ชาตรี ตั้งมิตรประชาก่อ “โฮมฮับ” ตอบรับโลกใหม่ - Forbes Thailand

ชาตรี ตั้งมิตรประชาก่อ “โฮมฮับ” ตอบรับโลกใหม่

ทายาทรุ่นสองพัฒนาร้านค้าสีของพ่อแม่ สู่กิจการวัสดุก่อสร้างที่ยืนหยัดในสมรภูมิโมเดิร์นเทรดถิ่นอีสานใต้ในนาม “โฮมฮับ” ท้าชนยักษ์ใหญ่ในตลาดด้วยบริการตอบโจทย์ลูกค้าตรงใจตั้งเป้าเปิดตัวแอพฯ ให้ลูกค้าช็อปผ่านมือถือ ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจชะลอตัวเตรียมเข้าสู่สถานะบริษัทมหาชนในปี 25613

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง สามีภรรยา องอาจและอาภาภรณ์ ตั้งมิตรประชา ผันตัวจากธุรกิจรับซื้อของเก่าที่รุ่นพ่อแม่ทำไว้มาเปิดร้านจำหน่ายสีทาอาคารภายในชื่อสีรุ้งเมื่อปี 2519 ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองอุบลราชธานี กระทั่งกลายมาเป็นกิจการค้าวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านในชื่อ โฮมฮับ ที่มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยกว่า 2 พันล้านในวันนี้ ซึ่งบริหารกิจการโดย ชาตรี ตั้งมิตรประชา ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท โฮมฮับ จำกัด วัย 43 ปี ผู้เป็นบุตรชายคนที่ 3 จากพี่น้อง 5 คน ชาตรี เล่าถึงยุคสร้างธุรกิจเมื่อครั้งยังเป็นร้านสีรุ้งว่า หลังจากค้าสีมาได้สักระยะลูกค้าเริ่มถามหาสินค้าประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวกับด้านงานก่อสร้าง และด้วยแนวคิดที่ผู้เป็นบิดาเลือกที่จะ “รับฟังลูกค้า” และปรับตัวตามความต้องการของลูกค้าเสมอมา จึงเริ่มต่อยอดสู่การจำหน่ายวัสดุก่อสร้างอื่นๆ “ตอนนั้นการแข่งขันยังไม่รุนแรง แค่ฟังลูกค้าและขยัน ก็สามารถตั้งตัวได้” ชาตรีให้คำจำกัดความถึงแนวทางการค้าในยุคแรกของครอบครัว ภายหลังจึงย้ายร้านไปอยู่ในอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ขึ้นริมถนนชยางกูร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และบริหารกิจการในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดสีรุ้งอุบล และเริ่มขยายขอบข่ายธุรกิจให้เติบโตขึ้นกระทั่งเริ่มมีพี่น้องขององอาจมาช่วยเมื่อปี 2523 ก่อนที่จะแยกตัวไปทำกิจการของแต่ละครอบครัวเมื่อปี 2528 จึงเหลือไว้เพียง 5 แผนกคือ สี เครื่องมือช่าง อุปกรณ์การเกษตร สีพ่นรถยนต์ และประดับยนต์ สานต่อธุรกิจ แม้ความตั้งใจแรกเริ่มของ ชาตรี ไม่ได้พุ่งเป้าสืบทอดกิจการครอบครัว แต่เมื่อความปรารถนาในการศึกษาต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขา Marketing & International Business จากมหาวิทยาลัย Dominican University ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จดั่งหวัง ปี 2542 เขาจึงตัดสินใจมาช่วยธุรกิจครอบครัวอย่างทุ่มเท “ผมเชื่อว่าโลกกว้างไม่ได้มีแค่ในตำราจึงจากไปเรียนต่อ MBA ก่อน แต่ระหว่างที่เรียนผมก็ทำงานไปด้วยเพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งล้างห้องน้ำ, เสิร์ฟอาหาร, ตักอาหารขาย, สอนพิเศษวิชาเลข ทำให้แต่ละเดือนมีรายได้ราว 4,500 เหรียญ พ่อแม่เลยออกเฉพาะค่าเทอม ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผมหาเงินมาจ่ายเองหมด” ปี 2548 ชาตรีเล็งเห็นว่าควรจะต้องขยายสาขาใหม่ๆ เพิ่มแล้วรวมให้เป็นชื่อเดียวกันสำหรับทุกสาขาทั้งปัจจุบันและอนาคต จึงตกลงกันในครอบครัวจนได้ชื่อ “โฮมฮับ” มา ด้วยเหตุผลที่มองว่าเป็นชื่อที่กระชับและสื่อถึงการเป็นศูนย์รวมเรื่องบ้าน แม้ว่าในตอนนั้นคำว่า ฮับ อาจจะยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบันก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2545 โฮมฮับมีอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ยสูงกว่า 10% มาตลอดจนมาสะดุดในช่วงปี 2556 เมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เติบโตลดน้อยถอยลงมาเรื่อยๆ จนปีที่ผ่านมาขยายจากปี 2557 เพียง 3% สำหรับปีนี้โฮมฮับคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่ได้ขยายสาขาเพิ่มในปีนี้ บริการคือหัวใจ บริการคือหัวใจหลักของธุรกิจ เพราะชาตรีมองว่าจะช่วยสร้างฐานลูกค้าให้ยั่งยืน ที่บางคนอาจมองว่าแค่เขาขายแค่สินค้าราคาถูกและมีครบถ้วนก็พอ แต่เขามองว่าการที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อกับผู้ขายใดขึ้นกับว่าจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากแค่ไหนเป็นหลัก ซึ่งการที่จะให้ได้ใจลูกค้าจริงๆ เป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุนี้จึงต้องใส่ใจรายละเอียดเรื่องบริการมาก ตัวอย่างของการพัฒนาบริการเพื่อสนองความต้องการลูกค้า อาทิ เปิดร้านให้เร็วขึ้นกว่าร้านอื่นๆ ขยายเวลาปิดร้านช้ากว่าที่อื่นๆ การขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว รวมถึงงานซ่อมและรับประกันสินค้า “แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีแค่ไหนแต่ศูนย์รับซ่อมของเรางานล้น เพราะลูกค้าแนะนำกับแบบปากต่อปาก แม้แต่ซื้อจากที่อื่นก็มาส่งซ่อมกับเรา ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นลูกค้าของเราในอนาคต” แต่รากฐานสำคัญซึ่งจะทำให้พนักงานซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนบริการที่ดีให้แก่ลูกค้าในมุมมองของชาตรีคือการพัฒนาคนของโฮมฮับด้วยเหตุนี้บริษัทจึงวางกรอบวัฒนธรรมองค์กรเป็นหลักให้พนักงานปฏิบัติตามดังแนวทางที่เรียกว่า ‘STCARD’  ซึ่งประกอบด้วย S คือ Service Minded :ใจรักบริการ, T คือ Teamwork : การทำงานเป็นทีม, C คือ Creative : ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, A คือ Active : ลงมือทำ, R คือ Royalty : ซื่อสัตย์สุจริต และ D คือ Discipline : ระเบียบวินัย ปัจจุบันโฮมฮับมี 5 สาขา แบ่งเป็นตั้งอยู่ใน อุบลราชธานี 3 สาขา ส่วนอีกสองสาขาอยู่ที่ ขอนแก่น และ อุดรธานี ซึ่งเป็นสาขาใหญ่สุด กระนั้นแม้จะมีคู่แข่งในตลาดค้าวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านต่างช่วงชิงฐานลูกค้าอยู่หลายราย แต่ชาตรีก็มั่นใจว่าชัยชนะย่อมตกเป็นของผู้ที่เข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริงและตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า เช่นเดียวกับที่การปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคก็มีส่วนทำให้โฮมฮับยืนหยัดในธุรกิจที่จะแข่งขันสูงขึ้นอีกในอนาคตได้ โดยเฉพาะความนิยมจับจ่ายสินค้าทางออนไลน์ที่นับวันจะยิ่งเติบโตเพิ่ม ดังนั้นภายในสองปีข้างหน้าทางโฮมฮัมจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่น สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้เขายังมองช่องทางการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างธุรกิจครอบครัวเติบโตเกินกว่า 100 ปี โดยจารึกไว้ถึงอดีตที่สร้างธุรกิจขึ้นมาจากห้องแถว ชาตรี ทิ้งท้ายสำหรับเส้นทางผู้ประกอบการของตัวเขาว่า หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วหากหามืออาชีพที่เก่งๆ มาช่วยทำงานแล้ว ตัวเขาก็สนใจไปเป็นอาจารย์สอนด้านบริหารธุรกิจ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ที่สะสมมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาเพื่อต่อยอดให้กับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีโอกาสไปสอนด้านธุรกิจอยู่บ้าง
คลิ๊กอ่าน "ชาตรี ตั้งมิตรประชาก่อ “โฮมฮับ” ตอบรับโลกใหม่" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2016 ในรูปแบบ e-Magazine