ปั้นช่องทางจ่ายเงินออนไลน์แบบ Omise - Forbes Thailand

ปั้นช่องทางจ่ายเงินออนไลน์แบบ Omise

สองคู่หู Omise ฟินเทคสตาร์ทอัพชั้นนำในไทย ต่อยอดเงินระดมทุนกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก VC ยักษ์ใหญ่ ชูจุดต่างและสร้างความโดดเด่นให้ช่องทางชำระเงินออนไลน์ พร้อมติดปีกโบยบินสู่ 20 ประเทศในเอเชีย

เมื่อการจับจ่ายซื้อขายเคลื่อนเข้าสู่โลกออนไลน์ สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว จึงก่อให้เกิดเม็ดเงินมหาศาลไหลเวียนอยู่ในเศรษฐกิจดิจิทัล สอดคล้องกับการที่สองคู่หู Jun และอิศราดร ตัดสินใจเดินบนถนนสายฟินเทคสตาร์ทอัพให้บริการช่องทางชำระเงินออนไลน์ (payment gateway) ในชื่อ Omise (เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ร้านค้า”) ภายใต้ บริษัท โอมิเซะ จำกัด (ทุนจดทะเบียนปัจจุบันอยู่ที่ 42.8 ล้านบาท) มี Jun เป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ส่วนอิศราดรคือ ผู้ร่วมก่อตั้งและ COO “หลายคนคิดว่าสิ่งที่พวกเราทำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ประเด็นหลักของเราคือต้องการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินออนไลน์ที่มีอะไรต้องทำอีกหลายจุด มากกว่าจะมาพิสูจน์ว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้” Jun Hasegawa ชายหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัย และ อิศราดร หะรินสูต ลูกครึ่งไทย-นิวซีแลนด์ ที่แวดวงสตาร์ทอัพรู้จักมักคุ้นกับเขาในชื่อ “ดอนนี่” ร่วมกันถ่ายทอดให้ Forbes Thailand ฟัง ณ สำนักงานของ Omise ย่านรามอินทราที่นั่น มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติราว 70 คน มาร่วมกันระดมความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันให้ Omise ซึ่งขณะนี้ระดมทุนไปได้กว่า 20 ล้านเหรียญหรือราว 700 ล้านบาท เป็นช่องทางชำระเงินออนไลน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพื่อพร้อมสำหรับการก้าวไปรุกระดับสากลอย่างเต็มกำลัง ชูจุดต่างช่องทางจ่ายเงินออนไลน์ คู่หูที่ปัจจุบันอายุ 35 ปีเท่ากัน รู้จักกันเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ทั้งคู่เคยทำงานในบริษัทเอเยนซี่ที่ทำโฆษณาให้ NTT Communications บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น  “Jun ถามผมว่าเมืองไทยมีอะไรน่าทำหรือเปล่า ซึ่งในปี 2556 อี-คอมเมิร์ซกำลังบูม เราก็อยากทำเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซเป็นแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ จึงให้ทีมงานช่วยออกแบบให้เรียบง่ายและสวยงาม เพราะขณะนั้นเว็บไซต์ที่เป็นแพลตฟอร์มร้านค้าส่วนใหญ่จะมีคอนเทนต์เยอะมาก จนลายตา” อิศราดรเล่า รูปแบบเว็บไซต์ที่เขาวาดไว้จะคล้าย Fancy ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประเภทโซเชียลคอมเมิร์ซ คือผสมผสานระหว่างเว็บไซต์จำหน่ายสินค้ากับการเป็นโซเชียลมีเดียที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ใช้ได้ดี แต่หลังจากพัฒนาเว็บไซต์ที่เป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซไปได้สักระยะ ความตั้งใจของพวกเขาก็แปรเปลี่ยนไปเป็นความมุ่งมั่นในการปลุกปั้นช่องทางชำระเงินออนไลน์ในแบบที่ทั้งคู่ต้องการให้เป็นขึ้นแท่นฟินเทคแนวหน้าเมืองไทยเนื่องจากเห็นช่องว่างที่มีอยู่ แต่หากย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน สตาร์ทอัพที่เลือกทำธุรกิจด้านฟินเทคอย่าง Omise ย่อมไม่ได้มีกลีบกุหลาบโรยอยู่บนเส้นทางที่เลือกอย่างแน่นอนเมื่อตัดสินใจรุกช่องทางชำระเงินออนไลน์ Jun และอิศราดร รวมทั้งทีมงานก็ทำการพัฒนา Omise อยู่ราว 2 เดือนครึ่ง ซึ่งขณะนั้นได้แค่การตัดบัตรเครดิตเพียงอย่างเดียวยังไม่มีฟีเจอร์อื่นเพิ่มเติม และใช้เวลาอีก 1 เดือนครึ่ง ในการขอการรับรอง PCI DSS ซึ่งเน้นความปลอดภัย 3 ด้าน คือการถ่ายทอดข้อมูลบัตรเครดิตให้วิ่งผ่านเซิร์ฟเวอร์กระบวนการจ่ายเงิน และการเก็บรักษาข้อมูลบัตร จากนั้นก็ยื่นขอใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย “เราสร้างระบบโครงสร้างต่างๆ บนคลาวด์ซึ่งตอนนั้น ธปท. ยังเห็นว่าคลาวด์คือการแชร์ทรัพยากร จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนอื่นจะไม่เห็นเลขบัตรเครดิตและข้อมูลต่างๆ” อิศราดรเล่าย้อนไปถึงการเจรจากับ ธปท.ซึ่งต้องอธิบายว่าบริษัทผู้ให้บริการระบบความเสี่ยงและระบบความปลอดภัยของการเก็บข้อมูลในรูปแบบดังกล่าว Omise เปิดให้บริการเต็มรูปแบบในลักษณะ B2B ราวกลางปี 2558 โดยเจาะฐานผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้มีเงินวางมัดจำ เงินหมุนเวียนในบัญชีและไม่มีทุนจดทะเบียนมากพอจะไปสมัครใช้บริการของธนาคารรายใหญ่ที่กระโดดลงมาเล่นในธุรกิจช่องทางชำระเงินออนไลน์เพราะธุรกรรมการเงินที่ผ่านช่องทางนี้มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ Omise สร้างชื่อด้วย 3 ปัจจัยเด่น ได้แก่ความง่ายและรวดเร็ว เชื่อมต่อกับเว็บไซต์ร้านค้าโดยไม่ต้อง redirect ใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ คลาวด์ที่ Omise เลือกใช้ คือ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Amazon ได้รับการรับรอง PCI DSS และมีลูกค้าเป็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังให้วิศวกรและฝ่ายกฎหมายของ AWS เดินทางมาชี้แจง เพื่อให้เห็นภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวชัดขึ้น และเมื่อผ่านไป 6 เดือน Omise กลายเป็นบริษัทแรกในไทยซึ่งใช้ระบบคลาวด์ที่ได้ใบอนุญาตฯ จาก ธปท.และขณะนี้ก็มีส่วนเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คำแนะนำกับบุคลากรของ ธปท. ปัจจุบัน Omise มีลูกค้าราว 3,000 รายทั้งลูกค้ากลุ่มที่ตั้งเป้าไว้แต่ต้นและลูกค้าที่เป็นองค์กรใหญ่ เช่น ทรู บริษัทในเครือไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล ฯลฯ ซึ่งเมื่อทิศทางการทำธุรกิจเดินทางมาในทิศทางที่ชัดเจนและตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคดิจิทัลอย่างตรงจุดทำให้ Omise กลายเป็นบริษัทเนื้อหอมที่เหล่า VC ต่างพร้อมจะทุ่มเงินลงทุนเริ่มจาก seed round ในเดือนกันยายนปี 2557 ซึ่ง East Ventures ลงทุนมูลค่า 3 แสนเหรียญ ตามด้วย series A ในเดือนพฤษภาคม ปี 2558 ที่ระดมทุนได้ 2.6 ล้านเหรียญ จาก VC ได้แก่ Sinar Mas Digital Ventures (SMDV), East Ventures, 500 TukTuks, Ascend Capital, 500 Startups และ True Incube จากนั้นในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน Golden Gate Ventures ก็ร่วมลงทุนในรอบ expansion round โดยไม่เปิดเผยตัวเลขล่าสุด กรกฎาคมที่ผ่านมา Omise ปิดการระดมทุนรอบ series B ด้วยตัวเลข 17.5 ล้านเหรียญ จาก VC หลักคือ SBI Investment และอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ขอเผยชื่อ รวมทั้งมี VC รายเดิมที่กลับมาสนับสนุนต่ออีก คือ Ascend Capital และ Golden Gate Ventures ถือเป็นฟินเทคสตาร์ทอัพรายแรกที่สามารถทุบสถิติมูลค่าการระดมทุนในรอบ series B ได้สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สองผู้บริหารยังไม่คิดถึงการระดมทุนในรอบ series C แต่มีแนวโน้มจะไปถึงจุดนั้น หากต้องการจะ IPO นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นที่ญี่ปุ่นอิศราดรบอกว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการช่องทางชำระเงินออนไลน์อย่างเต็มตัวมาปีกว่า รายได้ก็เติบโตขึ้นมาราว 1,000% เพื่อให้ธุรกิจของ Omise แข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็พร้อมพูดคุยกับธนาคารต่างๆ เพื่อเป็นพันธมิตรธุรกิจร่วมกันในอนาคต “ผมคิดว่าเราต้องโต แต่ไม่คิดว่าจะโตเร็วขนาดนี้ เป้าหมายของเราคือการเป็นช่องทางชำระเงินออนไลน์สำหรับทุกคน ดังนั้นเราจึงไม่ได้ต้องการจำกัดแค่ในไทย แต่อยากหาทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวให้ผู้คนทั่วโลก” คือสิ่งที่ Jun ผู้มองเห็นมหาสมุทรแห่งโอกาสเอ่ยทิ้งท้ายกับเรา   เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: Benya Hegenbarth
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ปั้นช่องจ่ายเงินแบบ Omise" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine