ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ NER เรียนรู้จากความผิดพลาด สร้างธุรกิจยางยั่งยืน - Forbes Thailand

ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ NER เรียนรู้จากความผิดพลาด สร้างธุรกิจยางยั่งยืน

เส้นทางการทำธุรกิจยางในประเทศไทย โตแล้วแตก แตกแล้วตาย การเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของ "ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์" กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม ซึ่งมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจยางในประเทศไทย

จากรุ่นคุณปู่ที่เดินทางมาจากประเทศจีน เลือกลงหลักปักฐานที่จังหวัดบุรีรัมย์ด้วยเงิน 2 หมื่นบาท เริ่มทำธุรกิจเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ รับซื้อมันเส้นจากชาวบ้าน รุ่นบิดาเริ่มขยายธุรกิจด้านการเกษตร ปลูกอ้อย ปลูกมัน ทำลานมัน พอเลี้ยงครอบครัว จากนั้นจึงเริ่มปลูกไม้เกษตรชนิดอื่นๆ เช่น ยาง ยูคาลิปตัส โดยมีเป้าหมายคือต้องการขาย ปี 2529 ทายาทรุ่นที่ 3 “ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์” ในวัย 19 ปี เดินทางกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน หลังจากตัดสินใจทิ้งการเรียนที่กรุงเทพฯ เพราะเบื่อกับระบบการศึกษาไทยที่ตีกรอบจนอึดอัด บีบให้คนหนุ่มเลือดร้อนต้องออกไปแสวงหาความต้องการของชีวิตนอกห้องเรียน ดีบ้าง ร้ายบ้าง แต่สิ่งที่ได้คือบทเรียนชีวิต

เมื่อตัดสินใจเลิกเรียนอย่างเด็ดขาด ชูวิทย์ที่ในวันนี้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) กลับบ้านเพื่อช่วยธุรกิจของครอบครัว ซึ่งช่วงนั้นกำลังขยายพื้นที่การปลูกยางและยูคาลิปตัส

ครอบครัวจึงธนสมบูรณ์จึงเป็นรายแรกที่เริ่มต้นบุกเบิกการปลูกยางจาก 5 ไร่ถึง 10 ไร่ ตั้งแต่ปี 2529 และสามารถเริ่มกรีดยางได้ในปี 2535 ซึ่งขณะนั้นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่มีโรงงาน ชูวิทย์ต้องวิ่งมาขายน้ำยางที่จังหวัดระยอง ซึ่งที่นี่ทำให้เขาได้เรียนรู้การทำโรงงานยาง

ทันทีที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกยางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2544 ไร่จึงธนสมบูรณ์จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทำให้ชูวิทย์มีต้นทุนในการทำโรงงานยางในเวลาต่อมา พร้อมสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงให้กับอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจไม่มีใครที่ไม่เจอปัญหา เช่นเดียวกับ NER ซึ่งประสบปัญหาหรือวิกฤตตั้งแต่ช่วง 3 ปีแรกของการทำธุรกิจจากการเก็งกำไร โดยการซื้อขายล่วงหน้า 4-6 เดือน เมื่อราคายางพุ่งขึ้นสูงกว่าที่ตกลงซื้อขายไว้โรงงานจึงขาดทุน จนเกือบปิดบริษัทในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ราคายางพุ่งไปถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่รับซื้อไว้ในราคา 120 บาท

ช่วงเริ่มต้นการทำโรงงานบริษัทยังลองผิดลองถูก กำลังการผลิต 6 หมื่นตัน แต่ผลิตได้จริงแค่ 4 หมื่นตัน หลังการปรับระบบการบริหารงานภายในโรงงานใหม่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนต่ำลงทำให้โรงงานสามารถซื้อยางในราคาชี้นำตลาดได้ ทุกวันนี้ NER สามารถรับซื้อยางในราคาสูงกว่าตลาดทั้งยังมีโปรโมชั่นให้เกษตรกรด้วย ส่งผลให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่น และยินดีขายผลผลิตกับโรงงานตลอดไม่มีขาด

 

สร้างวิธีบริหารจัดการที่แตกต่าง

บทเรียนทางธุรกิจที่ได้รับ แปรเปลี่ยนเป็นหลักการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบพร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งสู่โรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งเดินเครื่องการผลิตภายในไตรมาส 2 ของปี 2563 นี้ รองรับกำลังการผลิตรวม 4.6 แสนตัน โดยจำนวนพนักงานที่โรงงานขณะนี้มีจำนวน 1 พันคน ที่สำคัญเป็นคนไทย 100%

ชูวิทย์กล่าวว่า การบริหารงานโรงงานได้วางระบบใหม่ โดยใช้การจ้างเหมาพนักงานเป็นกลุ่มๆ ให้พนักงานดูแลรับผิดชอบกันเอง โดยมีหัวหน้ากลุ่มดูแลประสิทธิภาพการผลิตของแต่ละกลุ่ม ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงานจึงสูง

“บทเรียนจากบริษัทผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทย โตแล้วแตก แตกแล้วตาย เพราะฉะนั้นการมีโรงงานมากไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องมีระบบการตรวจสอบที่ดี เพราะโอกาสการรั่วไหลมีมาก ในการบริหารโรงงานมีเงินหมุนวันละ 30-40 ล้านบาท รั่วไหลเพียงแค่ 1% ก็แย่แล้ว” ชูวิทย์กล่าว

ขณะที่ครอบครัวจึงธนสมบูรณ์ไม่ได้มีแค่เฉพาะธุรกิจยาง ธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวที่ยังคงทำอยู่ นั่นคือปศุสัตว์ ทั้งการเลี้ยงไก่ ซึ่งทุกวันนี้ส่งให้บริษัทแปรรูปปีละ 3 ล้านตัว สิ่งที่เป็นมูลค่าเพิ่มที่สำคัญคือขี้ไก่ ที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพได้ บริษัทจึงลงทุนทำโรงไฟฟ้า 2 โรง และมีแผนทำโรงไฟฟ้าชุมชนอีก 20 แห่ง

ส่วนในพื้นที่โรงงาน บริษัทได้ตั้งโรงไฟฟ้า 2 แห่ง กำลังผลิตแห่งละ 2 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟได้ภายในปีนี้ รวมทั้งได้ปรับพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าเนเปียร์อีก 1.2 พันไร่ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าของเราด้วยเป็นหนึ่งในแผนที่จะสนับสนุนการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของ NER

นอกจากนั้นธุรกิจหลักของบริษัทยังได้ริเริ่มโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยาง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำแผ่นรองนอนของวัวนม ซึ่งเป็นหนึ่งในโอกาสทางการตลาดที่มองเห็น และต่อยอดมาจากธุรกิจปศุสัตว์เช่นเดียวกัน

สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมา NER มีรายได้รวม 1.3 หมื่นล้านบาท มีกำไร 538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน และตั้งเป้ายอดขายปีนี้จะแตะ 2 หมื่นล้านบาท หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่บานปลายไปมากกว่านี้ เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซัพพลายเชนกลับมาเป็นปกติ ธุรกิจยังเดินหน้าต่อเนื่อง

“สิ่งสำคัญเราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ อะไรดีไม่ดีต้องศึกษา ผมทำธุรกิจโรงงานยาง แม้จะเจอปัญหาแต่ก็สามารถผ่านมาได้ เพราะผมเรียนรู้และลงมือทำจริง ผมปลูกยางเอง เดินไร่เอง ทำทุกอย่างวิ่งขายโรงงานเอง เรียนรู้ในทุกมิติ ซึ่งทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดมาเป็น NER ในทุกวันนี้” ชูวิทย์ในวัยกว่า 50 ปี กล่าวทิ้งท้าย

    ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ NER เรียนรู้จากความผิดพลาด สร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine