นพดล ปิ่นสุภา ภารกิจนายใหญ่ไออาร์พีซี ลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ - Forbes Thailand

นพดล ปิ่นสุภา ภารกิจนายใหญ่ไออาร์พีซี ลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์

แม้การเดินเข้ามาที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน จะไม่ได้เป็นความตั้งใจแรกของ นพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) แต่วันนี้เขายอมรับว่าตัดสินใจไม่ผิดที่ก้าวเข้ามาทำงานกับองค์กรแห่งนี้ เพราะทุกวันนี้ เขาก้าวมาไกลกว่าที่เขาตั้งใจไว้มาก

นพดลเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไออาร์พีซีซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีชั้นนำของไทยในเครือ ปตท.เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในที่ไออาร์พีซีจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกการทำงานที่เปลี่ยนไป หรือปัจจัยภายนอกที่รุมเร้าโหมกระหน่ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หรือความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ที่เป็นรายได้หลักของบริษัท ปัจจัยลบต่างๆ ได้ส่งผลกระทบกับราคาหุ้นที่ดิ่งตัวลงอย่างหนักนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

ลูกหม้อ ปตท.

นพดลเป็นลูกหม้อกลุ่มปตท. ทำงานที่นี่และที่เดียวมากว่า 30 ปีหลังจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความตั้งใจเดิมของเขาคือเดินตามรอยรุ่นพี่เข้าทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศในยุคนั้น แต่โชคชะตาไม่เข้าข้าง เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจและเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่เข้าทำงาน เรียกตัวเขาไปทำงานก่อน เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมงานกับปตท.ทันที เพราะมองว่าเป็นงานที่ “ท้าทาย” และอยากทำงานให้กับ “ประเทศ” นพดลเป็นพนักงานรุ่น “บุกเบิก” ของปตท. อย่างแท้จริง บ่อยครั้งเขาได้รับหน้าที่ใหม่ที่ต้องเริ่มจากศูนย์ ไม่มีทีมงานคอยช่วย ต้องทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง เขาเริ่มงานแรกที่ฝ่ายวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ จากนั้นโยกย้ายไปดูแลด้านการเปิดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่ปตท.จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ทำงานอยู่ในส่วนเทรดดิ้งราว 11 ปี จนวันหนึ่งมีโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เป็นโครงการร่วมทุนของ ปตท.ในยุคแรกๆ มูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เขาก็กระโจนลงเข้าช่วยบุกเบิกทันที เพราะรู้สึกท้าทาย แม้ว่าโครงการนี้จะได้รับการต่อต้านอย่างหนักก็ตามมา แต่ที่นี่ เขาได้เจอกับโลกใหม่ ได้ทำงานร่วมกับปิโตรนาส บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของมาเลเซีย ถึงวันนี้ โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ จากนั้นได้ย้ายไปบุกเบิกธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ซึ่งก็คือ บริษัท โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) (จีพีเอสซี) ในปัจจุบัน “สงสัย ผมใช้ง่ายมั้ง” นพดลตอบพร้อมหัวเราะ เมื่อเราถามว่าทำไมถึงได้รับ มอบหมายให้เป็น “ผู้บุกเบิก” อยู่บ่อยครั้ง ปัจจุบันผู้บริหารบุกเบิกวัย 55 ปี ได้เข้าสู่โหมดความท้าทายครั้งใหม่ เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายใหญ่ที่ไออาร์พีซี เพราะในครั้งนี้เขาต้องดูแลพนักงานของบริษัทมากกว่า 5,000 ชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ความไม่แน่นอนที่ยากจะคาดเดา สถานการณ์นี้แตกต่างจากช่วง 3-4 ปี ก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจปิโตรเลียม ทั้งดีมานด์และซัพพลาย ทำให้แนวโน้มสินค้าโภคภัณฑ์ได้ลดลงตามลำดับ“มันเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลก ของตลาด” เขาบอกและเสริมว่า “โชคดีที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนก่อน (สุกฤตย์ สุรบถโสภณ) ได้เริ่มวางรากฐานใหม่ให้กับไออาร์พีซี ผ่านโครงการ Everest การใช้ดิจิทัลทรานฟอร์มสร้างนวัตกรรมในองค์กร ทำให้พื้นฐานบริษัทยังคงแข็งแกร่ง แต่ก็รองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง” นพดลระบุ
นพดล ปิ่นสุภา ภารกิจนายใหญ่ไออาร์พีซี ลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์
ลิตภัณฑ์พีพีคอมพาวด์เกรดพิเศษ นำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนทั้งภายในและภายนอกรถยนต์รุ่น FOMM ONE ยานยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น โดยชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ 90% เป็นผลิตภัณฑ์ของไออาร์พีซี
ลดความเสี่ยงสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนราคาที่ผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์ไม่เป็นผลดีกับไออาร์พีซีในอนาคต นพดลตระหนักในประเด็นนี้ดี จึงเริ่มหาแนวทางกำจัดความเสี่ยงนั้น สร้างความสมดุล ภายใต้แนวทางของ “quick win” และลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ให้มากที่สุด Quick win เป็นแนวทางแห่งการแปรรูปความแข็งแรงที่องค์กรมีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงธุรกิจ นพดลบอกว่า ไออาร์พีซีโชคดีที่มีผู้บริหารคนก่อนๆ ได้วางโครงสร้างพื้นฐานภายในไว้เป็นอย่างดี มีการนำระบบ “best practice” จากทั่วโลกเข้ามาใช้โดยส่วนตัว เขาเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและย้ำพนักงานเสมอว่า ไม่ให้คำนึงแค่ผลงานที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานของตนเองด้วย เป็นการคิดในสิ่งใหม่ๆ นำสิ่งที่ดีที่สุดมาพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่า ทำให้ได้งาน ได้เงิน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ฟันฝ่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบันต่อไปได้ การลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นแนวทางที่ไออาร์พีซีกำลังผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคต หนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือ มุ่งเน้นสินค้า specialty product เหตุผลก็คือ ราคาและคุณภาพของสินค้าค่อนข้าง “นิ่ง” ไม่แปรผันไปตามตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผ่านมา บริษัทผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อนำจำหน่ายให้กับผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ตั้งแต่ชิ้นส่วนรถยนต์จนถึงท่อน้ำ โดยมีจุดเด่นคือ ผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เพื่อให้เป็นสินค้าสีเขียว “สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือความไม่แน่นอนของตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อธุรกิจของเราโดยตรง แม้เราจะเคยผ่านวิกฤตร้ายแรงกว่านั้นมาแล้วเมื่อ 30 ปีก่อนที่ไม่มีเงินซื้อน้ำมันดิบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีคาดเดาไม่ได้ ทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นได้หมด เพราะฉะนั้นทิศทางของไออาร์พีซีคือลดการพึ่งสินค้าโภคภัณฑ์และมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น” นพดล ปิ่นสุภา กล่าว นอกจากนี้ นพดลวางตำแหน่งของไออาร์พีซีให้เป็น solution provider ให้กับลูกค้า ซึ่งนอกจากจะต้องคิดเก่ง ทำเก่งแล้ว ยังต้อง “เร็ว” ด้วย เพราะความเร็วเป็นสิ่งสำคัญขององค์กรยุคนี้ ทั้งยังมองว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน ทำให้ลูกค้ายอมรับ และมียอดคำสั่งซื้อเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว การขยายธุรกิจ specialty product นี้ บริษัทจะมุ่งเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค ไม่ใช่แค่จับตลาดในประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท i-plas แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ากลุ่มพลาสติกจากประเทศจีน เปิดตัว placket.com แพลตฟอร์มซื้อขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลาสติกทุกชนิดในประเทศไทย เพื่อเปิดกว้างให้กับผู้ผลิตทุกรายในอุตสาหกรรม ทั้งยังกระตุ้นอุตสาหกรรมนี้ให้คึกคักมากขึ้นอีก นพดล ปิ่นสุภา ผลประกอบการ ไออาร์พีซี

Work-Life Balance

ผู้บริหารชาวจังหวัดสมุทรสาครผู้นี้เป็นคนเรียบง่าย ทำตัวสบายๆ เห็นได้ว่า ช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา เขาเลือกที่จะรับประทานอาหารที่ศูนย์อาหารของบริษัทมากกว่าไปข้างนอก ปรัชญาชีวิตของเขาคือ “กินเพื่ออยู่” เขาบอกว่า ไม่เพียงอาหารอร่อย สะดวกและประหยัดเวลาเท่านั้น แต่การรับประทานที่นี่ ยังได้พบปะกับพี่น้องและพนักงานคนอื่นๆ ของกลุ่มปตท. การพบเจอบนโต๊ะกินข้าว ทำให้เกิดความใกล้ชิดกัน ได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน โดยปกติตำแหน่งกรรมผู้จัดการใหญ่ ในกลุ่ม ปตท.มีวาระที่ 4 ปี อย่างไรก็ตามก็ไม่แน่นอนเสมอไป ช้าเร็วขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจภายใต้กลุ่ม ว่าจะมีแผนอย่างไร ใช้คนอย่างไร แต่สำหรับนพดลแล้ว ไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย เพราะการก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไออาร์พีซี ถือเป็นจุดสูงสุดของชีวิต เกินกว่าเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ เขากล่าวอย่างถ่อมตนว่า ชีวิตของเขาได้เป็นแค่ “ผู้จัดการฝ่าย” ก็พอใจสูงสุดแล้ว แต่เมื่อก้าวมาสู่ตำแหน่งสูงสุดแห่งนี้ เขาจะต้องรักษาคุณค่านี้ให้อยู่กับองค์กรให้นานที่สุด เรื่อง: เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร  ภาพ: มังกร สรพล
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ภารกิจนายใหญ่ไออาร์พีซี ลดการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine