็น 556 ล้านบาทในปีต่อมา หลังจากทำแผนและวางนโยบายทำให้ยอดขายเติบโตเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2562-2564 จาก 603 ล้านบาท เป็น 700 กว่าล้าน และ 800 กว่าล้านบาท GOLD BREAD “ซื่อสัตย์ต่อคู่ค้าและลูกค้า” คือปรัชญาที่เขายึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นเป็นพ่อค้าขนมปัง สุทัศน์เล่าถึงช่วงที่เริ่มต้นว่า สั่งซื้อหมูหยอง 10 กก. แม่ค้าหยิบถุงที่บรรจุ 12 หรือ 15 กก. ให้ เมื่อเขากลับถึงบ้านและเช็กของพบว่าน้ำหนักเกินจากที่คิดเงินก็โทรบอกผู้ขาย ทำให้ได้รับความไว้วางใจ ช่วงไหนเงินสดขาดมือก็บอกตรงๆ ว่า สภาพคล่องไม่ดี ขอเครดิตยาวขึ้นอีกนิด กับคู่ค้าก็ไม่เคยขายตัดราคา “เราจอดรถเพื่อส่งของให้ซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้ามาซื้อที่รถเพราะได้ของที่สดใหม่ เราบอกซื้อได้แต่คิดราคาเต็มและลงบัญชีให้ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นเปอร์เซ็นต์ของเขา ลูกค้าก็ให้วางตำแหน่งที่มองเห็นง่าย หยิบง่าย สนับสนุนเรา...หากรับปากว่าจะส่งขนมภายในกี่โมง เช่น ตลาด โรงเรียน โรงงาน ต้องไปตามเวลานัด สินค้าต้องครบด้วย” ถามว่า ผ่านปัญหาหนักๆ มาหลายครั้ง เคยเครียดหรือท้อบ้างไหม? คำตอบคือ “เครียดมี ท้อไม่ได้ เพื่อนถามว่า รู้แบบนี้จะทำไหม ตอบว่าถึงรู้ก็จะทำ รู้ว่าสร้างโรงงานจะเป็นหนี้ มีปัญหา อย่างไรก็ต้องทำ ต้องแก้ไขปัญหา เมื่อก่อนเคยมีเด็กมาช่วยดูแลการขายที่กรุงเทพฯ ทุจริต เอาพนักงานไปเกือบ 20 คน เงินอีก 2 ล้านกว่าบาท ซื้อกิจการคู่แข่ง สร้างโรงงานใหญ่ ตอนนี้เจ๊งแล้ว ผมก็เข้าวัดนั่งสมาธิ ต้องบุกและสร้างใหม่ เราต้องลงมือทำเท่านั้นจึงจะเห็นผล หากไม่กล้าลงมือทำ ไม่ตัดสินใจ ก็ไม่เห็นผลว่าจะดีหรือไม่ดี ถ้าลงมือทำแล้วเห็นว่าไม่ดีก็ปรับปรุง หากดีแล้วก็ปรับให้ดีขึ้นอีก” สุทัศน์กล่าวในตอนท้าย   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ GOLD BREAD อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine