โฆษิต สุขสิงห์ หลอมรวม “ไทยเบฟ” ยั่งยืนจากภายใน - Forbes Thailand

โฆษิต สุขสิงห์ หลอมรวม “ไทยเบฟ” ยั่งยืนจากภายใน

บริษัทเครื่องดื่มครบวงจรแถวหน้าของไทยที่มีรายได้รวมปี 2561 กว่า 2.3 แสนล้านบาท แต่การวัดผลความสำเร็จของไทยเบฟกลับไม่ได้มองแค่ตัวเลข หากแต่เป้าหมายสำคัญที่ผู้บริหารสูงสุดไทยเบฟตั้งไว้ คือทำอย่างไรให้องค์กรยั่งยืนได้มากที่สุด

การเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าหลักทำให้ไทยเบฟก้าวเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่สิงคโปร์ เนื่องจากช่วงที่เตรียมนำกิจการเข้าตลาดฯ นั้นมีกระแสต่อต้านบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคของการเติบโต เพราะหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์กิจการของไทยเบฟก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดผลประกอบการในปี 2561 ไทยเบฟมีรายได้รวมสูงกว่า 2.3 แสนล้านบาท มองในแง่ผลประกอบการถือว่าเป็นองค์กรที่เติบโตสูง ทว่าสิ่งที่เติบโตควบคู่ไปกับผลประกอบการคือการสร้างความยั่งยืนทั้งต่อธุรกิจและสังคม เป็นอีกมุมที่ไทยเบฟต้องการจะสื่อว่าธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาลนี้มีการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน ควบคู่ตลอดมา “ท่านประธาน (เจริญ สิริวัฒนภักดี) พูดตลอดเวลาว่า บริษัทแรกที่ท่านจัดตั้งเป็นบริษัทจัดซื้อและท่านก็เป็นคนแรกๆ ในประเทศที่จัดตั้งบริษัททำเรื่องรีไซเคิล ปรัชญาการทำงานเรื่องความยั่งยืนอยูในไทยเบฟมานานมากก่อนก่อตั้งไทยเบฟด้วยซ้ำ” โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เริ่มบทสนทนาแรกในฐานะผู้บริหารสูงสุดธุรกิจเบียร์ประเทศไทย กับทีมงาน Forbes Thailand ที่นัดพูดคุยแบบสบายๆ สำหรับคอลัมน์ Dine With The Boss ฉบับนี้ด้วยการนำเสนอเรื่องธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรของไทยเบฟ ซึ่งแน่นอนสินค้าหลักคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุราและเบียร์ โฆษิตบอกว่า เรื่องผลประกอบการคงทราบกันอยู่แล้ว อาจไม่ต้องพูดถึงมากนัก แต่สิ่งที่เขาอยากสื่อให้สังคมได้รู้มากขึ้นคือ แนวทางการทำธุรกิจบนหลักคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยเบฟยึดปฏิบัติมาตั้งแต่ทำธุรกิจแรกๆ ก่อนตั้งบริษัทไทยเบฟซึ่งมีอายุ 15 ปี แต่ธุรกิจของกลุ่มมีอายุยาวนานกว่านั้นมากโดยเบียร์ช้างครบ 25 ปีในปี 2563 และหากเป็นกลุ่มสุราเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2518 หรือมากกว่า 44 ปี “เรื่องความยั่งยืนเราทำมานานแล้วก่อนตั้งไทยเบฟด้วยซ้ำ” โฆษิตย้ำ และว่าไม่เฉพาะไทยเบฟแต่หมายถึง “กลุ่มไทยเบฟ” ที่ประกอบด้วยกิจการในเครือ 138 บริษัท เป็นนโยบายร่วมขององค์กรที่มุ่งพัฒนาความยั่งยืน โดยเน้นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารทรัพยากรธรรมชาติสังคม ธรรมาภิบาล การพัฒนาบุคลากรองค์กร และวัฒนธรรมองค์กร เพื่อการพัฒนาด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน  

อันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนโลก

นอกจากเราเน้นเรื่องความยั่งยืนเป็นนโยบายหลักแล้ว ไทยเบฟยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่ม DJSI World ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets หรือกลุ่มดัชนีความยั่งยืนในตลาดเกิดใหม่เป็นปีที่ 3 และถูกคัดเลือกให้เป็น Industry Leader ซึ่งมีเพียง 60 บริษัทระดับโลกจาก 24 ประเภทอุตสาหกรรม โดยไทยเบฟก้าวขึ้นมาเป็นที่ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปี 2561 “การได้อันดับ 1 แปลว่าในทุกๆ มิติที่เขามองทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามีและยังมีข้อ 4 คือเรื่องของวัฒนธรรม ที่เราเชื่อมต่อสังคมเราทำได้ดีกว่าคนอื่นในทุกมิติ” ผู้บริหารไทยเบฟยืนยันและว่า ถึงแม้ไม่ได้เข้าร่วมกับ DJSI World ไทยเบฟก็ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนอย่างเต็มที่อยู่แล้วผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดหลายปี “แนวทางการพัฒนาความยั่งยืน เราเน้นตอบโจทย์คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งไทยเบฟกำหนดชัดเจนว่าเรามี 8 เรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งพนักงานก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แปลว่าเราต้องจัดการประโยชน์และคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบทุกส่วนถึงจะทำความยั่งยืนได้อย่างสมบูรณ์” โฆษิตอธิบายคร่าวๆ พร้อมยกตัวอย่างสิ่งที่บริษัทได้ดำเนินการและเห็นผลชัดเจน คือการบริหารจัดการเรื่อง “น้ำ” เพราะไทยเบฟเป็นบริษัทเครื่องดื่มแน่นอนต้นทุนย่อมมาจากน้ำ หลายคนอาจมองว่าเมืองไทยน้ำเยอะแต่การบริหารจัดการน้ำที่ดีถือเป็นโจทย์สำคัญในเชิงธุรกิจ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมกับสังคมโดยรอบ การบริหารเรื่องน้ำไม่ใช่แค่ปริมาณน้ำที่มีแต่ต้องมองด้วยว่าสภาพของน้ำเปลี่ยนไปขนาดไหน ทุกคนจะมองว่าแม่น้ำมีน้ำไหลมาทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่คนบริหารความยั่งยืนต้องคิดคือต้นทุนเปลี่ยนไปหรือยัง มีชุมชนไปตั้งมากขึ้นไหม มีโรงงานไปตั้งมากขึ้นหรือเปล่า ทิศทางการไหลของน้ำวันนี้ไหลไปแล้วไปผ่านอะไรมาบ้าง แปลว่าคุณภาพของน้ำก็เปลี่ยนไปสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเชิงเทคนิคซึ่งนำมาใช้ในการมองมุมภาพใหญ่ขึ้น มองว่าจะสามารถทำอย่างไรให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบได้ประโยชน์ทำให้ชุมชนรู้สึกว่าการอยู่ใกล้โรงงานไทยเบฟไม่ได้มีแค่ผลเสียแต่มีผลดีด้วย “หลักการง่ายๆ เราเอามาเท่าไรเราก็ต้องเอาคืนกลับไปเท่านั้น” นี่คือวิธีคิดแบบยั่งยืนกับธรรมชาติและชุมชนในเรื่องของวัตถุดิบการผลิต  

ตระหนักเรื่องความยั่งยืน

ส่วนการจัดอันดับที่ได้จาก DJSI ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องตอกย้ำความสำเร็จในการตระหนักเรื่องความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัททำอยู่แล้ว “โจทย์ของเราไม่ได้ต้องการรางวัลจาก DJSI โจทย์คือต้องการให้ทีมงานใส่ใจการจัดการบริหารความยั่งยืน ท่านประธานของเราพูดชัดเจน โจทย์คือทำอย่างไรให้ไทยเบฟอยู่ได้เป็นร้อยปี บริษัทเมืองไทยที่มีอายุเกินร้อยปีมีอยู่ไม่กี่บริษัท” เป็นเป้าหมายลึกๆ ในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร โดย DJSI เป็นตัววัดความสามารถของบริษัทแต่องค์ประกอบในการสร้างความยั่งยืนไทยเบฟไปไกลมาก มีการให้หน่วยธุรกิจแข่งกันเองนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ ซึ่งตอนหลังเมื่อพูดถึงความยั่งยืนเหมือนไปตอบโจทก์ธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม “ปีที่ผ่านมาเราพลิกกลับมาเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมก่อน โดยโลกต้องยั่งยืน ชุมชนยั่งยืน แล้วธุรกิจถึงจะยั่งยืน” แต่การปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนก็ไม่ง่ายนัก โฆษิตเผยว่าการที่ไทยเบฟมีพนักงานกว่า 5-6 หมื่นคน ผู้บริหารมีภารกิจต้องให้แนวคิดในทุกดีเอ็นเอเชื่อในหลักที่ว่า โลกยั่งยืนสังคมยั่งยืน บริษัทยั่งยืน และพนักงานก็จะยั่งยืน โจทย์นี้ก็เป็นโจทย์ยากในการที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจ และสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ “มันไม่ใช่เรื่องบริษัทอย่างเดียวนะครับ แนวคิดเหล่านี้คุณเอาไปใช้ที่บ้านไปทำได้ในหลายๆ เรื่องมาก ผมว่าโจทย์ที่ยากคือส่วนนั้น จะทำให้พนักงานเองเป็นแอมบาสเดอร์ ส่งต่อแนวคิดนี้ได้อย่างไร” ล่าสุดไทยเบฟได้ทำสิ่งที่เรียกว่า “Thaibeve Success Academy” คือสร้างสถาบันการศึกษาขึ้นมาเพื่อที่จะใช้เป็นเบ้าหลอมพนักงาน ส่วนหนึ่งไปแตะเรื่องกระบวนการทำงานด้วยวิธีคิด และต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ซีเอสอาร์ แต่เป็นเรื่องความยั่งยืนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้แนวคิดในเชิงธุรกิจของพวกเขาเปลี่ยนไป  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "โฆษิต สุขสิงห์ หลอมรวม “ไทยเบฟ” ยั่งยืนจากภายใน" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine สรพหล นิติกาญจนา