สมฤดี ชัยมงคล “ภารกิจคืนความแข็งแกร่งให้ บ้านปู” - Forbes Thailand

สมฤดี ชัยมงคล “ภารกิจคืนความแข็งแกร่งให้ บ้านปู”

บมจ. บ้านปู ก่อตั้งขึ้นวันที่ 16 พฤษภาคม 2526 และเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน บริษัทเล็กๆ มีโอกาสต้อนรับสมาชิกใหม่ที่ชื่อ สมฤดี ชัยมงคล บัณฑิตป้ายแดงสาขาบัญชีจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาวไฟแรงอุทิศแรงกายทำงานอย่างแข็งขันไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ฝากชีวิตไว้กับบริษัทยาวนานถึง 33 ปี และแล้ววันหนึ่งในเดือนเมษายนปี 2558 ความมุมานะของเธอก็เป็นที่ประจักษ์ต่อ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายใหญ่ของบริษัท ที่ตัดสินใจมอบตำแหน่งประธาน เจ้าหน้าที่บริหารให้กับเธอ

Forbes Thailand  นัดพบกับสมฤดีที่สำนักงานใหญ่ ณ อาคารธนภูมิ ชั้น 27 แถวถนนเพชรบุรี เธออยู่ในชุดสีดำไว้ทุกข์ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต บวกกับผมดำขลับที่ปล่อยยาวและใบหน้าที่สงบนิ่ง ทำให้ซีอีโอหญิงดูเคร่งขรึม แต่เมื่อบทสนทนาเริ่มขึ้นภาพเหล่านั้นก็เลือนหายไป กลับกลายเป็นภาพของผู้บริหารที่เป็นมิตร อัธยาศัยดี รอบรู้และมองโลกในแง่ดี เธอบอกกับพวกเราว่าบ้านปูเป็นงานแรกและงานเดียวในชีวิตของเธอ อีกทั้งยังเป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษ บริษัทพลังงานแห่งนี้ได้หยิบยื่นโอกาสให้กับเธอ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอไม่เคยคิดที่จะจากองค์กรไปที่ใด สตรีวัย 55 ปีเข้ามารับตำแหน่งสูงสุดของบ้านปูในช่วงที่ราคาถ่านหินตกต่ำ อันเป็นเหตุให้บริษัทขาดทุนหนัก หลายคนจึงมองว่าเธอเข้ามาในช่วงที่จังหวะไม่สู้ดีนัก เพราะต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากทางการเงิน ทว่าเธอกลับไม่คิดเช่นนั้น และเชื่อว่ามันเป็นจังหวะที่ “ดีที่สุด” เนื่องจากราคาถ่านหินคงไม่ตกต่ำไปกว่านี้แล้ว และนับเป็นช่วงเวลาที่จะได้พิสูจน์ความสามารถของตนในการพัฒนาบริษัทให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง “อยู่กับองค์กรมาตั้งแต่เด็ก ผูกพันกับองค์กร รักองค์กร และอยากเห็นองค์กรเติบโต มีความฝันว่า ถ้ามีความสามารถเพียงพอและได้เป็นผู้นำองค์กรเมื่อไร ก็อยากสานต่อจากคุณชนินท์ เพื่อให้เห็นว่าคนที่คุณชนินท์สร้างขึ้นมานั้น มีความพร้อมและจะตอบแทนบริษัท” เธอกล่าว

รักบ้านปู

บมจ. บ้านปู เดิมชื่อ บริษัท เหมืองบ้านปู จำกัด ก่อตั้งโดยบุคคลในตระกูลว่องกุศลกิจและเอื้ออภิญญกุล มีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าทำสัญญาเช่าช่วงการทำเหมืองถ่านหินที่เหมืองบ้านปู (BP1) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยในยุคบุกเบิกนั้น บริษัทมีพนักงานเพียงไม่กี่ชีวิตและสมฤดีก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอเริ่มต้นในตำแหน่งพนักงานต้อนรับ แต่ในความเป็นจริงนั้นเธอต้องทำงานเกือบทุกอย่างเนื่องจากบริษัทยังคงเล็กอยู่ หลังจากชนะการประมูลเหมืองบ้านปูในปี 2527 และบ้านปูเริ่มมีการขยายงาน เธอถูกโยกย้ายให้ไปรับผิดชอบงานหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะงานด้านบัญชี ซึ่งเธอได้แสดงความสามารถที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวางระบบบัญชี ระบบตรวจสอบภายใน หรือวางแผนกลยุทธ์ทางการเงิน ต่อมายังได้เข้าดูแลงานด้านนักลงทุนสัมพันธ์อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับโอกาสเข้าไปศึกษาการทำงานในเหมืองต่างๆ ของบริษัท เพื่อให้เข้าใจถ่องแท้ถึงงานทุกส่วนของสายผลิต โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน “บริษัทขยายงานมากจึงได้ทำงานหลายๆ อย่างในองค์กร บางคนบอกว่าเป็นข้อเสียที่ทำงานบ้านปูเพียงที่เดียว แต่พี่มองว่าโชคดีเพราะมีโอกาสได้ทำงานหลายๆ ด้าน” ทันทีได้เข้ารับตำแหน่ง เธอเริ่มลุยงานทันที สานต่อวิสัยทัศน์ของชนินท์ ผู้ต้องการให้บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานที่แข็งแกร่งในภูมิภาคและเติบโตอย่างยั่งยืน เธอบอกว่า แนวทางบริษัทเน้นบริหาร “asset strategy” ใน 3 เสาหลักของบริษัทให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคือ ธุรกิจต้นน้ำ คือ ถ่านหิน ธุรกิจกลางน้ำ คือ การบริหารการขนส่งถ่านหินและเชื้อเพลิงต่างๆ และธุรกิจปลายน้ำ คือ ธุรกิจไฟฟ้ายุทธศาสตร์ระดมทุน (funding strategy) โดยนำ บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซื้อขายวันแรก ในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 นอกจากนี้ เธอยังจัดระเบียบโครงสร้างการเงินให้มีความแข็งแกร่งอีกด้วย การมีกระแสเงินสดจากธุรกิจไฟฟ้าเข้าช่วยเหลือนั้นจะทำให้สภาพคล่องทางธุรกิจดีขึ้น เนื่องจากกำไรของธุรกิจไฟฟ้านั้นคงที่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสัญญาการซื้อขายระยะยาว “แนวทางนี้ทำให้งบการเงินของกลุ่มมีความมั่นคงขึ้น และยังจะส่งผลให้บริษัทมีเงินจ่ายปันผลได้ทุกปีให้กับผู้ถือหุ้น แม้ว่าราคาถ่านหินในช่วงที่ผ่านมาจะตกต่ำก็ตามที” เธอกล่าว นอกจากนี้ เธอยังต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ของบ้านปู เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าบ้านปูไม่ใช่เพียงแค่ทำธุรกิจถ่านหิน แต่เป็นบริษัทพลังงาน “ครบวงจร” และกำลังมุ่งเน้นพัฒนาพลังงานสะอาดให้เพิ่มมากขึ้น

สู่อนาคตอันสดใส

เมื่อราว 4 ปีที่แล้วขณะที่ราคาหินตกต่ำอย่างต่อเนื่องเพราะถ่านหินล้นตลาดและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้บ้านปูได้รับผลกระทบจนมีผลประกอบการขาดทุน 1.53 พันล้านบาทในปี 2558 ราคาถ่านหินเฉลี่ยช่วงนั้นอยู่ที่ 54 เหรียญต่อตัน และในปี 2559 ก็ยังไม่ได้ขยับขึ้นมากนัก ด้วยเหตุนี้ สมฤดีจำเป็นต้องออกมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อความอยู่รอด ในที่สุดเธอก็สามารถลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานได้ถึง 40% ส่งผลให้ผลประกอบการใน 3 ไตรมาสในปี 2559 พลิกมาเป็นบวกโดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 168.14 ล้านบาท “ตอนที่เข้ามานั้นบริษัทขาดทุน แต่ก็ไม่ตกใจ พยายามสื่อสารกับนักลงทุนตลอดว่าไม่ให้ดูที่บรรทัดสุดท้ายในผลกำไร ให้ดูที่กระแสเงินสด ซึ่งบริษัทยังอยู่ที่ 500 ล้านเหรียญต่อปี แม้ช่วงราคาถ่านหินตกต่ำก็ตาม”เธออธิบาย ในอนาคต เธอมองว่าบริษัทมีแนวโน้มสดใสเพราะราคาถ่านหินมีแนวโน้มขยับขึ้น สืบเนื่องมาจากซัพพลายจากผู้ผลิตเข้าสู่ตลาดลดน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการปิดตัวของเหมืองถ่านหินเล็กๆ และที่ไม่ได้มาตรฐานในประเทศจีน สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของบริษัท หลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ว่าบ้านปูยังเติบโตได้ในอนาคต คาดว่ากำไรสุทธิในปี 2560 น่าจะอยู่ที่ 9.96 พันล้านบาท เพิ่มจากปี 2559 ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 3.08 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตราว 224% บ้านปูยังคงมุ่งไปข้างหน้าทั้งในธุรกิจถ่านหินและธุรกิจไฟฟ้า โดยเฉพาะธุรกิจถ่านหินยังคงเป็นพลังงานที่สำคัญของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเป็นตัวหนุนในกลุ่ม ปัจจุบันโรงไฟฟ้าทั้งที่ผลิตจากถ่านหินและจากพลังงานทดแทนของบริษัทกระจายอยู่ในประเทศจีน ญี่ปุ่น ลาว และไทย มีกำลังผลิตทั้งสิ้นราว 1.9 พันเมกะวัตต์ซึ่ง คาดว่าในปี 2563 กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 2.4 พันเมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 4.3 พันเมกะวัตต์ในปี 2568 บริษัทพยายามที่จะขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นและจีน การผลิตของทั้งสองประเทศซึ่งมาจากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 3% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด บริษัทคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะโตขึ้นเป็นสัดส่วน 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทในปี 2563 การเดินทางของบ้านปูกำลังไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น สมฤดีบอกว่า ทุกสิ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกคน โดยเฉพาะผู้บริหารที่ยอมเสียสละความสบายส่วนตัวเพื่อรักษาความแข็งแกร่งของบริษัทไว้ อย่างที่ผ่านมาก็ยินยอมที่จะนั่งชั้นประหยัดขณะบินไปทำงานต่างประเทศ หรือกรรมการบริษัทก็ยินที่จะให้ตัดเบี้ยประชุม หรือแม้แต่พนักงานก็ยินดีที่จะให้ตัดค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์สื่อสารลง “ที่นี่ไม่มีวันแมนโชว์ พวกเราทำงานกันเป็นทีม” เธอกล่าว พร้อมย้ำว่าทีมงานทุกคนพร้อมคืนความแข็งแกร่งให้กับบ้านปูและรวมใจเป็นหนึ่ง เพื่อพิชิตเป้าหมายที่จะเป็น “The Asian Face of Energy” ในอนาคตอันใกล้  
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "สมฤดี ชัยมงคล “ภารกิจคืนความแข็งแกร่งให้ บ้านปู”" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560