"ดรีม เอกซ์เพรส" นักปั้นธุรกิจซูเปอร์ฮีโร่ - Forbes Thailand

"ดรีม เอกซ์เพรส" นักปั้นธุรกิจซูเปอร์ฮีโร่

บางครั้งการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ก็ไม่ใช่แค่มีพลังวิเศษ แต่คนธรรมดาก็สามารถเป็นฮีโร่ได้ ถ้าอยู่ถูกที่ถูกเวลานี่น่าจะเป็นคำกล่าวที่ตรงที่สุดสำหรับกฤษณ์ สกุลพานิชกับเส้นทางการสร้างธุรกิจซูเปอร์ฮีโร่ในไทยกับบรรดามาสก์ไรเดอร์, อุลตร้าแมน, กันดั้ม ภายใต้บริษัท ดรีม เอกซ์เพรส (เดกซ์) จำกัด

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ชื่อของกฤษณ์ได้รับการกล่าวขานถึงในวงสนทนาของนักธุรกิจญี่ปุ่น ในฐานะผู้ที่เคยประกาศตัวว่าต้องการจะมาเป็นซีอีโอของบันได” (BANDAI) ผู้ผลิตของเล่นชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น แม้ตอนนี้เขายังถูกแซวเล่นแบบขำๆ แต่นั่นคือความใฝ่ฝันของบัณฑิตใหม่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เลือกเส้นทางการทำงานกับบริษัทของเล่นญี่ปุ่น

ไทยเป็นฐานการผลิตของเล่นที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในขณะนั้น ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูมากของอุตสาหกรรมของเล่น บันไดมีโรงงานผลิตของเล่น มีบริษัทจำหน่ายและทำตลาด พอเข้ามารับสมัครคนไปทำงาน ผมก็ไปสมัคร ผมรู้จักบริษัทนี้ เพราะเป็นผู้ผลิตคาแรกเตอร์ไอ้มดแดง เด็กสมัยนั้นรู้จักเป็นอย่างดี ตอนสัมภาษณ์ เขาถามว่าความฝันคืออะไร ผมก็บอกว่าอยากเป็นเพรสซิเดนท์ของบริษัทนี้กฤษณ์ เล่าถึงความใฝ่ฝันของคนหนุ่มในวัย 21 ปี

แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาของบริษัท บันได ประเทศญี่ปุ่น เพราะหลังจากถูกส่งไปดูงานที่สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่น ผู้บริหารบริษัทหลายคนต้องการเห็นหน้าว่าใครที่กล้าพูดว่าจะมาเป็นประธานของบริษัทนี้ ถือเป็นหัวข้อที่อยู่ในวงสนทนาของชาวญี่ปุ่นพอสมควรในขณะนั้น

 

ในวิกฤตสร้างโอกาส

หลังจากทำงานอยู่ในไลน์การผลิตของเล่นอยู่ประมาณ 3 ปี กฤษณ์ต้องการศึกษาต่อเพราะต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในด้านธุรกิจ บริษัทจึงส่งให้เขาไปศึกษาต่อการบริหารจัดการ การตลาด และกลับมาเป็นผู้จัดการทั่วไปให้กับบริษัท บันได แอนด์ เคซี เทรดดิ้ง ซึ่งขณะนั้นบันไดประเทศญี่ปุ่นเริ่มขยายตลาดไปอเมริกา ด้วยการส่งคาแรกเตอร์ขบวนการ 5 สีพาวเวอร์ เรนเจอร์ไปบุกตลาดอเมริกา ทำให้ยอดการผลิตเพื่อส่งออกในขณะนั้นสูงมาก และเริ่มตั้งบริษัทด้านการตลาดขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจบริหารจัดการลิขสิทธิ์ในประเทศไทย

แต่ชีวิตไม่ได้ขีดเส้นให้เป็นลูกจ้างไปตลอด ในช่วงวิกฤตปี 1997 บันไดประสบปัญหาเหมือนธุรกิจทั่วไปที่ใช้เงินกู้จากต่างประเทศในการดำเนินธุรกิจ จนถึงขั้นเกือบปิดกิจการ แต่ช่วงนั้นธุรกิจของเล่นไม่ได้กระทบมากนัก ในส่วนของโรงงานจึงยังผลิตอยู่ แต่ปิดบริษัทด้านการตลาด พร้อมพิจารณาส่งกฤษณ์ไปทำงานที่ฮ่องกงหรือสิงคโปร์แทน จึงทำให้เขาตัดสินใจในวินาทีนั้นว่า ต้องลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจนี้ด้วยตัวเอง

ไม่รู้เป็นโชคชะตาหรืออะไร ในช่วงวิกฤต ผมจะกระเด้งขึ้นมา ถ้าภาษาอังกฤษ มันคือ ไทม์มิ่ง (Timing) ซึ่งตอนนั้นในวิกฤตก็มีโอกาสหลายอย่าง เช่น ฟรีทีวีมีเวลาเหลือเฟือ เพราะโฆษณาไม่ดี จึงมองเป็นโอกาสที่จะนำเสนอทีวีซีรีส์ออกอากาศทางช่อง 9 ที่ต่อมาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ของเล่นขายดีกฤษณ์ระบุ

เมื่อเห็นโอกาส กฤษณ์จึงเดินหน้าด้วยการตั้งบริษัท ดรีม เอกซ์เพรส (เดกซ์) ประเทศไทย และนำลิขสิทธิ์รายการทีวีซีรีส์ อาทิ ขบวนการ 5 สี มาออกอากาศทางฟรีทีวี ช่อง 9 ในขณะนั้น และขายโฆษณา โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทบันไดประเทศญี่ปุ่น จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเดกซ์ในธุรกิจทีวีฟรีทีวีของไทย ซึ่งสามารถทำรายได้ในปีแรกถึง 10 ล้านบาท

 

เผชิญยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น

เส้นทางของเดกซ์ยังเติบโตต่อเนื่องในยุคที่ฟรีทีวีรุ่งเรือง และด้วยการจับสัญญาณทางธุรกิจที่ค่อนข้างแม่นยำของกฤษณ์ จากฟรีทีวีได้ขยายธุรกิจสู่วีซีดี (VCD) ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ได้เปลี่ยนจากม้วนวิดีโอ (VDO) มาสู่วีซีดีพอดี ทำให้ธุรกิจหนังแผ่นเติบโตมาก จากรายได้ 10 ล้านบาท ขยับเป็น 100 ล้านบาท พร้อมกับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนการเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์คอนเทนต์และ merchandising รวมไปถึงสิ่งพิมพ์ การ์ตูน จนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ประเทศญี่ปุ่น ให้ดูแลคาแรกเตอร์เพิ่มเติม เช่น มาสก์ไรเดอร์, อุลตร้าแมน, กันดั้ม และผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ธุรกิจฟรีทีวีที่เคยเป็นรายได้หลักของบริษัทเริ่มลดลง เนื่องจากเด็กหันไปบริโภคสื่อใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทประสบปัญหารายได้หลักค่าโฆษณาลดลงอย่างมาก ทำให้บริษัทจำต้องต้องลุกขึ้นมาปรับตัวอีกครั้งให้สอดรับกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มการรับชมการ์ตูนซีรีส์ของตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชั่นชื่อ “Flixer” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 9 แสนคน นอกจากนี้ยังมีช่องทางยูทูบ DEXCLUB Channel ที่มีสมาชิกกว่า 5 แสนคน รวมทั้งขยายในช่องทางใหม่อย่าง LINE TV

การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เพื่อสร้างสมดุลให้กับผู้ชมในช่องทางเดิมที่ลดลงนับเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ จนบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างบริษัท โตเอะ ประเทศญี่ปุ่น ต้องมาศึกษาและนำเป็นโมเดลในการพัฒนากับประเทศอื่นต่อไป เพื่อสร้างความนิยมให้กับมาสก์ ไรเดอร์สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันความนิยมในคาแรกเตอร์ของมาสก์ ไรเดอร์ ประเทศไทยถือเป็นแฟนที่เหนียวแน่น อันดับ 1 ในภูมิภาคนี้ ตามด้วยฮ่องกง และไต้หวัน

สิ่งสำคัญ คือเสาอากาศของเราต้องจับสัญญาณให้ถูก กฤษณ์ย้ำ

นอกจากนี้ กฤษณ์ยังพยายามมองหาแพลตฟอร์มใหม่ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยในปี 2563 นี้จะเป็นปีที่บริษัทนำภาพยนตร์มาฉายในโรงภาพยนตร์มากที่สุดจำนวน 7 เรื่อง เนื่องจากเห็นพัฒนาของกลุ่มเป้าหมายที่กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น และมีไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบการไปชมภาพยนตร์กับเพื่อนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเกม และการจัดกิจกรรมการตลาดที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การวิ่ง กิจกรรมอุลตร้าแมน รันเป็นต้น

การทำธุรกิจนี้ เราสามารถเติบโตตามกลุ่มเป้าหมายได้ ไม่ใช่พอเขาโต เขาจะเลิกดู บางคนทุกวันนี้แม้จะอยู่ในวัยผู้ใหญ่ก็ยังชื่นชอบและติดตามชมภาพยนตร์การ์ตูนอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับว่าเรานำเสนอสินค้าได้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของพวกเขาได้หรือไม่กฤษณ์ย้ำ และนั่นทำให้เดกซ์เติบโตต่อเนื่อง

 

ความเชื่อช่วยให้สำเร็จ

สำหรับกฤษณ์สิ่งเดียวที่เขายืดมั่นมาตลอดในการทำธุรกิจกว่า 20 ปี คือ ความเชื่อ (Trust) ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อของบริษัทญี่ปุ่นมีต่อตัวเขา ความเชื่อของเพื่อนที่มาร่วมลงทุน ความเชื่อของเขามีต่อทีมงาน ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เดกซ์สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งจนถึงวันนี้ และจะยังอยู่ต่อไป ด้วยทีมงานรุ่นใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งปัจจุบันทีมงานของเดกซ์มีอยู่ร่วม 100 คน

ผมเริ่มธุรกิจจากศูนย์ เหมือนเอสเอ็มอีทั่วไปที่เงินลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ด้วยความเชื่อของเพื่อนที่มีต่อตัวเรา พวกเขาจึงนำเงินมาลงทุนกับเรา โดยไม่ได้หวังผลกำไร เราก็ค่อยๆ สร้างธุรกิจขึ้นมา และด้วยความเชื่อของบริษัทแม่ที่มีต่อตัวเรา ทำให้เกิดการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่การทำธุรกิจด้านบันเทิง แน่นอนว่าแม้จะให้ผลกำไรที่สูง แต่ก็เสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน จากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทประสบภาวะขาดทุน อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับแพลตฟอร์มให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายจนสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมามีกำไรได้สำเร็จ

สิ่งสำคัญที่กฤษณ์ย้ำเสมอ คือเสาอากาศต้องทำงานให้แม่นยำ ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี และอย่าเชื่อแต่ความคิดของตัวเอง ในการบริหารไม่ควรนำความคิดส่วนตัวไปครอบงำทีมงาน และต้องรับฟังคนรุ่นใหม่หรือฟังลูกน้อง รวมถึงต้องฟังลูกค้า พร้อมปิดท้ายว่าการทำธุรกิจเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่น ต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และไม่ประมาท

ถึงวันนี้ เดกซ์ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ในการพัฒนาธุรกิจคาแรกเตอร์การ์ตูนและซูเปอร์ฮีโร่ในประเทศไทยต่อไป รวมทั้งมองหาโอกาสที่จะขยายตลาดในภูมิภาคนี้ให้เติบโต ด้วยความเชื่อมั่นของกฤษณ์ สกุลพานิชชายผู้เป็นฮีโร่ตัวจริงของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ในจินตนาการของเด็กทั่วโลก

  อ่านเพิ่มเติม   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine