อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ขับเคลื่อนโครงสร้างใหม่ โตโยต้า ทูโช ไทย - Forbes Thailand

อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ขับเคลื่อนโครงสร้างใหม่ โตโยต้า ทูโช ไทย

อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ หญิงสาวร่างเล็กบุคลิกคล่องแคล่ว ใบหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลา เธอมักออกตัวว่า “ยิ้มสู้ค่ะ” ซึ่งไม่ใช่แค่คำพูดเพราะตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่เธอให้สัมภาษณ์ ถ่ายภาพ และบันทึกวิดีโอกับทีมงาน Forbes Thailand สีหน้าและแววตาผู้บริหารหญิงท่านนี้ยังคงยิ้มแย้มอารมณ์ดีไม่เปลี่ยน

อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ หรือ ณิณี ชื่อที่ผู้คนในแวดวงการเงินและธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์รู้จักดี ทายาทธุรกิจรุ่น 3 ของโตโยต้า ทูโช ประเทศไทย กิจการร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นที่มีอายุยืนยาวกว่า 63 ปี ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด (TTTC) ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวที่ร่วมทุนกับ โตโยต้า ทูโช ญี่ปุ่น ร่วมธุรกิจกันมานานกว่า 6 ทศวรรษ จากจุดเริ่มต้น โดยคุณปู่ของเธอ สุจินต์ เชาว์วิศิษฐ ซึ่งก่อตั้งกิจการร่วมทุนแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2500 เติบโตมาอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเทรดเดอร์ (trader) อุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ ขยายไลน์สินค้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มมากกว่า 79 บริษัทครอบคลุมใน 7 กลุ่มธุรกิจ  

ปรับโครงสร้างองค์กรรับเทรนด์โลก

แต่ล่าสุดเมื่อปี 2562 บริษัทผู้ค้าอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์รายนี้ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ “เราปรับ structure ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเป็น บริษัท โตโยต้า ทูโช ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (TTTH) ซึ่งครอบครัวเชาว์วิศิษฐ ถือหุ้น 51% และโตโยต้า ทูโช ถือ 49% โดยมีบริษัทลูก 40 บริษัทเข้ามาอยู่ภายใต้ holdings จากทั้งหมด 79 บริษัท” อนุษฐา เริ่มต้นบทสัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ตั้งแต่การให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นช่วงหลังปรับโครงสร้างบริษัทไม่นานนักโดยเธอขยายความว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด (TTTC) ได้เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเดียวกันทั่วโลก โดยมีไทยกับมาเลเซียเปลี่ยนแล้ว ซึ่งจะทำให้ธุรกิจคล่องตัวขึ้น แต่ละสายธุรกิจมีความชัดเจนขึ้น โดยเธอบอกว่า เทรนด์ mobility as a service หรือการที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะเหมือนธุรกิจบริการ เป็นรูปแบบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “ใน ecosystem บริษัทรถยนต์แต่เดิมรถยนต์มีสัดส่วนสูงสุด แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนคนต้องการ service ธุรกิจจึงกำลังจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ ตอนนี้เลยดูอะไรที่เป็นการ link automotive and service มากขึ้น” อนุษฐาอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์โลกที่ฉายภาพอนาคตได้ค่อนข้างชัด เธอบอกว่า เทรนด์นี้แหละที่ทำให้ญี่ปุ่นและไทยตั้งหน่วยงาน “Next Mobility Team” ขึ้นมา โดยเธอย้ำว่า “เราเป็น Next Mobility ไม่ได้ดูแค่ EV หรือยานยนต์ไฟฟ้า แต่มองภาพที่กว้างออกไปอีก และเรายังมีอีกทีมคือ Digitalization Team ซึ่งสองอันนี้เป็นเทรนด์ที่มาแน่ๆ ทั้งในไทยและญี่ปุ่น เราจึงยกระดับขึ้นมาเป็นทีม section” นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้ตั้งบริษัท โตโยต้า ทูโช แอล แอนด์ ซี ซึ่งเป็น life and community ขึ้นมาโดยโฟกัสไปที่บีทูซี และไปลงทุนกับสตาร์ทอัพ Flare ซึ่งทำแรปโฆษณารถยนต์ “เราลงทุนสตาร์ทอัพกับ Flare ช่วยลูกค้าด้วย ช่วยคิดโปรดักต์อื่น เช่น Flare Dash บริการสำหรับคนขับรถให้กลุ่ม expat ต่างๆ ที่ปกติต้องมีตารางให้นายเซ็นทุกวัน แต่แอปนี้ช่วยให้ check in/check out ในโลเคชั่นที่กำหนด และบริษัทดึงข้อมูลไปทำเงินเดือนได้เลย เริ่มมีคนโหลดเยอะแล้วมุ่งไปที่ corporate เป็นหลัก” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โตโยต้า ทูโช ขยายเข้าไปลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อผู้ใช้รถ  

โควิดเร่งอุตสาหกรรมปรับตัว

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์บางส่วน ซึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมนี้มี 600,000 คน ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนและโรงงานรถยนต์โดนกระทบทั้งสองส่วน ซึ่งจะว่าไปแล้วสถานการณ์โควิด-19 กระทบทุกอุตสาหกรรม มีบางอุตสาหกรรมเป็นบวก แต่ส่วนมากเป็นทางลบ อนุษฐาเล่าว่า สิ่งที่โตโยต้า ทูโช ทำเพื่อช่วยคู่ค้าคือการช่วยเรื่อง inventory เมื่อความต้องการลดลงบริษัทไม่ได้ส่งของให้ลูกค้า แต่เก็บไว้เอง จัดสต็อกให้เหมาะสมพร้อมส่ง เป็นการช่วยทั้งเรื่องซัพพลายเชนช่วยลดทุนทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีที่บริษัทปรับมาเรื่อยๆ  

เดินวิถีใหม่ธุรกิจหลังวิกฤต

ด้วยบทบาทผู้นำหญิงแห่งโตโยต้า ทูโช ไทย ต้องรับผิดชอบงานบริหารก้าวข้ามช่วงวิกฤตให้ได้ดีที่สุด เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากแต่อนุษฐาบอกว่า “ยิ้มสู้ค่ะ” เป็นคำที่เธอใช้บ่อยเหมือนจะเตือนตัวเองว่า ทุกปัญหาต้องผ่านไปได้ขอเพียงต้องสู้ “สถานการณ์โควิด ทูโช เราพยามลดค่าใช้จ่ายที่มีทุกอย่าง พนักงานทุกคนดูแผนกตัวเอง ลดค่าใช้จ่ายลงได้เพื่อไม่ให้กระทบเรื่องคน เรายืนพนักงานไว้เท่าเดิม แต่หันมาลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายออฟฟิศสำนักงาน โลจิสติกส์ ทุกคนช่วยกันลดลงได้ถึง 20%” นอกจากนี้ ยังมีการลดinventory ในการสต็อกสินค้า ลดการสั่งสินค้าเข้า ลดแวร์เฮ้าส์ จากเดิมสต็อกไว้ 1.5-2 เดือนก็ปรับเหลือเพียง 1 เดือนทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง การขยายธุรกิจกระจายความเสี่ยงเป็น direction จากญี่ปุ่นที่กระจายใน 3 pillar ประกอบด้วย mobility กลุ่มยานยนต์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง, earth and resources กลุ่มทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมและ life and community กลุ่มไลฟ์สไตล์และสังคม ซึ่งก็ตรงกับที่โตโยต้า ทูโช ไทย “อะไรก็ตามที่ทำให้สังคมดีขึ้นเราจะทำธุรกิจทุกอย่างที่เราทำาจะมองผลที่ได้ก่อนแล้วตัวเลขค่อยตามมาทีหลัง”  

JAO Group ลุยธุรกิจอาหารด้วยจิตวิญญาณซามูไร

อนุษฐาไม่เพียงสืบทอดธุรกิจร่วมทุนโตโยต้า ทูโช ไทย เธอเน้นดูแลเรื่องการจับคู่ธุรกิจ (business matching) ทำให้มีโอกาสดีๆ ในการมองหาพันธมิตรต่อยอดขยายอาณาจักรธุรกิจ ปัจจุบันอาณาจักรธุรกิจของ “เชาว์วิศิษฐ” ได้นำชื่อสกุล “Jaovisidha” มาตั้งเป็นชื่อบริษัท JAO Group หรือ JAO เพื่อกระจายความเสี่ยงจากบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นด้วยการแตกไลน์ธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจรีเทล “เราต้องการกระจายความเสี่ยง จากเดิมมีเพียงกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์มีความมั่นคงระยะยาว แต่ธุรกิจอาหารยาก ต้องปรับตัวและเปลี่ยนเร็วตามพฤติกรรมผู้บริโภค แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ต้องบริหารจัดการต้นทุนการทำธุรกิจ” ปัจจุบัน JAO Group มีการจัดโครงสร้างแบ่งกลุ่ม 6 กลุ่มธุรกิจใหม่ เพิ่มความหลากหลาย ประกอบด้วย
  1. บริษัท เจ เอ โอ พรอสเพอร์ริตี้ จำกัด (JAO Prosperity) ลงทุนธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการ
  2. บริษัท เจเอโอ เมนเนจเม้นท์ จำกัด (JAO Management) โรงแรม รีสอร์ต เดอ พาสคานี (Resort de Paskani) เขาตะเกียบ อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  3. บริษัท เจพีเจ เมเนจเม้นท์ จำกัด (JPJ Management) ดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทน ที่ปรึกษาบริหารสินทรัพย์ทั้งซื้อและปล่อยเช่า
  4. บริษัท เจ เอ โอ อามายะ (ไทยแลนด์) (JAO Amaya) ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ไอศกรีมนมฮอกไกโดเจลลาโต้โฮมเมด “อาซาบุ ซาโบะ” (AZABU SABO) ได้รับความนิยมตั้งแต่เปิดที่ Tokyo ประเทศญี่ปุ่น
  5. บริษัท เจเอโอ คิมุคัทสึ (JAO Kimukatsu) ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารดังจากญี่ปุ่น คิมุคัทสึ (Kimukatsu) หมูทอดมิลล์ หรือเอกลักษณ์หมูสไลด์บาง 25 ชั้น
  6. บริษัท เจเอโอ ฟู้ด เซอร์วิส (JAO Food Services) เป็นครัวกลางทำหน้าที่จัดหาวัตถุดิบอาหารให้กับร้านอาหารและโรงแรม
เธอยอมรับว่า ทำธุรกิจอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคและความซับซ้อนในหลากหลายด้าน แต่ด้วยการถูกปลูกฝังความเป็นนักสู้อดทนไม่ยอมแพ้ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของซามูไร ที่ถูกถ่ายทอดมาจากการทำงานร่วมกับญี่ปุ่น ทำให้ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่แจ้งเกิดได้สำเร็จ ก่อนจบการสัมภาษณ์ อนุษฐาเผยหลักคิดสำคัญที่เธอใช้มัดใจคู่ค้าและทีมงานมาได้ตลอดคือ “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นานต้องจริงใจต่อกัน เชื่อใจกัน”
คลิกอ่านฉบับเต็ม “อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ขับเคลื่อนโครงสร้างใหม่ โตโยต้า ทูโช ไทย” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine