โรงสกัดน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีของ "พงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล" เล็งเห็นโอกาสขยายอาณาจักรท่าฉางอุตสาหกรรมจากวัตถุดิบปาล์มเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล สู่การสร้างความมั่นคงธุรกิจพลังงานทดแทนตามแนวทาง Green Energy ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 200 เมกะวัตต์ในปี 2575
เกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ผันตัวจากอาชีพค้าขายในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเริ่มต้นการเพาะปลูกสวนปาล์มที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2529 เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวบนพื้นที่ 4,500 ไร่ โดยสามารถสร้างการเติบโตขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากการขายผลปาล์มเข้าโรงงาน 16,000 ตันต่อปี สู่โรงสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น การขนส่ง จนถึงการผลิตพลังงานทดแทน ภายใต้ชื่อกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม “ผมเติบโตจากเกษตรกรตั้งแต่ล้มที่ปลูกปาล์มสมัยเด็ก โดยพื้นฐานครอบครัวเรามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งหลังจากเรียนจบกลับมา คุณพ่อ (ธนากร) และคุณแม่ (เพ็ญพรรณ) ก็ให้เข้ามาช่วยธุรกิจสวนปาล์มและเรียนรู้เรื่องการเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการภายในสวน และการส่งปาล์ม โดยช่วงที่เราอายุประมาณ 30 ปีในฐานะคนรุ่นใหม่เห็นความพร้อมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการก่อตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม” พงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE ยังคงระลึกถึงการเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวใน บริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม จำกัด หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปริญญาโท ด้านวิศวกรรมบริหารจาก RMIT University ประเทศออสเตรเลีย โดยเล็งเห็นความสำคัญในการก่อตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบขึ้นในปี 2546 รวมถึงขยายโรงงานผลิตและจำหน่ายน้ำยางข้น สกิมบล็อก และสกิมเครป ด้วยการก่อตั้ง บริษัท ท่าฉางรับเบอร์ จำกัด ในปี 2547 ขณะที่การขยายธุรกิจน้ำมันปาล์มและยางพาราทำให้เกิดผลผลิตจำนวนมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้น บริษัท ท่าฉางโลจิสติกส์ จำกัด ในปี 2548 เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าของบริษัท ได้แก่ น้ำยางข้น สกิมบล็อก น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม กะลาปาล์ม เนื้อเมล็ดในปาล์ม ทะลายเปล่า เป็นต้น “พัฒนาการของเราส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาและอุปสรรคตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกปาล์ม ซึ่งราคาสินค้าเกษตรมีความไม่แน่นอนและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจำนวนน้อย โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลปาล์มทำให้ขนส่งติดคิวและต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ราคาปาล์มลดลงเพราะผลผลิตจำนวนมาก ทำให้เราต้องหาวิธีจัดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้คุ้มต้นทุนการผลิต ด้วยการตั้งโรงงานสกัดเอง รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ที่ติดขัดและไม่เพียงพอ ทำให้เราเริ่มธุรกิจขนส่งขึ้น” นอกจากนั้น พงศ์นรินทร์ยังตัดสินใจร่วมลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพกับ บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ดำเนินการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2552 พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างเต็มตัว จากความได้เปรียบด้านต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม และกะลาปาล์ม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิต (by product) ของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบขนาด 150 ต้น ผลปาล์มสดต่อชั่วโมงที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำมาก เพราะโรงไฟฟ้าและโรงสกัดอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ด้วยการจัดตั้ง บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ในปี 2557 “ธุรกิจปาล์มน้ำมันมี by product ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัด waste จำนวนมาก เช่น ทะลายปาล์มเปล่าหรือต้นยางครบอายุตัดแล้วเหลือรากที่กองไว้และเผาทิ้งทำให้เราคิดหาวิธีการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ไม่มีประโยชน์หรือ waste โดยการก่อตั้งกลุ่ม TGE เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งการขยายธุรกิจที่ผ่านมาตั้งแต่ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และพลังงาน เราต้องใช้ความกล้าและความใจถึงพอสมควร เพราะความเปลี่ยนแปลงอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยง แต่เราเชื่อว่าเราสามารถปิดความเสี่ยงได้ด้วยการเรียนรู้และหาผู้เชี่ยวชาญสนับสนุน”- รับเมกะเทรนด์พลังงานโลก -
โอกาสที่เล็งเห็นจากวัตถุดิบชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากสอดคล้องกับเมกะเทรนด์ของโลกที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และการสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ตามนโยบายของภาครัฐที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065-2070 ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2018 Revision 1 ยังกำหนดเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นจำนวน 10,193 เมกะวัตต์ โดยเน้นการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ด้วยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนปรับเพิ่มขึ้นเป็น 34.23% ภายในปี 2573 ซึ่งกระทรวงพลังงานยังคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะสูงสุด (peak) ที่ 53,997 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 367,458 ล้านหน่วยในปี 2580 โดยถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือก เช่น ขยะชุมชน ก๊าซชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งเข้ามาทดแทนแหล่งพลังงานถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มลดลงในอนาคต สำหรับในปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่เปิดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการในอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 เมกะวัตต์ และปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตามสัญญาระยะยาวรวม 20.3 เมกะวัตต์ รับรู้รายได้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) และจะได้รับ FiT Premium เป็นระยะเวลา 8 ปีแรกนับจากวัน COD โดยทั้ง 3 โครงการเป็นโรงไฟฟ้าประเภท VSPP ซึ่งใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบเผาไหม้โดยตรง (direct combustion) ด้วยการนำวัตถุดิบชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงป้อนเข้าสู่เตาเผา เช่น ทะลายปาล์ม เส้นใยปาล์ม รากไม้สับ ต้นปาล์มสับ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้รับเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้วจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES SKW จังหวัดสระแก้ว โรงไฟฟ้า TES RBR จังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN จังหวัดชุมพร โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 22 เมกะวัตต์ และปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายตามสัญญารวมประมาณ 16 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และเริ่ม COD ได้ภายในปี 2567 จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มเป็น 51.7 เมกะวัตต์ และมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวม 36.3 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันพงศ์นรินทร์ยังวางแผนขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ด้วยการเตรียมเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกับ อปท. อีก 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES PRI จังหวัดปราจีนบุรี โรงไฟฟ้า TES CNT จังหวัดชัยนาท โรงไฟฟ้า TES UBN จังหวัดอุบลราชธานี และโรงไฟฟ้า TES TCN จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งหากได้รับการคัดเลือกจาก อปท. ที่เกี่ยวข้องให้เป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการปี 2565 บริษัทจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 และคาดการณ์กำลังผลิตติดตั้งรวมของบริษัทในอีก 4 ปีข้างหน้าจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 90 เมกะวัตต์หลังจากทั้ง 4 โครงการเริ่มดำเนินการแล้ว “เราวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจ 2 รูปแบบ ได้แก่ การพัฒนาโครงการเริ่มต้นจากศูนย์ และการร่วมทุนหรือควบรวมกิจการ ซึ่งเราวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้เพื่อนำเงินระดมทุนไปลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะเงินทุนหมุนเวียน และชำระเงินกู้บางส่วนด้วยเป้าหมายกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ในปี 2570 และ 200 เมกะวัตต์ในปี 2575 รวมทั้งการลงทุนในต่างประเทศอาจจะเป็นในรูปแบบร่วมลงทุนหรือจับมือกัน ซึ่งมีหลายประเทศให้ความสนใจติดต่อเรา” นอกจากนั้น บริษัทยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง (efficiency) ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทสามารถรองรับเชื้อเพลิงได้หลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง 40-60% และเผาวัตถุดิบชีวมวลประเภททะลายปาล์มเปล่าได้ 100% ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกัน ทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีเผาขยะมูลฝอยที่มีความชื้นสูงและใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบเผาตรงโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดแยกสำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและการปล่อยของเสียเข้าใกล้ zero waste “จุดแข็งหลักของเรา 3 เรื่อง ได้แก่ ประสิทธิผลการบริหารต้นทุนการผลิต รวมถึงประสบการณ์พัฒนาโครงการของบุคลากรเราตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีความเข้าใจในการทำงานและหลักการขององค์กร โดยทุกคนสามารถทำางานได้อย่างมีประสิทธิภาพให้โรงไฟฟ้าสามารถดำเนินการต่อเนื่องขั้นต่ำ 8,000 ชั่วโมงต่อโรงไฟฟ้าต่อปี ซึ่งเรายังพยายามพัฒนาศักยภาพบุคลากรของเราอย่างต่อเนื่องให้เติบโตพร้อมองค์กร ด้วยทัศนคติการขับเคลื่อนองค์กรในทิศทางเดียวกัน” ขณะเดียวกันบริษัทยังประกาศใช้นโยบายด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG: Environment, Social and Governance) ด้วยการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อการสร้างความสมดุลในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของกิจกรรมทางธุรกิจ รวมถึงเสริมสร้างระบบบริหารจัดการให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่มั่นคงครอบคลุมทุกมิติพร้อมทั้งสร้างความมั่นคงในธุรกิจด้านพลังงานอย่างยั่งยืนและสร้างผลประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม “เรามองความสัมพันธ์ระหว่างสังคมรอบด้านที่ต้องดูแล โดยมีหน่วย CSR ลงพื้นที่เป็นประจำ รวมทั้งส่วนหนึ่งที่เราทำธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะ เพราะต้องการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความตั้งใจพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้มองขยะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งเราสามารถทำให้มีมูลค่าขึ้นได้ ” พงศ์นรินทร์ปิดท้ายเกี่ยวกับหลักการบริหารที่มุ่งเน้นการสร้างค่านิยมองค์กร TGE (Technology, Governance และ Excellence) ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงควบคู่กับการยึดหลักธรรมาภิบาลขององค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติงานให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน “ค่านิยมองค์กรของเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและลดต้นทุนการผลิตการดูแลรักษาสังคมรอบข้างและการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดรวมถึงพนักงานของเราเอง รวมถึงมุ่งเน้นประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์กรของเราต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายแต่ละปี ซึ่งทุกปีจะมีการปรับ KPI ขึ้นมาให้เป็นความท้าทายใหม่ พร้อมร่วมกันเดินหน้าสร้างการเติบโตให้บริษัทตามวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำทางด้านพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และ TGE อ่านเพิ่มเติม:- สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล LEADS “ASIAN” TO ESG 100 ขยายน่านน้ำสากล
- ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ยกระดับอสังหาฯ ปั้น SCOPE ด้วยจุดต่าง “อินเตอร์เนชันแนลพรีเมียม”
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine