ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ยกระดับอสังหาฯ ปั้น SCOPE ด้วยจุดต่าง “อินเตอร์เนชันแนลพรีเมียม” - Forbes Thailand

ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ยกระดับอสังหาฯ ปั้น SCOPE ด้วยจุดต่าง “อินเตอร์เนชันแนลพรีเมียม”

ความหรูหราระดับอัลตร้าลักชัวรี่อาจเป็นนิยามที่หลายคนคิดถึงความเหนือระดับของสินค้าและบริการ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเรียกเหมือนกัน บางสินค้าอาจมีความหรูหรา ความพิเศษ แม้กระทั่งมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ก็ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นอัลตร้าลักชัวรี่

ดังเช่น “สโคป” (SCOPE) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น้องใหม่ในแง่การจดทะเบียน แต่ต้องเรียกว่าเป็นมือโปรในฐานะผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่มีประสบการณ์หลากหลายมาตลอด 30 ปีของนักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 57 ผู้ซึ่งเอ่ยชื่อแล้วแทบทุกคนในแวดวงอสังหาฯ ต่างรู้จัก หลายคนเคยร่วมงาน หลายคนเคยใช้บริการ ทีมขายและทีมบริหารของเขามีหลายโครงการที่เขาผู้นี้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “สิ่งที่ผมทำมันเหมือน OEM ให้กับสินค้าคอนโดมิเนียม ผมเป็นที่ปรึกษาและบริหารให้กับหลายโครงการตั้งแต่ระดับกลางไปถึงระดับไฮเอนด์” ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโคป จำกัด นิยามประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาฯ ของเขาให้ทีมงาน Forbes Thailand ฟังในการพูดคุยระหว่างมื้อเที่ยง ซึ่งวันนั้นสโคปเชิญสื่อกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่รายมารับฟังการเปิดตัวบริษัทในฐานะผู้ประกอบการรายใหม่มือโปรที่เป็นหุ้นส่วนลงทุนกับ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท สโคป คือ ผู้สร้างปรากฏการณ์ประมูลซื้อที่ดินแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ตารางวาละ 3.1 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2560 ร่วมกับเอสซี แอสเสทฯ ที่ดินแปลงนี้อยู่ริมซอยหลังสวน ตรงข้ามโรงเรียนมาแตร์เดอี ย่านเพลินจิต เนื้อที่ 880 ตารางวา หรือราว 2 ไร่เศษ ตอนนั้นราคาขายจบกันที่ 2,728 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโครงการสโคป หลังสวน (SCOPE Langsuan) ซึ่งยงยุทธ บอกว่า ราคาที่ดินแปลงนี้ 3 พันล้านบาท แพงที่สุดในตลาด ดังนั้น เขาต้องคิดคอนเซ็ปต์การพัฒนาให้พิเศษและแตกต่าง “Ultra luxury ก็ดีนะ แต่ของ SCOPE เรานิยามว่าเป็น International Premium” ยงยุทธอธิบายพร้อมแจกแจงในรายละเอียดว่า อินเตอร์เนชันแนลหมายถึงความเป็นสากลและพรีเมียม ก็คล้ายกับอัลตร้าลักชัวรี่นั่นแหละ แต่เป็นความพรีเมียมหรือลักชัวรี่ที่มีความเป็นสากล เขายกตัวอย่างเช่น อะพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์กและเมืองใหญ่ในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกงและอังกฤษที่เป็นอินเตอร์เนชันแนลสแตนดาร์ด มีความพรีเมียมกว่าทั่วไป  

- ยกระดับอสังหาฯ ไทยเทียบสากล -

นิยามความพรีเมียมในมุมของยงยุทธหมายถึงทำเลที่พรีเมียม ดีที่สุด ซึ่งหายาก และมีราคาแพง สมกับราคาที่ดินแปลงหลังสวนที่ประมูลซื้อมาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ถือว่าคุ้มเพราะเป็นที่ดินแบบ freehold คือ ได้เอกสารสิทธิ์ ในขณะที่คอนโดหลายแห่งในย่านหลังสวนเป็นที่ดินแบบ leasehold ที่ดินเช่าระยะยาว การซื้อคอนโดฯ จึงเป็นแบบสัญญาเช่าระยะยาว 30+30 ปี ในขณะที่ราคาสูงไล่เลี่ยกันแต่เป็นสัญญาเช่า ซึ่งความคุ้มค่าในระยะยาวนั้นต่างกัน พรีเมียมตามมาคือ การออกแบบตกแต่งและการก่อสร้าง ยงยุทธบอกว่า เขาเลือกสรรสิ่งที่คิดว่าตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น จัดตู้เก็บรองเท้าให้ยูนิตขนาด 1 ห้องนอนจัดให้ถึง 100 คู่ หรือจัดที่เก็บกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้ 6 ใบและยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ เช่น มีบริการนำรถไปจอดให้ valet parking เพิ่มความพรีเมียมในบริการที่ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์จริง และยังมองไปถึงเทรนด์การใช้รถว่ารถไฟฟ้ามาแน่นอน “ผมอยากสร้างชิ้นงานเป็นอนุสรณ์ ในประสบการณ์กว่า 30 ปีที่อยู่ในธุรกิจนี้ผมทำโครงการมาเกินกว่า 100 อาคาร ทั้งทำให้บริษัทที่เคยทำงานด้วยในฐานะพนักงานประจำ และทำให้ในฐานะที่ปรึกษา วันนี้ผมลุกขึ้นมาทำเองอีกครั้งในนาม SCOPE เพราะต้องการสร้างชิ้นงานสถาปัตย์ที่ดีให้กับตลาด” เขาอธิบายถึงความฝันและประสบการณ์ สิ่งที่สร้างสมให้เขาก้าวมาอยู่จุดนี้ในฐานะดีเวลลอปเปอร์บริษัทน้องใหม่แต่มือโปร ที่สำคัญเขาไม่ได้มาคนเดียว เพราะเมื่อเข้าไปดูข้อมูลจดทะเบียนในกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็พบว่า บริษัท สโคป จำกัด มีกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม 3 คน ยงยุทธเป็นหนึ่งในนั้น แต่อีก 2 คน มาจากฝั่งของเอสซี แอสเสทฯ คือ ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ และ อรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ ทั้งสองเป็นผู้บริหารระดับสูงของเอสซี แอสเสทฯ แน่นอนว่าโครงการสโคปในแผนงานคือ การร่วมทุนระหว่างเอสซี แอสเสทฯ และยงยุทธ แม้ผู้บริหารเอสซี แอสเสทฯ จะไม่ได้ออกหน้าในฐานะผู้บริหารหลักก็ตาม  

- โมเดลใหม่ การทำงานใหม่ -

อดีตนักการเงินผู้ก้าวเข้าสู่วงการอสังหาฯ กว่า 30 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวในการทำงานมาทุกรูปแบบ เคยร่วมงานกับแสนสิริก่อนที่จะเป็นบริษัทมหาชน เคยเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาคอนโดฯ ให้กลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นที่ปรึกษาและบริหารโครงการให้แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ ทำตั้งแต่ซื้อที่ ดูงานขาย จนกระทั่งสร้างเสร็จ เขาทำมาทุกขั้นตอน “อาชีพหลักสมัยก่อนผมทำคอนโดฯ ให้แบรนด์ต่างๆ เช่น อนันดา แมกโนเลีย เราเหมือนโรงงาน ซื้อที่ดินผมก็เป็นคนซื้อ ประกอบร่าง ขาย ทีมขายก็ทีมผม ทำมาหลายแห่งก็สนุกดี แต่พอมาจุดหนึ่งยอมรับความคิดเปลี่ยนไป real estate เป็นเกมใหญ่ ถ้าไม่เข้าตลาดฯ ผมก็สู้ยาก” ยงยุทธ เผยถึงเหตุผลที่เปิดตัวสโคปเป็นบริษัทอสังหาฯ น้องใหม่ที่ไม่เล็ก เพราะมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ก่อตั้งมาเกือบ 5 ปี (จดทะเบียน 24 กรกฎาคม ปี 2560 แต่เปิดตัวเมื่อปี 2562) มีผลประกอบการน่าสนใจ ยอดรายได้รวมถึง 17,827 ล้านบาท ในปี 2563 แม้จะยังขาดทุนเพราะยังอยู่ระหว่างรอรับรู้รายได้หลายโครงการ แต่ก็ถือว่าเป็นบริษัทอสังหาฯ น้องใหม่ที่เติบโตแบบเงียบๆ มาตลอด 3 ปี แม้ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 บริษัท สโคป จำกัด รูปแบบการพัฒนาที่แตกต่างไม่ใช่ครีเอทีฟเพียงอย่างเดียวของนักขายคอนโดฯ มือทองรายนี้ แต่ทว่าวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงาน การบริหารจัดการองค์กร เขาก็ต่างจากยุคก่อนพอสมควร แม้ยงยุทธจะอยู่ในธุรกิจนี้มาเกือบ 3 ทศวรรษ แต่เขากลับมีแนวคิดที่ก้าวหน้า มองเทรนด์ของธุรกิจว่าต้องไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์คนทำงานรุ่นใหม่ เช่น ไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานโอ่อ่าในย่านใจกลางเมือง เพราะโครงการอสังหาฯ มีในแต่ละไซต์งานอยู่แล้ว การทำงานส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับไซต์งานก่อสร้าง เขาจึงให้ความสำคัญการพรีเซนต์ตัวสินค้ามากกว่าการสร้างสำนักงานให้ดูยิ่งใหญ่แต่ใช้งานไม่คุ้มค่า เพราะมองว่าโลกมันเปลี่ยนไป “ผมไม่ได้เพิ่งคิดเรื่องนี้ตอนโควิด แต่ผมทำแบบนี้มากว่า 20 ปีแล้ว ชีวิตผมส่วนใหญ่ก็ไปตรวจตามไซต์งาน พาลูกค้าแวะไปชมบ้าง ตรวจความเรียบร้อยต่างๆ แม้กระทั่งแอบเข้าไปตรวจไซต์งานช่วงตี 2 ตี 3 เพื่อดูความเรียบร้อยของงานก่อสร้าง และดูบรรยากาศของที่ตั้งโครงการในยามวิกาล” เขาเล่าพร้อมกลั้วเสียงหัวเราะเล็กๆ เพราะเชื่อว่าคนอาจนึกไม่ถึงกับสิ่งที่เขาทำ แต่มันคือกิจวัตรที่ทำให้เขาเติบโตและสร้างประสบการณ์ที่ดีในการพัฒนาได้มากที่สุด ทุกวันนี้กับโครงการสโคปยงยุทธมักจะเป็นคนขายโปรเจ็กต์เอง และส่วนใหญ่ลูกค้าก็ตัดสินใจไม่ยาก เพราะการนำเสนอที่แตกต่างของเขา
ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโคป จำกัด
ประโยคเด็ดที่ช่วยปิดการขายให้เขาคือ “ผมบอกลูกค้า real estate คนอาจลืมไปมันคือการลงทุน ของเรา freehold พี่ได้ราคานี้ ไปทำการบ้านเองแล้วกัน ถ้าลูกค้ามีตังค์ได้หมัดฮุกทีเดียวซื้อเลย” ความสำเร็จไม่ยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าที่ยงยุทธจะก้าวมาเป็นผู้บริหารแถวหน้าและนักขายเหนือชั้น เขาเรียนรู้ประสบการณ์มาตลอดเส้นทางที่ยาวไกลบนถนนสายพัฒนาอสังหาฯ ตั้งแต่เริ่มทำงานยุคแรกๆ อายุ 25-26 ปี ด้วยการรับงานใหญ่มาแต่ต้น โปรเจ็กต์แรกที่เขาทำมูลค่าเกือบพันล้านบาท จากนั้นก็เรียนรู้และสานต่อโอกาสตลาดเรื่อยมา กระทั่งถึงเวลาที่อยากทำชื่อให้กับตัวเองบ้าง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเพราะโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ หลายคนพูดถึง “คอนโดฯ ล้นตลาด ฟองสบู่คอนโดฯ” ยงยุทธกลับมองต่าง เขาบอกว่า ตลอดชีวิตที่ทำธุรกิจคอนโดฯ เขาได้รับคำกล่าวนี้มาตลอด และเขาก็ย้ำทุกครั้งว่ามันจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะมีคอนโดฯ เหลือค้างสต็อกจริง แต่นั่นเป็นเพราะสินค้าไม่ตอบโจทย์ ไม่ใช่ไม่มีดีมานด์ “ผมใช้คำว่า คอนโดที่เหลือคือ คอนโดที่ผิด บางโครงการค้างมา 20 ปีก็มีโลเกชั่นดีๆ มี 20 ปี ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่นี่แหละ เพราะอะไร เพราะโครงการมันผิด มันไม่ตอบโจทย์” ยงยุทธยืนยัน ก่อนจะสรุปถึงแรงบันดาลใจอีกอย่างในธุรกิจอสังหาฯ ว่า “ตึกผ่านไป 30 ปีจะรู้ว่าใครทำมันไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น เราอยากทำตึกให้เป็น art piece ตึกมีความ unique เป็นหน้าเป็นตาของเมือง เหมือนในต่างประเทศ” เขาทิ้งท้ายด้วยความฝัน เป็นฝันที่จับต้องได้ของนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ผู้คร่ำหวอดในแวดวงคอนโดฯ มาเกือบ 3 ทศวรรษ   ภาพ: API อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine