ถึงคราวแสดงฝีมือ คลื่นลูกที่ 4 นำ KTIS สู่อนาคตใหม่ - Forbes Thailand

ถึงคราวแสดงฝีมือ คลื่นลูกที่ 4 นำ KTIS สู่อนาคตใหม่

เหล่าบรรดา คลื่นลูกที่ 4 ของครอบครัวศิริวิริยะกุล เรียงหน้าเข้า บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ช่วยผลักดันธุรกิจสู่อนาคตใหม่ที่ไม่ใช่น้ำตาล เน้นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม กำไรสูง หวังรักษาฐานอาณาจักรน้ำตาลมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทของครอบครัวที่ดำเนินมากว่า 50 ปี

สายใยความรักและความผูกพันของครอบครัวศิริวิริยะกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธุรกิจน้ำตาลหมื่นล้านของบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) ตกทอดมาถึงรุ่นที่ 4 เป็นที่รู้กันในหมู่สมาชิกว่าทุกๆ เดือนจะมีการนัดหมายรวมตัวสังสรรค์ระหว่างกัน (รวมลูกเขยและลูกสะใภ้) กว่า 60 ชีวิต โดยมีอายุต่ำสุดอยู่ที่ 18 ปีและสูงสุดอยู่ที่ 92 ปี (หทัย ศิริวิริยะกุล มารดาของประพันธ์ ศิริวิริยะกุล)

สมาชิกรุ่นที่ 4 ของตระกูลมีราว 16 คน แต่เข้ามาช่วยงานกับกลุ่ม KTIS ราว 10 คน กระจายตัวรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ Forbes Thailand ได้รับการเชื้อเชิญไปถึงจังหวัดนครสวรรค์เข้าสัมภาษณ์รุ่น 4 ถึง 4 คน รวมไปด้วย ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล (34 ปี) ปริญญ์ ศิริวิริยะกุล (27 ปี) ภูมิฤกษ์ หวังปรีดาเลิศกุล (29 ปี) และภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล (26 ปี)

 

งานไร่ vs งานโรงงาน

งานไร่และงานโรงงานเป็นหัวใจของภาคการผลิตของกลุ่ม KTIS และบุคคลที่ได้รับมอบหมายทำภารกิจนี้คือ ภูมิรัฐและปริญญ์ ตามลำดับ

พลันที่ภูมิรัฐเรียนจบจากสาขาบัญชี ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 พ่วงท้าย จากหลักสูตรนานาชาติ (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาก็เข้าดูแลงานฝ่ายนี้ทันที ปัจจุบันนั่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายไร่กลุ่ม KTIS มากว่า 2 ปีแล้ว แม้ไม่ได้เรียนทางด้านการเกษตรมา เขาบอกว่า ไม่ใช่ปัญหาเพราะการเรียนในระดับปริญญาตรี เป็นการศึกษาในเชิงวิเคราะห์และการเรียนได้สร้างระบบความคิดต่างๆ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานจริงได้

ภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล

โจทย์ง่ายๆ ของงานไร่คือ ทำอย่างไรให้มีผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ ป้อนเข้าสู่โรงงานอย่างเพียงพอตามความต้องการ ภูมิรัฐบอกว่าฟังแล้วดูง่ายแต่ในความเป็นจริงไม่ง่ายเช่นนั้นเลย เพราะยังมีรายละเอียดการทำงานอีกมาก เนื่องจากต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อยหลายหมื่นคน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) จึงจำเป็นที่เขาต้องได้รับความเชื่อใจจากพวกเขา และวิธีการของเขาก็ดำเนินตามหลักปรัชญาของ KTIS ท่ีสืบทอดกันมาคือ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน “ชีวิต” ของคนกลุ่มน้ี

ดังน้ัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกท่ีจะเห็นหนุ่มน้อยคนนี้ตระเวนดูแลทุกข์สุขของชาวไร่อ้อย เดินทางไปร่วมงานแต่ง งานบวช งานบุญ ต่างๆ หรืองานศพ เพื่อสร้างสายใยแห่ง ความผูกพันมากกว่าการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ

ทันทีที่อ้อยป้อนเข้าสู่โรงงาน หน้าที่ของปริญญ์ก็เริ่มขึ้น ปริญญ์เป็นวิศกรโดยตรงเพราะจบวิศวกรรมเครื่องกล พ่วงด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 จากจุฬาฯ ปัจจุบันเขานั่งเป็นวิศวกรเครื่องกลให้กับกลุ่ม KTIS รับผิดชอบงานด้านการวางแผน ควบคุมงานปฏิบัติการที่โรงงานเกษตรไทยฯ ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ปัญหามากสุดโดยเฉพาะในช่วงฤดูการยกหีบหรือหีบสกัด เครื่องจักรต้องทำงานหนักและโอกาสที่จะมีปัญหาค่อนข้างสูง

ปริญญ์ ศิริวิริยะกุล

ปัจจุบัน ปริญญ์ยังคงควบงานด้านการบริหารเข้าไปด้วย อย่างล่าสุดได้นั่งเป็นรองผู้จัดการโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ที่มีมูลค่าเฟสแรกราว 7.5-7.8 พันล้านบาท โดยร่วมทุนกับกลุ่ม ปตท. เขาได้รับมอบหมายเข้าช่วยงานให้ดำเนินไปด้วยดี เนื่องจากฝั่งพันธมิตรอาจไม่เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจน้ำตาลในฝั่งของกลุ่ม KTIS ดีพอ ดังนั้น เขาจะเป็นหนึ่งตัวแทนของ KTIS ที่ช่วยเติมเต็มข้อมูล เพื่อให้โครงการบรรลุผลตามที่วางไว้

 

งานหลังบ้าน vs งานหน้าบ้าน

สำหรับงานหลังบ้านฝ่ายกฎหมาย KTIS มอบหมายให้ภูมิฤกษ์เข้าดูแล ภูมิฤกษ์จบคณะนิติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาฯ และบินไปเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายเพิ่มที่ University of Pennsylvania สหรัฐฯ ขณะที่งานหน้าบ้านอย่างการสื่อสาร และนักลงทุนสัมพันธ์ทางกลุ่มมอบหมายให้ ดร.สายศิริเข้าดูแล เธอจบคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เหมือนกัน และเรียนปริญญาโท สาขากฎหมายและปริญญาเอกสาขากฎหมายและเศรษฐกิจ ที่ University of Illinois สหรัฐฯ

ภูมิฤกษ์ หวังปรีดาเลิศกุล

“งานผมน่าสนใจน้อยสุด เพราะเป็นงาน backstage” ภูมิฤกษ์เกริ่นพร้อมรอยยิ้ม ภูมิฤกษ์เข้าร่วมงานกับ KTIS เมื่อ 7 ปีก่อน เป็นช่วงเวลาที่กลุ่ม KTIS กำลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และช่วงนี้เอง ผู้ใหญ่มองว่าจำเป็นต้องมีทีมกฎหมายของกลุ่ม เพื่อรักษาผลประโยชน์บริษัท และป้องกันความขัดแย้งในธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

จากวันนั้น ภูมิฤกษ์ค่อยๆ เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนวันหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันตั้งแผนกกฎหมายภายในขึ้นมา เพื่อดูแลงานกฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของกลุ่ม

ด้วยความรับผิดชอบและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ภูมิฤกษ์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานเพิ่มคือ เลขานุการบริษัท เป็นผู้ช่วยคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของบริษัท เขามองว่า เป็นโอกาสดีที่ได้รับบทบาทนี้ เนื่องจากจะทำให้เข้าใจบริษัทในมุมต่างๆ ได้มากขึ้น นอกเหนือจากงานกฎหมายที่ทำอยู่

เมื่องานทุกอย่างขับเคลื่อนเป็นองค์รวมก็ถึงเวลาที่พี่ใหญ่อย่าง ดร.สายศิริ ได้แสดงบทบาท เธอรับอาสานำผลงานของน้องๆ ของครอบครัวออกสู่โลกภายนอกในฐานะเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กรของกลุ่ม KTIS เธอไม่เพียงต้องพบนักข่าวและนักลงทุน แต่ยังต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทั้งหมด เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่ม

ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เห็น ดร.สายศิริ ลงไปลุยทำโครงการซีเอสอาร์มากมาย และเป็นซีเอสอาร์เชิงรุกผ่านระบบซัพพลายเชนที่กลุ่มบริษัทเข้าไปเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรไร่อ้อยที่ทางบริษัทมีสโลแกนไว้ว่า “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง KTIS มั่นคง” กล่าวคือ ต้องทำให้พวกเขาอยู่ได้และเติบโตไปด้วยกัน ที่ผ่านมาก็มีโครงการอย่างเช่น การดูแลดินน้ำลมไฟ และลดการเผาไร่อ้อย เป็นต้น

ปัจจุบัน หน่วยงานนี้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญกับกลุ่มไปแล้ว และนี่เป็นการสร้างตัวตนของ KTIS บนแนวทางที่ว่า “more than sugar” เป็นการเดินทางที่ก้าวออกจากถิ่นกำเนิดจังหวัดนครสวรรค์ ย้ายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ระดับประเทศ และกำลังเดินทางไปเป็นบริษัทชั้นนำในระดับโลก ด้วยพลังหนุ่มสาวของคนรุ่นที่ 4 ของครอบครัวศิริวิริยะกุลช่วยกันขับเคลื่อน

  อ่านเพิ่มเติม   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม “ถึงคราวแสดงฝีมือ คลื่นลูกที่ 4 นำ KTIS สู่อนาคตใหม่” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine