จากตำนานของกลุ่มอดีตเซลล์แมนที่มีฝันต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจตัวเอง ก่อกำเนิดบริษัท รอแยลแคนอินดัสทรีส์ จำกัด หรือ RC ดำเนินธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของไทย ผู้อยู่เบื้องหลังกระป๋องป้อนแบรนด์ “สามแม่ครัว” วันนี้ RC พร้อมรับการเติบโต แตกบริษัท “รอแยล เมอิวะ แพ็คซ์” หรือ RMP ขยายบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่เพื่อก้าวสู่ผู้นำระดับเวิลด์คลาส
สบโชค โปรยรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยล เมอิวะ แพ็คซ์ จำกัด หนึ่งในผู้ถือหุ้น และปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยลแคนอินดัสทรีส์ จำกัด หรือ RC ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ Forbes Thailand ถึงเส้นทางการร่วมบุกเบิกธุรกิจบรรจุภัณฑ์ บนเนื้อที่ 155 ไร่ ใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
“ก่อนหน้าที่เราจะตั้งบริษัท รอแยล เมอิวะฯ ขึ้นมา เพื่อรุกตลาดบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ บริษัท RC ซึ่งถือเป็นบริษัทแม่ ได้ดำเนินธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องมายาวนาน ผู้ก่อตั้งในยุคแรก คือ ทวี ธนวัชรางกูร เป็น 1 ใน 3 สหายเพื่อนรักอดีตเซลล์แมนผู้ปลุกปั้นธุรกิจแรกคือปลากระป๋องสามแม่ครัว ร่วมกับอีก 2 คน คือ ดร.บุญประเสริฐ เอี่ยมสำอางค์ และ สุวัฒน์ อุดมบัณฑิต ก่อนจะมาตั้งเป็นบริษัท RC เพื่อผลิตกระป๋องป้อนแบรนด์สามแม่ครัวที่วันนี้ส่งต่อมายังรุ่น 2 คือ ธวัช ธนวัชรางกูร”
เนื่องจากยอดออร์เดอร์ของกระป๋องบริษัท RC มีมากถึง 40 ล้านกระป๋องต่อเดือน จึงต้องแตกบริษัทใหม่ในชื่อ รอแยล เมอิวะ แพ็คซ์ จำกัด ขึ้นมารองรับ ซึ่งบริษัทนี้เป็นการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น โดยสบโชคเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ถือหุ้นด้วย
บุกเบิกบรรจุภัณฑ์แนวใหม่
รอแยล เมอิวะ บริษัทใหม่นี้มุ่งเน้นผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เรียกว่า retort pouch (ถุงเพาช์) โดยเฉพาะ ถุงเพาช์นั้นมีคุณสมบัติเด่นคือช่วยเรื่องของการถนอมอาหาร เก็บอาหารได้นาน และดีไซน์รูปแบบได้มากมาย กลุ่มลูกค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ถุงเพาช์ จะมีตั้งแต่บริษัทผลิตอาหารในต่างประเทศโดยเฉพาะในญี่ปุ่น และผู้ผลิตอาหารท้องถิ่นในไทยที่รับจ้างผลิตแบบ OEM
“รอแยล เมอิวะ เริ่มสายการผลิตเมื่อประมาณปี 2555-56 โดยถุงเพาช์มีกำลังการผลิตประมาณ 40 ล้านชิ้นต่อเดือน เทรนด์ความต้องการบรรจุภัณฑ์แบบถุงเพาช์ เราเห็นว่ามีเพิ่มมากขึ้น เป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ตัวแพ็กเกจจิ้งสามารถทำเป็นรูปแบบอะไรก็ได้ แต่เมื่อเทียบถึงความคงทน กระป๋องจะมีความคงทนของการเก็บอาหารมากกว่า 2-3 ปี”
สบโชคกล่าวว่า นอกจากถุงเพาช์แล้ว ในสายการผลิตใหม่นี้ ทั้งบริษัทแม่ RC และเมอิวะยังมีแผนผลิตแพ็กเกจใหม่ๆ เช่น ขวดอะลูมิเนียมปิดสำหรับใส่กาแฟ เป็นต้น โดยจะมีการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต
เจาะผู้ผลิตท้องถิ่น-แตกบริษัทรองรับ
“เนื่องจากบริษัท RC เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารกระป๋องมานาน ซึ่งตลาดนี้การแข่งขันสูงมากขึ้นทุกวัน เป็น red ocean เราจึงคิดต่อยอดธุรกิจทำโรงงานเพื่อรองรับผู้ประกอบการที่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีอยู่แล้ว แต่ไม่มีความพร้อม ไม่มีเงินทุนและประสบการณ์ในการหาสถานที่บรรจุหรือรับจ้าง OEM โดยเราจะเป็นผู้พัฒนาอาหารในบรรจุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ นำมาต่อยอดใส่บรรจุกระป๋องหรือถุงเพาช์ โดยเราทำแบบครบวงจร”
โดยโรงงานผลิตกระป๋องและบรรจุครบวงจรมีกำลังการผลิตโดยเฉลี่ยต่อเดือนราว 1 หมื่นกระป๋อง ขณะที่ถุงเพาช์ก็มีกำลังการผลิตที่ใกล้เคียงกัน ตัวอย่างอาหารที่ได้รับความนิยม เช่น ข้าวหลาม แกงเนื้อ มัสมั่นไก่ ซุปข้าวโพด กาแฟ กะเพรา เฉาก๊วยชากังราว ฯลฯ
เส้นทางผู้นำบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของไทย
สบโชคเล่าว่า โรงงาน RC ที่กระทุ่มแบนได้ลงทุนซื้อเครื่องจักร ทำโรงงานพิมพ์สี มีสายการผลิตกระป๋องให้แบรนด์สามแม่ครัวโดยเฉพาะ เน้นลงทุนนวัตกรรม การผลิตใหม่ๆ
พอถึงยุคปัจจุบัน จากสายการผลิตกระป๋องที่ป้อนเฉพาะแบรนด์สามแม่ครัวเป็นหลัก ได้เริ่มขยายไปสู่แบรนด์อื่นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารชั้นนำของต่างประเทศ ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง อาหารสัตว์บรรจุกระป๋อง รวมไปถึงอาหารประเภทอื่นๆ จากบรรดาผู้ประกอบการท้องถิ่นในไทย หรือ OEM
ปัจจุบันประเภทของกระป๋องที่บริษัท RC ผลิตเป็นหลัก ได้แก่ 1. กระป๋อง 2 ชิ้น (2-Piece Cans) 2. กระป๋อง 3 ชิ้น (3-Piece Cans) รวมถึงมีนวัตกรรมล่าสุดคือ ฝา quick peel คือ วิวัฒนาการล่าสุดของฝาในปัจจุบัน เป็นฝาที่ได้จากการนำฝาเรียบมาตัดตรงกลางออกแล้วเก็บขอบเพื่อป้องกันการบาดซึ่งจะเหลือพื้นที่ประมาณ 30% จากขอบฝา และนำมาติดฟอยล์ มีความปลอดภัยและเปิดง่าย
สบโชคเผยว่า ตอนนี้ RC มีลูกค้าต่างชาติมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของสายการผลิต และลูกค้าในไทยซึ่งรวมถึงแบรนด์สามแม่ครัวด้วยอยู่ราวๆ 40% ลูกค้าต่างชาติรายใหญ่คือบริษัทผู้ผลิตอาหารของญี่ปุ่นที่เข้ามาใช้บริการแพ็กเกจจิ้งในไทยที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี
ส่วนปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดบรรจุภัณฑ์เติบโต สบโชคมองว่ามาจากเทรนด์การทำการค้าปัจจุบันที่ต้องรวดเร็ว ทำให้อาหารสำเร็จรูปในบรรจุภัณฑ์แบบต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกผู้บริโภคได้มากขึ้นได้รับความนิยม ขณะที่ผู้ผลิตอาหารในท้องถิ่นก็กำลังหันมาสร้างธุรกิจอาหารของตัวเอง และมองหาบรรจุภัณฑ์ที่ได้คุณภาพ
รายได้ต่อปีเพิ่ม 10% สู่ผู้ผลิตเวิลด์คลาส
สบโชคเผยว่า ภาพรวมปี 2561 ทั้ง รอแยล เมอิวะ และ RC คาดว่า จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% มาจากการเพิ่มกำลังการผลิตในทุกสายผลิตภัณฑ์รองรับออร์เดอร์ลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มลูกค้าที่ขยายครอบคลุมถึงผู้ประกอบการอาหารท้องถิ่นที่เริ่มสร้างธุรกิจในแบบอินเตอร์
“เรามีแผนลงทุนระยาว 5 ปี ซึ่งจะลงทุนต่อปีไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท” สบโชคเผย พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ของทั้งรอแยล เมอิวะ และ RC คือ กลุ่มเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป รองลงมาเป็นกลุ่มบริษัท ยูนิคอร์ด, พัทยาฟู้ดอินดัสตรี, โชติวัฒน์อุตสาหกรรมการผลิต, ทรอปิคอลแคนนิ่ง, สามแม่ครัว
วิสัยทัศน์ของ RC และรอแยล เมอิวะ ต้องการผลักดันให้เป็นบริษัทคนไทยที่อยู่ในระดับสากล ด้วยการลงทุนด้านเครื่องจักร นวัตกรรมขั้นสูงเพื่อเน้นเรื่องคุณภาพ สินค้าที่ดีที่สุด ทำให้อาหารปลอดภัย เดินหน้าสร้างความแตกต่าง และใช้นวัตกรรมหนีคู่แข่ง เพราะพวกเขาเชื่อว่า ถ้าวันไหนคู่แข่งตามทัน บริษัทจะไม่สามารถครองตำแหน่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ระดับพรีเมียมได้ จึงต้องทำอะไรให้ยากเข้าไว้ คู่แข่งจะตามได้ช้า
“ถ้าเราคิดได้แบบล่วงหน้า คิดให้ใหม่ อย่างไรธุรกิจก็อยู่ได้ เพราะธุรกิจต้องการความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ทันกระแส เราต้องคิดให้มากกว่าคนอื่นหลายเท่า”
ภาพ : จันทร์กลาง กันทอง
ติดตามอ่าน "สบโชค โปรยรุ่งโรจน์ มือปั้นบรรจุภัณฑ์ระดับเวิลด์คลาส" ฉบับเต็ม ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561