สุหฤท สยามวาลา รุ่น 4 แห่ง DHAS สู่ยุคไหลลื่นรับจุดเปลี่ยน - Forbes Thailand

สุหฤท สยามวาลา รุ่น 4 แห่ง DHAS สู่ยุคไหลลื่นรับจุดเปลี่ยน

แฟ้มตราช้างซึ่งผลิตจากโรงงานห้องแถวเริ่มเข็นสู่ตลาดเมื่อปี 2513 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่เป็นรากฐานของธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน รวมถึงบริการงานสินค้าที่เกี่ยวข้องในนาม บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด (DHAS) ปัจจุบันมี สุหฤท สยามวาลา ทายาทรุ่น 4 วัย 48 ปี เป็นผู้บริหารหลักดูแลกิจการในฐานะกรรมการผู้จัดการ

จุดกำเนิดของ DHAS เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรีหรือเมื่อ 110 ปีก่อนหน้า โดย Dilawer Husain Abdulali Siamwall ผู้เป็นปู่ทวดของสุหฤท ซึ่ง ณ ตอนนั้นตั้งไข่จากการเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าจากยุโรปมาขายในเมืองไทย ได้แก่ หนังสัตว์ น้ำหอม เวชภัณฑ์ สินค้าที่เกี่ยวกับกระดาษ จนถึงรุ่น 3 มิตร สยามวาลา คุณพ่อของสุหฤท จึงได้เริ่มจับตลาดเครื่องเขียนอย่างจริงจังด้วยการผลิตแฟ้มเอกสารตราช้าง ซึ่งสื่อถึงความแข็งแรงทนทานและยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย หลังจากนั้นครอบครัวสยามวาลาก็ทยอยนำผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนประเภทอื่นๆ ในนามของตราช้างเข้าสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นสมุดหรือกระดาษ
แฟ้มตราช้าง ซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เด่นของ DHAS ในปัจจุบัน
ทว่า กลายเป็น ‘ปากกา’ ยี่ห้อ Schneider จากเยอรมนีที่นำเข้ามาขายเมื่อปี 2502 คือพระเอกที่ช่วยให้ธุรกิจของครอบครัวสยามวาลาพลิกฟื้นจากที่ประสบปัญหาตลาดซบเซาหลังสงครามและชดใช้หนี้สินจากเหตุการณ์โรงงานไฟไหม้ การนำปากกามาขายในครั้งนั้น นับว่า DHAS คือผู้ที่คิดค้นคำว่าปากกาลูกลื่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย “ไม่ใช่เพียงปากกาลูกลื่นเท่านั้น แต่เรายังเป็นเจ้าแรกที่นำเครื่องเขียนซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาขายจนได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น แผ่นอักษรลอก น้ำยาลบคำผิด อีกทั้งยังสร้างแบรนด์ของเครื่องเขียนต่างๆ ให้เกิดในเมืองไทย ทั้งปากกายี่ห้อ Cross สี Pentel ปากกา Rotring หรือแม้แต่ดินสอ Mitsubishi เป็นต้น” เรียนรู้ความผันแปร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าครั้งหนึ่งปากกา Schneider เคยเป็นดั่งอัศวินขี่ม้าขาว แต่ก็มีชื่อเสียงในตลาดได้เพียง 2 ปีเท่านั้นก็ถูกปากกายี่ห้อคู่แข่งมาชิงตลาดไป จากเหตุการณ์นี้ทำให้ครอบครัวสยามวาลาเรียนรู้ว่าไม่มีความสำเร็จที่จะยืนยงถาวร จึงต้องเตรียมรับมือกระจายความเสี่ยงออกไปให้มากที่สุด อย่างการหาผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนที่หลากหลายมาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สุหฤท สยามวาลา กรรมการผู้จัดการ วัย 48 ปีของ บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด (DHAS)
กระทั่งมาถึงยุคของผู้นำรุ่น 4 ที่มองว่า DHAS ถึงจุดที่ต้องสร้างแบรนด์ของบริษัทเองที่นอกเหนือจากตราช้าง ปัจจุบัน DHAS จึงวางจำหน่ายสินค้าถึง 8,000 รายการที่เกือบ 100% เป็นแบรนด์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเองและดำเนินธุรกิจผ่าน 7 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
  • MASTERART แบรนด์ผลิตภัณฑ์ศิลปะ อาทิ ชุดสีทุกประเภท อุปกรณ์วาดภาพและเขียน สมุดวาดภาพระบายสี กระเป๋าดินสอ สติ๊กเกอร์ อุปกรณ์ hobby art ต่างๆ
  • ARTIFACT แบรนด์ปากกา
  • Paper Solution ธุรกิจจำหน่ายกระดาษที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก
  • Quantum แบรนด์เครื่องเขียน เช่น ปากกาลูกลื่น ดินสอกด ดินสอดำ ปากกาเน้นข้อความ ผลิตภัณฑ์ลบคำผิด
  • ตราช้าง ซึ่งเป็นแบรนด์เก่าแก่และเป็นสินค้าที่สร้างชื่อให้แก่บริษัทนั้น ยังคงยืนหยัดในตลาดธุรกิจอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน และเพิ่มกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
  • Elfen แบรนด์สำหรับส่งออกต่างประเทศ
  • Funsecondlife ที่แจ้งเกิดโดยสุหฤทเมื่อช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นน้องใหม่ที่ต่อยอดมาจากเว็บไซต์ขายอุปกรณ์ศิลปะออนไลน์ DHAS Art Center เดิม มีการจำหน่ายอุปกรณ์ศิลปะและสินค้าจำพวกกิจกรรมยามว่าง เช่น โมเดลและของเล่น ดูแลสัตว์เลี้ยง ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ตกแต่งบ้าน ทำอาหาร ฯลฯ
Quantum และ MASTERART แบรนด์ที่คุ้นหูคุ้นตาชาวไทยเป็นอย่างดี
สุหฤทย้ำว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อมาตอบโจทย์ลูกค้า คือทางออกที่ช่วยให้ DHAS รับมือกับโลกดิจิทัลที่หมุนเร็ว “เราต้องหาทางออกเมื่อการทำธุรกิจมันไม่เหมือนเคย อย่าไปยึดติดกับการขายสินค้าที่ดังมา 50-60 ปีแล้วคิดว่าวันหนึ่งมันจะไม่ดับ แต่คิดเสมอว่าถ้าเกิดดับขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไร จึงต้องหาผลิตภัณฑ์คลื่นลูกใหม่มาแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์เดิมที่ต้องจบลง” กระนั้นหนึ่งในความโดดเด่นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับ DHAS คือสร้างเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าของบริษัทโดยเฉพาะ จึงมีส่วนทำให้เกิดการลอกเลียนแบบสินค้าได้ยากมาก เร่งโตนอกบ้าน นอกจากนี้ การขยายการเติบโตของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านคือ CLMV เป็นอีกกลยุทธ์ที่ช่วยหลีกหนีการหดตัวของตลาดเครื่องเขียนในประเทศ เพื่อกระตุ้นรายได้รวมให้ยังเกาะอยู่ระดับ 3-5% ต่อปี โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ราว 3.4 พันล้านบาท ซึ่งอัตราส่วนรายได้หลักมาจากในประเทศถึง 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นรายได้จากต่างประเทศ “ผมมองว่าอยากขยายรายได้จากต่างประเทศให้เติบโตขึ้นจนครองอัตราส่วนที่ 60% ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นปีไหน แต่ก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เพราะคู่แข่งระดับโลกมีอยู่มาก ไม่ใช่อยากได้ก็จะได้” ทั้งนี้ สุหฤทเปิดเผยว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตลาดเครื่องเขียนไม่สามารถขยายการเติบโตได้สูงนัก ซึ่งโดยเฉลี่ยจะขยายได้ในระดับตัวเลขหลักเดียว โดยย้ำว่างบประมาณจากภาครัฐด้านการศึกษาในต่างจังหวัด คือ ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดเครื่องเขียนในไทย กระนั้นตลาดรวมเครื่องเขียนในเมืองไทยยังมีมูลค่ากว่า 1.39 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตถึง 6% ในปี 2559 และคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยที่ปีละ 3% หรือมีมูลค่าเพิ่มเป็น 1.61 หมื่นล้านบาทในปี 2564   วิถีผู้สืบทอด แม้ว่าในอีกบทบาทที่คนรุ่นใหม่จดจำสุหฤทอาจไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง และนักจัดรายการวิทยุในนาม “ดีเจโต้” ทว่า ทายาทรุ่น 4 แห่ง DHAS ก็ใช้ชีวิตในฝั่งนักธุรกิจควบคู่กับงานบันเทิงมายาวนานถึง 26 ปีแล้ว ทั้งนี้แนวทางการมอบหมายงานของครอบครัวสยามวาลานั้น บิดาจะชี้แนะให้โดยดูจากความสามารถและความถนัดของลูกแต่ละคน โดยสุหฤทเริ่มจากงานด้านการตลาดก่อนแล้วจึงขยายความรับผิดชอบขึ้นมาจนเป็นผู้อำนวยการด้านบริหารการขาย กระทั่งเมื่อพี่ชาย คือ ยิ่งศักดิ์ สยามวาลา ต้องขึ้นไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารจึงปรึกษากันในหมู่พี่น้องแล้วเลือกให้สุหฤทขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อปี 2554 “การขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการของผมก็ต้องไต่เต้ามาจากตำแหน่งเล็กๆ ก่อน แล้วยังต้องท้าทายกับแนวคิดที่ว่าคนนามสกุลสยามวาลาจะต้องได้อภิสิทธิ์ แต่กลายเป็นว่านอกจากไม่ได้อภิสิทธิ์แล้วยังต้องทำงานสองเท่าเพื่อให้คนยอมรับ เพราะนามสกุลไม่ได้ช่วยอะไรเลยในเวลาที่คุณต้องเป็นผู้นำ” โรงงานใหม่ที่ฟื้นฟูขึ้นหลังจากถูกน้ำท่วมถล่มในปี 2554 นับเป็นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดหลังจากสุหฤทขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ สำหรับแนวทางการส่งมอบกิจการต่อไปยังทายาทรุ่นที่ 5 นั้น สุหฤทยืนยันว่าปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของลูกหลาน แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีทายาทสยามวาลารุ่นต่อไปมารับช่วงต่อ ก็เพียงแต่ปรับรูปแบบธุรกิจเล็กน้อยก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยเพราะปัจจุบันไม่ได้บริหารกิจการแบบธุรกิจครอบครัวอยู่แล้ว ขณะที่เป้าหมายด้านรายได้ที่จะแตะถึงหมื่นล้านบาทหรือไม่นั้น เขายอมรับเป็นเรื่องยากมากและยังมองไม่เห็นหนทางในขณะนี้ แต่ถ้ามีโอกาสดีๆ เกิดขึ้นในอนาคต ก็อาจนำมาสู่รายได้ที่งดงามตามมา “ผมก็อยากทำให้บริษัทมีรายได้เป็นหมื่นๆ ล้านนะ แต่ทำไม่เป็น ถ้ารู้คงถึงไปแล้ว” พร้อมระเบิดเสียงหัวเราะเป็นการทิ้งท้ายตามสไตล์ของสุหฤท ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ DHAS  
อ่าน "รุ่น 4 แห่ง DHAS สู่ยุคไหลลื่นรับจุดเปลี่ยน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กันยายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine