กลุ่มแหลมทองขยับปีกขยายตัวอสังหาฯ ฝั่งตะวันออก - Forbes Thailand

กลุ่มแหลมทองขยับปีกขยายตัวอสังหาฯ ฝั่งตะวันออก

ปราการ นกหงษ์ ทายาทรุ่นสองแห่งกลุ่มแหลมทองหรือ LT Group หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่คว้าโอกาสเติบโตจากการพัฒนาเศรษฐกิจฝั่งทะเลตะวันออกของไทยสร้างแบรนด์ฮาร์เบอร์ คงจุดยืนห้างสำหรับความสนุกของทั้งครอบครัว มุ่งพิชิตรายได้ 2 พันล้านบาทภายในปี 2559 ผันสถานะธุรกิจครอบครัวสู่มหาชนภายในปี 2563

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น กลุ่มแหลมทองเริ่มขึ้นจากสมควร นกหงษ์ ประธานบริหารกลุ่มแหลมทอง (LT Group) ย้ายถิ่นฐานละทิ้งอาชีพชาวนาจาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดมาเป็นพ่อค้าขายฝรั่งดองที่ใช้มอเตอร์ไซค์พ่วงเร่ขายในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมัน Thai Oil และโรงงานต่างๆ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทว่า วิถีแห่งพ่อค้าฝรั่งดองไม่ได้เป็นบทบาทใหม่ของชาวนาผู้ไม่ยอมแพ้ให้กับคำดูถูกเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่ทำให้สมควรได้พบกับคู่ชีวิตคือจันทรา นกหงษ์ เมื่อราว50 ปีก่อน “พ่อมองว่าถ้ายังเป็นชาวนาต่อไปชีวิตก็คงไปไม่ถึงไหน จึงเลือกไปตายเอาดาบหน้าแม้ตอนนั้นจะอายุ 35 ปีแล้ว โดยหอบหิ้วย่าของผมและย่าเลี้ยงมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อ.อ่าวอุดม จ.ชลบุรี และระหว่างที่ขายฝรั่งดองก็ได้พบกับแม่ซึ่งเป็นแม่ค้าที่ขายเครื่องปรุงฝรั่งดองที่ตลาดศรีราชา ที่ตอนนั้นการค้าสำเร็จอย่างสวยงาม เพราะมีสูตรเด็ดเคล็ดลับที่ทำให้ลูกค้าติดใจจึงสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ” จากคำบอกเล่าของ ปราการ นกหงส์ กรรมการผู้จัดการ LT Group วัย 43 ปี ผู้เป็นบุตรชายคนโตและเป็นกำลังหลักที่รับช่วงสานต่อกิจการในปัจจุบัน ทว่า ด้วยความขยันและพูดเก่งของบิดาผสานด้วยความอดทนและมัธยัสถ์ของมารดาหลังจากหันเหมาทำธุรกิจค้าขายในตลาดศรีราชาด้วยกันตามประสาคู่ชีวิตแล้ว ทำให้เริ่มมีทุนรอนไปริเริ่มธุรกิจผลิตและขายส่งปลาหมึกแห้งให้ร้านไทยเสรีห้องเย็น ซึ่งจะจำหน่ายต่อไปยังร้านค้าปลีกอีกทอดเมื่อราวปี 2520 “ผมจำความได้ว่าเห็นปลาหมึกตากอยู่เต็มบ้านส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว มีรถปิ๊กอัพราว10 คันสำหรับวิ่งไปซื้อปลาหมึกสดจากชาวประมงและวิ่งไปส่งปลาหมึกแห้งที่ห้องเย็น” ปราการเล่าถึงดอกผลจากธุรกิจค้าปลาหมึกแห้งอีกว่า แม้จะมีโดนโกงเงินบ้างแต่ครอบครัวก็รวบรวมเงินเพียงพอซื้อที่ดินผืนงามสะสมได้หลายผืน ทั้งใน อ.ศรีราชาและอ.แหลมฉบังด้วยต้นทุนที่ยังถูกคว้าโอกาสพัฒนาอสังหาฯ ด้วยเล็งเห็นถึงทิศทางว่าที่พักอาศัยในฝั่งทะเลด้านตะวันออกจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) สมควรจึงเริ่มลงทุนทำหมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกที่ อ.แหลมฉบังในชื่อ “แหลมทอง 1” จึงนับเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวก้าวสุ่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัวเมื่อราวปี 2523 ก่อนที่จะมีหมู่บ้าน “แหลมทอง 2” ที่ อ.ศรีราชาตามมา “พ่อผมเริ่มตั้งตัวช้าแต่เล็งเห็นโอกาสแล้วก็กล้าเสี่ยงลงมือทำและทำอย่างดีที่สุด” จากประกายแรกที่มุ่งคว้าโอกาสจากการเติบโตของ Eastern Seaboard ที่แม้จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาไม่น้อย แต่ถึงวันนี้กลุ่ม LT Group ก็กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของภาคตะวันออก ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยกว่า 1 พันล้านบาทนับจากปี 2555 และคาดว่าจะแตะถึง 2 พันล้านบาทภายในปีนี้ ซึ่งวางเป้าหมายรักษาอัตราการเติบโตของรายได้เป็นตัวเลขสองหลักขึ้นไปทุกปี จาก 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มศูนย์การค้า shopping mall, กลุ่ม hotel & serviced apartments, กลุ่มสำนักงานให้เช่า office space, กลุ่ม family entertainment center และกลุ่มสื่อโฆษณา media space ในภาคตะวันออกและอีสานกว่า 400 ป้ายก่อตำนานห้างแหลมทอง หลังทำหมู่บ้านจัดสรรได้ระยะหนึ่งในปี 2527 สมควรตัดสินใจเปิดกิจการห้างแหลมทอง ศรีราชา ช่วงแรกของการเข้าสู่ธุรกิจห้างสรรพสินค้าเป็นไปด้วยดี เพราะสามารถบริหารเงินสดได้มีประสิทธิภาพและยังไม่มีคู่แข่งมาช่วงชิงฐานลูกค้า ทำให้แม้ช่วงระยะก่อตั้งจะเหนื่อยแต่ก็ฟื้นตัวได้เร็ว จนกระทั่งเปิดห้างแห่งที่ 4 ที่นำมาซึ่งรายได้มหาศาลสำหรับตอนนั้นแต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวเผชิญทุกข์หนักด้วยเพราะผลจากการลอยตัวค่าเงินบาทอันเป็นแรงกระเพื่อมจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ภาระหนี้จากเงินตราต่างประเทศที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถีบตัวขึ้นเป็นราว 100 ล้านเหรียญ แล้วตามมาด้วยแรงเหวี่ยงจากการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% แบบไม่ได้ตั้งตัวก็ยิ่งทำให้ผู้คนชะลอการจับจ่ายยิ่งขึ้นเพราะมองว่าสินค้าราคาแพงขึ้นไม่เพียงเท่านั้นยังถูกเบียดจากคู่แข่ง ที่เป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จากต่างประเทศมาเปิดที่ระยองอีกด้วย “ตอนนั้นเหมือนปัญหาทุกอย่างมาตะลุมบอนเต็มไปหมดทำให้สุดท้ายแล้วตอนปลายปี 2540 เรามีเช็คเด้งถึง 120 ล้านบาท” ปราการสะท้อน ภาพปัญหาในอดีตให้ฟัง ซึ่งสถานการณ์ในครั้งนั้น สร้างวิกฤตความเชื่อมั่นของบรรดาผู้ผลิตสินค้าต่อห้างสรรพสินค้า ด้วยสมัยนั้นหากมี supplier รายใดนำสินค้าออกจากชั้นวางของห้างใดๆ ก็จะเริ่มมีการสืบข่าวและหากพบว่าสถานการณ์ด้านการเงินไม่ดีก็จะลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น และในครั้งนั้นห้างแหลมทองก็ต้องเข้าสู่สภาวะ “ห้างโล่ง” หรือ supplier นำสินค้าออกจากห้างแทบทั้งหมด จากสถานการณ์ดังกล่าวสมควรจึงเรียกลูกๆ มาประชุมกันทั้งบ้านว่าจะตัดสินใจเดินหน้าต่อหรือจะถอย ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งสมควรและปราการก็เลือกสู้ต่อ และไม่หลบเลี่ยงที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ “สิ่งที่ผมเห็นจากพ่อคือความขยันและซื่อสัตย์ ซึ่งไม่เคยเบี้ยวหนี้ใครสักบาท” ปราการถ่ายทอดจุดยืนของครอบครัวทั้งนี้เมื่อผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ก็ทำให้ทางครอบครัวรู้สึกภาคภูมิใจว่าแม้จะมีปัญหาเรื่องการเงินแต่ไม่เคยต้องถูกกล่าวหาว่าคดโกงใคร แต่ใช้วิธีลดการถือครองทรัพย์สินโดยการขายทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ฝุ่นตลบเมื่อครั้งพิษต้มยำกุ้งเริ่มเจือจางแล้ว แต่บรรดาห้างแหลมทองก็ไม่ได้มียอดขายดีขึ้นมากเพียงพอ เพราะมีคู่แข่งที่เป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่คว้าส่วนแบ่งตลาดไปมากแล้วทางกลุ่มแหลมทองเองก็ต้องการหารายได้ใหม่มาชดเชย จึงเกิดห้าง “saveland” แห่งแรกขึ้นที่ อ.แกลง เมื่อปี 2542 และเวลาต่อมาได้เปลี่ยน ห้างแหลมทองศรีราชา สู่ “ตึกคอม” เนื่องจากเป็นยุคที่การใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือกำลังบูม และในเวลาต่อมา ปรับโฉมใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับ Tesco Lotus ในรูปแบบของฮาร์เบอร์ แหลมฉบัง เมื่อปี 2551 โดยเน้นภาพลักษณ์ใหม่ครอบคลุม 4 ประเด็นหลักคือ family, food, fun และ fashion ที่ไม่เพียงรวมร้านค้าต่างๆ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของสถาบันการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะต่างๆ ของเด็ก “การที่เราวางจุดยืนว่าเป็นศูนย์การค้าสำหรับครอบครัวทำให้ไม่มีคู่แข่ง จึงเป็นไปได้ที่เราจะไปขยายฮาร์เบอร์และสวนสนุกในร่มยังพื้นที่อื่นนอกภาคตะวันออกได้ แต่ยังยึดแนวทางเป็นที่สำหรับทั้งครอบครัวและรองรับนักท่องเที่ยว” แม้ครอบครัวนกหงษ์จะมีธุรกิจห้างสรรพสินค้าเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่ก็พัฒนาอสังหาฯ อื่นๆ ขึ้นมาอีกไม่น้อย ดังนั้นในปี 2554 ทางครอบครัวจึงตัดสินใจจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่เพื่อให้ลูกแต่ละคนรับช่วงสืบต่อกิจการกันอย่างชัดเจน โดยปราการจะดูแล 5 กลุ่มธุรกิจหลักที่อยู่ภายใต้ LT Group ขณะที่เทพโยธิน นกหงษ์ ผู้เป็นน้องชายคนที่สองของปราการดูแลแหลมทองเซอร์วิส อพาร์ทเมนท์และห้างแหลมทองระยองยกให้เป็นของปัทมาพร นกหงษ์ผู้เป็นน้องสาวคนที่สามของปราการ “เราเป็นธุรกิจครอบครัวและภูมิใจในความเป็นธุรกิจครอบครัว” แต่ด้วยมุมมองการบริหารธุรกิจครอบครัวแบบสมัยใหม่ของสมควรผู้เป็นบิดาที่แม้จะไม่ได้มุ่งเน้นประโยชน์ในด้านเงินทุนเท่านั้นเพราะบริษัทไม่เคยมีปัญหาเรื่องต้นทุนการเงินหรือติดขัดเรื่องหาทุนหากต้องการใช้ แต่มองว่าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้างความยั่งยืนให้แก่ LT Group ในระยะยาวมากกว่า จึงวางแผนที่จะเดินหน้าสู่กิจการมหาชนและเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปี 2562 หลังจากที่บริหาร LT Group เคียงบ่าเคียงไหล่กับบิดามาตั้งแต่ปี 2538 ที่แม้ว่าจะฝ่าความท้าทายและเติบโตมาถึงวันนี้ได้นั้นปราการยอมรับว่าตัวเขาเคยเชื่อในความคิดของตัวเองมากและมักจะทำให้มีปากเสียงกับบิดาอยู่เสมอในลักษณะที่ปราการระบุว่า “มั่นใจในตัวเองแบบผิดๆ” แต่เมื่อเติบโตและเรียนรู้มากขึ้นทำให้เมื่อ 6 ปีก่อนจึงตระหนักว่า “พ่อเราเก่งที่สุด และคิดเสมอว่าย้อนกลับไปในช่วงที่พ่อสร้างธุรกิจมา ผมคงไม่สามารถทำได้อย่างนั้น”
คลิ๊กอ่าน ฉบับเต็ม "กลุ่มแหลมทองขยับปีกขยายตัวอสังหาฯ ฝั่งตะวันออก" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016

TAGGED ON