ผู้สืบสานกิจการรุ่น 2 ของกลุ่มผู้ผลิตรองเท้า S.C.S. เดินหน้าสร้างการเติบโตเพื่อชิงแท่นผู้นำของตลาดภายใน 5 ปี ฝ่าข้อจำกัดผู้บริโภควัยเรียนลดลงสู่ผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่นที่ลูกค้าพร้อมจับจ่ายอย่างต่อเนื่อง สานต่อนโยบายจากผู้ก่อตั้ง ฉีกตัวสู่ธุรกิจใหม่นอกร่มเงากิจการค้ารองเท้าโดยยึดปัจจัย 4 เป็นเส้นทางหลัก
อดีตพ่อค้าขายรองเท้าที่ไล่ล่าหาโอกาสสร้างวิชาชีพและเพิ่มพูนรายได้แก่ครอบครัวอย่าง มงคล วงศ์วีระนนท์ชัย ที่ชักชวนน้องชาย หรรษา วงศ์วีระนนท์ชัย (ปัจจุบันคือกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.ซี.เอส. สปอร์ตแวร์ จำกัด) และ วิริยะ วงศ์วีระนนท์ชัย ก่อตั้งโรงงานผลิตรองเท้าขึ้นเมื่อปี 2518 จนปัจจุบันที่ธุรกิจรองเท้าเติบโตขึ้นโดยอยู่ภายใต้การบริหารงานของ 5 บริษัท โดยมีโรงงานผลิตสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ ภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือรวม 5 แห่ง ด้วยจำนวนแรงงานท้องถิ่นและจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 3,000 คน และมีกำลังการผลิตที่ราว 70% ของกำลังการผลิตรวม 100,000 คู่ต่อเดือน “เราอยากเป็นผู้นำในตลาดรองเท้านักเรียน ที่อย่างน้อยต้องมีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 50% ของตลาดรวม และขยายการเติบโตของรองเท้ากลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำของตลาดรวมในอนาคต” ยืนยันโดยทายาทรุ่น 2 สมฤกษ์ วงศ์วีระนนท์ชัย รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.ซี.เอส. สปอร์ตแวร์ จำกัด “คุณพ่อและคุณอาคุ้นเคยกับการผลิตรองเท้าอยู่แต่แรกจากการเคยเป็นพ่อค้าขายรองเท้ามาก่อน จึงเล็งเห็นที่จะก่อตั้งกิจการของตัวเองขึ้นเพื่อวางขายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น รองเท้าหุ้มส้น ที่มีกำลังการผลิตจากแรงงานคนแค่หลัก 10 คู่ต่อเดือน” สมฤกษ์เล่าอีกว่า หลังเปิดกิจการได้ราว 10 ปีไปแล้ว (ปี 2528) ทางผู้ก่อตั้งเริ่มเล็งเห็นโอกาสแจ้งเกิดของรองเท้านักเรียน ด้วยเชื่อมั่นในการเติบโตและยังไม่มีคู่แข่งมาชิงชัยมากนัก ตลอดจนมองว่าเพื่อให้กิจการเดินหน้าได้อย่างยั่งยืนก็ควรผลิตสินค้าที่เป็นแบรนด์ของบริษัทเอง จึงจุดประกายด้วยรองเท้านักเรียนผู้หญิงยี่ห้อ S.C.S. “การจะทำให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในวงกว้าง จำเป็นต้องมีแบรนด์ของตัวเอง” แม้การค้ารองเท้าจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ทุกช่วงชีวิตของการบริหารธุรกิจย่อมหลีกไม่พ้นโจทย์ที่ท้าทาย ด้วยภาวการณ์ลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ทำให้ S.C.S. ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่กู้ยืมจากสถาบันการเงิน BIBF ที่ทะยานขึ้นจาก 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นสองเท่าตัว ทำให้ผู้บริหารในยุคนั้นต้องปรับกระบวนยุทธ์โดยเน้นการผลิตสินค้าให้มากขึ้น เพื่อทำรายได้ให้เพียงพอแก่การชำระคืนเงินกู้ โดยไม่มีการลดเงินเดือนและเลิกจ้าง “ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกคนร่วมมือกันทำงานหนักขึ้น ทำให้ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีก็สามารถจัดการภาระหนี้ก้อนนั้นได้จบ” ทั้งนี้หลังจากที่ธุรกิจรองเท้านักเรียนค่อยๆ ขยายการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2542 ทาง S.C.S. จึงเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้งโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองเท้าผ้าใบแบรนด์ Breaker ขึ้นโดยสมฤกษ์เล่าว่า ในตอนนั้นเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมเพราะบริษัทผ่านประสบการณ์การทำรองเท้านักเรียนมาระยะหนึ่ง จึงมีฐานลูกค้าและช่องทางจำหน่ายพร้อมพอสมควร “ความสำเร็จของ Breaker ดีดังที่คาดไว้เราสามารถครองส่วนแบ่งได้ถึง 20% ของตลาดรวมตั้งแต่ปีแรกที่วางจำหน่าย แล้วขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกปี กระทั่งปี 2548ที่เริ่มใกล้เคียงกับทางเจ้าตลาดและอยู่ที่ราว 30%”
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "สมฤกษ์ วงศ์วีระนนท์ชัย S.C.S. สู่เส้นทางที่ท้าทาย" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ พฤษภาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine
