กลุ่มธุรกิจแสนล้านสัญชาติไทย เชื้อชาติเยอรมัน ที่ก่อตั้งในประเทศไทยมายาวนานกว่า 138 ปี อย่าง B.Grimm นั้นเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จครอบคลุมเกือบทุกสายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ การคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ สุขภาพและไลฟ์สไตล์ แต่ธุรกิจสำคัญที่สุดที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มถึง 70% คือกลุ่มธุรกิจพลังงาน B.Grimm Power ที่มีผู้นำทัพเป็นสตรีเหล็กอย่าง ปรียนาถ สุนทรวาทะ นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เพียงไม่กี่นาทีหลังการประชุมเจรจาธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้าที่อินโดนีเซีย ผู้บริหารหญิงวัย 58 ปีเข้ามาในห้องประชุมอีกหนึ่งห้องเพื่อต้อนรับ Forbes Thailand ด้วยความอบอุ่นและเป็นมิตร ไม่แสดงถึงความเหน็ดเหนื่อย ปรียนาถ มีบุคลิกลักษณะที่หญิงเก่งและแกร่งทั่วไปต่างมีเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายเรียบโก้ สีโทนดำ ผมซอยสั้นแสดงความกระฉับกระเฉง บุคลิกที่ดูอ่อนโยนแต่เข้มแข็งและนอบน้อม แววตาที่แฝงไปด้วยความมุ่งมั่นและทัศนคติในแง่บวก B.Grimm Power ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer หรือ SPP) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับการเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ คุ้นชินแห่งนี้ โดยมีผลงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) และกรรมการบริหารกลุ่ม B.Grimm ซึ่งเธอมีหน้าที่บริหารด้านการเงินของบริษัทในกลุ่ม B.Grimm ทั้งหมด เป็นหลักประกันความสามารถ ปัจจุบัน B.Grimm Power โรงไฟฟ้าในประเทศไทย 24 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,242 เมกะวัตต์และมีกำลังการผลิตไอน้ำรวม 270 ตันต่อชั่วโมง จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หลายร้อยราย ซึ่ง B.Grimm Powerเน้นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะในประเทศไทย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนสูงสุด มากกว่า 44% ของทุกภาคส่วน และต้องการไฟฟ้าที่มีความเสถียรสูง “ใน ภาคอุตสาหกรรม ไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก หากไฟกระพริบนิดนึงก็เกิดปัญหาใหญ่ เสียหายหลายแสน โรงไฟฟ้าขนาดเล็กของเราสร้างขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมเลย ทำให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเสถียรมากกว่า” ปรียนาถกล่าว นอกจากนี้ B.Grimm Power ขยายไปเวียดนาม 1 แห่ง กำลังการผลิต 13 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนเพิ่มเติม ส่วนที่ลาว ได้ลงนามสัญญาแล้ว 9 โครงการ กำลังการผลิต 162.5 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าแห่งแรกในลาวจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปี 2560 เมื่อจับกลุ่มลูกค้าถูกทาง พร้อมมีทีมงานในการขยายธุรกิจที่แข็งแกร่ง กราฟรายได้และผลกำไรจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา B.Grimm Power เติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 20% สร้างรายได้กว่า 2 หมื่นล้านต่อปี และมุ่งหน้าขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง “ทุก วันจะมีคนเสนอให้เราทำโปรเจกต์นั้นโปรเจกต์นี้ มีโอกาสมาให้เราเยอะมาก เพราะเรามีชื่อเสียงแล้ว ชื่อเสียงหนึ่งที่เราทำสำเร็จคือการที่เราได้เข้าไปเทคโอเวอร์โรงไฟฟ้าที่ แหลมฉบังสองแห่ง ไปปรับปรุงให้มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราเลยมีโอกาสไปเทคโอเวอร์ที่อื่นๆ และมีโอกาสอื่นๆ เข้ามาตลอดเวลา” ปรียนาถ เข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นานและกำลังขยายงานจำนวนมากก็ต้องประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างไม่คาดคิด ซึ่งเธอมองย้อนกลับไปว่า “เป็นอุปสรรคที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิต” แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส ปรียนาถ เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการที่พนักงานยอมลดเงินเดือน ช่วยเหลือกัน และปรียนาถ สามารถเจรจากับธนาคารและซัพพลายเออร์ทุกรายเพื่อขอผลัดผ่อนหนี้สินที่เกิดขึ้น “ตอนนั้นมีธนาคารอย่าง KfW ของเยอรมัน และ Bangkok Bank ที่ไม่ทิ้งเรา และช่วยเราฟันฝ่าอุปสรรคจนสร้างโรงไฟฟ้าโรงแรกสำเร็จ” โรงไฟฟ้าแห่งแรกที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ในปี 2541 คือ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จาก ความสำเร็จในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกประเภทพลังงานความร้อนร่วมที่อมตะนคร ชลบุรี โดยใช้เครื่องของ Siemens ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เป็นการนำเอาเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซและโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำมาใช้งาน เป็นระบบร่วมกัน ปรียนาถสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่สองขึ้นโดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมและระบบ ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเสถียรมากขึ้น จนในปัจจุบัน B.Grimm Power สามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เชื้อเพลิงดีเซล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังลม ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ทำให้โรงไฟฟ้าของ B.Grimm Powerชนะรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ICT Best Practice Award, Best Powerplant in Asia และ Siemens ยังให้ B.Grimm เป็น brand ambassador โดยให้โรงไฟฟ้าที่ระยองเป็นโรงไฟฟ้าตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพที่สุดแห่ง หนึ่ง “ทุกปีเรามีการสร้างโรงไฟฟ้า เพิ่มขึ้น จนตอนนี้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เป็นผู้ชำนาญอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่พี่ภูมิใจที่สุดคือเราเติบโตขยายอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนช่วนกันคิด ช่วยกันทำแบบทีมจริงๆ พวกเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือความสำเร็จของงาน” เป้าหมายของปรียนาถคือการผลักดันใน B.Grimm Power เป็นองค์กรระดับโลก ซึ่งเธอเริ่มบุกตลาดเวียดนามและลาวก่อนเพื่อให้แข็งแกร่งในภูมิภาค ก่อนขยายไปแถบยุโรป ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ B.Grimm มายาวนาน โดยสัดส่วนพื้นที่ดำเนินการในปีนี้ยังคงเป็นในประเทศ 99% และต่างประเทศ 1% แต่ในปี 2563 มีเป้าหมายในประเทศ 80% และ 20% ในต่างประเทศ ซึ่งประมาณการว่าจะสร้างรายได้รวมให้กับกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้น 145.91% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 200.62% โดยในปี 2558 มีรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาทและกำไรสุทธิเกือบ 2 พันล้าน และคาดว่าในปี 2563 จะมีรายได้ 5.8 หมื่นล้านบาทและกำไร 5.8 พันล้านบาท “คำ ว่า world class ของพี่ หมายถึงการได้รับความไว้วางใจจากทุก stakeholder อาจไม่ใช่เรื่องขนาดของโรงไฟฟ้า แต่เราเน้นในเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพเป็นสำคัญ” ปรียนาถย้ำ เรื่อง: กฤติยา วงศ์เทววิมาน ภาพประกอบ: สมเกียรติ ศิริวงศ์ศิลป์คลิ๊กอ่าน "ปรียนาถ สุนทรวาทะ หญิงแกร่งแห่ง B.Grimm Power" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailandฉบับ MARCH 2016 ในรูปแบบ E-Magazine