พงศธร ทวีสิน “ปตท.สผ.” ปลาเร็วในอุตสาหกรรมพลังงาน - Forbes Thailand

พงศธร ทวีสิน “ปตท.สผ.” ปลาเร็วในอุตสาหกรรมพลังงาน

ความได้เปรียบในอดีตคือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่ปัจจุบันปลาใหญ่ปลาเล็กอาจไม่สำคัญเท่า “ปลาเร็ว” สอดคล้องกับแนวคิดของ พงศธร ทวีสิน นายใหญ่ ปตท.สผ.ที่เปิดสายวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“รู้สึกอย่างไรที่ต้องสัมภาษณ์กันผ่านช่องทางนี้” ทีมงาน Forbes เริ่มต้นด้วยคำทักทายถึงวิถีการทำงานที่ไม่คุ้นเคย “ก็แปลกนิดนึงครับ ปกติช่องทางนี้เราใช้ในการประชุมงานระยะไกล ไม่เคยใช้เพื่อการให้สัมภาษณ์สื่อ” นายใหญ่ ปตท.สผ. ในฐานะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ออกตัว แต่การสัมภาษณ์ก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นกว่า 1 ชั่วโมงไม่ต่างจากนั่งคุยแบบปกติ มีจังหวะที่สะดุดบ้างจากสัญญาณที่ไม่เสถียรนักของคลื่นมือถือยุคที่ 4 (4G) แต่หลายคนบอกว่าเมื่อเข้าสู่ยุคที่ 5 (5G) การสื่อสารแบบวิดีโอคอลจะเสถียรมาก คงได้พิสูจน์กันไม่เกินกลางปี 2564 หลังกำหนดเปิดล่าช้าไปเพราะสถานการณ์โควิด-19  

-ยุคแห่งการปรับตัว-

นอกจากหยุดกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว โควิด-19 ยังนำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่สังคม-ธุรกิจ-และการใช้ชีวิตของผู้คน พงศธรเห็นด้วยกับมุมมองนี้ก่อนจะเสริมว่าหลายคนยังกังวลต่อการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนา 2019 ถือเป็นเหตุการณ์หยุดโลกเพราะการระบาดแพร่กระจายไปหลายภูมิภาค ทำให้ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงักยอดการใช้พลังงานลดฮวบ สายการบินไม่สามารถให้บริการได้ เพราะแต่ละประเทศล็อกดาวน์ ธุรกิจพลังงานได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อความต้องการใช้ทั่วโลกลดลง “ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่นระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ ลงไปได้มาก ดังนั้นองค์กรที่จะเหนือคู่แข่งได้ จึงต้องมีการปรับตัวที่รวดเร็ว โดยความใหญ่หรือเล็กขององค์กรอาจไม่สำคัญเท่าความสามารถในการปรับตัวได้เร็ว ซึ่งจะทำให้ได้เปรียบเหนือคู่แข่ง” ผู้นำ ปตท.สผ. มองว่า สิ่งนี้เป็นหัวใจของการบริหารองค์กรในศตวรรษที่ 20 ยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้ครอบคลุม ทั่วถึง และรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารข้ามซีกโลกทำได้เพียงชั่วอึดใจ การสืบค้นข้อมูลก็เช่นกัน  

-เติบโตจากความร่วมมือ-

เขาย้อนอดีตเส้นทางการเติบโตของ ปตท.สผ. ว่าที่ผ่านมาแบ่งได้ 3 ยุค ยุคที่เปลี่ยนแปลงมากคือ ยุคที่ 3 (2557-2560) โดยช่วงต้นของยุคที่ 3 ในปี 2557 ราคาน้ำมันตกรุนแรงทำให้บริษัทไม่มีการเติบโตต้องปรับตัวอย่างรุนแรง จนกระทั่ง 2561 หลังการปรับตัว ปตท.สผ. สามารถชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ 1 และแหล่งบงกชหลังจากนั้นการเติบโตของ ปตท.สผ. ก็เด่นชัดขึ้น ยอดขายขยับขึ้นชัดเจน การปรับตัวของ ปตท.สผ. นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว ยังมีการปรับวิสัยทัศน์ของการดำเนินธุรกิจด้วย “2 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากการเน้นแข่งขันใน Southeast Asia มาเป็นความร่วมมือทำให้ได้วิสัยทัศน์ใหม่ Energy Partner of Choice” เป็นวิสัยทัศน์ที่ตอบโจทย์เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี และอีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ความร่วมมือกับชุมชน “อุตสาหกรรม oil and gas คนมองว่าไม่สะอาด แต่ถ้าเราทำตัวให้คนยอมรับมาตรฐาน ดูแลชุมชนสิ่งแวดล้อมให้ดีก็เป็นตัวเลือกได้” พงศธรย้ำและว่า พอเปลี่ยนวิสัยทัศน์ทำให้สามารถขยายการลงทุนเพิ่มได้ สามารถขยายธุรกิจในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ครั้งแรก รวมทั้งเข้าซื้อกิจการของ Murphy Oil Corporation ในประเทศมาเลเซียได้เป็นผลสำเร็จ ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนมากกว่า 40 โครงการใน 15 ประเทศ เช่น โครงการบงกช โครงการเอส 1 โครงการซอติก้า โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และกลุ่มโครงการมาเลเซีย  

-ลดแผนลงทุนสู้โควิด-19-

ส่วนผลกระทบจากโควิด-19 พงศธรยอมรับว่า ค่อนข้างรุนแรง “เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมกระทบแรง ดีมานด์การใช้น้ำมันหายไปจากที่ปกติทั้งโลกใช้ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน ช่วงโควิดรุนแรงดีมานด์ลดเหลือ 70 ล้านบาร์เรล ขณะที่ซัพพลายปกติอยู่ที่ 100 ล้านบาร์เรล” อย่างไรก็ตามเขามั่นใจว่าดีมานด์จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ “เราคิดว่าช่วงแย่ที่สุดผ่านไปแล้ว (เมษายน) หลายประเทศราคาน้ำมันขยับขึ้น แต่ยังไม่เร็วถ้าไม่มีวัคซีนเพราะคนไม่มั่นใจ” แม่ทัพ ปตท.สผ. บอกว่า วิกฤตโควิด-19 รุนแรงกว่ารอบที่ราคาน้ำมันตกต่ำเมื่อ 4 ปีก่อน ครั้งนั้นดีมานด์ซัพพลายของน้ำมันพบกันที่ 90 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตอนนั้นซัพพลายล้นราคาตก แต่ครั้งนี้ซัพพลายเยอะดีมานด์หายไปร้อยละ 30 “ตอนราคาน้ำมันตกต่ำครั้งนั้น เราปรับลดการลงทุน 30% หลายโครงการขึ้นหิ้งไว้ก่อน ลดการใช้จ่าย รัดเข็มขัดหลายอย่าง มาช่วงโควิดเราประหยัดค่าใช้จ่ายเยอะมาก หลายโครงการรักษาระดับกำลังการผลิตตามสัญญาคู่ค้า ผมเชื่อว่าเราจะไม่เห็นราคาน้ำมันสูงอีกแล้ว คงต้องปรับตัวให้ชินกับความปกติใหม่ ไม่หวังราคาน้ำมัน 100 เหรียญสหรัฐฯ” พงศธรยอมรับว่า ผลประกอบการ ปตท.สผ. ปีนี้น่าจะลดลง ยอดขายอาจหายไปราวร้อยละ 7-10 จากปกติปีนี้ตั้งเป้าที่วันละ 3.9 แสนบาร์เรล อาจลดเหลือ 3.6 แสนบาร์เรล หายไปไม่ถึงร้อยละ 10 จากการประเมินระยะสั้น ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ากระทบมากไปกว่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้นำ ปตท.สผ. บอกว่าองค์กรเติบโตมา 30 กว่าปีเริ่มมีความเทอะทะ “เราเริ่มให้ความสำคัญกับการปรับองค์กรให้แบนลง ลด layer จาก 10 ให้เหลือ 6 ระดับ ทำให้องค์กรคล่องตัวขึ้น ทบทวนเรื่องขั้นตอนต่างๆ ลดคณะกรรมการลงและ build mindset ระดับบริหารสร้างความเข้าใจใหม่ มีโปรแกรมให้ทุกคนเข้าแคมป์ร่วมกัน ปรับแนวคิดทัศนคติ ลดกำแพงส่วนบุคคลเพื่อให้ทำงานร่วมกันง่ายขึ้น” ช่วงท้ายของการพูดคุย ซีอีโอ ปตท.สผ. ย้ำถึงพันธกิจองค์กรตั้งแต่เริ่มแรกที่ตั้งมาว่าเป็นองค์กรเพื่อคานอำนาจต่างชาติ “อยากเรียนว่า ผู้ใหญ่เมื่อ 30-40 ปีก่อน ถ้าวิสัยทัศน์ไม่ไกลบังคับโทเทล transfer operation เราก็คงไม่มีวันนี้ เรามีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงเชิงพลังงานให้ประเทศ และช่วยผลักดันเชิงเทคโนโลยี ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายองค์กรในอนาคต” ภาพโดย API
คลิกอ่านฉบับเต็ม "พงศธร ทวีสิน “ปตท.สผ.” ปลาเร็วในอุตสาหกรรมพลังงาน" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine