ศักดิ์ชาย มานะวงศ์สกุล Ligman สาดแสงทั่วโลก - Forbes Thailand

ศักดิ์ชาย มานะวงศ์สกุล Ligman สาดแสงทั่วโลก

แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนด้านสถาปัตยกรรมหรือวิทยาศาสตร์ ทว่าหลังจากเป็นเทรดเดอร์นำเข้าและจำหน่ายโคมไฟให้กับไลท์ติ้งโปรเจ็กต์ ได้คลุกคลีทำงานกับไลท์ติ้งดีไซเนอร์ต่างชาติ ทำให้ ศักดิ์ชาย มานะวงศ์สกุล ชายหนุ่มวัย 23 ปีได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และมองเห็นโอกาสที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง

ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ ศักดิ์ชาย มานะวงศ์สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทลิกมัน ที่ห้อง Experience Center บนชั้น 4 อาคาร Lantern Building ถนนพระราม 9 ซึ่งเป็นห้องสัมมนาให้ความรู้เรื่องแสงสว่าง บริษัท ลิกมันไลท์ติ้ง จำกัด ก่อตั้งโดย ศักดิ์ชาย มานะวงศ์สกุล ด้วยทุนเริ่มต้น 500,000 บาท เพื่อผลิตและจำหน่ายโคมไฟสัญชาติไทยแบรนด์ LIGMAN โดยปีแรกเน้นตลาดในประเทศไทย ปีถัดมาจึงมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศกระทั่งปัจจุบัน และมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 7-10 ปี 2563 มีรายได้ 750 ล้านบาท กำไรสุทธิ 180 ล้านบาท เป็นรายได้จากการส่งออกที่ร้อยละ 85 นอกจากสำนักงานใหญ่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีโรงงานผลิตแล้ว ยังมีสำนักงานสาขาหรือบริษัทในอีก 10 ประเทศ อาทิ สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี เกาหลี ฯลฯ และโรงงาน โชว์รูม และสำนักงานอีก 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกาสาธารณรัฐเช็ก และอินเดีย

ดีไซน์บวกนวัตกรรม

บริษัท ลิกมันไลท์ติ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายดวงโคมไฟ LED ทั้งภายในและภายนอกอาคารภายใต้แบรนด์ LIGMAN กลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับพรีเมียม จำหน่ายแบบ B2B ผลิตภัณฑ์ 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นโคมไฟภายนอกอาคาร อีก 5% เป็นโคมไฟภายในอาคาร โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกาและยุโรป แนวทางที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คือยึดถือมาตรฐานและอิงรูปแบบผลิตภัณฑ์ตามที่คนเลือกใช้ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแนวโมเดิร์นมีความทันสมัยแต่เน้นแสงที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพราะคู่แข่งคือตลาดทั่วโลก ผู้บริโภคทั่วไปที่ซื้อโคมไฟใช้งานในบ้านหรือสำนักงานอาจพิจารณาจากรูปทรงและความสว่างของแสง ทว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทจำแนกตามประเภทการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งมีถึง 1,500 SKU อาทิ โคมไฟใต้น้ำ โคมไฟสวน โคมไฟรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง โคมไฟสนามกันกระเเทก โคมไฟสำหรับใช้เสาไฟพลังงานแสงอาทิตย์แบบแนวตั้ง โคมไฟที่เป็นมิตรกับเต่า โคมไฟสำหรับสถานีบริการน้ำมันโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ โคมไฟส่องถนนแบบมีเซนเซอร์ตรวจจับการใช้งานและแบบตรวจจับการเคลื่อนไหว เสาไฟฉลุลายอะลูมิเนียมทรงกระบอกตรง ฯลฯ นอกจากคุณสมบัติเรื่องแสงแล้ว ยังนำ “นวัตกรรม IoT” (Internet of Things) ซึ่งเชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หรือส่งข้อมูลระหว่างกันด้วยอินเทอร์เน็ตมาเชื่อมกับเสาไฟ เช่น Light Columns LIGHTCONNECT ลักษณะเป็นเสาที่มีโคมไฟส่องสว่างอยู่ด้านบน แต่ภายในตัวเสาสามารถติดตั้ง Wi-Fi, กล้อง CCTV, ลำโพง, ระบบชาร์จไฟรถยนต์ (EV charger), อินเตอร์คอมสำหรับการติดต่อสื่อสารช่วยเหลือในเรื่องความปลอดภัย หรือมอนิเตอร์สิ่งต่างๆ เช่น ช่วงที่มีโควิด-19 ระบาดต้องการจำกัดให้คนอยู่ในบริเวณนั้นกี่คน ก็มีซอฟต์แวร์ที่เชื่อมต่อแบบเรียลไทม์ บริษัทคนไทย ในวัย 50 ปี ศักดิ์ชายเล่าย้อนหลังเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีก่อนด้วยน้ำเสียงเนิบๆว่า มีโอกาสทำงานกับ lighting designer ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน ยุโรป และออสเตรเลีย “ผมทำเป็น turnkey project ซัพพลายจนจบงาน ทำได้ 2-3 ปีมีความคิดว่า เราอยากไปให้ไกลกว่านั้น เผอิญทำแล้วชอบโครงการที่ลูกค้าซื้อติดตั้งแล้วได้ตามที่เขาต้องการ เห็นแล้วมีความสุข เป็นแสงสว่างที่ทำให้สถานที่หรือบ้านสวยงาม จึงตัดสินใจเปลี่ยนทิศทาง แทนที่จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์เองตั้งใจนำรายได้เข้าประเทศด้วย” โดยบริษัทสามารถผลิตโคมไฟที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีเดียวกับแบรนด์ต่างชาติด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ปีแรกจำหน่ายในไทยก่อนมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศในปีต่อมา ช่วงเริ่มต้นมีปัญหาว่าหาลูกค้าไม่เจอ กระทั่งมีโอกาสไปร่วมงานไลท์ติ้งโชว์ที่ไต้หวันและได้ลูกค้าออสเตรเลีย จึงพบว่าการออกงานไลท์ติ้งโชว์ตอบโจทย์ด้านนี้ เพราะทำให้เข้าถึงตลาดโลก โดยเฉพาะงาน Light+Building งานโชว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดทุกๆ 2 ปี ที่เมือง Frankfurt ประเทศเยอรมนี ซึ่งผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แสงสว่างจากทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ออกแบบ ผู้แสดงสินค้า และผู้ซื้อขายได้มาพบปะกัน “ตอนนั้นการออกงานช่วยได้เยอะ เราพบลูกค้ามีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ การตั้งบริษัทเองในต่างประเทศมีทีมตลาด ทีมขาย technical support และมีโรงงาน ถ้าเป็นตลาดใหญ่หากจำหน่ายที่ไหนควรมีโรงงานที่นั่น พอลูกค้ารู้ว่าเรามีโรงงาน มีทีมงานซัพพอร์ต เขาก็กล้าใช้บริการ ทำให้ได้ส่วนแบ่งค่อนข้างเยอะ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง LIGMAN Lighting เชี่ยวชาญและโฟกัสด้านโคมไฟที่ใช้นอกอาคาร ผลิตภัณฑ์มีความพิเศษตรงที่ว่าต้องมีความทนทาน กันน้ำ แสงดี สามารถเปิดใช้งานได้ตามที่ออกแบบ มีมาตรฐานอ้างอิง ในตลาดผู้ผลิตโคมไฟ exterior มีน้อยราย เราเน้นผลิตภัณฑ์พรีเมียม โครงการที่มีความเข้าใจและต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ต้องการความส่องสว่าง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 15 ปีที่แล้ว เราไปตั้งบริษัทที่ UAE เพื่อดูแลลูกค้าแถบตะวันออกกลาง” ปัจจุบันบริษัทมีสาขาในเครือทั้งหมด 10 ประเทศ และมีโรงงานใน 3 ประเทศ (ไม่นับประเทศไทยซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่) จำหน่ายสินค้า 80 ประเทศทั่วโลก โดยโรงงานใหญ่อันดับ 2 ตั้งอยู่ที่รัฐ Oregon สหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดมา 8 ปีแล้ว ส่วนสำนักงานที่สาธารณรัฐเช็กเป็นโรงงานและศูนย์กลางกระจายผลิตภัณฑ์ให้บริการลูกค้าโซนยุโรป ล่าสุดเพิ่งตั้งโรงงานที่อินเดีย เพื่อดูแลลูกค้าอินเดียและเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศ มีพนักงานรวมกัน 450 คน มีทีมไอทีที่สำนักงานใหญ่ 20 คน สหรัฐอเมริกาและยุโรปแห่งละ 5 คน มีทีมเทคนิคอลซัพพอร์ต 20 คน ประจำอยู่ในไทยและให้บริการลูกค้าทั่วโลก ทั้งนี้บริษัทจะส่งชิ้นส่วนซึ่งผลิตจากโรงงานในประเทศไทยส่งไปแปรรูปที่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งบริษัทมีห้องทดสอบและได้รับการรับรองจึงผลิตและจำหน่ายได้ โดยตลาดใหญ่สุดอยู่ที่สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 25% รองลงมาคือ ยุโรปและอินเดีย คิดเป็นสัดส่วน 15% และ 10% ตามลำดับ ส่วนที่เหลือคือออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ “เรามีจุดเด่นในเรื่องของดีไซน์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และแสงสว่างระดับเดียวกับผู้เล่นระดับโลกฝั่งยุโรปและอเมริกัน เพราะเราออกแบบเป็น European standard ถ้าอเมริกากับแคนาดา เราออกแบบตามมาตรฐานอเมริกา ผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันแต่ออกแบบและทำให้เป็นไปตามมาตรฐานแต่ละตลาด ตัวผลิตภัณฑ์เป็นแสงสว่างนอกอาคารแนวโมเดิร์น” สร้างชื่อในตลาดโลก เมื่อเป็นโคมไฟภายนอกอาคารรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จึงต้องมีดีไซน์ที่กลมกลืนและเสริมความงดงามให้กับสภาพแวดล้อมเปรียบเสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง และในขณะเดียวกันก็ต้องมีความทนทานด้วย ทั้งนี้ตลาดธุรกิจโคมไฟภายนอกและภายในอาคารเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปมีมูลค่าแห่งละ 5 แสนล้านบาท ยังไม่รวมออสเตรเลียและเอเชียซึ่งมีขนาดใหญ่เช่นกัน ขณะที่ตลาด exterior lighting ของไทยมีมูลค่าประมาณ 500-700 ล้านบาท เป็นตลาดพรีเมียม 20% (ซึ่ง LIGMAN อยู่ในกลุ่มนี้) และบริษัทเพิ่งทำตลาดในประเทศช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างโครงการ เช่น สามย่านมิตรทาวน์ อาคารรัฐสภา แม้หน้าที่ของโคมไฟคือ การให้แสงสว่าง แต่สภาพพื้นที่หรือการใช้งานของอาคารแต่ละแห่งเป็นตัวกำหนดลักษณะของแสง ตัวอย่างเช่น อาคารรัฐสภา โจทย์คือต้องการแสงส่องตัวอาคารให้สวยงาม ให้มีเอกลักษณ์ไทยตามที่สถาปนิกออกแบบหน้าที่ของบริษัทคือออกแบบโคมไฟให้ส่องสว่างตัวอาคาร บริเวณรอบถนนและสวน ส่วนสามย่านมิตรทาวน์เป็นช็อปปิ้งมอลล์ การออกแบบเน้นความปลอดภัยคนเดินห้างมองแล้วแสงไม่รบกวนนัยน์ตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทลิกมันกล่าวถึงวิธีการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าในช่วงแรกว่า บริษัทมีทีมมาร์เก็ตติ้งนำโปรดักต์ไปพรีเซนต์เพื่อให้เห็นของจริงการมีสำนักงาน โรงงาน และทีมงานในต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ลูกค้าหรือดีไซเนอร์จะตัดสินใจเลือกใช้บริการในโปรเจ็กต์ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทยังมีข้อมูลผลิตภัณฑ์ทุกชนิดอยู่บนเว็บไซต์ มีดิจิทัลไฟล์โปรแกรมคำนวณแสงพร้อมใช้งานได้ทันที รวมทั้งจัดส่งข้อมูลให้ lighting designer ได้อย่างรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน หากคลิกเข้าไปดูที่หน้าเว็บไซต์จะพบว่ามีถึง 12 ภาษา รวมทั้งมีช่องทางติดต่อทางสื่อโซเชียลทุกชนิด ถ้าไม่มีการระบาดของโควิด-19 ตารางการทำงานของเขาคือ เดินทางไปต่างประเทศเดือนละครั้ง เพื่อบริหารและติดตามงานสำนักงานใน 10 ประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ต่างประเทศปีละ 3 เดือน “สโลแกนของเราคือ Living Lighting คือแสงเพื่อการอยู่อาศัย ไม่ว่า interior exterior เพราะฉะนั้นถ้าต้องการคุณภาพชีวิตดีบรรยากาศที่ดี สำหรับการใช้งานในโครงการนั้นๆ แสงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คนเรา active รู้สึกมีความสุข ด้านสุขภาพแสงช่วยเรื่องบรรยากาศการมอง ให้ความรู้สึกที่ดี” ปี 2562 ได้เปิด Lighting Workshop Studio เพื่อให้ลูกค้าและผู้สนใจได้รับชมการติดตั้งหลอดไฟของแต่ละประเทศ การดีไซน์การให้แสงสว่าง ฯลฯ รวมทั้งเป็นศูนย์ให้ความรู้ด้วย “LIGMAN ทำธุรกิจจริงแต่ต้องการมอบความรู้ความเชี่ยวชาญให้นักศึกษาที่เรียนด้านสถาปัตยกรรมให้เข้าใจเรื่องแสง เพราะแสงกับการออกแบบต้องมาคู่กัน เราให้ทีมงานไปสัมมนา ฝึกอบรม เวิร์กช็อปให้ความรู้ที่มหาวิทยาลัย หรือมาที่นี่ก็สะดวกเพราะมีผลิตภัณฑ์สาธิต เรายังเชิญดีไซเนอร์มารับทราบข้อมูลผลิตภัณฑ์เพราะเราสาธิตที่นี่ได้ด้วย หากไปไซต์งานต้องดูเฉพาะช่วงกลางคืน แต่ที่นี่เราทำให้สถานที่มืดเพื่อทดสอบและสาธิตได้” ในตอนท้ายศักดิ์ชายกล่าวถึงความตั้งใจของบริษัทว่า “เราเน้นด้านพื้นฐานในสิ่งที่ในประเทศไทยยังไม่เคยมี เราอยากจะกระจายความรู้ ความเชี่ยวชาญออกไป เราต้องการให้คุณภาพชีวิตของคนไทยสูงด้วยแสงสว่างยามค่ำคืน ทำให้เมืองสวย เราต้องมีสถานที่ที่สามารถแนะนำ หรือแสดงให้เห็นจากของจริง ต่อจากนี้เราจะเน้นการให้ความรู้สามารถไปคิดต่อยอด เป็นการตอบแทนสังคม ลำพังเราคงทำให้เมืองสวยไม่ได้ ต้องหลายๆ คนช่วยกัน” อ่านเพิ่มเติม:  วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ “SMD” ค้นความต่างติดอาวุธสุขภาพ
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine