นภาพร รัตนแสงหิรัญ ปักธงนวัตกรรม 3เอ็ม ถึงมือผู้บริโภค - Forbes Thailand

นภาพร รัตนแสงหิรัญ ปักธงนวัตกรรม 3เอ็ม ถึงมือผู้บริโภค

นภาพร รัตนแสงหิรัญ กรรมการผู้จัดการคนไทยและบอสหญิงคนแรก 3เอ็ม ประเทศไทย ในรอบ 5 ทศวรรษ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรแห่งนี้เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว หลังจากสร้างผลงานโดดเด่นที่ 3เอ็ม ประเทศเวียดนาม

นภาพรเลือกศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 3เอ็ม ประเทศไทย ข้างๆ ห้างเซ็นทรัลพระราม 9 เป็นที่พบปะกับ Forbes Thailand เพื่อถือโอกาสแนะนำเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ 3เอ็ม ซึ่งมีจุดเด่นคือการมีสินค้ามากมายถึง 60,000 ชนิดครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ เรียกได้ว่าเกือบจะทุกประเภท

ตลอดไปจนถึงสินค้าสำหรับผู้บริโภค ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่นแผ่นใยขัดสีเขียวที่ทุกคนเรียกติดปากกันว่าสก๊อตช์-ไบรต์”,สก๊อตช์ เทป และ โพสต์-อิท หรือสินค้าที่เป็นผู้นำตลาดอย่างฟิล์มกรองแสงรถยนต์ และหูฟังทางการแพทย์ LITTMANN จนมีคำกล่าวว่าทุกๆ 3 ฟุตรอบตัวเราจะต้องมีผลิตภัณฑ์ของ 3เอ็ม

จบจากเทคโนโลยีทางอาหาร ก็เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ทำงานก็จะอยู่ในห้องแล็บ กระบวนการผลิต หลังจากนั้นก็เริ่มผันตัวเองออกมาขายของ เริ่มจากอุปกรณ์ในห้องแล็บ ... รู้สึกว่าวันที่ได้งาน เจ้านายก็บอกเหมือนกันว่าที่รับเข้ามาเพราะ analytical mindset” บอสหญิง 3เอ็ม กล่าวถึงความประทับใจที่ได้รับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาร่วมงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติยอดขาย 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แห่งนี้เมื่อ 27 ปีก่อน

สินค้าของ 3เอ็ม ที่ผู้บริโภคทั่วไปรู้จักดี เช่น สก๊อตช์-ไบรต์, สก๊อตช์ เทป และ โพสต์-อิท

นภาพรใช้เวลาส่วนใหญ่กับสายงานด้านการขาย การตลาด และพัฒนาธุรกิจ ดูแลลูกค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็น Country Business Leader กลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร ในปี 2546 เมื่ออายุเพียง 36 ปี

หลังจากนั้นจึงสลับสายงานขึ้นมาเป็น Master Black Belt ของ 3เอ็ม ประเทศไทย และ 3เอ็ม ประเทศเวียดนามเมื่อปี 2549 เนื่องจากทั้งสองประเทศเริ่มทำโครงการ Six Sigma พร้อมๆ กันพอดี แต่เวียดนามในขณะนั้นยังไม่มี Master Black Belt

จากที่ร่ำเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ นภาพรบอกว่าทำให้เธอค่อนข้างจะเข้าใจและซาบซึ้งกับหลักการของ Six Sigma ซึ่งเน้นที่การปรับปรุงกระบวนการพัฒนาทางคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุน ลด defects หรือเพิ่มยอดขายและกำไร

หลังจากปิดโปรเจกต์ Six Sigma เธอได้รับการโปรโมทเป็น Senior Country Business Leader กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม 3เอ็ม ประเทศไทย เมื่อปี 2550 ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการ 3เอ็ม ประเทศเวียดนามในอีก 5 ปีถัดมา และกุมบังเหียนเบอร์หนึ่ง 3เอ็ม ประเทศไทยเมื่อปี 2558

 

นโยบายบริษัทแม่เปิดโอกาส

นภาพรบอกว่าส่วนหนึ่งที่ตนได้รับโอกาสให้ขึ้นมารับผิดชอบงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ 3เอ็ม เวียดนามก็เนื่องมาจากนโยบายของบริษัทแม่ในขณะนั้นที่เริ่มเปิดให้ผู้บริหารในท้องถิ่นได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น

...เราเชื่อว่างานเดินได้ด้วยทีม ด้วยคน หมายถึงเวลาเราใส่แรงใส่ใจลงไปอย่างนี้ จะเป็นเรื่องของใจเยอะมาก เราเห็นมัน เรารู้สึกมัน แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ

นภาพร-รัตนแสงหิรัญ-3เอ็ม-ประเทศไทย
นภาพร รัตนแสงหิรัญ กรรมการผู้จัดการคนไทยและบอสหญิงคนแรก 3เอ็ม ประเทศไทย

ส่วนความเป็นผู้หญิงนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะวัฒนธรรมองค์กร 3เอ็ม เปิดโอกาสให้มีความเท่าเทียมกันและเปิดรับความแตกต่าง หลากหลายอยู่แล้ว

ข้อดีคือดิฉันอาจจะใช้คำง่ายๆ ว่า เราเป็นคนหัวดำเหมือนกัน พอเป็นคนเอเชียเหมือนกัน เราเชื่อว่าเราบอนด์กันได้ดี แล้วพอวัฒนธรรมองค์กรมันเป็นเรื่องของ Respect, Encourage Challenge และ Opportunity ที่เท่าเทียมกัน วัฒนธรรมองค์กรช่วยเยอะ

การสร้างการยอมรับดิฉันมองว่าเป็นเรื่องของการเปิดใจ เราโอเพ่นกับเขา เราแฟร์ เราจริงใจ สิ่งที่ได้กลับมามันต้องเหมือนกับที่เราให้ไป มันก็เป็นเรื่องของ ถ้าในเชิงวิทยาศาสตร์เราก็พูดว่า action เท่ากับ reaction มุมตกเท่ากับมุมสะท้อน โลจิกเราก็เชื่อว่ามันเป็นเรื่องแบบนั้น

 

สปีดและการเข้าถึงลูกค้ายังเป็นความท้าทาย

ในส่วนของกลยุทธ์และทิศทางในการดำเนินธุรกิจนั้น ในด้านของโครงสร้างหลัก 3เอ็ม ประเทศไทยต้องทำตามแนวของบริษัทแม่เป็นพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

(3เอ็ม ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ลดจำนวนกลุ่มธุรกิจจาก 5 เหลือ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรักษาความปลอดภัยและอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจขนส่งและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจตลาดผู้บริโภค)

แต่ในฐานะของบริษัทที่อยู่ในประเทศ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจตลาด และการใช้ลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ และในขณะนี้สิ่งที่ไม่สามารถละเลยไม่พูดถึงได้เลยคือ อี-คอมเมิร์ซ

สินค้าของ 3เอ็ม ทั่วโลกมีถึง 60,000 ชนิด นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วยังผลิตสินค้าสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น แว่นตานิรภัย หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง สารหล่อลื่น ฯลฯ

โดยขณะนี้ 3เอ็ม กำลังทบทวนพอร์ตสินค้าที่วางจำหน่ายในไทย ซึ่งปัจจุบันมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,000-6,000 ชนิดจากจำนวนสินค้าที่ 3เอ็มมีจำหน่ายทั่วโลก 60,000 ชนิด ซึ่งแนวทางสามารถไปได้ทั้งในทางเพิ่มและลดจำนวนสินค้าที่วางจำหน่าย

บางทีเรายอมฆ่าตัวเองดีกว่า มันจะได้เปลี่ยนเป็นเรื่องใหม่ ชั่วโมงนี้เป็นเรื่องของ productivity ถ้าของข้างนอกมีเยอะมาก ก็ต้องเลือกทำ เราคิดว่ามันเป็นไปได้หลายรูปแบบ ถ้าลดแล้วไซส์มันใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องที่เราต้องทบทวนตลอดเวลา

 

ลงทุนเพื่ออนาคต

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจากเกือบ 1.24 หมื่นล้านบาทในปี 2557 เป็น 1.27 หมื่นล้านในปี 2558 และ 1.34 หมื่นล้านในปี 2559 ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีรายงาน รายได้รวมบริษัทเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยประมาณ 20 ล้านบาทจากปีก่อนหน้า ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 9.14% จาก 885.37 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 966.28 ล้านบาทในปี 2560

อย่างไรก็ตามตัวเลขกำไรนี้น้อยกว่าเมื่อ 3-4 ปีก่อนประมาณครึ่งหนึ่ง ที่บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิในระดับ 1.9 พันล้านบาท

นโยบายบริษัทแม่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยตัวเลขผลดำเนินงานเป็นรายประเทศ อย่างไรก็ตาม นภาพรบอกว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา 3เอ็ม ประเทศไทยสามารถเติบโตได้สูงกว่าจีดีพีของประเทศ ตามเกณฑ์เป้าหมายที่ตั้งไว้ และในปีนี้จนถึงปัจจุบันผลดำเนินงานก็ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งกำไรที่ลดลงจากในอดีต มาจากเหตุผลหลายๆ อย่างที่ไม่อาจเปิดเผยได้ แต่ส่วนหนึ่งมาจากการนำเงินมาลงทุน

หนึ่งในความริเริ่มสำคัญคือการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและทีมงานพัฒนาผลิตภัณฑ์เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน โดยปัจจุบัน 3เอ็ม มีนักวิจัยระดับ phd ทำงานอยู่ที่ห้องแล็บในพื้นที่ของโรงงานลาดกระบัง (ซึ่งผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ และอื่นๆ อาทิ กระดาษทราย และเทปกาวอุตสาหกรรม) จำนวนประมาณ 5-7 คน นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนลงทุนเพิ่มในไทยซึ่งยังเปิดเผยไม่ได้ในขณะนี้

สิ่งนี้เป็นศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของบริษัทเลยทีเดียว เพราะทั่วโลกเราบอกว่า 6% ของยอดขายจะนำกลับมาพัฒนาปรับปรุงและใช้ในงานวิจัยและพัฒนา...บอสหญิงแห่ง 3เอ็ม ผู้มีภูมิหลังทางสายวิทยาศาสตร์กล่าวสรุปท้ายด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและภาคภูมิใจ

นภาพร-รัตนแสงหิรัญ-3เอ็ม-ประเทศไทย-ประวัติ

ภาพประกอบ: มังกร สรพล


คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ "นภาพร รัตนแสงหิรัญ ปักธงนวัตกรรม 3เอ็ม ถึงมือผู้บริโภค" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine