สูตรลับอาณาจักรแสนล้าน รักคำโตโตของเบทาโกร - Forbes Thailand

สูตรลับอาณาจักรแสนล้าน รักคำโตโตของเบทาโกร

ชัยชนะเหนือยอดขายที่มากกว่าการใช้ตัวเลขเป็นมาตรวัด คือชื่อเสียงที่สั่งสมจนได้รับการยอมรับตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษของกลุ่มเบทาโกรที่สร้างการเติบโตไต่ระดับแสนล้านในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจร

พลิกปฏิทินย้อนหลังในวันแรกที่เถ้าแก่โรงสีข้าวและบุตรชายตัดสินใจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตร ด้วยการต่อยอดธุรกิจผู้ส่งออกพืชผลด้านการเกษตรรายใหญ่ของประเทศสู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์จากคำแนะนำของญาติพี่น้องในตระกูล “แต้ไพสิฐพงษ์” พวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าโรงงานอาหารสัตว์เล็กๆ ในย่านพระประแดงจะเติบโตเป็นผู้นำในธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจรอันดับ 2 ของประเทศ พร้อมสร้างรายได้กว่าแสนล้านบาทใน 49 ปีต่อมา บนความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารให้ดียิ่งขึ้นของเถ้าแก่ ได้ถ่ายทอดถึงบุตรชาย ชัยวัฒน์ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ พร้อมสืบทอดเจตนารมณ์ต่อเนื่องไปยังลูกไม้ใกล้ต้นรุ่นสาม ได้แก่ วนัสและวสิษฐทายาทผู้ร่วมเป็นทัพหน้าขยายอาณาจักรธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การเลี้ยง และการพัฒนาสายพันธุ์โดยครอบคลุมทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ การทำฟาร์มพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ การผลิต จำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์และอาหารสัตว์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ บริการห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ อุปกรณ์ฟาร์ม รีสอร์ต และการปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมบริษัทในเครือกว่า 30 บริษัท “เบทาโกรเริ่มต้นในปี 2510 จากคำว่า Better Agro รวมเป็น Betagro ซึ่งมีความหมายตามศัพท์จีนแต้จิ๋วว่า ฮงนี้ หมายถึงปีที่มีพืชผลทางการเกษตรดี โดยคุณปู่และคุณพ่อได้รับคำชักชวนให้เปิดโรงงานอาหารสัตว์จากญาติที่อยู่ในฮ่องกง ไต้หวัน และจีนซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารสัตว์” วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของอาณาจักรที่สืบขานมาจากผู้เป็นพ่อ พร้อมกับการปลูกฝังให้สานต่อธุรกิจเส้นเลือดใหญ่ของครอบครัวและประเทศแม้จะไม่ใช่บุตรชายคนโต แต่วสิษฐก็ตระหนักดีถึงความรับผิดชอบในฐานะทายาทผู้ร่วมขับเคลื่อนอาณาจักรของครอบครัว ทันทีที่คว้าปริญญาโท MBA จาก University of Texas at Arlington ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อเริ่มต้นทำงานในกลุ่มเบทาโกร กับบริษัท โตโชกุก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นทัพหน้าหลายบริษัทในกลุ่มเบทาโกร ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 “เราผ่านวิกฤตและความท้าทายหลายช่วงไม่ว่าจะเป็น วงจรของดีมานด์และซัพพลายในธุรกิจเกษตรที่ทำให้ราคาสินค้าผันผวนขึ้นลง หรือช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่เรารอดพ้นได้จากการเน้นสินค้าส่งออกเป็นหลัก” วสิษฐ ระลึกถึงความท้าทายที่เคยเผชิญระหว่างนั่งเก้าอี้บริหารร่วม 30 ปี โดยเฉพาะวิกฤตครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2547 หลังจากไข้หวัดนกระบาดหนักในประเทศไทย ส่งผลให้ยอดส่งออกเนื้อไก่ของประเทศลดลงจาก 5 แสนตันเหลือไม่ถึงแสนตัน จากวิกฤต สู่โอกาส สถานการณ์การส่งออกของไทยที่พลิกผันเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้ทัพหน้าของเบทาโกรต้องแสดงฝีมือจัดการกับแรงกระเพื่อมที่สั่นสะเทือนตัวเลขยอดขาย พร้อมทั้งปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้แนวคิด “อาหารคุณภาพเพื่อคุณภาพชีวิต” จากวิกฤตที่แปรเปลี่ยนเป็นโอกาสทำให้เบทาโกรดำเนินธุรกิจอยู่บนความพร้อมในการปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างอย่างต่อเนื่อง ด้วยการริเริ่มตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร (Betagro Science Center) เพื่อวิจัยและพัฒนา รวมถึงเป็นห้องปฏิบัติการกลาง เพื่อทดสอบอาหารสัตว์ โรคสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งเน้นการสร้างสายสัมพันธ์ทางการค้าอันแข็งแกร่งกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือการนำระบบการบริหารคุณภาพ เพื่อยกระดับโรงงานให้เป็นมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบได้ตลอดห่วงโซ่อาหารของเบทาโกรตลอด 24 ชั่วโมง “ผมเชื่อว่า เราทำในส่วนนี้ได้ดีมาก และคุณวนัส (พี่ชาย) ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ โดยมีที่ปรึกษาจากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยพัฒนาการบริหารจัดการและทีมเวิร์ค การยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพ รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ เช่น สุกร ไก่ และไข่ แบรนด์ S-Pure” วสิษฐกล่าวถึงการต่อยอดทางธุรกิจที่สำคัญจากการร่วมทุนกับกลุ่มซูมิโตโม่ คอร์ปอเรชั่นในการก่อตั้งบริษัทแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศที่สามารถผลิตและจำหน่ายสุกรพันธุ์และสุกรขุนที่เลี้ยงด้วยเทคนิค SPF (specific pathogen free) เพื่อให้ได้เนื้อสุกรที่ปลอดโรค สะอาด และปราศจากสารตกค้างในปี 2536 ก่อนจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ S-Pure อีกสิบปีต่อมา และบริษัทยังร่วมทุนกับบริษัท โนซาน คอร์เปอเรชั่น (Nosan Corporation) ประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ไข่พรีเมียมดีที่สุดในญี่ปุ่นกว่า 30 ปี เพื่อพัฒนาไข่ไก่ S-Pure เน้นความสด สะอาดปราศจากกลิ่นคาว และเพิ่มความน่ารับประทาน เปิดเกมรุกต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากความมุ่งมั่นพัฒนาความแตกต่างด้วยเทคโนโลยีและคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคไทยและต่างประเทศ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ผ่านแคมเปญทางการตลาดติดหูผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น “รักคำโตโต” หรือ “อาหารจากใจ..สวยงามเสมอ” ทำให้เบทาโกรสามารถแจ้งเกิดแบรนด์ได้ตามสโลแกน “เพื่อคุณภาพชีวิต” “เราใช้เวลามากกว่า 30 ปีในการพัฒนาประสิทธิภาพ และ 15 ปีพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการสร้างแบรนด์ในช่วง 5 ปีหลัง ซึ่งขณะนี้เรามาถึงจุดที่สินค้าไม่พอจำหน่ายหรือสามารถสร้างดีมานด์ได้มากกว่าซัพพลาย ต่อจากนี้เรายังคงเน้นการพัฒนาซัพพลายบนพื้นฐานของคำว่า ‘คุณภาพและความจริงใจ’ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” วสิษฐกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของธุรกิจจนถึงวันที่เบทาโกรได้รับการยอมรับด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และกำลังก้าวสู่การเพิ่มความโดดเด่นด้านรสชาติ พร้อมสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงระหว่างความรักความห่วงใยของเบทาโกรต่อผู้บริโภค มากกว่าการสร้างแบรนด์ที่สะท้อนชัดถึงความต่างยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารถึงคราวปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยการจัดแบ่งกลุ่มธุรกิจของบริษัทให้มีความชัดเจนได้แก่ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม (agro business) และกลุ่มธุรกิจอาหาร (food business) รวมถึงลงทุนหลายพันล้านบาทในระบบ ERP (enterprise resource planning) ในการเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานและเชื่อมโยงระบบงานต่างๆ ขององค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น ขณะเดียวกันวสิษฐ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมทุกช่องทางทั้งในกลุ่ม modern trade กลุ่ม food service (HORECA) และ traditional trade รวมถึงขยายช่องทางจำหน่ายแบรนด์ S-Pure นำร่องอาหารสุขภาพไปยังโรงพยาบาล ทั้งยังจำหน่ายในร้านเบทาโกร ช็อป ทั่วประเทศ นอกจากการขยายธุรกิจภายในประเทศเบทาโกรยังไม่ทิ้งโอกาสสร้างการเติบโตในกลุ่มประเทศ AEC โดยใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท สร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกในต่างประเทศที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Phnom Penh ประเทศกัมพูชา กำลังผลิตรวม 2.16 แสนตันต่อปี สำหรับผลิตอาหารสัตว์บกคุณภาพทุกประเภท โดยในปี 2020 เราวางเป้าหมายยอดขายรวม 1.4 แสนล้านบาท โดยยังคงเน้นในประเทศเป็นหลัก 83% และต่างประเทศ 17% “ในปีนี้กำลังการผลิตอาหารสัตว์ของเราเกือบ 3 ล้านตัน จำนวนสุกรขุน 2.4 ล้านตัว ต่อปี ไก่ 4 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ไก่ไข่ 3 ล้านฟองต่อวัน โดยสัดส่วนการจำหน่ายแบ่งเป็น agro จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท และ food จำนวน 6.7 หมื่นล้านบาท ผมและทีมบริหารมั่นใจว่า รายได้สิ้นปีของเราจะถึง 1 แสนล้านบาท และในปี 2020 จะถึง 1.4 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน” โดยในช่วงปี 2559-2561 ซึ่งบริษัทมีแผนลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตทั้งในธุรกิจฟาร์ม โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานผลิตอาหาร โดยบริษัทใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปีละประมาณ 5-6 พันล้านบาททั้งยังคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับปานกลางในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า “เราเติบโตแบบ conservative ไม่ได้เปลี่ยนเพียงชั่วข้ามคืน แต่มุ่งพัฒนาความสามารถทีละส่วน เราชอบผลิต สร้าง ขายและพัฒนา ซึ่งเราอาจจะเป็นผู้ผลิตที่ดี ผู้ขายที่ดี และนักพัฒนาที่ดี แต่ยังไม่ใช่นักการตลาดหรือนักการเงินที่ดี” วสิษฐกล่าวย้ำถึงแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยื โดยมีหมุดหมายการก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ของเบทาโกรที่เป็นมากกว่าการเป็นผู้นำด้านรายได้หรือการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยการประกาศชัดในเป้าหมายการเป็น “อันดับ 1ในใจผู้บริโภค” พร้อมสร้างจุดยืนความเป็นผู้นำในตลาดพรีเมียม บนหลักการและความเชื่อมั่นของดีเอ็นเอนักสู้ทางธุรกิจที่ถ่ายทอดในตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์ “คุณพ่อปลูกฝังเรื่องความถูกต้องและการรู้หน้าที่ของตัวเอง ท่านย้ำ 3 คำ คือ ‘ทำถูกไว้ก่อน’ ‘ช้าหน่อยไม่เป็นไร’ และ ‘ถอยได้ถอยไม่ต้องรุก’ เราจึงเน้นคุณภาพและความเป็นพรีเมียมในอุตสาหกรรม ซึ่งสุดท้ายผู้บริโภคจะเป็นผู้พิสูจน์และยกให้เราเป็นอันดับ 1 ในใจด้านคุณภาพ จรรยาบรรณ และความถูกต้อง” วสิษฐปิดท้ายด้วยคติพจน์การครองอาณาจักรอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจรของประเทศ
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "สูตรลับอาณาจักรแสนล้าน รักคำโตโตของเบทาโกร" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2016 ในรูปแบบ e-Magazine