สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ภารกิจเชื่อมโยงข่ายโลจิสติกส์ - Forbes Thailand

สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ภารกิจเชื่อมโยงข่ายโลจิสติกส์

Forbes Thailand นัดพบกับ เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ เขตคลองเตย ห้องทำงานของเขาอยู่ชั้น 17 เป็นห้องขนาดใหญ่กว้างขวางและสงบเงียบ ขณะที่ด้านนอก บรรยากาศถูกแต่งแต้มด้วยทิวทัศน์ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา ทำให้ที่นี่ ดูเหมือนเป็นห้วงจุ้ยที่ดี เหมาะจะเป็นศูนย์บัญชาการกำหนดยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ของประเทศ ที่ดูแลท่าเรือ 5 แห่งที่รวมไปด้วย ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือเชียงของ

“ที่นี่เป็นเหมือนบ้านเรา” คำกล่าวของ ร.อ.สุทธินันท์ ที่เปรียบการท่าเรือฯ เหมือนบ้าน ก็เพราะเขาทำงานกับองค์กรนี้มา 27 ปี เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งนักเดินเรือ ถูกย้ายไปทำงานที่ท่าเรือแหลมฉบังหลังก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ไต่เต้าจนขึ้นเป็นผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนที่จะได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาให้เป็นแม่ทัพใหญ่ขององค์กรเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมในปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการรับสมัครหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีใครที่มีคุณสมบัติที่ดีพอได้รับเลือก ที่จะนำพาองค์กรอายุ 65 ปี รับใช้ประเทศชาติและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่เลือกไทยเป็นฐานผลิตสินค้าและใช้ท่าเรือลำเลียงสินค้าที่ผลิตได้ออกสู่ตลาดโลกตามแผนธุรกิจที่วางไว้ “จุดแข็งของผมคือ ทำงานมาตลอด...รู้จักพนักงานว่าต้องการและคาดหวังอะไร เราน่าจะพัฒนาองค์กรต่อไปได้”

ท่าเรือยุคใหม่

ในวาระ 4 ปีของการเป็นผู้อำนวยการท่าเรือฯ ปัจจุบัน ร.อ.สุทธินันท์อายุ 56 ปี เป็นโอกาสก่อนถึงอายุเกษียนราชการ ที่จะได้แสดงความสามารถที่สะสมมาทั้งชีวิตเพื่อพัฒนาการท่าเรือฯ ที่เขารักให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ ยังต้องเดินตามวิสัยทัศน์ของการเป็น “ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่อาเซียน” ภายในปี 2562 ตามแผนวิสาหกิจ ฉบับที่ 11 ปีงบประมาณ 2558-2562 ที่กำหนดภารกิจหลักคือ 1.ขยายบริการท่าเรือและสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง 2.พัฒนาและบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3.เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการและยกระดับให้การบริการทัดเทียมสากล นอกจากนี้ เขายังต้องวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่ได้บรรจุลงในแผนงานของการท่าเรือฯ เช่น การที่รัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ในภูมิภาคขึ้นมา เพื่อหาประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งการท่าเรือฯ ต้องศึกษาเพื่อรองรับด้านการขนส่งที่จะเกิดขึ้นจากการขยายตัวทางด้านค้าและการลงทุน ร.อ.สุทธินันท์ บอกว่า แนวโน้มของการท่าเรือฯ ในอนาคตจะต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและบทบาทที่สำคัญคือ การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งยังต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ ให้ครบวงจรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบก ทางอากาศและทางน้ำภายในประเทศ นอกจากนี้แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญการบริหารสินค้าคงคลัง กระบวนการสั่งซื้อ การบริหารข้อมูลและการบริหารการเงิน เพื่อยกระดับความเป็นอาชีพ การท่าเรือฯ วางแผนการบริหารจัดการท่าเรือทั้ง 5 แห่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ พร้อมกับเพิ่มศักยภาพในการรองรับ เพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาการขนส่งหลายรูปแบบ แนวทางนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดต่ำลง ผลที่ตามมาคือ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยนโยบายจากนี้จะเน้นการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ นวัตกรรมและโครงการพัฒนาศูนย์ขนถ่ายตู้สินค้ารถไฟ เขาหมายมั่นกับเป้าหมายสร้างให้เป็นท่าเรืออิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ (innovative port) โดยพัฒนาระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop e-Port Service) และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบบูรณาการโดยใช้สถาปัตยกรรม SOA (Service Oriented Architecture) เพื่อให้พนักงานและผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ ของการท่าเรือฯ เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องยื่นคำร้องใช้บริการเกี่ยวกับเรือ ตรวจสอบการเคลื่อนไหวของตู้สินค้า และการชำระค่าบริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเว็บพอร์ทัลของการท่าเรือฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ เป็นการลดขั้นตอนด้านเอกสาร ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการ

ขนส่งทางทะเลยังดี

ปัจจุบันการขนส่งทางทะเลคิดเป็น 80% ของการขนส่งทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า โครงการพัฒนาการขนส่งทางถนนจากโครงการแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) จะทำการขนส่งทางทะเล จนทำให้ท่าเรือแหลมฉบังถูกลดบทบาทลงหรือไม่ ร.อ.สุทธินันท์อธิบายว่าหลายคนเข้าใจผิดว่า การเกิดขึ้นของโครงการ EWEC จะทดแทนการขนส่งทางเรือ แต่ในความเป็นจริงนั้น โครงการนี้เป็น “Land Bridge” มากกว่า เป็นการกระจายความเจริญและสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในพื้นที่ที่ถนนตัดผ่านมากกว่า หากจะใช้การขนส่งสินค้าทางบกจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ตามโครงการนี้ อันเกิดจากการขนถ่ายสินค้าจากเรือสู่รถและรถสู่เรือ ไม่นับรวมเวลาที่รถบรรทุกที่ต้องใช้เวลามากวิ่งไปถึงปลายทาง ตรงกันข้ามกับการส่งสินค้าทางเรือ มีค่าใช้จ่ายน้อยว่า ขนส่งสินค้าได้มากกว่าและเวลาเดินทางก็น้อยกว่าหรือแม้แต่บทบาทท่าเรือในภูมิภาคต่างๆ อย่างประเทศสิงคโปร์ หรือประเทศมาเลเซีย ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายคนมองว่าบทบาทของท่าเรือแหลมฉบังจะลดน้อยลง ร.อ.สุทธินันท์ บอกเพิ่มเติมว่า ท่าเรือของสิงคโปร์และมาเลเซียของทั้ง 2 ประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็นท่าเรือขนถ่าย (Transshipment) เนื่องจากมีสถานที่ตั้งที่ดี เป็นทางผ่านเรือสินค้าขนาดใหญ่ไปที่ยุโรปและตะวันออกกลาง เรือเหล่านั้นจะผ่านสิงคโปร์และช่องแคบมะละกา ทำให้ท่าเรือในทั้ง 2 ประเทศได้ประโยชน์ ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือสำหรับส่งสินค้านำเข้า-ส่งออก และปริมาณการส่งออกมีจำนวนมากกว่าประเทศทั้งสอง ดังนั้น บทบาทของท่าเรือแหลมฉบังกับของสิงคโปร์และมาเลย์จึงมีลูกค้าต่างกัน และโอกาสของท่าเรือแหลมฉบังอย่างมีอีกมากในอนาคต ในวาระที่ดำรงตำแหน่ง เขาตั้งใจจะพัฒนาองค์กรในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะพัฒนาคน การบริการและการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยเฉพาะ “คน” ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ มีการร่วมงานเสมือนพี่น้องและให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ที่สุดแล้ว เขาอยากให้ทุกคนรักในงานที่ทำและภูมิใจในตัวเอง สิ่งนี้จะก่อให้เกิดความสุขในการทำงานตามมา   เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพประกอบ: สมเกียรติ ศิริวงศ์ศิลป์
คลิ๊กอ่าน "สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ภารกิจเชื่อมโยงข่ายโลจิสติกส์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2016 ในรูปแบบ e-Magazine