บัณฑูร ล่ำซำ กับภารกิจท้าทายอำนาจรัฐ-ชุมชน-ผลประโยชน์ - Forbes Thailand

บัณฑูร ล่ำซำ กับภารกิจท้าทายอำนาจรัฐ-ชุมชน-ผลประโยชน์

บัณฑูร ล่ำซำ นายแบงก์ใหญ่ผู้เคยยืนหนึ่งบนสังเวียนธุรกิจการเงินในฐานะผู้บริหารสูงสุดธนาคารกสิกรไทย วันนี้ได้ประกาศวางมือจากธุรกิจ แน่นอนเขาจะมีเวลามากขึ้นกับภารกิจฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำเมืองน่าน แม้เจ้าตัวจะบอกว่า “ผมไม่ใช่นักอนุรักษ์” แต่สิ่งที่ทำมาตลอดหลายปีมันนิยามตัวเขาค่อนข้างชัด

บัณฑูร ล่ำซำ อดีตประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ผู้สืบทอดธุรกิจรุ่นที่ 5 ของตระกลู ล่ำซำ เพิ่งประกาศวางมือจากการบริหารธนาคารกสิกรไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 “บัณฑูร ล่ำซำ” หรือ คุณปั้น วันนี้ได้ฉายาประธานกิตติคุณ ไม่มีส่วนร่วมในการบริหารธนาคารกสิกรไทย แต่ที่ผ่านมาเขาเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงให้กับธนาคารสัญลักษณ์รวงข้าวแห่งนี้มากมาย สร้างการเติบโตฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจมาได้อย่างแข็งแกร่ง จากโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” วันนี้ด้วยการผลักดันของหลายฝ่ายทำให้เกิด “น่านแซนด์บ็อกซ์” โครงการที่ดึงเอาความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และภาคประชาชน มาเป็นคณะทำงาน ร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพื่อผลักดันโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเมืองน่านให้เป็นผืนป่าที่สมบูรณ์เหมือนในอดีต เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้อยู่อย่างสงบร่มเย็น ด้วยวิถีธรรมชาติที่คนกับป่าอยู่ร่วมกันโดยไม่บุกรุกทำลาย เป็นฝันอันยิ่งใหญ่ของอดีตผู้บริหารสูงสุดธนาคารกสิกรไทยวัย 67 ปี คุณปั้นกับเมืองน่านถูกกล่าวถึงมาตลอดหลายปี ด้วยความทุ่มเทที่อดีตนายแบงก์ใหญ่ผู้นี้มีให้กับโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำในจังหวัดน่าน ลงทั้งแรงกายแรงใจและทุนทรัพย์เพื่อผลักดันให้โครงการนี้ก้าวเดินไปข้างหน้า ด้วยพื้นฐานแนวคิดที่ต้องการรักษาป่าต้นน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เป็นแหล่งพักอาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ อยากให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร ซึ่งไม่ใช่เขาคนเดียวที่คิดเรื่องนี้ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรอคอยด้วยความหวัง “ป่าน่านเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อ 5-6 ปีมาแล้ว ที่ทอดพระเนตรเห็นความสูญเสียของพื้นที่ป่าต้นน้ำพระองค์ท่านเสด็จฯ มาประทับที่นี่ 15 ปีมาแล้ว มีพระตำหนักก่อนผมมาถึงน่านด้วยซ้ำ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาป่าสูญเสียเยอะ ทรงรับสั่งว่าสมัยก่อนไม่เป็นอย่างนี้ช่วยกันดูหน่อยว่าทำไม นำมาซึ่งความร่วมมือ โดยที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาไปแล้ว 4 ครั้ง ทุกครั้งท่านเสด็จฯ เป็นประธานช่วยกระตุ้นคนน่านและคนอื่นๆ ให้มาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง” บัณฑูรเริ่มต้นเล่าถึงโครงการที่เขามุ่งมั่นพัฒนามาหลายปี  

น่านแซนด์บ็อกซ์ = ขอคืนผืนป่า

วันนี้เมื่อคุณปั้นประกาศวางมือจากงานบริหารธนาคารกสิกรไทย ภารกิจคืนผืนป่าเมืองน่านจึงเป็นโปรเจกต์ที่เขาจะเดินหน้าต่ออย่างเต็มที่ด้วยเวลาที่มีมากขึ้น แต่นับจากต้นปีมาถึงปัจจุบัน เป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องระงับกิจกรรมและการเดินทาง กำหนดประชุมคณะกรรมการน่านแซนด์บ็อกซ์ที่จังหวัดน่านในช่วงต้นปีนี้จึงต้องเลื่อนออกไป “ผมมีส่วนลงพื้นที่คุยกับประชาชนตำบลต่างๆ แต่หากไม่ใช้อำนาจรัฐคงทำไม่ได้ รักษ์ป่าน่าน เป็นกระแสความพยายามโดยรวมของประชาชนและคนที่สนใจ ร่วมกระตุกความสำนึกว่าโจทย์นี้ไม่เล็ก หนทางที่จะแก้ได้ต้องโหนอำนาจรัฐ เพราะรัฐมีอำนาจโดยกฎหมายในการจัดสรรพื้นที่ระดมสรรพกำลังจากแวดวงต่างๆ มาช่วยกันคิดโจทย์

นำมาสู่โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเป็นคนละอันกับรักษ์ป่าน่าน แต่มีจุดมุ่งหมายตรงกันคือ ลดการสูญเสียป่าต้นน้ำของไทยที่หายไปแล้ว 28% ซึ่งเยอะมากและมีนัยสำาคัญต่อโลกร้อนและอื่นๆ ที่โยงกับความสูญเสียของป่า” เป็นความคืบหน้าล่าสุดในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน โครงการใหญ่ที่อดีตนายแบงก์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุตามวัตถุประสงค์แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ป่าถูกทำลายไปทุกๆ ปี อีกเหตุผลด้วยความที่เป็นเขตป่าสงวนฯ ชาวบ้านไม่รู้จะทำมาหากินอะไร อยู่กันแบบตามมีตามเกิด เก็บของป่าขายบ้างแต่เมื่อโลกทุนนิยมมาถึง มีการเชื้อเชิญให้ปลูกข้าวโพด โดยให้เครดิต ให้ปุ๋ย ให้เมล็ดพันธุ์ และมีคนรับซื้อตอนจบ มันตอบโจทย์เกษตรกรได้ตรงจุด “ปัญหาคือพื้นที่นี้ไม่ใช่ที่ว่าง มันเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ เป็นต้นน้ำชั้นหนึ่ง แต่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยต่อให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ฉันก็ตัดอยู่ดีเพื่อปลูกข้าวโพด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นปัญหา และเพราะไม่มีความตระหนักของฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าอันนี้เป็นปัญหา ปล่อยให้ลากยาวจนป่าโล้นอย่างที่เห็น เจ้านายท่านเป็นพระองค์แรกๆ ที่กระตุกให้คนตระหนักว่านี่ไม่ใช่ปัญหาที่จะทิ้งไว้ได้”  

แก้ปัญหารัฐ-ชาวบ้าน-ที่ทำกิน

กรณีพิพาททุกเรื่องไม่ได้จบที่มีกฎหมายรองรับ เพราะปัญหามันซับซ้อนกว่าที่เห็น คุณปั้นบอกว่า “โจทย์ของน่านคือยากมากพื้นที่ใหญ่ มีโจทย์ทำมาหากิน ถามว่าทำไมต้องไปตัดป่า คนก็บอกไม่รู้จะทำอะไรกินแถมมีแรงดึงดูดของโลกทุนนิยมที่ต้องการข้าวโพดสนองตลาด แต่พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่สถานที่จะไปทำอย่างนั้น เพราะเป็นป่าสงวนฯ ชั้นหนึ่ง เมื่อเริ่มต้นไม่มีใครห้ามปล่อยให้เสียหายร้อยละ 28 การแก้ไขจะต้องค่อยๆ หาอย่างอื่นให้เขาทำที่มีรายได้ดีบนพื้นที่ซึ่งต้องเล็กลงกว่าเดิม เช่น เมื่อก่อนแต่ละคนจอง 40 ไร่ ถ้าเอาตามนี้จังหวัดน่านคงไม่มีป่าให้” การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มูลค่าเศรษฐกิจต่อไร่สูง หนทางแก้ไขเมื่อจัดสรรพื้นที่ให้ตามกฎหมายแล้วต้องให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน อาจต้องเปลี่ยนมาหากินอีกแบบ เช่น ท่องเที่ยว หรือปลูกพืชอื่นในพื้นที่ซึ่งจำกัดลง จะให้ประชาชนทำอะไร ถ้าเขาอยู่ได้และปลูกป่ากลับมาส่วนหนึ่งตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน ทุกคนก็แฮปปี้ มีที่ดินทำกินเลี้ยงชีวิตได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น บัณฑูรอธิบายว่า รัฐก็มีหลายหน่วยงานหลายประเด็นการเมือง มีการกดดันทางการเมืองเข้ามาเรียกร้อง ต้องประกันราคาพืชผลซึ่งอาจมีส่วนทำให้ประชาชนไม่อยากออกจากวิถีแบบเดิมๆ ถ้าราคาไม่พอกินก็เรียกร้องทางการเมือง ทำกี่รอบก็ไม่มีแรงดึงคนออกจากวิถีเดิม ทำเกษตรไม่พอกิน กี่ปีก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม เป็นโจทย์สำคัญซึ่งไม่ได้เกิดที่จังหวัดน่านที่เดียว แต่ที่น่านมีโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ เป็นการหาหนทางรูปแบบวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายของบัณฑูรต่อการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเขาบอกว่า “สิ่งที่อยากเห็นคือ 1. การได้ป่าคืนมา 2. คนไม่ผิดกฎหมาย 3. มีวิถีการทำกินแบบใหม่ ยืนบนวิถีการผลิตสินค้าที่มีคุณค่ามีราคา ไม่อย่างนั้นก็กลับไปวังวนประกันราคาพืชผลไม่จบสิ้น” บัณฑูร ล่ำซำ ปัญหาของประเทศไทยคือ ประชาชนใช้แรงกดดันการเมืองไปจี้นักการเมืองนักการเมืองก็เลือกทำอะไรที่มันง่ายแต่ทำให้ประเทศไทยเสียป่า ไม่เฉพาะไทยอีกหลายประเทศก็เช่นกัน ทั้งในลาว แอมะซอน และอินโดนีเซีย “มีโจทย์หลายอันมาปน ทั้งโลกร้อน วิธีการทำงานของคนความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนปะปนกันอยู่” เป็นความซับซ้อนและกับดักจากการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ของทั้งประชาชน การเมือง และภาครัฐ ที่บัณฑูรบอกว่ามันทำให้ปัญหาซ้ำรอยเดิมมาโดยตลอด ก่อนจบการสัมภาษณ์ คุณปั้นยังฝากคำพูดทิ้งท้ายไว้ว่า “การจะทำอะไรต้องตีโจทย์ให้ชัด และเจรจารอบวงให้เห็นพ้องต้องกัน ถ้าเห็นว่าน่าจะทำก็ไปหาทางตีโจทย์ให้แตก และหาสรรพกำลังมาสนับสนุนยิ่งโจทย์ใหญ่ต้องมีคนมาช่วยเยอะ เพราะปัญหามันใหญ่กว่าที่คิด ลงพื้นที่น่านเห็นเลยพวกปลายแถวไม่มีวันชนะ มันถูกกันด้วยกระบวนการ ด้วยระบบ ด้วยความอับจนทั้งหลายแหล่ พูดก็พูดไปลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าเดินแบบเดิมไม่มีทางลดหรอก เพราะข้างล่างสู้ไม่ได้”

ภาพ: พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์ และ ธนาคารกสิกรไทย


คลิกอ่านฉบับเต็ม บัณฑูร ล่ำซำ "ทวงคืนผืนป่า" ภารกิจท้าทายอำนาจรัฐ-ชุมชน-ผลประโยชน์ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine