เอทีพี 30 พลิกโฉมบริการขนส่งมวลชนตอบโจทย์ผู้โดยสารในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกสร้างความแตกต่างด้วยรถใหม่ที่ออกแบบเฉพาะ พนักงานขับคุณภาพ และระบบเทคโนโลยีบริหารการเดินรถ เพื่อควบคุมต้นทุน พร้อมประกาศความพร้อมสร้างมาตรฐานระดับสากล
เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: เฉลิมรัฐ ผาสุก ภาพชินตาของการรถโดยสารที่เรียงรายรอขับเคลื่อนขนส่งพนักงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมราวสิบปี วิศวกรนักบริหารวัย 39 ปีผู้หนึ่งได้มองต่างและเล็งเห็นเป็นโอกาสและช่องทางในการสร้างอาณาจักรรถโดยสารขนส่งพนักงานในภาคตะวันออก “ผมทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่เรียนจบ และเห็นวิวัฒนาการตั้งแต่เริ่มสร้างโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผมสนใจธุรกิจโลจิสติกส์และพยายามค้นหาโอกาสในธุรกิจโลจิสติกส์ด้านต่างๆ จนค้นพบช่องว่างทางธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท้องถิ่น ผู้ใช้บริการมีทางเลือกไม่มากและยังไม่ได้รับความพึงพอใจเต็มที่ ผมเห็นโอกาสในการพัฒนาต่อยอด” ปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) ยังคงระลึกถึงความเชื่อมั่นในวันที่ถอดหมวกผู้บริหารบริษัทข้ามชาติด้านพลังงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสวมหมวกเจ้าของธุรกิจผู้ให้บริการรถโดยสารขนส่งบุคลากรระหว่างแหล่งที่พักอาศัยในเขตชุมชนไปยังโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก หลังจากมองเห็นเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน ปิยะรวบรวมเงินลงทุน 1 ล้านบาทและรถบัส 1 คัน พร้อมเดินหน้านำเสนอแผนธุรกิจหาผู้ร่วมทุนช่วยสนับสนุนความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้บริการโดยตรง ซึ่งได้รับการตอบรับจาก วิกรม กรมดิษฐ์ และ ชาติชาย พานิชชีวะ ร่วมเป็นผู้ถือหุ้น จนจัดตั้งบริษัท อมตะทรานสปอร์ต 30 จำกัด ในปี 2548 (เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) ในปี 2555) “เราเห็นปัญหาในธุรกิจ 2-3 เรื่อง ได้แก่คุณภาพตัวรถและพนักงานขับรถ ทำให้ reliability ของธุรกิจไม่ค่อยดี และกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เราจึงเลือกสร้างความแตกต่างด้วยคุณภาพ และนโยบายการให้บริการของเรา ทำให้ได้รับผลตอบรับที่ดีและสามารถเจรจาเพิ่มระยะเวลาสัญญาจากปีต่อปีเป็น 3-5 ปี” ท่ามกลางการแข่งขันของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มุ่งเน้นด้านราคา ปิยะเลือกแนวทางสร้างความแตกต่างด้านคุณภาพ และการนำเสนอทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างแท้จริง นับตั้งแต่การสั่งประกอบรถบัสที่สั่งซื้อโครงรถและเครื่องยนต์ (chassis and engine) และสั่งทำตัวถัง (bus body) ใหม่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารจากผู้ประกอบการชั้นนำที่ได้มาตรฐานตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันบริษัทยังใช้ระบบติดตามรถโดยสารของบริษัทด้วยสัญญาณดาวเทียม (GPS tracking) ซึ่งทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ GPS Tracking System ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจาก GPS tracking เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการสามารถตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันของ GPS tracking และสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ตลอดเวลา เช่น ความเร็วรถ สถานะของรถระดับน้ำมัน เป็นต้น รวมถึงกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย (24/7 monitoring system) ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพการขับรถ พร้อมทั้งเส้นทางการเดินรถ และเวลาในการเดินรถ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและการจัดการการเดินรถ นอกจากนั้น ปิยะยังสร้างความแตกต่างด้วยการจัดทำงบประมาณต้นทุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการเดินรถแก่ลูกค้า (project budgeting) ช่วยประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละสัญญาและสามารถวางแผนการจัดการด้านการขนส่งบุคลากรตามฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของลูกค้าแต่ละราย ทำให้บริษัทสามารถนำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์ เสนอสัญญาให้บริการ และวางแผนการให้บริการอย่างเหมาะสม “คีย์หลักที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้แก่ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งประกอบด้วยความปลอดภัย การตรงต่อเวลา และความสะดวกสบายในการใช้บริการทำให้เราพัฒนาการออกแบบตัวรถให้เลือกอย่างแตกต่างและหลากหลาย ส่วนที่สองคือ การพัฒนาพนักงานขับรถที่เราพยายามสร้างความเป็นมืออาชีพและความภาคภูมิใจในอาชีพ ท้ายสุดคือ การบริหารการเดินรถด้วยการนำระบบไอทีบริหารเส้นทางและควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” สำหรับหัวใจของความสำเร็จที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในความเห็นของปิยะ ไม่ใช่เพียงตัวรถ หรือระบบการให้บริการ แต่ยังเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรเป็นนักขับประจำรถรวมถึงการอบรมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อรักษาระดับความเป็นมืออาชีพ ในปัจจุบันรถโดยสารของบริษัททุกคันได้รับอนุญาตรับส่งบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย(ป้ายทะเบียนสีเหลืองตัวหนังสือดำ) จำนวน 139 คัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 แบ่งเป็น รถบัสโดยสาร (มากกว่า 40 ที่นั่ง) จำนวน 127 คัน คิดเป็นสัดส่วน 91% ที่เหลือได้แก่ รถมินิบัส (ไม่เกิน 30 ที่นั่ง) จำนวน 2 คัน รถตู้วีไอพี (ไม่เกิน 8 ที่นั่ง) จำนวน 2 คัน และรถตู้จำนวน 8 คัน รวมถึงรถผู้ร่วมให้บริการอีกกว่า 100 คัน ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท แบ่งเป็นรถตู้ร่วมบริการ 88 คัน และรถบัสร่วมบริการ12 คัน ขณะเดียวกันบริษัทยังสามารถขยายฐานผู้ใช้บริการครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรม 4 จังหวัด โดยมีจำนวน 27 บริษัท ได้แก่จังหวัดชลบุรี “จุดเปลี่ยนสำคัญเริ่มต้นจากการที่เรามีโมเดลทางธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เราเข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ทำให้ลูกค้าเกิดการบอกต่อไปยังนอกนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และบริษัทชั้นนำที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในนิคมจึงสนใจใช้บริการของเรา โดยเราขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปเฉลี่ยปีละ 3-4 รายจากชลบุรีไประยอง ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ฐานลูกค้าของเรากระจายทั่วภาคตะวันออกครอบคลุมหลายพื้นที่”

คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ขนส่งมวลชนมาตรฐานเอทีพี 30 สร้างมิติต่างในนิคมตะวันออก" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine
