ประทีป ตั้งมติธรรม วางผังศุภาลัยโตต่างแดน - Forbes Thailand

ประทีป ตั้งมติธรรม วางผังศุภาลัยโตต่างแดน

ในยุคที่ บมจ.ศุภาลัย ปักหมุดทั่วทุกหัวระแหงในเมืองไทยแล้ว ผู้ก่อตั้งอย่างประทีป ตั้งมติธรรมย่อมต้องเล็งหาโอกาสขยายเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศอีกเท่าตัวเป็นราว 4 พันล้านบาทนอกจากจะพยุงตัวเลขผลกำไรของบริษัทให้แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องแล้วยังช่วยยึดฐานรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีให้คงอยู่

ประทีป ตั้งมติธรรม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย ในวัย 12 ปีต้องเผชิญโชคชะตาที่พลิกผันของครอบครัวเมื่อสู้เจียว แซ่ตั้ง ผู้เป็นบิดาซึ่งหาเลี้ยงครอบครัวต้องเสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้ลูกๆ ที่เคยใช้ชีวิตวัยเด็กในครอบครัวฐานะมั่นคง ต้องหันมาร่วมไม้ร่วมมือกันกอบกู้สถานการณ์และด้วยฉากชีวิตใหม่ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนตั้งแต่วัยเรียนนี้เองที่เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่ทำให้สมาชิกครอบครัวนี้สร้างธุรกิจจนเติบโตดังเช่นปัจจุบัน ย้อนกลับไปในเวลานั้น พี่ชายคนโตชวน ตั้งมติธรรม (ผู้ก่อตั้ง บมจ.มั่นคงเคหะการ) และพี่สาวคนรองของประทีปคือดาราณี เกรียงไกรไพบูลย์ ต้องหยุดเรียนมาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว “ตอนนั้นชีวิตลำบากมาก ขายของไม่ได้มีเงินไม่พอ แม่ต้องยืมเงินคนข้างบ้านมาซื้อกับข้าว กางเกงนักเรียนของผมก็ปะเป็นรูปใบโพธิ์เพราะมีกางเกงอยู่แค่สองตัว ส่วนพื้นรองเท้าก็ต้องใช้กระดาษแข็งมารอง” แต่ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนทั้งชวนและประทีปก็สามารถสอบติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเมื่อประทีปมีได้โอกาสฝึกปรือฝีมือการออกแบบที่ได้ร่ำเรียนมากับบริษัท อีอีซี จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานออกแบบทำให้ประทีปมีโอกาสส่งผลงานประกวดและได้รางวัลชนะเลิศติดมือกลับมาและผลจากการประกวดครั้งนั้น มีส่วนช่วยให้เขาพิชิตฝันไปเรียนต่อปริญญาโทสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ University of Illinois at Urbana Champaign สหรัฐฯ ในเวลาต่อมา แม้ฝันของประทีปคือการตั้งสำนักงานออกแบบของตัวเอง ทว่าสุดท้ายเขาและพี่ชายร่วมลงทุนเปิด บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด แทน ธุรกิจสร้างบ้านจัดสรรแห่งแรกเมื่อปี 2516 และเกิดโครงการหมู่บ้านชวนชื่นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี2520 จนกระทั่งจุดหนึ่งที่ความเห็นระหว่างสองพี่น้องเริ่มไม่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ชวนจึงแนะนำประทีปตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจในแบบที่ต้องการ “ตอนที่พี่ชวนบอกให้ไปตั้งบริษัทใหม่ผมมาปรึกษากับภรรยาจะตัดสินใจอย่างไรดีเนื่องจากหลัง บมจ.มั่นคงเคหะการ เข้าตลาดแล้ว จริงๆ ผมก็ไม่ต้องทำงานยังได้ เพราะตอนนั้นก็มีเงินอยู่หลายสิบล้านบาทแล้ว แต่ภรรยาผมบอกว่าไม่ได้ ยังหนุ่มอยู่ยังต้องทำงานไม่อย่างนั้นจะว่างมากไป” ในที่สุดเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2532 จึงก่อตั้ง บมจ.ศุภาลัย ขึ้น อย่างเป็นทางการ โดยเริ่มประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 100 ล้านบาท “ตอนนั้นเศรษฐกิจดีและราคาที่ดินบูมมากตามที่เรียกกันว่ายุคโชติช่วงชัชวาล สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้ปีแรกเราก็มีกำไรแล้วยังสร้างผลกำไรต่อเนื่องทั้งปีที่สองและสามจึงเข้าตลาดหลักทรัพย์ในที่สุด” ดังนั้นในปี 2535 บริษัทฯ ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงหลายโครงการ “เราใหญ่พอที่จะทำหลากหลายโครงการได้” ประทีปยืนยันถึงศักยภาพและแนวทางของ บมจ.ศุภาลัย โดยบริษัทยังทำโครงการที่หลากหลายผสมผสานกันไม่เทน้ำหนักไปฝั่งใดมากไป ปัจจุบัน บมจ.ศุภาลัย เป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ทำโครงการในต่างจังหวัดมากที่สุด ซึ่งรายได้ 1 ใน 4 ของบริษัทมาจากพื้นที่หัวเมืองต่างจังหวัด ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคใน 20 จังหวัด กิจกรรมการลงทุนในต่างประเทศของ บมจ.ศุภาลัย เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2555 ด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบของคณะกรรมการบริษัทที่เล็งเห็นประโยชน์หลายประการหนึ่งคือเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตด้วยมองว่าเป็นไปได้ที่ตลาดอสังหาฯ ในไทยจะเติบโตชะลอตัวลงในอนาคต สองคือเป็นการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากวงจรเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ตรงกัน ดังเช่นที่ทุกวันนี้ GDP ของหลายประเทศในเอเชียสูงกว่าไทย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แต่ที่สำคัญคือ “การลงทุนในต่างประเทศยังมีส่วนช่วยรักษาอัตราการทำกำไรของบริษัทด้วย” เป็นคำยืนยันของประทีป “การไปทำธุรกิจในต่างประเทศของบมจ.ศุภาลัยเหมือนนักกีฬาที่ร่างกายแข็งแรงแล้วก็ย่อมพร้อมจะไปแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ ขณะที่ในเมืองไทยก็ทำโครงการแทบจะทุกมุมเมืองแล้ว” ทั้งนี้หลังจากศึกษาหาข้อมูลอยู่ราว 1 ปีตั้งแต่เมื่อปี 2555 และเล็งเห็นว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศในย่านอาเซียนที่ไม่ไกลจากไทยนักและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีแต่มีค่าเงินที่ใกล้เคียงกัน ในที่สุดจึงตัดสินใจลงทุนราว 1 พันล้านบาทซื้ออาคารสำนักงานเปโตรนาสสูง 30 ชั้นและมีขนาดพื้นที่รวม 2,000 ตร.ม. ที่กรุงมะนิลา เมื่อปี 2556 เพื่อเป็นพื้นที่ให้เช่าและจัดตั้งบริษัท ศุภาลัย ฟิลิปปินส์ อิงค์ ขึ้นเพื่อดูแลธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าดังกล่าว “ตอนนี้มีผู้เช่าเต็ม 100% ได้ yield อยู่ที่ราว 9% ยังไม่รวมกำไรจากการที่ค่าเงินแข็งขึ้นอีก แต่จะขายเพื่อทำกำไรและรับรู้รายได้ในปีนี้ เพื่อจะนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นต่อ” หลังจากประสบความสำเร็จในการลงทุนที่ฟิลิปปินส์ บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาสในการลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่มั่นคง มีทรัพยากรธรรมชาติมากผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ค่าเงินในออสเตรเลียผันผวนบ้างแต่ไม่มากนัก นอกจากออสเตรเลียและฟิลิปปินส์แล้วบริษัทฯ จะขยายการลงทุนในประเทศอื่นเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งพัฒนาโครงการคุณภาพและบริการที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพและการเป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านั้นยังเล็งหาโอกาสขยายการลงทุนด้านต่างประเทศในประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงคือกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม หรือ CLMV แต่ตัวเขามองว่าหากจะไปลงทุน บริษัทฯ คงจะเลือกเป็นผู้พัฒนาโครงการเองเนื่องจากสามารถนำรูปแบบบ้านจากไทยไปประยุกต์ได้ แต่ต้องรอดูจังหวะที่เหมาะสมก่อน ด้วยยังกังวลเรื่องระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย บมจ.ศุภาลัย ก้าวผ่านปีที่ 25 ตั้งแต่สองปีก่อนมาอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็มีช่วงสั่นคลอนจากพิษเศรษฐกิจเช่นเดียวกับบริษัทอสังหาฯ หลายรายในเมืองไทยที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศ จึงโดนกระสุนจากนโยบายลอยตัวค่าเงินบาทยิงใส่เข้าเต็มเปา ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนกว่า 800 ล้านบาท รวมถึงการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินบางแห่งที่ส่งผลต่อทั้งฝั่งลูกค้าและตัวบริษัทฯ โดยรวมแล้ว บมจ.ศุภาลัยต้องเผชิญวิกฤตอยู่ราว 2 ปีถึงเริ่มฟื้นตัว ซึ่งสิ่งที่ประทีปยืนยันว่าได้เรียนรู้จากบทเรียนเศรษฐกิจครั้งนั้นคือ “ทำให้เราแข็งแรงขึ้นทำธุรกิจอย่างระมัดระวังและเดินทางสายกลางมากขึ้น ไม่ขยายตัวอย่าง aggressive เหมือนเดิม หลังจากนั้นเราไม่เคยตั้งเป้าโต 20 ถึง 30% แล้ว” อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ประทีปเคยติดอันดับ Thailand’s 50 Rich List ประจำปี2013 เป็นอันดับที่ 50 ด้วยสินทรัพย์สุทธิกว่า1 หมื่นล้านบาท จากการจัดอันดับของ Forbes ซึ่งแม้ปัจจุบันเขายังไม่ได้กลับไปติดอันดับอีก แต่ประทีปทิ้งท้ายถึงชีวิตของการเป็นเศรษฐีหมื่นล้านไว้อย่างน่าฟังว่า “จากมีเงินเป็นสิบแล้วกลายเป็นหมื่นล้าน ชีวิตผมก็เหมือนเดิมแต่กินข้าวได้น้อยลง เพราะต้องดูแลสุขภาพมากขึ้น”   เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: ชัยสิทธ์ จุนเจือดี
คลิ๊กอ่านบทความด้านธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2016 ในรูปแบบ e-Magazine