Ajay Sharma นำไทยต่อยอดเทคโนโลยี NOKIA - Forbes Thailand

Ajay Sharma นำไทยต่อยอดเทคโนโลยี NOKIA

ประสบการณ์กว่า 25 ปี ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ทำให้แม่ทัพ NOKIA ประจำประเทศไทยและกัมพูชา มีมุมมองที่ชัดเจนต่อการเติบโตของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมทั้งในไทย อาเซียน และระดับโกลบอล 

    “Telecom Landscape เปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัด และโนเกียก็ได้ transform ธุรกิจระดับ global ไปเมื่อสองปีก่อน” Ajay Sharma ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทยและกัมพูชา ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand หลังจากเขารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในไทยและกัมพูชามาได้ไม่นาน

    สำหรับ Ajay แล้วโนเกียเป็นเสมือนบ้านหลังเดิม เพราะก่อนหน้าที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ เขาเคยทำงานกับโนเกียมาก่อนราว 10 ปี จากนั้นก็ย้ายไปอยู่บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมหลายราย ก่อนจะหวนกลับมาทำงานกับโนเกียอีกครั้ง เพื่อสร้างการเติบโตธุรกิจโนเกียในไทยและอาเซียน ซึ่งเขาบอกว่าไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี 5G นั่นหมายความว่าไทยเป็นตลาดที่มีความพร้อมในการขยายธุรกิจของโนเกีย ซึ่งให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมมายาวนาน


ไทยนำดิจิทัลอาเซียน

    โนเกียดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 30 ปี ที่ผ่านมาได้สนับสนุนการพัฒนา 2G, 3G, และ 4G ให้ความสำคัญและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรม เป็นผู้นำบริการระบบนิเวศด้าน 5G ในไทย รวมทั้งสนับสนุนการก้าวสู่ดิจิทัลของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนที่จะใช้ 5G เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ทั้งด้านเทคโนโลยี สาธารณสุข การศึกษา และคมนาคม

    แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายและการปรับตัวของโนเกีย หลังการ transform ครั้งสำคัญเมื่อสองปีก่อน ซึ่งโนเกียได้ทุ่มงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากถึง 1.3 แสนล้านยูโร (ตั้งแต่ปี 2543) และโนเกียได้เริ่มธุรกิจภายใต้โครงสร้างใหม่มาตั้งแต่ปี 2564 โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ลดการปล่อยคาร์บอน (reducing carbon emissions) คำนึงผลกระทบต่อสภาพอากาศ โดยคำนึงว่าเทคโนโลยีต้องตอบโจทย์เหล่านี้มากขึ้น

    การเน้นทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีคือคำตอบ “โนเกียมีเทคโนโลยีที่ต้องปรับตัวและเชื่อมโยงกันได้ เพราะโลกปัจจุบันไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยเทคโนโลยีเดียว” Ajay ย้ำและว่าปัจจุบันโนเกียมีเทคโนโลยีที่ครอบคลุม (complete solution) ทั้งการสื่อสาร 3G, 4G, 5G และอีกหลายเทคโนโลยี รวมทั้งได้ลงทุนในเทคโนโลยีที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก เช่น could solution และ AI ซึ่งแม่ทัพโนเกียไทยมองว่าเป็นก้าวที่เดินมาถูกทาง โดยเฉพาะการพัฒนาเน็ตเวิร์กองค์กรในแบบ vertical

    “เรามีลูกค้าหลักเช่น CSP operator มีลูกค้าองค์กร มีโครงการสมาร์ทซิตี้ ที่บ้านฉาง และอีกหลายโครงการ รวมทั้งเทคโนโลยีระดับโกลบอล GSM ซึ่งทำงานผ่าน 5G รองรับฐานลูกค้าที่มีศักยภาพ” แม่ทัพโนเกียประเทศไทย ย้ำและว่าธุรกิจที่โนเกียให้บริการมีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และโรงพยาบาล

    โนเกียมีผลงานครอบคลุมเทคโนโลยีเครือข่ายทั้ง 3G, 4G, และ 5G เทคโนโลยีโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (IP Network), เทคโนโลยีโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber GPON), คลาวด์ (Cloud) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยในปี 2563 โนเกียได้รับเลือกให้เป็นพันธมิตรกับดีแทคติดตั้งอุปกรณ์ 5G ด้วยสัญญา 3 ปีในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

    โดยนำเสนอโซลูชัน AirScale Radio Access สำหรับเครือข่าย 4G และ 5G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเครือข่ายโดยรวม ทำให้ดีแทคสามารถให้บริการ 5G ที่มีอัตราการความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงมากและมีความหน่วงต่ำมาก (Ultra-Low Latency) ซึ่ง AirScale Radio Access เป็นโซลูชัน 5G เพื่อการพาณิชย์ระดับอุตสาหกรรมตัวแรกที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ใน 5G ได้อย่างเต็มที่


    นอกจากนี้ โนเกียยังได้จับมือเอไอเอส โชว์ศักยภาพบรอดแบรนด์เร็วแรงที่สุดในเอเชีย ด้วยการทดสอบโซลูชันเครือข่ายเชิงแสงแบบพาสซีฟ 25G PON โดยร่วมกับเอไอเอสทดลองใช้งานเทคโนโลยีนี้ในไทย ด้วยการใช้ทอร์มินัลสายออพติคัล (optical line terminal: OLT) ที่มีติดตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว โดย OLT จะถูกเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ของผู้ใช้ปลายทางทั้งสามในเวลาเดียวกัน ความเร็วที่รวมกันได้มากถึง 37.5 กิกะบิตต่อวินาที สามารถทำงานร่วมกับสายไฟเบอร์ออพติกแบบ single-mode (SM) สายเดียวได้พร้อม ๆ กัน


เทรนด์โลกลดใช้พลังงาน

    Ajay กล่าวว่าการ transform โนเกียเมื่อสองปีที่ผ่านมาทำให้ทิศทางการดำเนินธุรกิจโนเกียชัดเจนขึ้น “เราโฟกัสเรื่องการแก้ปัญหาของโลก เช่นการบริโภคพลังงานที่เหมาะสม ซึ่งปัญหาที่กำลังเป็น crisis ทั่วโลก เช่นยุโรปมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าต้องการอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำ” การลดใช้พลังงานเป็นประเด็นความสนใจข้อแรก

    ประเด็นที่สอง คือ productivity เรื่องของการผลิตเมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ขึ้น ทำให้การผลิตช้าลงโนเกียมองว่าต้องแนะนำเทคโนโลยีโซลูชั่นใหม่ๆ เข้าไปในโรงงานอุตสากรรมเพื่อช่วยพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมโนเกียจึงหันมาสนใจบริการเทคโนโลยีสำหรับองค์กรเพิ่มขึ้น

    ส่วนประเด็นที่สาม คือ ความความพยามจะแก้ปัญหาที่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีพื้นฐานได้ โนเกียได้ศึกษาการทำงานร่วมกับดาวเทียมอย่าง Starlink และ T-Mobile ร่วมมือกับผู้ให้บริการดาวเทียมต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงในพื้นที่ห่างไกลจากทั่วโลก

    “เราเริ่มพูดถึงเครือข่าย 6G เทคโนโลยีที่วางแผนไว้ว่าทุกคนจะต้องเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้จากทุกที่ ถ้าเข้าจากเครือข่ายมือถือไม่ได้ก็ต้องเข้าได้จากดาวเทียม” Ajay ยกตัวอย่างโรดแมพด้านเทคโนโลยีที่กำลังเดินไปตามแผนภูมิของการขยายเครือข่าย ซึ่งเขาบอกว่า 6G อาจยังเป็นเรื่องอนาคตเพราะคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่สิ่งที่จะมาก่อนคือเทคโนโลยี 5G advance ที่คาดว่าจะมีใช้ในปี 2568


รองรับโลกเสมือนเมตาเวิร์ส

    Ajay เผยว่าในช่วงเริ่มต้นของเทคโนโลยี 5G โนเกียสะดุดไประยะหนึ่งแต่ในที่สุดก็กลับมาเท่าทันคู่แข่งได้ ทั้งนี้มาจากการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาที่ใช้งบมหาศาลมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โนเกียสามารถอัพเดทเทคโนโลยีและกิจกรรมดิจิทัลต่างๆ กระทั่งกลับมาแข่งขันในตลาดได้ 

    รวมถึงได้การยอมรับจากตลาดดูได้จากฐานลูกค้าในปัจจุบัน เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม 3 รายของประเทศเกาหลีต่างใช้อุปกรณ์ของโนเกีย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีต่างชาติเพียงรายเดียวที่เกาหลีเลือกใช้

    สำหรับเทคโนโลยีโทรคมนาคมยุคต่อจาก 5G เขาโฟกัสไปที่ 5G advance ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในปี 2568 ส่วนเทคโนโลยี 6G คาดว่าจะเปิดในปี 2573 ซึ่งโนเกียได้วางแผนเบื้องต้นไว้ว่าจะทำอะไรกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกับประเทศผู้นำทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ที่ได้เริ่มศึกษาสิ่งที่จะพัฒนาควบคู่การใช้งานกับ 6G ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจว่าประเทศเหล่านี้ตื่นตัวศึกาษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ล่วงหน้าถึง 10 ปี มากกว่าการศึกษาเทคโนโลยีอื่นๆ ก่อนหน้านี้

    ความตื่นตัวดังกล่าวสะท้อนว่าผู้คนให้ความสนใจการเชื่อมโยงธุรกิจกับเครือข่ายเทคโนโลยีที่มีประสิทภาพ โดยแต่ละประเทศมีการจัดฟอรั่มเกี่ยวกับเทคโนโลยี 6G ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ศึกษาในเรื่อง 6G โดยโนเกียทำงานร่วมกับองค์กรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โนเกียมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำด้านการศึกษาเทคโนโลยี 6G ที่จะมาเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจธุรกิจต่างๆ

    อย่างไรก็ตาม ก่อนจะก้าวสู่ยุค 6G จะต้องผ่านยุคของ 5G advance ซึ่งเข้ามาตอบโจทย์เรื่องการใช้เมตาเวิร์ส (metaverse) หรือเทคโนโยลีโลกเสมือนที่ปัจจุบันยังต้องใช้กล้องหรือแว่นวีอาร์เพื่อดูการเคลื่อนไหว และคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส โดยโนเกียได้ศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับเมตาเวิร์ส และยังศึกษาความพร้อมการใช้เมตาเวิร์สมากกว่าการใช้เพื่อความบันเทิง


    “เราดูเรื่องเมตาเวิร์สสำหรับองค์กรและสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งมีความแตกต่างจากเมตาเวิร์สสำหรับผู้บริโภคทั่วไปซึ่งพูดถึงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แว่นที่ใช้ เกมที่เล่น เครือข่ายที่ใช้” Ajay ย้ำว่าเมตาเวิร์สสำหรับองค์กรจะใช้ข้อมูลมากกว่าลงลึกในรายละเอียดมากกว่า ซึ่งโนเกียพร้อมให้บริการสำหรับเมตาเวิร์สอุตสาหกรรม 

    “เราสามารถ digitize และซัพพอร์ตเทคโนโลยีที่เหมาะสม สำหรับการทำเมตาเวิร์สเพื่ออุตสาหกรรมซึ่งใช้ข้อมูลและเน็ตเวิร์คที่ใหญ่กว่า” แม่ทัพโนเกียไทยกล่าวและว่า ข้อมูลที่สร้างขึ้นเพื่อการใช้งานจะต้องเชื่อมโยงเมตาเวิร์สได้ทั้งสำหรับบุคคลและอุตสาหกรรม 

    เมตาเวิร์สสำหรับองค์กร เช่น สำนักงาน เขายกตัวอย่างว่า “ในอนาคตเราอาจไม่ต้องมาอยู่ห้องนี้ด้วยกันก็ได้ อยู่คนละที่แต่พูดคุยได้เหมือนอยู่ผ่านภาพโฮโลแกรม 3 มิติที่ลอยขึ้นมาเหมือนนั่งอยู่ตรงหน้า” เขาย้ำว่าเมตาเวิร์สสำหรับอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน จะมีการสร้างเมืองหรือโรงงานในโลกเสมือนขึ้นมา 

    โดยที่คนไม่ต้องเดินทางไปในสถานที่จริง และในโรงงานอุตสาหกรรมก็สามารถรีโมทการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ ได้แบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องไปประจำอยู่ที่โรงงาน

    สำหรับประเทศไทยมีการพูดเรื่องเมตาเวิร์สมาสักระยะหนึ่ง แต่ Ajay บอกว่าเทคโนโลยีเมตาเวิร์สในไทยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ยังเป็นขั้นเริ่มต้น มีการใช้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่มีสำหรับอุตสาหกรรม 

    อย่างไรก็ตามโนเกียมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยี และมองว่าไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างพร้อม เนื่องจากเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่เปิดใช้ 5G โดยมีผู้ใช้เกือบ 10 ล้านคนในปัจจุบัน และประชากรไทยก็เป็นผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียอันดับต้นๆ ของโลก โนเกียมองว่าไทยค่อนข้างพร้อมสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ


ภาพ: API


อ่านเพิ่มเติม: ชญณา ศิริภิรมย์ Sompo ถอดสมการประกันดิจิทัล


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine