สุมาลี คริสธานินทร์ นำทัพโนวาร์ตีสไทยดึงทุนวิจัยยาเข้าประเทศ - Forbes Thailand

สุมาลี คริสธานินทร์ นำทัพโนวาร์ตีสไทยดึงทุนวิจัยยาเข้าประเทศ

เปิดวิสัยทัศน์การบริหารของ 'สุมาลี คริสธานินทร์' ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารหญิงคนแรกและคนเดียวในไทยที่ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของโนวาร์ตีส บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์จากสวิตเซอร์แลนด์ที่มียอดขายอันดับ 1 ในเมืองไทย สถานการณ์ด้านสุขภาพทั่วโลกเริ่มปรับตัวรับมือกับภาวะโรคระบาดโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี แม้โรคระบาดจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมา แต่ดูเหมือนว่าความรุนแรงของเชื้อโรคเริ่มผ่อนคลาย ทว่าการแพร่ระบาดยังคงรวดเร็ว บริษัทผู้ผลิตยาเวชภัณฑ์ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมยาเพื่อการรักษาและป้องกันโควิด-19 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในเมื่อโรคยังไม่นิ่ง ผู้ผลิตยาก็ยังคงคิดค้นและพัฒนาไม่หยุดเช่นกัน “โควิดต้องมีวัคซีนและยาไปคู่กัน กลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน อนาคตต้องมีวัคซีนป้องกันไม่ให้คนติด แต่ก็ต้องมีการรักษาควบคู่ไปด้วย” สุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารหญิงคนแรกและคนเดียวในไทยที่ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของโนวาร์ตีส บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์จากสวิตเซอร์แลนด์ที่มียอดขายอันดับ 1 ในเมืองไทย กล่าวในตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ในฐานะนายใหญ่ซึ่งเป็นผู้หญิงและเป็นคนไทยคนแรกของผู้นำธุรกิจยาและเวชภัณฑ์จากยุโรปที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ที่เข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ปี 2514 ดำเนินกิจการในไทยมายาวนานกว่า 50 ปี  

- ทั่วโลกคิดค้นยาต้านโควิด-19 -

เธอเล่าว่า ปัจจุบันบริษัทยาต่างโฟกัสงานวิจัยเพื่อพัฒนายาใหม่ๆ โดยเฉพาะยาต้านโควิดและยารักษาโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก บริษัทยาทุกรายจึงล้วนคิดค้นพยายามวิจัยและพัฒนายาเพื่อรับมือกับโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจากทุกคนมีโอกาสได้รับเชื้อ ประชากรทั่วโลกมีความเสี่ยง แต่ขณะเดียวกันประชากรส่วนใหญ่ก็ได้รับวัคซีนไปค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับบริษัทผู้คิดค้นวัคซีนก็ได้เพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาวัคซีนให้ดียิ่งขึ้น มีความสามารถป้องกันได้มากขึ้น รวมถึงป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ โนวาร์ตีสก็เช่นเดียวกัน ล่าสุดกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยยาต้านโควิด 2 ตัว ซึ่งไม่เหมือนยาที่มีออกมาแล้วที่เน้นป้องกันไม่ให้มีการสร้างเร็วขึ้นโดยทำปฏิกิริยาที่หนาม เช่น กรณีไฟเซอร์เน้นไปหยุดยั้งเอนไซม์ ส่วนยาของโนวาร์ตีสที่คิดค้นขึ้นมาจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ที่หนามไวรัสโดยตรงเพื่อไปทำลายไวรัส ข้อแตกต่างคือ เมื่อโควิดกลายพันธุ์หนามเปลี่ยนลักษณะยาเดิมใช้ไม่ได้ แต่ยาของโนวาร์ตีสพยายามจับหนามหลายอันให้ได้ทุกตัว เมื่อกลายพันธุ์หนามหนึ่งยังจับอีกหนามได้ ต่อให้กลายพันธุ์ก็ยังครอบคลุมได้ “ปัจจุบันงานวิจัยถึงระยะ 3 แล้ว คาดว่าภายในปี 2565 น่าจะประกาศผลได้ แต่อย่าลืมว่าเรายังมีคนไข้มะเร็ง โรคหัวใจ ยามะเร็งโนวาร์ตีสก็พัฒนาไปไกล แต่ก่อนใช้เคมีบำบัดมีผลต่อร่างกาย ก็ปรับมาเป็นยาพุ่งเป้าใกล้เซลล์มะเร็งมากขึ้น พัฒนาเป็นcell and gene ดึงเซลล์จากผู้ป่วยไปสร้างยาให้เหมาะกับตัวผู้ป่วยแบบ tailor-made” เป็นคำอธิบายโดยสรุปถึงความก้าวหน้าด้านเวชภัณฑ์เพื่อต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์เร่งด่วน “การรับมือกับโควิด-19” แต่ขณะเดียวกันโนวาร์ตีสก็ไม่ลืมที่จะเน้นพัฒนายารักษาโรคเฉพาะทางที่เป็นกันแพร่หลาย คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยในแต่ละปีอย่างโรคมะเร็ง ซึ่งสุมาลีย้ำว่า นี่คือหัวใจของเวชภัณฑ์โนวาร์ตีส เป็นจุดเด่นและจุดขายหลักของบริษัทยาจากสวิตเซอร์แลนด์ที่เธอมีส่วนร่วมตั้งแต่เป็นผู้บริหารระดับกลางจนกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในไทย “เราทำงานกับบริษัทยา เราตื่นเต้นยังมียาดีๆ ที่จะรักษาผู้คนได้ คนไข้หลายคนรักษาหายเราสามารถช่วยคนไข้ได้เป็นความรู้สึกภาคภูมิและอิ่มเอมใจ” สุมาลีเล่าอย่างมีความรู้สึกร่วมเหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน  

- ดึงทุนวิจัยพัฒนายาเข้าไทย -

ในฐานะที่เป็นบริษัทยา สุมาลีพยายามดึงเม็ดเงินการลงทุนเกี่ยวกับยาเข้ามาสู่ประเทศไทย ด้วยการนำเสนอไปยังบริษัทแม่ว่า เมืองไทยยังมีผู้ป่วยที่กำลังทรัพย์น้อยอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อดึงให้การวิจัยและพัฒนายาเข้ามาทำในไทย และทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมโครงการพัฒนายา มีโอกาสได้รับยาใหม่ๆ ที่ผ่านการคิดค้นพัฒนามาแล้วระดับหนึ่ง มาสรุปผลการรักษาในไทยโดยดึงแพทย์ไทยเข้าร่วม และใช้เม็ดเงินจากบริษัทแม่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้คนไข้ได้รับยาตัวใหม่ที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันยังช่วยยกระดับแพทย์ไทยให้มีโอกาสเข้าร่วมงานวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ ระดับโลก เภสัชกรหญิงผู้นำค่ายยายักษ์ใหญ่เล่าว่าการดึงทุนเข้ามา การดึงงานวิจัย และการบริจาคให้รัฐบาลไทย ช่วยให้คนไข้เข้าร่วมโครงการวิจัยได้โดยไม่ต้องเสียอะไรเลย เนื่องจากบริษัทแม่สนับสนุนทุกอย่าง เหมือนนำทุนจากบริษัทแม่มาวิจัยในไทย เท่ากับดึงมาลงทุนด้านเวชภัณฑ์ เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์ ทั้งแพทย์ วงการสาธารณสุขไทย และคนไข้ ทุกคนได้ประโยชน์ โดยโนวาร์ตีสก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยควบคู่กับการคิดค้นและพัฒนาเวชภัณฑ์ไปในคราวเดียวกัน สุมาลี คริสธานินทร์ “สิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำมาตลอดคือ พยายามพูดคุยกับบริษัทแม่ อย่างโครงการ 30 บาท ช่วยสนับสนุนด้านราคา ทำให้ยาบางตัวลดราคาลงมาถึง 50% สามารถรองรับคนไข้ 30 บาทได้ รวมถึงคนไข้กลุ่มข้าราชการที่มีอยู่ราว 10% และคนไข้ทั่วไปที่รักษาเองอีก 3% เช่น กลุ่มผู้มีประกันสังคมและประกันส่วนตัว ทำให้คนไข้ทุกกลุ่มเข้าถึงยาได้ ซึ่งแน่นอนตลาดใหญ่ยังเป็น 30 บาทถ้าต้องการช่วยคนจำนวนมาก” แม่ทัพโนวาร์ตีสไทย ยืนยันว่าองค์กรของเธอเป็นบริษัทที่เข้าบัญชียาหลักค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะยามะเร็ง 5 รายการ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวยาผิวหนัง ซึ่งยามะเร็งนั้นคนไข้ต้องใช้ตลอดชีวิต เธอทำเรื่องขอบริษัทแม่เพื่อลดราคาให้สามารถเข้าบัญชียาหลักได้หลายๆ รายการ แน่นอนการทำงานในบริษัทยา หนีไม่พ้นที่ต้องมีการคิดค้นและพัฒนา “นวัตกรรมเป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัวเรามาก ใกล้ตัวเรามากจริงๆ แต่ละปีมียาใหม่ออกสู่ตลาดไม่มากนัก แต่งานวิจัยเยอะมาก เราเป็นบริษัท top 10 เรื่องการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาและเป็นหนึ่งใน innovative company worldwide” สุมาลียืนยันและว่าความใส่ใจเรื่องสุขภาพสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการเป็นบริษัทยาก็มีความคาดหวังการเติบโตและจริยธรรม กฎคือกฎของขวัญไม่มี “ถ้าเราบอกว่า อยากให้เขาลดราคายาให้คนไข้เข้าถึงยา เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่าทำแบบนี้ให้ตรงวิสัยทัศน์องค์กร แต่เราไม่จำเป็นต้องทำตามทุกอย่าง เราเชื่อว่าเรามีเหตุผลพอที่จะส่งมอบยาถึงผู้ที่จำเป็นต้องใช้ได้”  

- เปิดใจกว้างเชื่อมั่นในทีมงาน -

สุมาลีบอกว่า สิ่งที่โนวาร์ตีสไทยทำในทุกวันนี้ล้วนสะท้อนวิสัยทัศน์องค์กร การพัฒนาองค์กร “เรามี feedback ว่า คนมองเราอย่างไรมันสะท้อนสิ่งที่เราได้รับ แสดงว่าองค์กรสะท้อนการสร้างคน เป็นองค์กรที่ดีกับพนักงาน ทุกอย่างเดินหน้าได้โดยไม่เคร่งครัดจนเกินไป ไม่ยึดติดกติกาจนมองข้ามความเป็นมนุษย์ เราได้รางวัล HR Asia Best Company to Work for มา 2 ปีแล้ว เพราะเราเปิดกว้างให้โอกาสพนักงาน เช่น คุณพ่อมีลูกอ่อนก็ได้วันหยุด 98 วัน” เธอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ช่วงที่เกิดโรคระบาดใหม่สุมาลีบอกว่า ตอนแรกก็ไม่แน่ใจการ work from home จะเป็นอย่างไร “บริษัทเลือกที่จะเชื่อใจพนักงานก่อน โฟกัสที่คุณภาพการทำงานมีการพูดคุยที่ดี มีความคาดหวังที่ชัดเจน ไม่ต้องติดตามทุกชั่วโมง” สุมาลีอธิบายและบอกว่า ในฐานะผู้บริหารเธอเลือกที่จะดูจากผลงานและพบว่า การทำงานที่บ้านสามารถทำงานดีขึ้นและทำงานนานขึ้นด้วย ทำในเวลายาวขึ้น เพราะทุกคนอยู่บ้านไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินทาง สุมาลีบอกว่า การบริหารคนเป็นสิ่งสำคัญกับทุกองค์กร โนวาร์ตีสก็เช่นเดียวกัน ให้ความสำคัญกับเรื่องของบุคลากรเรื่องของคนมากเป็นพิเศษ “HR สำคัญ เราเชื่อมั่นไปในทิศทางที่ถูกเราก้าวจากอันดับ 4-5 เมื่อ 8 ปีที่แล้วมาเป็นอันดับ 1 เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายกว่า 6 พันล้านบาทในปีที่ผ่านคือเครื่องพิสูจน์ว่าเดินมาถูกทาง” เภสัชกรนักบริหารย้ำและว่า ด้วยการเป็นองค์กรที่ดีในด้านงานบริหารบุคคล ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่คนอยากเข้ามาร่วมงาน ซึ่งหากดูที่กลุ่มเจเนอเรชั่นก็จะพบว่า พนักงานของโนวาร์ตีสไทยมีคนในเจเนอเรชั่นอายุ 40 ค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นวัยหนุ่มสาวที่มประสบการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำพาองค์กรเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างเท่าทันความต้องการ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของโรคภัยและพลวัตของโลก   ภาพ: API อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine