ปัญญา นิรันดร์กุล ปลุกปั้น “ช่อง 1” ขึ้นแท่น Top 3 ทีวีดิจิทัล ท้าชนช่อง 7 และ 3 ขาใหญ่ทีวีไทย - Forbes Thailand

ปัญญา นิรันดร์กุล ปลุกปั้น “ช่อง 1” ขึ้นแท่น Top 3 ทีวีดิจิทัล ท้าชนช่อง 7 และ 3 ขาใหญ่ทีวีไทย

คร่ำหวอดในวงการบันเทิงกว่า 4 ทศวรรษจนถูกขนานนามเป็น “King of Game Show” แห่งเมืองไทย ปัญญา นิรันดร์กุล วันนี้ในฐานะผู้ประกอบการที่ร่วมโดดลงสนามแข่งทีวีดิจิทัลอันหฤโหด ฟาดฟันและปลุกปั้น “ช่อง 1 เวิร์คพอยท์ ครีเอทีฟ ทีวี” จนเรตติ้งพุ่งแรงแซงนั่ง Top 3 พร้อมเดินเครื่องเต็มสูบท้าชนช่อง 3 และ 7 ยักษ์ใหญ่ทีวีไทย

ปีเศษหลังจากการที่ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ด้ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล “ช่อง 1 เวิร์คพอยท์ ครีเอทีฟ ทีวี” พร้อมนั่งเฉิดฉายบนแท่นครองเรตติ้งอันดับ 3 ในเวทีอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ตามหลังอยู่เพียงแชมป์เก่าตลอดกาลอย่างช่อง 7 และ 3 ซึ่งมีเรตติ้งที่เสถียรเป็นเครื่องยืนยัน ปรากฏการณ์นี้สร้างความประหลาดใจไม่น้อยกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เพราะในเวลาเพียงแค่ปีเศษ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ช่องเวิร์คพอยท์ ครีเอทีฟ ทีวี สามารถทะยานครองอันดับใน Top 3 ได้อย่างรวดเร็วถึงเพียงนี้? ย้อนไปเมื่อปี 2532 ปัญญาได้ร่วมก่อตั้ง บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ กับ ประภาส ชลศรานนท์เพื่อนคู่คิดที่เป็นอดีตนักแต่งเพลงวงเฉลียง ทั้งยังเป็นนักเขียนหนังสือและบทละครชื่อดัง ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมรั้วจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ร่วมต่อสู้อุปสรรคนานานัปการจากการก่อตั้งเวิร์คพอยท์ตลอด 26 ปีที่ผ่านมา จนบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นผู้ผลิตรายการเกมโชว์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ผลิตรายการให้กับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวมถึงถูกซื้อลิขสิทธิ์เพื่อไปออกอากาศในต่างประเทศ ในปี 2547 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนสำหรับการขยับขยายธุรกิจ ภายใต้สัญลักษณ์ “WORK” ซึ่งธุรกิจหลักคือ การผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อออกอากาศ อีกทั้งมีรายได้หลักมาจากโฆษณา และเมื่อปี 2549 บริษัทตัดสินใจสร้างสตูดิโอด้วยเงินทุน 400 ล้านบาท บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ณ จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับการขยายงาน และในปี 2554 บริษัทลงทุนอีก 100 ล้านบาทเพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียมโดยมีช่องเป็นของตนเองและใช้ชื่อว่า “เวิร์คพอยท์ทีวี” เพื่อเป็นสถานีรองรับรายการที่ผลิตโดยบริษัท ปัจจุบันปัญญาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ขณะที่ประภาส นั่งตำแหน่งรองประธานกรรมการบริษัท ทั้งคู่ได้ชื่อว่าสามารถผสมผสานความสามารถและเติมเต็มซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี โดยปัญญามักทำหน้าที่ในการออกสื่อ ในขณะที่ประภาสยินดีที่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและออกความคิดในการต่อยอดรายการต่างๆ แม้ราคาการประมูลที่มหาศาล ปัญญายอมรับว่า “ความกลัว” และความไม่แน่ใจได้สอดแทรกเข้ามาในช่วงแรก เพราะเขาไม่มั่นใจว่าบริษัทพร้อมกระโจนลงสนามแข่งดังกล่าวหรือไม่ “ก่อนเข้าร่วมประมูล ผมมีความกลัวอย่างมหาศาล และมีความเครียดสูงมาก ผมมีการประเมินอย่างเลวร้ายว่า เงินทองและเครดิตที่ทำมา รายการที่นิยมที่ทำมากว่า 20 ปีทั้งหมดอาจจะไม่ได้รับความนิยมก็ได้ ผมอาจจะมีหนี้สินเป็นพันล้าน เพราะพอมาเป็นทีวีดิจิทัล เทรนด์อาจจะเปลี่ยนก็ได้” ปัญญากล่าวย้อนถึงความรู้สึกที่พรั่งพรูก่อนการประมูล ทว่าความกังวลและความเครียดสลายไปในทันทีหลังจากที่ทางบริษัทประมูลช่องได้สำเร็จ และได้แปรเปลี่ยนเป็นความมุ่งมั่นและการทำงานอย่างหนักเพื่อเป้าหมายใหม่ ปรัชญาในการทำงานสู่ความสำเร็จของปัญญานั้น เขาจะไม่เลือกทำในสิ่งที่ “ไม่ถนัด” เป็นอันขาด เวิร์คพอยท์มีการเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถเห็นได้จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 25 กันยายน 2558 อยู่ที่ 17.52 หมื่นล้านบาท ณ ราคาหุ้นที่ 42 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 12.50 บาท ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดที่ 3.13 พันล้านบาท สำหรับอนาคต ปัญญายังไม่คิดถึงเรื่องเกษียณ แต่ในสายงานบริหารนั้น เขามีแผนการที่จะลดบทบาทหน้าที่ของตนให้เหลือเพียงการนั่งในตำแหน่งบอร์ดของบริษัท และแต่งตั้งคนในองค์กรขึ้นมาเพื่อกุมบังเหียนในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยส่วนตัวแล้วนั้น เขาไม่กังวลว่าผู้กุมบังเหียนคนต่อไปจะต้องเป็นทายาทของตนหรือไม่ โดยปัจจุบันเขามีทายาท 4 คนคือ ปานวาด ปานตา ปานฝัน และปรวัธน์ ผู้เป็นบุตรชายคนเดียว ปัญญากล่าวทิ้งท้ายถึงแผนการระยะยาวของเขาซึ่งแฝงไปด้วยสัจธรรมว่า “อย่าอยู่กับอนาคตจนเกินเหตุ อย่าหลงกับอดีตจนเกินไป อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด...และอย่าหลอกตัวเองในเรื่องความถนัด จงใช้ความถนัดของตัวเองอย่างมีคุณธรรม แล้วจะสำเร็จเอง” เขากล่าวพลางอมยิ้ม   เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี  
คลิ๊กอ่าน "ปัญญา นิรันดร์กุล ปลุกปั้น “ช่อง 1” ขึ้นแท่น Top 3 ทีวีดิจิทัล ท้าชนช่อง 7 และ 3 ขาใหญ่ทีวีไทย" ฉบับเต็ม Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine