พลิกโฉมข้าวไทยให้จรัสแสง “แพชชั่นสุดท้าย” ของ มานพ ลี้โกมลชัย - Forbes Thailand

พลิกโฉมข้าวไทยให้จรัสแสง “แพชชั่นสุดท้าย” ของ มานพ ลี้โกมลชัย

มานพ ลี้โกมลชัย ลุกขึ้นมาสานฝันในวัยเกษียณด้วยแพชชั่นสุดท้ายขอเป็นผู้กำหนดกฎเองนอกกรอบ OEM พร้อมทั้งสร้างเวที ปูทางให้คนรุ่นหลัง รังสรรค์ตำนานพลิกโฉมวงการข้าวไทยให้จรัสแสงเหมือนในดินแดนอาทิตย์อุทัย

กลุ่มบริษัทมโนยนต์ ที่ก่อตั้งโดย มาโนช ลี้โกมลชัย เมื่อกว่า 50 ปีก่อน อาจจะไม่เป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชนที่อยู่นอกแวดวงยานยนต์มากนัก เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุน อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาบริษัทญี่ปุ่น มโนยนต์เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีด้วยยอดขายรวมกันหลายหมื่นล้านบาทของบริษัทในเครือและบริษัทร่วมทุนกว่า 50 บริษัท

เบื้องหลังความสำเร็จของมาโนช มีน้องชาย มานพ ลี้โกมลชัย ช่วยดูแลงานฝั่งด้านโรงงานตั้งแต่ยุคเริ่มต้นเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ยกระดับกิจการจากการเป็นผู้ค้าอะไหล่ในย่านวรจักรและสวนมะลิ (อย่างไรก็ตามมานพกล่าวด้วยความถ่อมตัวกับ Forbes Thailand ว่าเขาเป็นเพียงเฟืองจักรตัวหนึ่งเท่านั้น ขณะที่มีคนอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ)

มานพ ลี้โกมลชัย
มานพ ลี้โกมลชัย รองประธาน บริษัท นิชชินเบรค (ประเทศไทย) และซีอีโอ กลุ่มบริษัทซีแอลพี

ตัวเขาเองมีความฝัน อยากจะสร้างโรงงานของตัวเอง ผมตอนนั้นจบม..5 อัสสัมชัญ บางรัก และกำลังจะเรียนต่อ พี่บอกไปไหม เราก็เชื่อมั่นในตัวเขา เราไม่รู้ ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย เรียนศิลป์มาด้วยซ้ำ เขาบอกมันมีทางแบบนี้ มาทำโรงงานดีกว่า อย่าไปเรียน

มานพเล่าประวัติการเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตของกลุ่มมโนยนต์ ที่เริ่มต้นจากการที่เขาถูกส่งไปศึกษาดูงาน และกินนอนอยู่กับประธานบริษัท ฟูรูฮาชิ ออโต้ อีเลคทริค พาร์ท ที่สนใจจะร่วมทุนเปิดโรงงานในไทยกับกลุ่มมโนยนต์เมื่อปี 2517

หลังจากใช้ชีวิตในดินแดนซามูไรเป็นเวลา 2 ปี มานพบินกลับไทยเพื่อเตรียมการสร้างโรงงาน ทว่ายังไม่ทันได้เริ่มต้นอะไรไปมากนัก ก็ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของประธานบริษัทฟูรูฮาชิ ทำให้ฝ่ายไทยต้องล้มแผนการร่วมทุนและเดินหน้าโครงการผลิตแต่เพียงลำพัง แต่โครงการนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะขาดโนว์ฮาว

บริษัท นิชชินเบรค (ประเทศไทย) เตรียมขึ้นโรงงานแห่งที่ 6 ในโคราช และโรงหล่อเหล็กแห่งที่ 2 ที่ขอนแก่นในปีนี้

ไม่นานหลังจากนั้น รัฐบาลประกาศมาตรการบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (โลคอลคอนเทนต์) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่น ต้องออกไปเชิญชวนผู้ผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นให้เข้ามาตั้งโรงงานในไทย

หนึ่งในนั้นคือนิชชินเบรคซึ่งซูซูกิชักชวนให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตชุดเบรก นำมาสู่การจัดตั้ง บริษัท เอ็ม.เอ็น.อุตสาหกรรม จำกัด ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างนิชชินเบรคกับกลุ่มมโนยนต์เมื่อปี 2522 จากนั้นงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นก็หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และขยายไปทำชิ้นส่วนอื่นๆ อาทิ หัวสูบ เสื้อสูบ และงานอะลูมิเนียมอื่นๆ

มานพซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธาน บริษัท นิชชินเบรค (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทกำลังขึ้นโรงงานแห่งที่ 6 ที่นครราชสีมา และโรงหล่อเหล็กแห่งที่ 2 ที่ขอนแก่นในปีนี้ โดยมียอดขายเกือบ 9 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รองประธานนิชชินเบรควัย 66 ปี ได้รีไทร์จากกิจการอื่นๆ ของกลุ่มมโนยนต์ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อหันมาบุกเบิกธุรกิจเครื่องสีข้าวและชุดหางเรือ (longtail shaft) ภายใต้กลุ่มบริษัทซีแอลพี ที่ถือหุ้นและบริหารงานโดยเขา ภรรยา และลูกๆ

 

สลัดกรอบ OEM เพื่อเดินตามความฝัน

เราเป็น OEM มาทั้งชีวิต ก็แฮปปี้นะ 30-40 ปีเราโตมา ได้โนว์ฮาวได้อะไร แต่มันอยู่ในกรอบที่เขาวางไว้ให้ คุณจะออกนอกกรอบไม่ได้...

มานพกล่าวถึงเหตุผลในการหันมาริเริ่มกิจการใหม่ในวัยเกษียณ ที่สลัดกรอบของ OEM มาเน้นงานวิจัยและพัฒนา และการทำการตลาดสินค้าของตนเอง โดยเริ่มจากสินค้า 2 กลุ่มหลักคือ เครื่องสีข้าว และชุดหางเรือทั้งแบบเกียร์ทดนอก (reduction) และต่อตรง

มานพในหมวกของซีอีโอกลุ่มซีแอลพีเปิดเผยว่า ธุรกิจเครื่องสีข้าวของเขามีจุดเริ่มต้นจากงานอดิเรก ภายในโรงงานสมัยที่ยังดูแลโรงงาน ไดซิน ที่โคราช เนื่องจากความเป็นคนชอบงานทำงานนวัตกรรม ผนวกกับความต้องการให้พนักงานของบริษัทซึ่งมีจำนวน 2,000-3,000 คน ได้รับประทานข้าวสีสดใหม่ เหมือนคนญี่ปุ่นที่เขาเคยได้ไปสัมผัสมา เขาจึงให้ทีมงานวิศวกรรมของโรงงานมาทำการศึกษาร่วมกับอาจารย์ที่ทำวิจัยในเรื่องนี้ จนสามารถพัฒนาเครื่องสีข้าวที่ทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง

ตัวอย่างเครื่องสีข้าวที่ซีแอลพีผลิต: (ซ้าย) เครื่องสีข้าวรุ่น CR-200 และ (ขวา) เครื่องสีข้าวหยอดเหรียญ รุ่น CR-80N1

ตอนนั้นคอนเซปท์มันดีมากเลย คือเอาเครื่องสีข้าวไปตั้งไว้เลยที่หลังโรงงาน เช้าสีปุ๊บ เที่ยงได้กิน เราได้ทั้งวิตามิน ได้ทั้งความอร่อย ความนิ่ม ในราคาที่พอๆ กัน แล้วเราไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแถวนั้น ได้ CSR ด้วย

หลังจากซุ่มทำวิจัยและพัฒนาประมาณ 7 ปี บริษัท ซีแอลพี อินเตอร์เทรด จำกัด จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเริ่มงานขายอย่างจริงจัง และเสริมทีมให้แข็งแกร่งขึ้นเมื่อได้ลูกสาวคนสุดท้อง วัชรา ลี้โกมลชัย เข้ามาช่วยงานของครอบครัวเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว

วัชรากล่าวว่า เนื่องจากคุณพ่อไม่ต้องการเดินตามโมเดลของธุรกิจร่วมทุนที่เคยทำมาในอดีต จึงเลือกใช้โมเดล  “co-develop” หรือการร่วมพัฒนาสินค้า โดยแบ่งบทบาทกันให้ซีแอลพีเป็นผู้ผลิต

ขณะที่ในตลาด Taiwa Seiki Corporation ที่เป็น specialist และผู้นำในตลาดเครื่องขัดข้าวและเครื่องสีข้าวแบบหยอดเหรียญในญี่ปุ่น มีข้อตกลงจะเข้าไปขายเช่น จีน และไต้หวัน ซีแอลพีจะพิจารณาผลิตสินค้าให้ตามสเปกที่ Taiwa ต้องการภายใต้แบรนด์ของ Taiwa ขณะที่ในตลาดไทยและตลาดอื่นๆ ก็จะใช้แบรนด์และสเปกของบริษัทเอง

มานพ ลี้โกมลชัย และ วัชรา ลี้โกมลชัย
มานพกับลูกสาว วัชรา ลี้โกมลชัย เธอเป็นอดีตพนักงานฝ่ายวางแผนธุรกิจใหม่ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า ก่อนจะกลับมาทำงานในบริษัทใหม่ของบิดาเมื่อ 3 ปีก่อน

ด้วยเทรนด์ด้านสุขภาพ และนโยบายส่งเสริมสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ของภาครัฐ วัชราเชื่อว่าตลาดเครื่องสีข้าว/เครื่องขัดข้าวไทย มีโอกาสตามรอยญี่ปุ่นและเติบโตจากหลักร้อย  มาเป็นหลักแสนเครื่องได้ในอนาคต ซึ่งในญี่ปุ่นนั้นชาวนารายย่อยจะมีเครื่องสีข้าวไว้ใช้เอง ทำให้สามารถลดการพึ่งพาโรงสีใหญ่

...จากชาวนาทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 ล้านครัวเรือน นโยบายที่ออกมาก็คือจะต้องเทิร์นกลุ่มพวกนี้ให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ 10-15% ก็คือประมาณ 3-4 แสนครัวเรือน เพราะฉะนั้น 3-4 แสนครัวเรือนเขาจะจับกลุ่มกัน อย่างเครื่อง 200 กิโลนี่มันไม่ใช่ 1:1 บ้าน เขาต้องแชร์กันอย่างน้อย 3-4 ครัวเรือน เพราะฉะนั้นตลาดของมันจริงๆ แล้ว ที่น่าจะเป็นไปได้ก็ประมาณ 1 แสนเครื่อง

อย่างไรก็ตาม การผลักดันจากฝั่งผู้ผลิตอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เมื่อเร็วๆ นี้ซีแอลพีจึงเปิดตัวแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ ซีแอลพี ลีฟวิ่ง เพื่อเน้นเจาะตลาดคอนซูเมอร์ และมีการเปิดตัวเครื่องขัดข้าวรุ่นสำหรับใช้ในบ้านเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา ควบคู่กับการออกผลิตภัณฑ์ข้าวถุง 6 แบบ 6 เบลนด์เพื่อตอบโจทย์สุขภาพ

นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้บนพื้นที่ 6 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี และอีก 100 ไร่ที่โคราช โดยจะเป็นคอมเพล็กซ์ที่ประกอบด้วยแปลงข้าวและแปลงผักสาธิตนวัตกรรมเกษตร ให้คนเมืองได้เข้ามาใช้ไลฟ์สไตล์และเรียนรู้วิถีการทำการเกษตรยุคใหม่ รวมทั้งจับมือกับ Banana Leaf ซึ่งอนุญาตให้ซีแอลพีจัดวางเครื่องสีข้าวหยอดเหรียญไว้ที่หน้าร้านสาขา

ในส่วนของธุรกิจชุดหางเรือนั้นเกิดจากการชักชวนของฮอนด้า ผู้ผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ซึ่งต้องการสนับสนุนผู้ผลิตชุดหางเรือที่มีคุณภาพ โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งออกไปตลาดแอฟริกา และเพิ่งได้ตัวแทนจำหน่ายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจมารีนทางตอนใต้ของอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจหางเรือซึ่งเป็นตลาดส่งออก 60% เครื่องสีข้าวและสินค้าเกี่ยวกับข้าวอื่นๆ 40%

เราก็แฮปปี้นะ คืออายุขนาดนี้เราก็อยากจะทิ้งเวทีอะไรดีๆ ไว้ให้กับรุ่นหลัง...มานพกล่าว

 

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร

 
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “พลิกโฉมข้าวไทยให้จรัสแสง "แพชชั่นใหม่" ของ มานพ ลี้โกมลชัย” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine