มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ดัน SEA (Thailand) สู่ 'ดิจิทัลคอมพานี' แถวหน้า - Forbes Thailand

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ดัน SEA (Thailand) สู่ 'ดิจิทัลคอมพานี' แถวหน้า

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ซีอีโอ SEA (Thailand) เธอเป็นเพื่อนเรียน Standford University รุ่นเดียวกับผู้ก่อตั้ง Garena บริษัทสตาร์ทอัพด้านเกมชื่อดังของสิงคโปร์ที่วันนี้คือ SEA Limited ดิจิทัลคอมพานีดาวรุ่งที่โลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์ New York

ความมุ่งมั่นที่อยากเป็น “วิศวกร” เป็นแรงผลักดันสำคัญให้มณีรัตน์สอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ เธอใฝ่ฝันอยากเรียนด้านวิศวกรรมโยธามาก แต่ด้วยความเป็นห่วงของคุณแม่ที่คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน มณีรัตน์จึงตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการแทน หลังเรียนจบเธอก้าวสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ร่ำเรียนมาทันที ทำงานที่แรกในโรงงานจิวเวลรี่ส่งออก เจ้าของโรงงานเห็นศักยภาพจึงให้รับผิดชอบงานด้านการตลาดทั้งหมด จนฝีมือเป็นที่ประจักษ์และจุดประกายให้เธอศึกษาต่อเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ เธอยื่นเกรดเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทคณะบริหาร(MBA) ของ Standford University สหรัฐอเมริกา โดยฝ่าด่านเข้าไปศึกษาต่อใน Standford ปีนั้นได้สำเร็จ
Forrest Li ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท SEA Limited ที่มณีรัตน์ได้รู้จักช่วงเรียน MBA Stanford University (photocredit: analyse.asia)
ช่วงเรียนอยู่ Standford มณีรัตน์มีโอกาสสัมผัสกับวงการสตาร์ทอัพ ด้วยการสร้างธุรกิจด้านดูแลสุขภาพเป็นของตัวเอง ให้บริการด้านสุขภาพกับผู้ใช้บริการแบบส่วนตัว ธุรกิจประสบความสำเร็จด้วยอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ก่อนจะขายต่อให้กับนักลงทุนอิสระเมื่อประมาณปี 2008 ในคลาสเรียนที่ Standford นี่เอง มณีรัตน์รู้จักกับ Forrest Li ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง, ประธานบริษัท, และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท SEA Limited สมัยเรียนเขาสนใจทำธุรกิจเกม และมณีรัตน์ก็รับปากว่าจะร่วมวงในธุรกิจนี้ ถ้า Forrest Li ขยายธุรกิจเข้าสู่เมืองไทย  

คุมทัพบุคลากรยุคมิลเลนเนียล

SEA (Thailand) ทำรายได้เมื่อสิ้นปี 2560 กว่า 5 พันล้านบาท โดยมี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (เกมออนไลน์), อี-คอมเมิร์ซ และดิจิทัลไฟแนนซ์เชียลเซอร์วิส (แอร์เพย์) เป็นตัวชูโรง โดยเฉพาะธุรกิจเกมที่ SEA (Thailand) คือเบอร์ 1 ในตลาดไทย เธอบอกว่า SEA (Thailand) เป็นบริษัทที่ให้อิสระทางความคิด เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ใช้บริการทั้งเกม อี-คอมเมิร์ซ และอี-เพย์เมนต์ คือคนกลุ่มเดียวกันกับทีมงานของเธอ จึงเชื่อว่าสิ่งที่ทีมงานคิดจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ตรงที่สุด “เราให้อิสระและไม่ตีกรอบ ไม่จำกัดจินตนาการ เพราะสินค้า SEA (Thailand) เป็นสินค้าที่เจเนอเรชั่นอย่างพวกเขาเป็นคนใช้ จึงต้องเชื่อไอเดียเขาว่าทำอะไรออกมาแล้วเด็กต้องฮิตและชอบ” มณีรัตน์เล่าย้อนก่อนหน้าที่เป็น SEA (Thailand) ว่า เพราะบริษัทแม่ในสิงคโปร์คือ SEA Limited(Garena เดิม) ทำธุรกิจด้านเกมจนประสบความสำเร็จ และเดินมาถึงจุดที่ไม่อยากเป็นแค่บริษัทเกมอีกต่อไป “เราอยากเป็นเทคคอมพานีมากกว่าเกมคอมพานี จึงคิดพัฒนาสินค้าหรือบริการที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันคน เป็นจุดเริ่มพัฒนาระบบอี-เพย์เมนต์ในชื่อ ‘แอร์เพย์’ (Air pay) ช่วงแรกตอบโจทย์คนเล่นเกม ทำตลาดครั้งแรกในไทยจากนั้นคิดทำอี-คอมเมิร์ซตามมาในชื่อ ช้อปปี้ (Shopee)”  

ปั้นเกม ROV ต่อยอดสู่ “อี-สปอร์ต”

ตลาดใหญ่ของ SEA (Thailand) คือเกมออนไลน์ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 2 หมื่นล้านบาท เกมที่ฮิตมากคือ ROV (Realm of Valor) “เราเป็นผู้นำในธุรกิจเกมทั้งในไทยและระดับภูมิภาค เฉพาะเกม ROV มียอดดาวน์โหลดในภูมิภาคนี้มากกว่า 126 ล้านดาวน์โหลด ความยากคือการรักษาความเป็นผู้นำ เราจึงพยายามนำเกมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดต่อเนื่อง คือบางครั้งเวลาทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ บางคนอาจจะพอใจแล้ว แต่ถ้าเราอิ่มตัวกับสิ่งที่เราทำอยู่ ความท้าทายจะหายไปทันที แล้วสักวันจะมีคนที่แซงหน้าเราขึ้นไป” มณีรัตน์และ SEA (Thailand) ยังมีส่วนผลักดันให้เกมกีฬาอี-สปอร์ตจุดประกายความฝันนักเล่นเกมไทยที่ต้องการล่าเงินรางวัลและพัฒนาเป็นอาชีพ “กีฬาอี-สปอร์ตในไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ยิ่งกลายเป็นกีฬาสาธิตในเอเชียนเกมส์ที่กรุง Jakarta ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนส.ค. โดยมี 2 เกมของบริษัทเข้าไปร่วมด้วยคือ League of Legends (LOL)และ ROV กระแสยิ่งแรง ปัจจุบันในไทยมีคนสนใจดูกีฬาอี-สปอร์ตมากกว่า 10 ล้านคน”  

เส้นทางท้าทายสู่ธุรกิจ “อี-เพย์เมนต์” และ “อี-คอมเมิร์ซ”

สิ่งที่ต่อยอดมาจากธุรกิจเกมคือระบบอี-เพย์เมนต์ “แอร์เพย์” ที่ครอบคลุมการชำระเงินทั้งเกม เติมเงินโทรศัพท์ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ จ่ายค่าตั๋วชมภาพยนตร์ ด้วยยอดดาวน์โหลดในไทยมากกว่า 5.5 ล้านดาวน์โหลด รองรับร้านค้ากว่า 1.2 แสนแห่ง ไปจนถึง ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นมาในนาม “ช้อปปี้”(Shopee) “เราพยายามทำให้กลุ่มผู้ที่เข้ามาซื้อสินค้าในช้อปปี้รวมถึงผู้ขายมีความรู้สึกถึง sense of belonging ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม เน้นสร้างคอมมูนิตี้ให้คนซื้อคนขายมาเจอกัน”
หน้าเว็บไซต์ Shopee แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์
ปัจจุบัน ไทยมียอดดาวน์โหลดช้อปปี้ 19 ล้านดาวน์โหลด มีจำนวนผู้ค้าทั้งรายบุคคลและที่มีหน้าร้านของตัวเองรวมๆ กันมากกว่าแสนร้านค้า มีสินค้าให้เลือกซื้อมากกว่า 10 ล้านชิ้น ปัจจุบันช้อปปี้ยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ปัจจุบันช้อปปี้มียอดดาวน์โหลดใช้งานในภูมิภาคนี้ราว 125 ล้านดาวน์โหลด มีเม็ดเงินหมุนเวียน (GrossMerchandize Value - GMV) มากกว่า 1.9 พันล้านเหรียญเพิ่มขึ้น 199.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2017 มียอดคำสั่งซื้อมากกว่า 100 ล้านคำสั่งซื้อ ซึ่งบริษัทแม่ได้เพิ่มตัวเลขการคาดการณ์ของ GMV ตลอดทั้งปี 2018 ไว้ที่ 8.2-8.7 พันล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 99.4-111.5% แผนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของช้อปปี้ในไทยจากนี้คงต้อง “เข้มข้น” ขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ SEA (Thailand)อาจต้องลงทุนทั้งเงินและกำลังคนอีกมาก เพื่อรักษาตำแหน่ง Top 3 อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของไทยไว้ให้ได้ แม้วันนี้ ธุรกิจเกมออนไลน์ยังเป็นส่วนที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับบริษัท แต่เธอบอกว่าทั้งแอร์เพย์และช้อปปี้คือธุรกิจที่เป็นสตาร์  

จาก “ยูนิคอร์น” สู่ “ดิจิทัลคอมพานี” แถวหน้า

เป้าหมายสำคัญของมณีรัตน์คือการผลักดันให้ SEA (Thailand) เป็นดิจิทัลคอมพานีแถวหน้า ซึ่งเป็นความท้าทายของทุกบริษัทที่ต้องการทรานฟอร์มตัวเองไปสู่จุดนั้นเช่นกัน “เราเป็นธุรกิจด้านดิจิทัล ความท้าทายคือทำอย่างไรให้เราทันอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่ช้าไปนิดเดียว ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้ จึงต้องวิ่งให้เร็วที่สุด” SEA Limited ได้ชื่อว่าเป็นสตาร์ทอัพต้นแบบในระดับอาเซียนที่ประสบความสำเร็จ สร้างแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพรุ่นถัดๆ มาได้มากมาย “การที่เราเดินมาถึงจุดนี้ เพราะเราโฟกัสมากๆ ช่วงเริ่มต้นเราต้องการเป็นแพลตฟอร์มของเกม จึงมุ่งมั่นทำมันขึ้นมาให้ได้ คือ ต้องรู้เป้าหมาย สมัยนี้สตาร์ทอัพมี resource มากมาย พิจารณาให้ดีว่าคุณจะใช้มันให้เกิดประโยชน์อย่างไร ถ้าอยากเป็นยูนิคอร์นจะมองแค่ตลาดไทยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองไปตลาดต่างประเทศ ต้อง think global act local” ภาพประกอบ: มังกร สรพล