ดร.วารีรัตน์ อัครธรรม "ไทรเด้นท์สตีล" เศษเหล็กพันล้าน - Forbes Thailand

ดร.วารีรัตน์ อัครธรรม "ไทรเด้นท์สตีล" เศษเหล็กพันล้าน

โอกาสทองบนกองเศษเหล็ก บวกกับความเชื่อมั่นอันแรงกล้าของทายาทธุรกิจเสาเข็มที่เลือกหันหลังให้กิจการของครอบครัว เพื่อเดินหน้าสู่ความท้าทายใหม่ในเส้นทางที่เริ่มต้นจากศูนย์ ด้วยความทุ่มเทสู้ยิบตาสร้างอาณาจักรพันล้าน พร้อมประกาศเป้าหมาย “Scrap Hub of AEC”

กองเศษเหล็กไร้ค่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ราคาเหล็กร่วงลงเหลือเพียง 4 บาท เสมือนขุมทรัพย์ที่มีค่าทางธุรกิจในมุมมองของนักศึกษาปริญญาเอกที่เล็งเห็นโอกาสการเพิ่มมูลค่าให้กับเหล็กเหลือทิ้งจากโรงงานผ่านกระบวนการรีไซเคิล กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญให้กับอุตสาหกรรม ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค

เดิมที่บ้านเป็นโรงผลิตเสาเข็มที่หนองจอก แต่งานเสาเข็มเป็นงานที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งในอนาคตน่าจะลำบาก และทรายเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจเหล็ก เราจึงเริ่มต้นเองจากศูนย์ ไม่มีความรู้เรื่องอุตสาหกรรมเหล็กเลย ระหว่างเรียนปริญญาเอกก็วิ่งหางานด้วย วิ่งอยู่หมื่นกิโลเมตรเป็นปีไม่ได้งาน จนเริ่มได้งานปีที่ 2 ตอนนั้นเกือบถอดใจดร.วารีรัตน์ อัครธรรม ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ไทรเด้นท์สตีล จำกัด ในวัย 37 ปี เล่าถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญทั้งความรู้ แหล่งเงินทุน และการสร้างฐานลูกค้าช่วงเริ่มต้นในปี 2551 

ซัพพลายเออร์และลูกค้าเหมือนอาจารย์ของเรา เราเข้าไปขอความรู้จากเขา ลูกค้าชอบทำงานตอนกลางคืนเพราะค่าไฟต่ำกว่า เราก็ถือสมุดจดไปเรียนหรือดูเตาหลอมที่โรงงานตอนตี 2 คอนเซปท์ตอนนั้นคือ ถอยก็ตาย วิกฤตอย่างไรก็ต้องสู้ สินทรัพย์อะไรขายได้เราขายหมด รถส่วนตัวยังนำไปขาย เพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน

นับจากวันแรกที่เริ่มต้นบนพื้นที่ไม่ถึงไร่ใน .ฉะเชิงเทรา และยอดผลิตครั้งแรก 15 ตันต่อเดือน ดร.วารีรัตน์เพียรพยายามเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์คลุกคลีในโรงงานเหล็กทั้งฝั่งซัพพลายเออร์และลูกค้า พร้อมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้า เพื่อให้ได้รับประโยชน์หรือความคุ้มค่าสูงสุด

โรงงานบนพื้นที่ 50 ไร่ในฉะเชิงเทรา พร้อมดำเนินธุรกิจการรับซื้อเศษเหล็กและเศษโลหะทุกประเภท เพื่อนำมาคัดแยกและผ่านกรรมวิธีผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม ตามหลัก 5ส และมาตรฐาน ISO14000

ในปัจจุบันบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจการรับซื้อเศษเหล็ก และเศษโลหะทุกประเภท เพื่อนำมาคัดแยกและผ่านกรรมวิธีผลิตเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมบนพื้นที่ราว 50 ไร่ และกำลังการผลิต 12,000 ตันต่อเดือนหรือ 150,000 ตันต่อปี พร้อมก่อตั้งบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ไททัน เมทัล จำกัด ในปี 2553 และ บริษัท แทนแจ้นท์ สตีล จำกัด ในปี 2555 รายได้รวมทั้งกลุ่มปีที่ผ่านมาจำนวน 1.25 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 77.42 ล้านบาท

ช่วง 3 ปีหลัง ไทรเด้นท์สตีลมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและพัฒนาการชัดเจนมาก เรามุ่งเน้นด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะเครื่องจักร ซึ่งในมุมมองของทราย คำว่านวัตกรรมคือการสร้างคุณค่า ไม่ว่าจะเป็น ด้านต้นทุน กระบวนการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ส่งผลให้เราสามารถครองใจลูกค้าเดิม และตลาดใหม่ที่คู่แข่งยังเอื้อมไม่ถึง ทั้งยังทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประเทศด้วย

สำหรับกุญแจสำคัญที่ทำให้บริษัททุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียงล้านบาทสามารถขยับขยายกิจการสร้างยอดขายมากกว่าพันล้านบาท ดร.วารีรัตน์เชื่อว่าเกิดจากความมุ่งมั่นคำนึงถึงลูกค้าเป็นตัวตั้ง ส่งผลให้บริษัทให้ความสำาคัญกับการพัฒนาด้าน Quality Cost Delivery (QCD) ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ต้นทุนการผลิตต่ำ และการส่งมอบงานตามกำหนดตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน รวมถึงการดำเนินงานที่คำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานและความโปร่งใสในการทำงาน

ขณะเดียวกันบริษัทยังมองอุตสาหกรรมเหล็กเป็นระบบนิเวศ (ecosystem) เดียวกันนับตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ ซัพพลายเออร์ และกลุ่มลูกค้า ร่วมกันสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งคุณภาพ ทรัพยากรบุคคล ต้นทุนทางธุรกิจ และความสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า พร้อมการแข่งขันที่สมบูรณ์ในการสร้างประโยชน์จากนวัตกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

แนวคิดของเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ปฏิวัติระบบความคิดของพ่อค้า โดยไม่ได้ใช้กำไรหรือเงินเป็นตัวตั้ง แต่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้า เพื่อให้ได้กำไรสูงสุดและต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้เราเป็นฐานการผลิต และปรับปรุงสายการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เมื่อลูกค้าสามารถแข่งขันได้ เราก็ได้ส่วนแบ่งการตลาด ส่งผลให้เราเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะเราเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกค้า เราพัฒนาพร้อมกับลูกค้า เมื่อเขาเติบโต ทุกอย่างจะกลับมาหาเราเอง

ดร.วารีรัตน์ยกตัวอย่างความทุ่มเทวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต ที่สามารถช่วยลูกค้าลดต้นทุนทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการเงินได้อย่างเกินความคาดหวัง เช่น การใช้นวัตกรรมกับเหล็กอัดก้อนของลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่แต่เดิมมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม (ขนาด 30x30 เซนติเมตร) ใช้จำนวนประมาณ 2,000 ตันต่อเดือน หรือราว 2 ล้านกิโลกรัม ทำให้ลูกค้าสามารถประหยัดค่าไฟลง 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ส่งผลให้บริษัทของลูกค้าชำระค่าไฟลดลงเดือนละ 1 ล้านบาท รวมถึงความสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ตามความต้องการที่หลากหลาย

 

มุ่งสู่ Scrap Hub of AEC

จุดหมายต่อไปของผู้บริหารดอกไม้เหล็กอยู่ที่การเป็นศูนย์กลาง “Scrap Hub of AEC” และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยความมั่นใจสร้างการเติบโตด้านรายได้ 3 พันล้านบาทในปีนี้ และ 7 พันล้านบาทใน 3 ปี สู่เป้าหมายหมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี พร้อมเดินหน้าแผนต่อยอดทางธุรกิจและการบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าต่อเนื่อง

ภายใต้แผนการดำเนินงานขยายพื้นที่จาก 25 ไร่เป็น 50 ไร่ และลงทุนราว 300 ล้านบาท สั่งซื้อเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าคนงาน 8 คน และลดระยะเวลาการทำงานลง จากเดิม 1 นาที 26 วินาทีสำหรับเหล็กอัดก้อน เหลือ 24 วินาที ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นเท่าตัว เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศยังคงมีช่องว่างให้สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามที่บริษัทมีตัวแทนและเป็นพาร์ทเนอร์ในปัจจุบัน

ดร.วารีรัตน์ อัครธรรม

นอกจากนั้น ดร.วารีรัตน์ยังให้ความสนใจขยายธุรกิจไปยังกลุ่มโลหะ ทองแดง อะลูมิเนียม หรือเหล็กเกรดสองอื่นๆ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ด้วยความมุ่งมั่นเป็นผู้บุกเบิกการรับซื้อวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือกใหม่ช่องทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อนำมาแปรรูปในโรงงานให้ลูกค้าสามารถซื้อเหล็กหรือวัสดุทางเลือกใหม่ในราคาถูกลงได้ ซึ่งน่าจะเริ่มดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบอีก 2 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนร่วมกับสถาบันการศึกษาเพิ่มมูลค่าให้วัสดุรีไซเคิล เช่น เหล็ก ทองแดง สังกะสี ออกแบบเป็น ผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ด้วยความมุ่งหวังให้สังคมเล็งเห็นคุณค่าของวัสดุเหลือใช้ และเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ใช้เป็นเวทีแสดงฝีมือหรือความคิดนอกกรอบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้เสริมและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ถ้าคนพูดถึงงานวัสดุทางเลือกใหม่ในโลก อยากให้เขานึกถึงเรา ส่วนแบ่งการตลาด top 3 ทั้งสองตลาด เราต้องการให้คนไทยสามารถเติบโตได้ในระดับสากล และได้รับการยอมรับด้านฝีมือ ทักษะ และองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งเรามั่นใจว่า เรามีลักษณะเฉพาะตัว ความชำนาญโนโลหะวิทยา เราสามารถสร้างความพึงพอใจเกินความคาดหวังตลอด โดยคู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนได้ และเรายังยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลด้วย

จากแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ผู้นำอาณาจักรธุรกิจมั่นใจในเป้าหมายหมื่นล้านบาทใน 5 ปี โดยเฉพาะหากได้เงินทุนเสริมทัพความแข็งแกร่งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนทางธุรกิจร่วมกันของทีมงาน และความทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทย พร้อมเรียนรู้และปรับปรุงประสิทธิภาพทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

    ภาพ : ประกฤษณ์ จันทะวงษ์
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม “ดร.อารีรัตน์ อัครธรรม "ไทรเด้นท์สตีล" เศษเหล็กพันล้าน” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine