เขมทัตต์ พลเดช สร้าง 1 ปีที่เหลือให้ MCOT ยั่งยืนด้วยกำไร - Forbes Thailand

เขมทัตต์ พลเดช สร้าง 1 ปีที่เหลือให้ MCOT ยั่งยืนด้วยกำไร

เส้นทางชีวิตของ เขมทัตต์ พลเดช ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท หรือ MCOT คนปัจจุบัน ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้บางครั้งเขาจะไม่ได้เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง แต่ก็มักมีคนมาเสนอโอกาสแบบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น สิ่งที่เขายึดมั่นอยู่เสมอคือ การทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด

การเดินทางของเขมทัตต์ก่อนก้าวมาสู่ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนที่ 14 ของบริษัท อสมท จำากัด (มหาชน) องค์กรสื่อของรัฐที่แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่องค์กรแห่งนี้มาแล้วในสมัยที่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และต้องถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของอสมท เพราะสร้างรายได้และกำไรเติบโตอย่างมาก แต่หากย้อนไปไกลกว่านั้น หลังจบการศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเกือบจะได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่นี้ด้วยซ้ำ

เก็บเกี่ยวประสบการณ์

หลังเป็นบัณฑิตป้ายแดงเขมทัตต์ยื่นใบสมัครที่ช่อง 9 อสมท ทันที เพราะอยากทำงานด้านวิทยุโทรทัศน์ที่ได้เรียนมา แต่ก็ไม่ได้การตอบรับ ขณะเดียวกันก็สมัครที่กรมประชาสัมพันธ์ไว้ด้วย ที่นี่เขาได้งานตามที่หวังและถูกส่งไปอยู่ช่อง 10 หาดใหญ่ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเริ่มต้นตั้งสถานี ในยุคนโยบาย 66/33 ให้คอมมิวนิสต์จากป่าคืนสู่เมืองเขาไฟแรง ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทำข่าวกับทหาร ถ่ายเอง เขียนเอง ถือว่าได้ใช้วิชาที่เรียนมาครบ เขมทัตต์ทำงานที่ช่อง 10 หาดใหญ่อยู่ประมาณ 1 ปีครึ่ง ด้วยเงินเดือนประมาณ 3,500 บาท ซึ่งเขาไม่เคยพอใช้ ต้องขอแม่เพิ่มทุกเดือน แต่ด้วยเป็นคนหนุ่มไฟแรงยังคงสู้ทำงานต่อไป สถานการณ์ทางใต้ตอนนั้นยังคงรุนแรง วันหนึ่งมีเฮลิคอปเตอร์ถูกยิงตกแม่เลยอยากให้กลับ พอดีเพื่อนโทรมาชวนให้ไปทำางานที่ธนาคารกสิกรไทยในฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมัยนั้นได้เงินเดือนหมื่นกว่าบาท ถือว่ามากพอสมควร จึงตัดสินใจทำงานที่กสิกรไทย และอยู่มานานถึง 9 ปี เขาเล่าว่า การทำงานที่กสิกรไทยได้เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองในการทำงานใหม่การทำงานอย่างมีระบบแบบ 360 องศาได้เรียนรู้การทำกิจกรรม การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร การสร้างแบรนด์ และช่วงที่เข้าทำงานเป็นยุครี-เอ็นจิเนียริ่งการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการทำงาน ถือว่าได้เรียนรู้ในยุคที่ธนาคารกำลังก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่แล้วชีวิตก็ต้องเจอกับความพลิกผันอีกครั้งการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงมักเกิดจากแรงบันดาลใจเป็นหลัก เช่นเดียวกับที่เขาได้แรงบันดาลใจจากนักโฆษณาคนหนึ่ง ที่หิ้วกระเป๋าใบเดียวเข้ามาในบริษัทลูกค้า แต่สามารถได้เงิน 400 ล้านบาทกลับออกไปด้วยเป็นการจุดประกายให้เขาสนใจใคร่รู้ และเปลี่ยนชีวิตการทำงานอีกครั้งกับบริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด บริษัทโฆษณาของคนไทยในเครือบริษัทโอสถสภา ที่นี่ทำให้เขารู้จักระบบนิเวศของมีเดียอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการออกมาเป็นภาพยนตร์โฆษณาทางสื่อโทรทัศน์เขมทัตต์ทำงานบริษัทโฆษณาหลายปีจนเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง หลายแห่งเผชิญกับความลำบาก และเครือสปา แอดเวอร์ไทซิ่ง ก็ปิดบริษัทไป 20 กว่าแห่งเพื่อลดต้นทุน จังหวะนี้เอง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท และได้ชวนเขามาทำงานด้วย โดยมอบหมายให้ดูแลด้านงานขายและการตลาดทั้งหมด และช่วยกันปรับเปลี่ยนอสมทจากองค์กรสื่อของรัฐมาสู่ยุคใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนชื่อช่อง 9 อสมท

สู่ “โมเดิร์น-ไนน์ ทีวี” สู่บ้าน “อสมท”

ช่วงที่อยู่อสมทครั้งแรก เขมทัตต์ดูแลด้านการตลาดและวิทยุ เป็นช่วงที่ดึงวิทยุทั้งหมดของอสมทมาบริหารเอง พร้อมกับสร้างแบรนด์สถานีวิทยุ เช่น ลูกทุ่งเอฟเอ็มซี้ดเอฟเอ็ม เป็นต้น การจัดแคมเปญ “คนพันธุ์อาร์” ร่วมกับกรมอาชีวศึกษา พัฒนาบุคลากรระดับอาชีวะทั่วประเทศ อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่แรกว่าช่วงนี้เป็นยุคทองของ อสมท ที่มีการเติบโตทั้งรายได้และกำไรอย่างมาก แต่ “อสมท” ยังคงหนีไม่พ้นการถูกครอบงำจากการเมือง มีมือที่มองไม่เห็นทำให้อสมทกลับสู่แดนสนธยาอีกครั้ง หลังมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่อสมท เขมทัตต์ตัดสินใจลาออกและหวนกลับสู่อุตสาหกรรมโฆษณาอีกครั้ง และตั้งใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง เนื่องจากโหมทำงานหนักมาตลอดชีวิต แต่ท้ายสุดก็ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจเนื่องจากได้รับงานเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล PPTV ช่อง 36 ซึ่งถือเป็นงานที่หนักเพราะต้องแข่งขันกับทีวีดิจิทัลกว่า 20 ช่อง ในช่วงเริ่มต้น ผู้บุกเบิกอย่างเขาต้องวางตำแหน่งทางการตลาดของช่องให้ดูมีราคาและคุณค่าในเวลาเดียวกันทั้งยังต้องเติมเต็มเวลาออกอากาศด้วยรายการคุณภาพทั้งไทยและเทศ พร้อมๆ กับมองหาลิขสิทธิ์รายการระดับโลก อาทิ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซีรีส์เกาหลี มาสร้างจุดแข็ง เขาอยู่ที่นี่ได้ 3 ปีจนครบวาระจากนั้นวางแผนไว้ว่าจะพักยาว เพื่อดูแลสุขภาพอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ก็มีเหตุให้ต้องกลับมาอสมท อีกครั้ง หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่นี่ เมื่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนเก่าลาออก เขมทัตต์จึงมาสมัครในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แต่การกลับมาคราวนี้อยู่ในช่วงที่อสมทไม่มีเงิน และเผชิญกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันที่รุนแรงของทีวีดิจิทัล ที่ทำให้อสมทขาดทุนกว่า 2 พันล้านบาท ดังนั้นการกลับมาครั้งนี้จึงไม่ใช่งานง่าย แต่เขากลับมองว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง “อยากลองดูอีกสักตั้ง เป็นความตั้งใจส่วนตัวว่า อยากช่วยองค์กรแห่งนี้ เหมือนกับได้ช่วยชาติ เพราะอสมทถือเป็นองค์กรสื่อของรัฐ อยากทำให้ทุกคนรู้สึกภูมิใจ และผลักดันให้อสมทเป็นองค์กรสื่อที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ เช่นเดียวกับบีบีซีของอังกฤษ หรือ ซีซีทีวีของจีน” สิ่งแรกหลังจากเขากลับมาดำรงตำแหน่งที่อสมทอีกครั้ง คือ “หยุดเลือดไหล” เพราะอสมทเผชิญกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง มีแต่เงินไหลออก ไม่มีเงินไหลเข้า เขาจึงต้องดำเนินการลดค่าใช้จ่ายก่อนเป็นอันดับแรกขณะเดียวกันค่อยๆ เพิ่มคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้าไปเพื่อสร้างรายได้ จากขาดทุนประมาณ 2 พันล้านบาทก่อนหน้านี้ ลดเหลือ 300 ล้านบาทในปี 2561 และปีนี้น่าจะ “ฟื้นตัว” แต่จะมีกำไรหรือไม่ ต้องดูในช่วง 3 เดือนสุดท้ายในปี 2562

ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของอสมทเริ่มฟื้นตัว

บริษัทมีการเจรจากับผู้ผลิตหลายรายให้กลับมามากขึ้น หลายรายยินดีกลับมารับความเสี่ยงและรายได้ร่วมกันซึ่งทำให้เรตติ้งเริ่มฟื้น พร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินโฆษณา อย่างไรก็ตามการดำาเนินการเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำาให้อสมทอยู่รอดได้ในอนาคต เขาจึงเสนอแผน “MCOT CHANGE” การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อรับมือกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ธุรกิจสื่อหลักหรือสื่อดั้งเดิม 2. ธุรกิจดาต้าอินฟอร์เมชั่น และ 3. การบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะที่ดิน อนาคต อสมท ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก การปรับโครงสร้างธุรกิจจะทำให้อสมทสามารถรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ในหลายๆ ปัจจัย อย่างไรก็ตามการจะผลักดันองค์กรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ จะสำเร็จไม่ได้ ถ้าบุคลากรในองค์กรไม่เปลี่ยนแปลง บุคลากรต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสื่อ นี่คือภารกิจอีกกว่า 1 ปีที่เหลือจากเทอม 4 ปี สำหรับ “เขมทัตต์” ที่จะวางรากฐานอนาคต อสมท ให้ไปสู่องค์กรสื่อยุคใหม่ที่ต้องเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ พร้อมๆ กับยึดมั่นในวิชาชีพและผลกำไรที่เติบโตอย่างยั่งยืนและโดดเด่น เขาจะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ พวกเราต้องติดตาม อย่างน้อยในครึ่งปีแรกในปีนี้ อสมท มีกำไรไปแล้ว 255 ล้านบาทซึ่งนับเป็นเรื่องดี และเป็นผลงานในเทอมของเขา
คลิกอ่านฉบับเต็ม “เขมทัตต์ พลเดช สร้าง 1 ปีที่เหลือให้ MCOT ยั่งยืนด้วยกำไร” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine