บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรรายใหญ่จากสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การเกษตร และเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีเกษตรกรรมที่ทรงอิทธิพลของโลก ที่มาลงหลักปักฐานในประเทศไทยอย่างยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร
ในประเทศไทยดำเนินการธุรกิจ 2 กลุ่มผ่าน บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด และ บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์อารักขาพืชและเมล็ดพันธุ์ผัก โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย ส่วนเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ที่จำหน่าย อาทิ ข้าวโพดหวานลูกผสม ข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสม กะหล่ำดอกลูกผสม กะหล่ำปลีลูกผสม มะเขือเทศลูกผสม แตงโมลูกผสม เป็นต้น
ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ กล้วยไม้ นุชนิยม กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด หนึ่งในธุรกิจของ “ซินเจนทา กรุ๊ป” ซึ่งก่อตั้งปลายปี 2543 โดยการควบรวมธุรกิจการเกษตรระหว่างบริษัท Novatis และ AstraZeneca มีเครือข่ายการขายครอบคลุมกว่า 100 ประเทศ พนักงานทั่วโลกกว่า 9,000 คน มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 270 ชนิด
บจ. ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันและกำจัดวัชพืช, สารป้องกันและกำจัดแมลง, สารป้องกันและกำจัดโรคพืช,สารคลุกเมล็ด, สารชีวภาพบำรุงพืช ภายใต้เครื่องหมายการค้าต่างๆ เช่น คาลารีส, โซฟิต, โซลิโต้, อีสไบออน ปีที่ผ่านมามีรายได้ 4,661,440,131 บาท กำไรสุทธิ 72,619,204 บาท เติบโต 14.34% ขณะที่ บจ. ซินเจนทา ซีดส์ (ประเทศไทย) มีรายได้รวม 3,492,328,446 บาท กำไรสุทธิ 428,113,552.00 บาท
จากธุรกิจยาสู่การเกษตร
กล้วยไม้ นุชนิยม หรือ “เกรซ” ผู้นำของ บจ. ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น เข้ามาร่วมงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2563 ก่อนหน้านี้เธอทำงานที่ บจ. ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) 13-14 ปี และธุรกิจด้านความสวยความงามอีกระยะหนึ่ง
กล้วยไม้มีประสบการณ์และทักษะในการดำเนินการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงบกำไรขาดทุน การสร้างทีมและบุคลากรที่มีความสามารถ ตลอดจนการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการสนับสนุนนโยบาย รวมทั้งชื่นชอบการทำงานเพื่อชุมชน แสดงให้เห็นผ่านโครงการต่างๆ นับตั้งแต่เป็นรองประธานมูลนิธิไฟเซอร์ ประเทศไทย ซึ่งเธอบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหลายโครงการในประเทศไทย สปป.ลาว และกัมพูชา
ที่ซินเจนทาเธอยังได้ริเริ่มโครงการ “เพาะดี กินดี” เมื่อปี 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโซลูชันที่ยั่งยืน สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร เพื่อนำอาหารที่ปลอดภัยราคาไม่แพงมาสู่ทุกครัวเรือนในประเทศไทย
จากธุรกิจยาข้ามสายมาทำธุรกิจด้านการเกษตร MD สาวบอกว่าไม่ต้องปรับตัวมากนัก เพราะลักษณะงานคล้ายคลึงกัน อยู่บนฐานของการวิจัยและพัฒนา มีขั้นตอนคือ ต้องนำยาหรือผลิตภัณฑ์ไปขึ้นทะเบียนหน่วยงานภาครัฐก่อนวางจำหน่าย รวมทั้งให้ความรู้กับผู้บริโภคหรือเจ้าของร้านค้า
สนับสนุนเกษตรปลอดภัย
“โครงการเพาะดี กินดี” ที่ผู้บริหารสาวเอ่ยถึงข้างต้น เป็นหนึ่งในโครงการที่บริษัทจัดทำขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และนำผลผลิตที่มีความปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2569 มีเป้าหมายเกษตรกร 1,200 คน จำนวน 300 ครัวเรือน พื้นที่ประมาณ 480 ไร่
บริษัททำงานร่วมกับหน่วยงานจัดหาผักสดส่งห้างสรรพสินค้า นักวิชาการ/ภาครัฐ เพื่อพัฒนาระบบเกษตรและผลักดันผลผลิตให้ผ่านมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และมูลนิธิรักษ์ไทยทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและบริหารจัดการโครงการ ส่วนบริษัทให้ความรู้ในการใช้สารอารักขาพืชและสารอาหารพืช
“ไอเดียนี้เราไม่ได้คิดเองทั้งหมด เรามีแบบอย่างจากประเทศอื่น มีการทำโครงการแบบนี้ในจีน อินโดนีเซีย เราก็เลยทำกับรักษ์ไทย”
ในการจัดทำโครงการเริ่มตั้งแต่ศึกษาว่าตลาดอยากได้ผักอะไร วิธีเพาะปลูก ขั้นตอนการดูแล บำรุงรักษา รวมถึงการหาตลาดผู้รับซื้อ เมื่อลูกค้าอยากได้ผักเคลแต่เกษตรกรไม่รู้จัก ทางบริษัทก็จัดหานักวิชาการมาให้ความรู้ ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ตลาดต้องการสัปดาห์ละ 400 กก. สัปดาห์แรกผลิตได้ 600 กก. และขยับขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดที่ผลิตได้คือ 4,000 กก. ทำเอาทีมงานวิ่งกันวุ่นเพื่อหาผู้รับซื้อ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กฤศ โกษานันตชัย รุ่น 2 “EVT” ขยายธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าคนไทย
อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine