เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กับภารกิจทรานส์ฟอร์ม Philips ให้เป็นมากกว่าแสงสว่าง - Forbes Thailand

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กับภารกิจทรานส์ฟอร์ม Philips ให้เป็นมากกว่าแสงสว่าง

ยามเมื่อคลื่น Digial Disruption โหมกระหน่ำ ธุรกิจหลอดไฟฟ้าและแสงสว่างเป็นธุรกิจหนึ่งที่ถูก “disrupt” อย่างรุนแรงจากคลื่นการปฏิวัติทางเทคโนโลยี Philips ซึ่งเป็นผู้นำตลาดหลอดไฟฟ้าและแสงสว่างไทยมาถึง 66 ปี ถือเป็นองค์กรที่มีการปรับตัวขนานใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่การแยกธุรกิจดูแลสุขภาพ (Personal Healthcare) และผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค (ConsumerHealth & Well-being) ออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ฟิลิ-ปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คงเหลือเพียงธุรกิจหลอดไฟฟ้าและแสงสว่างอยู่ภายใต้ร่มของบริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด  เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เขากำลังวางบิสิเนสโมเดลใหม่ที่ผันตัวจากการขายโปรดักต์ “แสงสว่าง” ไปสู่การเป็น “เทคโนโลยี คัมพานี” ที่มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าด้วย “โซลูชั่น” และวางเป้าเป็นเบอร์ 1 ในตลาด IoT Lighting ให้ได้ เฉลิมพงษ์เริ่มภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรในทันทีที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยการปรับโครงสร้างกำลังคนจน 1 ใน 3 ของพนักงาน และ 40% ของทีมผู้บริหารสูงสุดในปัจจุบันเป็นเลือดใหม่จากอุตสาหกรรมอื่น
หลอดไฟฟิลิปส์ (photo credit: powerengineeringint.com)
เขากล่าวว่า Philips Lighting ในอนาคตจะต้องโตไปกับกระแสของ IoT ซึ่งต้องอาศัย “skill sets” ใหม่ “ผมตั้งเป้าภายในปี 2563 ไม่เกิน 2564 ยอดขาย 1 ใน 3 ต้องมาจาก ‘Connected Lighting’ ดังนั้นในอนาคตบ้านเราสิ่งที่มันจะโตคือเรื่องของโปรเจกต์ ไม่ใช่เรื่องของคอนซูเมอร์แล้ว” เขากล่าว สู่ยุค “IoT Lighting” ในด้านลบ การเปลี่ยนผ่านสู่แอลอีดี ได้ “disrupt” ธุรกิจ ทำให้รายได้จากฝั่งคอนซูเมอร์หดหายไปอย่างมากเนื่องจากการแข่งขันตัดราคา และอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า 5-10 เท่าของหลอดแอลอีดี  ทว่าในอีกด้านหนึ่ง แอลอีดีซึ่งเป็นดิจิทัลเทคโนโลยี ได้เปิดโอกาสใหม่ให้ฟิลิปส์เข้าสู่การเป็นมากกว่าผู้ให้แสงสว่าง อาทิ การให้บริการรับ-ส่งข้อมูลหรือที่เรียกว่า “LiFi” (Light Fidelity) ซึ่งคือโซลูชั่นการรับ-ส่งข้อมูลด้วยแสง ที่บริษัทหวังว่าจะเข้ามาท้าทายเทคโนโลยี Wi-Fi ที่เป็นการรับ-ส่งข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุ “อีกหน่อยเราไม่ได้เป็น Lighting Company อย่างเดียว เราจะเป็น Data Company ด้วย ข้อดีของแสงที่หลายระบบไม่มีคือมันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง” เขากล่าว นอกจากรับ-ส่งข้อมูลแล้ว คลื่นแสงยังสามารถนำไปใช้เป็นตัว detector เช่นตรวจจับอุณหภูมิ วัดปริมาณ หรือ mobility ของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทำให้ฟิลิปส์เห็นโอกาสในการบุกเบิกตลาดใหม่ๆ เช่น ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สนามบิน ฯลฯ
คลื่นแสงนำไปใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีได้ เช่น เป็น Li-Fi รับส่งข้อมูลด้วยแสงแทน Wi-Fi ที่เป็นคลื่นวิทยุ หรือนำมาเป็น detector ตรวจวัดความเคลื่อนไหว ทำให้ใช้แทนจีพีเอสภายในอาคารได้แม่นยำกว่า (photo credit:smartcitiesworld.net)
“อีกตัวอย่างที่ตื่นเต้นมาก คือการใช้แสงเหมือนเป็นจีพีเอสภายในอาคาร ผมป้อนไอพีแอดเดรสให้กับไฟแต่ละจุด สมมติในซูเปอร์มาร์เก็ต ไฟที่อยู่เหนือศีรษะเราเวลาเดินช็อปฯ ถ้าผมมีแอพฯ ที่มี store layout ว่าเราอยู่ตรงไหน แล้วผมให้ไลท์ติ้งจดจำไอพีไว้ ก็จะรู้เป๊ะๆ เลยว่าเราอยู่ตรงไหนของห้างฯ” “เพราะฉะนั้นในอนาคตเวลาอยากเดินไปซื้อแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ไม่ต้องเดินงมแล้วครับว่ามันอยู่ล็อกไหน ให้ไอ้นี่มัน navigate เราไปเลย ดูจากมือถือจะบอกเลยว่าอยู่ตรงไหนแล้วต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา” เขากล่าว จากความสำเร็จในการทดลองใช้ระบบนี้ซึ่งเฉลิมพงษ์กล่าวว่ามีความแม่นยำในระดับบวกลบ 30 เซนติเมตร มากกว่าระบบจีพีเอส ก่อนหน้านี้เขาเพิ่งประสบความสำเร็จในการปิดดีลติดตั้งและปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างอัจฉริยะให้กับสนามลู่ปั่นจักรยานเจริญสุขมงคลจิต (Sky Lane) ซึ่งได้กลายเป็นลูกค้า outdoor ที่ใช้ smart lighting solutions ของฟิลิปส์รายแรกในไทย  โดยมีการปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างรอบลู่ปั่นจำนวนทั้งหมดกว่า 1,000 จุดให้เป็นเสาไฟอัจฉริยะที่ควบคุมได้จากส่วนกลางผ่านระบบ 3G
เสาไฟอัจฉริยะ สามารถสื่อสารด้วยระบบ 3G ควบคุมโดยระบบส่วนกลางได้ว่าเครื่องไหนมีปัญหาต้องการการซ่อมแซม ติดตั้งในไทยครั้งแรกที่ลู่ปั่นจักรยาน Sky Lane สนามบินสุวรรณภูมิ (photo credit: Post Today)
“ในอนาคตถ้ามีระบบนี้ มันรายงานได้เรียลไทม์และทำได้แม้กระทั่งสมมติว่าไฟดวงนี้ในซอยนี้ดับ ก็จะส่งสัญญาณกลับมาที่ศูนย์ให้ทราบว่าแอเรียนี้ อำเภอนี้ ตำบลนี้ (ไฟดับและสามารถ) ส่งอีเมลหรือข้อความไปบอกช่างว่าเสาไฟต้นที่ เอ บี ซี ดับอยู่ให้ออกไปซ่อมเถอะ” อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่าในประเทศไทยยังมีอุปสรรคที่ระบบการประมูลภาครัฐไม่อนุญาตให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประมูลที่มีอยู่เพียงรายเดียว ในขณะที่ฟิลิปส์เป็นผู้ผลิตโซลูชั่นนี้แต่ผู้เดียวในปัจจุบัน Smart Home Solutions จุดเปลี่ยนตลาดคอนซูเมอร์ อายุการใช้งานของหลอดแอลอีดีที่ยาวนานกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ 5-10 เท่า ทำให้ตลาดทดแทนของผู้ผลิตทุกแบรนด์หดหายไปแทบจะหมดสิ้น อย่างไรก็ตามฟิลิปส์ตั้งความหวังว่าการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เป็น smart device จะช่วยพลิกฟื้นตลาดได้ “เมื่อมี smart (โซลูชั่น) คนอาจจะเริ่มเปลี่ยนวิธีการใช้ไฟ เหมือนกับวิธีการใช้มือถือ เราไม่เคยรอให้มันพังแล้วเปลี่ยน แต่เราเปลี่ยนเพราะมีลูกเล่นใหม่ รุ่นใหม่” เฉลิมพงษ์กล่าว เพื่อชิมลางตลาดนี้ ฟิลิปส์ได้เปิดตัว “ฮิว” ซึ่งเป็นชุด “แก็ดเจ็ต” หลอดไฟที่สามารถควบคุมด้วยแอพพลิชั่นและเสียงในตลาดไทยเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา และสามารถสร้างยอดจำหน่ายได้ 3 เท่าของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 
แก็ดเจ็ต “ฮิว” ควบคุมแสงไฟด้วยแอพพลิเคชั่น สามารถปรับสีที่ต้องการได้อย่างใจ 
อย่างไรก็ตามเฉลิมพงษ์กล่าวว่าตลาด smart lighting ในบ้านจะเกิดได้อย่างจริงจัง คงต้องรอให้มีแพลตฟอร์มกลาง หรือ Smart Home Solutions สำหรับระบบต่างๆ ในบ้านเกิดขึ้นก่อน ซึ่งมีข่าวว่า Amazon จะนำเอาโซลูชั่นดังกล่าวที่เรียกว่า Alexa เข้ามาตลาดไทยในปีหน้า ฟิลิปส์คาดว่าตลาดแสงสว่างในประเทศซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทจะเติบโต 2.8-3% ในปีนี้ ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่โต 3% เนื่องจากนโยบายภาครัฐในการลงทุนปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเริ่มมีความก้าวหน้า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด รายงานกำไรสุทธิ 696.83 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าตัวจากปีก่อนหน้าซึ่งมีกำไรสุทธิ 154.30 ล้านบาท แม้ว่ายอดรายรับจะลดลงจาก 9.15 พันล้านบาทในปี 2558 เป็น 5.32 พันล้านบาทในปี 2559 เนื่องจากมีการแยกธุรกิจดูแลสุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคออกเป็นอีกบริษัทหนึ่งดังกล่าวข้างต้น
หมายเหตุ: รายได้ปี 2559 ของฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ ลดลงมากเนื่องจากมีการแยกธุรกิจดูแลสุขภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคออกไปเป็นบริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) 
มองไปข้างหน้าเฉลิมพงษ์มองว่าโจทย์ยากที่สุดของเขามี 2 ประการ อย่างแรกคือการพัฒนาคนในองค์กรให้มีความเข้าใจรูปแบบใหม่ของธุรกิจ สองคือการทำความเข้าใจกับลูกค้าถึงประโยชน์ที่มากกว่าแสงสว่าง นอกจากนี้ เขามองภาพในอนาคตที่ฟิลิปส์จะมี “recurring income” จากการให้บริการคล้ายๆ กับการขายประกัน Apple Care ของบริษัท Apple “ตอนนี้เรามองแม้กระทั่งในอนาคตเราจะให้เช่าไฟ สมมติว่าผมเซ็นสัญญากับลูกค้า 10 ปี สิ่งที่ผมการันตีคือคุณต้องได้แสงแบบนี้ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี แล้วผมคิดเงินคุณเป็นเดือน เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้ถือสินทรัพย์ แต่สิ่งที่เขาจ่ายคือการใช้ไฟ เหมือนกับเครื่อง Xerox ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เราไปใช้บริการ” เฉลิมพงษ์กล่าวสรุปตบท้าย   ภาพประกอบ: มังกร สรพล [หมายเหตุ: บทความนี้ทำการสัมภาษณ์ก่อนที่เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ จะย้ายไปเป็น รองประธาน ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561]
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กับภารกิจทรานส์ฟอร์ม Philips ให้เป็นมากกว่าแสงสว่าง" ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine