สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ขับเคลื่อน BTS ครองผู้นำ - Forbes Thailand

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ขับเคลื่อน BTS ครองผู้นำ

ฉากชีวิตการทำงานในแวดวงรถไฟฟ้าที่กินเวลาถึง 25 ปี จากคำบอกเล่าของ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) วัย 56 ปี เกิดขึ้นระหว่างอาหารมื้อเช้ากับ Forbes Thailand ที่ห้องไลบรารี่ โรงแรม ยู สาทร กรุงเทพฯ (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในกิจการของเครือ BTS) ที่ตัวเขาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ พร้อมกับจิบชาร้อนกลิ่น Earl Grey ไปด้วย

ตลอดการสนทนา ประตูที่เปิดให้สุรพงษ์เข้าสู่สายงานด้านระบบขนส่งมวลชน (mass transit) เริ่มจากความสนใจที่จะเลือกทำวิจัยด้านระบบขนส่งมวลชนหรือ transport model เมื่อครั้งที่ศึกษาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนได้รับการเสนองานจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม ให้ทำหน้าที่วิศวกรที่ปรึกษาเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน กระทั่งเมื่อ บมจ.ธนายง (TYONG) ซึ่งเป็นบริษัทดั้งเดิมของกลุ่ม บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่ก่อตั้งโดย คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTS สามารถประมูลงานสร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้าแห่งแรกให้แก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่สุรพงษ์ทำงานอยู่ทำข้อเสนอให้แก่ กทม. จากจุดนี้เองที่ปูทางให้สุรพงษ์ได้ผันสถานะ มารับหน้าที่ Transport Team Leader ของ BTSC หลัง บมจ.ธนายง ชนะการประมูลด้วยการชักชวนของ อาณัติ อาภาภิรม ผู้ซึ่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทในวันนั้น “พอปี 2535 ที่ บมจ.ธนายง จัดตั้ง BTSC เป็นบริษัทย่อยที่มาทำเรื่องรถไฟฟ้า ก็เลยจ้างผมเข้าทำงาน ซึ่งอาจเป็นเพราะ ดร.อาณัติ มองว่าผมรู้ข้อมูลต่างๆ และเกี่ยวข้องมาตั้งแต่แรก แต่ก็ใช้เวลานานเหมือนกันในการตัดสินใจเพราะตัวเราเคยชินกับการเป็นที่ปรึกษามานานเกือบ 8 ปี”  

ฝ่าขวากหนาม

สุรพงษ์ยอมรับว่าชีวิตเปลี่ยนจากงานเดิมไปอย่างมาก ด้วยต้องลงมือทำงานที่ต่างจากกรอบเดิมของด้านที่ปรึกษาด้วยฐานะ Transport Team Leader ผู้มีข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างรถไฟฟ้าประหนึ่งคัมภีร์ ทำให้ตัวเขาต้องสวมบทนักเจรจากับการต่อต้านไม่ให้สร้างอู่จอดรถในบริเวณสวนลุมพินีของมวลชนในยุคตั้งเสาเอกของรถไฟฟ้า BTS เนื่องจากช่วงแรกคนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับรถไฟฟ้าและอาจจะเข้าใจผิดจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงทำให้คนเกิดความกลัว ดังนั้นกว่าจะได้เริ่มงานก่อสร้างก็ต้องผ่านการชี้แจงและทำความเข้าใจกับมวลชนมาไม่น้อย “ตอนแรกที่ตัดสินใจมาทำที่นี่ เราคิดว่าเป็นพระเอก เหมือนเรามาแก้ปัญหาเรื่องรถติดให้คนกรุงเทพฯ ก็คิดว่าสิ่งที่ทำจะช่วยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจหวังว่าจะสร้างให้เสร็จแล้วคนได้ใช้ แต่พอเจอคนคัดค้านเรื่องการสร้างอู่จอดที่สวนลุมพินี จากพระเอกเลยกลายเป็นผู้ร้าย” กระนั้นงานโหดหินอีกด้านที่สุรพงษ์ย้ำว่าสุดท้าทาย คือการหาเงินมาสร้างรถไฟฟ้าที่ transport model คือกลไกที่สร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะพิจารณาอนุมุติเงินกู้ให้แก่ BTSC รับรู้ข้อมูลการดำเนินงานของระบบรถไฟฟ้าและโอกาสที่จะสร้างรายได้เพียงพอมาชำระหนี้เงินกู้ได้ แต่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้น สุดท้ายรถไฟฟ้า BTS ก็เริ่มล้อหมุนให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2542 “เราก็รู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรถไฟฟ้า BTS ให้เกิดขึ้นและเป็นบริการที่ช่วยบรรเทาปัญหารถติดให้คนกรุงเทพฯ ได้ในที่สุด” ทว่าเมื่อมองย้อนกลับไปถึงเส้นทางสานฝันให้รถไฟฟ้า BTS กลายเป็นความจริงได้นั้นหนึ่งในขวากหนามที่เกือบจะทำให้ความหวังของสุรพงษ์ต้องเกือบพังครืน คือการลอยตัวค่าเงินบาทปี 2540 ที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวอ่อนลงถึง 130% เมื่อเทียบกับเงินสกุลเหรียญสหรัฐฯ ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ TYONG และ BTSC เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีภาระหนี้สินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้บริษัทต้องเผชิญกับสถานการณ์พลิกผันในปี 2549 ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ BTSC เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการซึ่งระหว่างนั้นสัดส่วนการถือหุ้นของ TYONG ลดลงจนเหลือน้อยกว่า 1% ของหุ้นทั้งหมดของ BTSC แต่ท้ายสุดก็สามารถออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2551 “เราก็ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ ซึ่งเราเลือกเข้าฟื้นฟูกิจการ ด้วยการเป็นนักสู้ของคุณคีรีก็ทำให้สามารถกอบกู้สถานการณ์จนผ่านพ้นมาได้ จนเหลือหนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท และกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติจริงๆ ได้ก็ใช้เวลารวมราว 10 ปีจึงเริ่มมีกำไร”

ดันแผน 5 ปี มุ่งเป็นที่ 1

สำหรับภารกิจในฐานะซีอีโอนั้น สุรพงษ์ เน้นย้ำว่าคือการขับเคลื่อนให้ธุรกิจของ BTSC เติบโตต่อไปเพื่อรักษาสถานะการเป็นผู้นำหมายเลข 1 ของธุรกิจขนส่งมวลชนระบบราง เพราะแม้ว่าทุกนี้บริษัทจะถือครองโครงการรถไฟฟ้าทั้งปัจจุบันและอนาคตอยู่ในมือไม่น้อย แต่สุรพงษ์ก็เชื่อว่าไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ BTSC ต้องมุ่งมั่นขยายการเติบโตต่อไป “ตอนนี้เริ่มมีผู้ประกอบการรายอื่น สนใจที่จะเข้ามาแบ่งแชร์ในตลาดรถไฟฟ้าด้วยต่างจากเดิมที่ต่างมองว่าทำแล้วขาดทุน แต่ตอนนี้พอมีกำไรก็ทำให้บริษัทใหญ่ๆ อยากเข้ามาเพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ดี จึงทำให้เราเริ่มมีคู่แข่งชัดเจน” ควบคู่กับการที่ต้องพยายามให้ผู้โดยสารพึงพอใจกับบริการของเรามากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบริการขนส่งมวลชนที่มีผู้ใช้บริการเกือบ 1 ล้านคนต่อวันที่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น กรณีที่บางสถานียังมีผู้โดยสารต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอขึ้นรถไฟ เป็นต้นเช่นเดียวกับที่บริษัทต้องสร้างผลกำไรในระดับที่ทำให้ผู้ถือหุ้นพึงพอใจด้วย “เราไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่ต้องพยายามทำให้ยอมรับได้ และอยากให้ผู้โดยสารเข้าใจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ทั้งนี้ปัจจุบัน BTS มีเส้นทางรวมทั้งสิ้น 38.1 กิโลเมตร (35 สถานี) ซึ่งด้วยโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ย่อมทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดเติบโตจากปัจจุบันที่ 6% ของระบบ mass transit รวมของกรุงเทพฯ ที่ 109.6 กม. เป็น 18% ของ 124.3 กม. ในปี 2562 และไต่ขึ้นเป็น 24% ของ 515.2 กม. ในปี 2572 อีกเป้าหมายที่สุรพงษ์ต้องเข็นให้ไปถึงตามแผน 5 ปี คือเพิ่มจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้า BTS เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้าน เที่ยว/วัน จากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 8 แสนเที่ยว/วัน จากการเดินรถเพิ่มกว่าสามเท่าเป็น 132 กม. (112 สถานี) สำหรับโครงการอื่นๆ ที่ BTSC คาดหวังต่อยอดเสริมศักยภาพให้แก่บริษัทในอนาคตซึ่งจะมีเส้นทางใหม่เพิ่มขึ้นจากทุกโครงการรวมแล้ว 82.9 กม. นั้น หนึ่งในโครงการเด่นคือรถไฟฟ้าไลท์เรล (LRT) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือรถไฟฟ้า BTS สายบางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กม.ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงทุน และจะว่าจ้าง BTSC เดินรถ โดยคาดเริ่มประมูลงานโยธา ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2565  

ไม่เคยฝันถึงที่นั่งซีอีโอ

อย่างไรก็ตามแม้ซีอีโอแห่ง BTSC จะเริ่มจากหน้าที่ Transport Team Leader แต่ระยะเวลา 25 ปีในองค์กรแห่งนี้ ตัวเขาก็ผ่านประสบการณ์ทำงานในหลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็น Strategic Planner ที่ดูแลด้านส่วนต่อขยาย จนขยับขึ้นมาเป็น Assistance CEO ซึ่งขณะนั้นเป็นชาวต่างชาติ แล้วตามมาด้วยกับได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการหรือซีโอโอ (COO) ในปี 2549 จนไต่ระดับขึ้นเป็นซีอีโอในปี 2558 “ผมเป็นคนทำงานที่ไม่เคยวางเป้าหมายว่าจะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ คิดเพียงทำสิ่งที่ผมรับผิดชอบให้ดีที่สุด เพื่อทำให้ทั้งองค์กรและประชาชนเกิดประโยชน์อย่างสมดุลแต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้เป็นซีอีโอ”