ภายใต้คอนเซ็ปต์รีสอร์ตมอลล์ “บลูพอร์ต หัวหิน” ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน ใจกลางเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการปลายปี 2559 ด้วยมูลค่าการลงทุน 5 พันล้านบาท เป็นความร่วมมือระหว่างเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป กับบริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด ของตระกูลลิปตพัลลภ ดำเนินงานภายใต้ บริษัท หัวหิน แอสเสท จำกัด ต่อมากลุ่มเดอะมอลล์ได้ถอนตัวออกไป
ล่าสุดกำลังมีการปรับโฉมครั้งใหญ่ภายใต้การนำของ วจี กลมเกลี้ยง กรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการฝ่ายการตลาดและพันธมิตรทางธุรกิจ บจ. หัวหิน แอสเสท
“เมื่อก่อนเดอะมอลล์บริหารเราช่วย support บางอย่าง...ตอนนี้เข้ามาบริหารเต็มตัว 100% ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็หนักพอสมควร มาทำ strategy อย่างจริงจังว่าจะ move ไปไหน ปีนี้จะเห็นได้ชัด”
สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือ ลูกค้ายังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักระยะยาว โดยไลฟ์สไตล์ของลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่คือ มารับประทานอาหารเช้า ดื่มกาแฟที่คอฟฟี่คลับ เดินช็อปปิ้งหรือเดินเล่นในห้างแล้วกลับ ช่วงบ่ายหรือเย็นจะมาอีกครั้ง”
อย่างไรก็ดีนับจากเปิดให้บริการผลประกอบการของ บจ. หัวหิน แอสเสท ยังคงติดลบ
“ท่านสุวัจน์ (ลิปตพัลลภ) มองว่าห้างไม่น่าจะอยู่ได้จากการขายสินค้าอย่างเดียว ก็ให้โจทย์ไปคิดว่าควรจะทำอะไรในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่ department store หรือ supermarket เราก็มาคิดต่อว่าอะไรจะตอบโจทย์...สิ่งที่เราจะเปลี่ยนคือ ไม่ทำเป็น department store แบบเดิม”
เปิด Pop-up Store
วจี กลมเกลี้ยง เป็นลูกหม้อของพราว กรุ๊ป จบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ (เกียรตินิยม) สาขาการจัดการสถาบันโรงแรม จาก Northwood University เมือง Montreux ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และร่วมงานกับที่นี่มา 15 ปีแล้ว
“เริ่มนับหนึ่งกับทาง owner หลังทำโรงแรมเสร็จ นายให้โอกาสย้ายมาทำสวนน้ำเป็น marketing ทำได้ 2-3 ปี ย้ายมาพราว กรุ๊ป เป็น corporate ดูแลสวนน้ำ โรงแรม หาสปอนเซอร์เป็นหลัก ทำอยู่ 3 ปีนายบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายของ Bluport อยากให้ลองมาเปิดประสบการณ์ด้านศูนย์การค้า”
วจีจึงเข้ามารับผิดชอบบลูพอร์ตปี 2562 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โควิดระบาด ผู้บริหารสาวเล่าด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลว่า
“ปีแรกที่มาก็ challenge ด้วยตัวงาน และเจอวิกฤตโควิดด้วยคือ 2 เท่า...เหมือนเปิดประสบการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เราทำงานทุก BU แล้ว แต่ส่วนนี้ยังไม่เคยทำ...ไม่เบื่อเลยสักวัน เหมือนจับ skill ต่างๆ เช่น คุยกับร้านค้า เราเคยขายสปอนเซอร์มาก่อน เพียงแต่หนักหน่อยว่าทำอย่างไรให้ (ร้าน) มาเปิดที่นี่ ก็คุยกับเขาว่าอยากได้อะไร strategy ที่ใช้คือให้เขาก่อน ด้วยสถานที่เราอยู่ต่างจังหวัด traffic ไม่พลุกพล่าน”
กลยุทธ์ให้ลูกค้าทดลองเปิดป๊อปอัพสโตร์ในปี 2567 ตอนนี้เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว ลูกค้าหลายรายแสดงความจำนงที่จะเช่าพื้นที่ระยะยาว เช่น แบรนด์ Yuedpao หรือสวนสนุก Kidzooona ก็ตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
นอกจากนี้ จะปรับลดสินค้าแนวไลฟ์สไตล์จาก 40% ลดเหลือ 30% และเพิ่มสัดส่วนของอาหาร รวมทั้งจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับคนที่พาสัตว์เลี้ยงมาศูนย์การค้า
สร้างจุดขายใหม่
ไฮไลต์อีกแห่งที่เปิดกลางปีนี้คือ Museo Auto Classica พิพิธภัณฑ์รถยนต์คลาสสิก นำเสนอคอลเล็กชั่นรถยนต์วินเทจที่หาชมได้ยาก โดยมีการจัดแสดงรถรุ่นไอคอนิกจากยุคต่างๆ ที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของยานยนต์
“พอร์ตคลับ” หรือระบบสมาชิกของศูนย์การค้าเป็นอีกเรื่องที่บริษัทจัดทำขึ้นในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 20,000 ราย
นอกจากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายแล้ว ยังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ซึ่งเธอใช้คำว่า “เพื่อตอบแทนลูกค้า”
“เราอยากให้ลูกค้าได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่าจึงตั้งทีมหาพาร์ตเนอร์ พันธมิตร ตอนนี้กำลังเจาะไปตามร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม เช่น ให้รางวัล top spender 5 คน ลูกค้าอยากไปกินทานที่ร้านอาหารซึ่งจองยาก ได้มิชลิน...เราอาจจองร้านนี้ให้ หรือมี privilege ให้ว่าได้ส่วนลดเพิ่ม...ตอนนี้ที่กำลังทำคือ birthday ลูกค้ามาห้าง และ customer service รู้ว่าตรงกับวันเกิดของลูกค้าจะติดป้ายให้ พนักงานเห็นก็จะพูดว่า happy birthday หรือมี backdrop ให้ถ่ายรูปโพลารอยด์กลับไป”
โปรเจกต์ใหญ่ล่าสุดคือ ศูนย์การประชุมและจัดเลี้ยง HuaHin Convention Center (HHCC) พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ตอนบนของไทย ครอบคลุมจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร รองรับผู้ร่วมงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งได้รับมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (TMVS Certified) ในกลุ่ม category special event จากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB)
HHCC แล้วเสร็จปลายปี 2567 ใช้งบลงทุน 300 ล้านบาท และเปิดให้ใช้บริการแล้ว คาดว่าจะเริ่มรับรู้ได้ในไตรมาส 3 ของปี 2568 โดยคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายในระยะเวลา 2.5-3 ปี
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ชุติมา-นันทนัช” เรียนรู้ข้อผิดพลาดสู่ยอดขาย 1 พันล้าน