นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ: ปั้น "เพทาย" ให้เปล่งประกายดุจเพชร - Forbes Thailand

นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ: ปั้น "เพทาย" ให้เปล่งประกายดุจเพชร

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Aug 2014 | 12:08 PM
READ 1746

จากรุ่นอากงอาม่าที่มีส่วนร่วมสร้าง "ชามตราไก่" ให้กลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของเมืองลำปาง ถึงวันนี้หญิงสาวผู้เป็นหลาน ขอกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ใช้ความรู้ด้านศิลปอุตสาหกรรมมาประยุกต์ และต่อยอดธุรกิจเซรามิก ประเภท tableware ให้แข็งแกร่ง  พร้อมหมายมั่นปั้นมือ สร้างแบรนด์ใหม่ "เพทาย" โดดเด่นดังไกลถึงต่างแดน

เครื่องถ้วยชามมากมายเบื้องหน้า นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ วัย 26 ปี ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท โฮม พอตเทอรี่ จำกัด ไม่ได้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ตอบทุกความต้องการใช้สอยบนโต๊ะอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนพัฒนาการอันยาวนาน  บนเส้นทางธุรกิจเซรามิกของคนในครอบครัวถึง 3 รุ่น
อากงและอาม่าของนิจวรรณอพยพจากเมืองจีนมาปักหลักในไทยที่กรุงเทพฯ จากนั้นย้ายขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ เมื่อได้ข่าวว่าดินขาวในจังหวัดลำปางมีคุณภาพดี เหมาะกับการทำเซรามิก อากงเฉ่า เซียนจือ ซึ่งถือกำเนิดในหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผาในเมืองจีน พอมีฝีมือติดตัวอยู่บ้าง จึงตัดสินใจย้ายไปตั้งรกรากที่ลำปาง และในปี 2502 ก็ได้ก่อตั้ง โรงงานเชาว์ลำปางเครื่องเคลือบดินเผา ผลิตจานชามพอร์ซเลน (porcelain) จนเลื่องลือ มีสินค้าขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักคือ ถ้วยชามลายคราม ชามกลีบบัว และชามตราไก่ แต่สุดท้ายต้องปิดกิจการ เนื่องจากความต้องการตกต่ำลง
มาถึงรุ่นลูกทั้ง 9 คน หนึ่งในนั้นคือนิรันดร์ ซึ่งเป็นพ่อของนิจวรรณไ ม่ยอมแพ้ พลิกฟื้นคืนชีพกิจการอีกครั้ง ในปี 2531 พี่น้องร่วมกันก่อตั้ง บริษัท กาสะลองเซรามิคส์ จำกัด สร้างโรงงานใหม่ นำเข้าเครื่องจักรและเตาเผาทันสมัย เปลี่ยนจากพอร์ซเลนที่ผิวเนียนมันวาว มาผลิตสโตนแวร์ (stoneware) ที่มีสีขาวออกเทา แม้ว่าจะแข็งแกร่งน้อยกว่า แต่เป็นที่ต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และอังกฤษ  จนกาสะลองเซรามิคส์เจริญรุ่งเรือง
แต่ด้วยความฝันว่าอยากจะสร้างธุรกิจของตัวเอง ทำให้ในปี 2544 นิรันดร์ ได้ตั้ง บริษัทโฮม พอตเทอรี่ จำกัด สร้างโรงงานบนพื้นที่ 10 ไร่ และเพื่อให้แตกต่างจากโรงงานกาสะลอง ที่ผลิตสโตนแวร์ เหมาะแก่การใช้งานในครัวเรือน โรงงานแห่งใหม่จึงผลิต tableware ประเภท fine China ซึ่งทนทาน เหมาะกับธุรกิจด้านอาหารและบริการ โดยมุ่งเน้นส่งออกต่างประเทศ รับจ้างผลิต 80% และผลิตเพื่อจำหน่ายเอง 20%
"แต่เล็กจนโตก็อยู่บ้านตรงนั้นมาตลอด เห็นตั้งแต่ก่อสร้างโรงงานจนถึงขั้นตอนการผลิตสินค้า เลยเกิดเป็นความผูกพัน และเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งว่าถ้าเรียนจบแล้ว จะกลับมาช่วยงานที่บ้าน" นิจวรรณเล่าถึงตัวเองในวัยเด็ก
ด้วยแรงบันดาลใจจากธุรกิจของครอบครัว รวมกับความชื่นชอบด้านการออกแบบ ทำให้นิจวรรณลือกเรียนสาขาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระหว่างนั้นก็ช่วยเหลือวรรณีผู้เป็นแม่ ดูแลงานด้านจัดแสดงสินค้า และศึกษาปัญหาของโรงงานควบคู่กันไปด้วย หลังปี 2555 เธอเข้ามาช่วยงานเต็มตัว ท่ามกลางโรงงานเซรามิกหลายแห่งในลำปางที่ต้องปิดตัวลง เพราะปรับตัวรับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปไม่ทัน
นิจวรรณเข้ามาจัดระบบระเบียบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เห็นทิศทางของธุรกิจ และเพื่อให้มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมนำวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เล่าเรียนมาประยุกต์ใช้ ให้สินค้าครบถ้วนทั้งความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย พร้อมกับเริ่มสายการผลิตใหม่ ภายใต้แบรนด์ PE'TYE (เพทาย)
นิจวรรณจะสืบสานธุรกิจของครอบครัวที่มีมายาวนาน จนถึงยุคเธอ ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ 3 ไว้ได้อย่างไร สามารถติดตามฉบับสมบูรณ์ได้ใน Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2014

สรุปและเรียบเรียงจาก “นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ: ปั้น "เพทาย" ให้เปล่งประกายดุจเพชร”, Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2014